สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ความคิดสร้างสรรค์ (1)

จากประชาชาติธุรกิจ

คอลัมน์ Education Ideas
โดย ดร.วิริยะ ฤาชัยพาณิชย์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านความคิดสร้างสรรค์ ศธ.

เรื่องราวของความคิดสร้างสรรค์เริ่มค้นพบเมื่อประมาณ 50 ปีที่แล้วครับ โดยศาสตราจารย์ Paul E. Torrance นักจิตวิทยา น่าจะนับได้ว่าเป็นผู้บุกเบิกในเรื่องนี้

ท่านได้คิดแบบทดสอบความคิดสร้างสรรค์ เพื่อวัดความสามารถในการคิดที่ต่างจากแบบทดสอบ IQ ซึ่งใช้วัดสติปัญญา ความฉลาด ที่ใช้กันอยู่อย่างแพร่หลายจนปัจจุบัน

การวัดความสามารถด้านความคิดสร้างสรรค์ที่สร้างขึ้น ถึงแม้จะได้รับการยอมรับไม่มากนักในวงการการศึกษาขณะนั้น แต่ต่อมา Dr.Gernet Miller เพื่อนร่วมงานของศาสตราจารย์ Torrance ได้ติดตามผลความสำเร็จของเด็ก ๆ ที่เคยทดสอบความคิดสร้างสรรค์ ปรากฏว่าเด็กที่ทำคะแนนความคิดสร้างสรรค์ได้สูงล้วนแต่ประสบความสำเร็จ เป็นเจ้าของสิทธิบัตร เป็นผู้ก่อตั้งกิจการใหม่ ๆ เป็นนักโฆษณาที่มีชื่อเสียง เป็นผู้สร้างนวัตกรรมด้านคอมพิวเตอร์ และส่วนมากเป็นผู้นำองค์กรต่าง ๆ

และยังมีงานวิจัยที่ยืนยันว่าเด็กที่มีผลคะแนนความคิดสร้างสรรค์สูง ต่อมาจะประสบความสำเร็จในหน้าที่การงานสูงกว่าเด็กที่มีผลคะแนน IQ สูง เรื่องของการพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ จึงเป็นทิศทางใหม่ที่นานาประเทศให้ความสนใจมากครับ

ความเป็นห่วงในเรื่องนี้ ทำให้นักการศึกษาอเมริกันทำการวิจัย และมีผลวิจัยที่น่าสนใจคือผลการทดสอบ IQ ของเด็กอเมริกันโดยเฉลี่ยตั้งแต่ 50 ปีที่แล้วจนถึงปัจจุบัน พบว่าเด็กในแต่ละยุคจะมีคะแนน IQ สูงขึ้นเรื่อย ๆ สรุปง่าย ๆ คือเด็กยุคใหม่ฉลาดกว่าเด็กยุคเก่ามาตลอด

ในขณะที่ผลการทดสอบความคิดสร้างสรรค์ของเด็กยุคใหม่โดยเฉลี่ย มีคะแนนน้อยกว่าเด็กในยุคเดิม เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ไม่น่าเชื่อครับ แต่มีการยืนยันโดย Dr.Kyung Hee Kim อาจารย์ที่ College of William & Mary Virginia, U.S.A. ได้รวบรวมผลการสอบความคิดสร้างสรรค์ที่เด็กและผู้ใหญ่ 300,000 คนได้เคยทำไว้ และพบว่าก่อนปี 1990 คะแนนของความคิดสร้างสรรค์ของคนยุคก่อนจะสู้คนที่เกิดมาทีหลังไม่ได้ (สอดคล้องกับผลการสอบ IQ)

แต่หลังจากปี 1990 คะแนนความคิดสร้างสรรค์กลับตรงกันข้ามครับ คือเด็กยุคใหม่มีคะแนนความคิดสร้างสรรค์น้อยลงเรื่อย ๆ และที่น่าตกใจคือเด็กมีคะแนนความคิดสร้างสรรค์น้อยลงเมื่อเรียนชั้นสูงขึ้น (การวิจัยนี้ทำในกลุ่มเด็กชั้นประถมที่อเมริกา)

เราอยู่ในโลกที่ต้องการคนที่มีความคิดสร้างสรรค์มากขึ้นเรื่อย ๆ ทั้งการแข่งขัน และความร่วมมือในสังคมยุคใหม่ ล้วนต้องการคนคิดสร้างสรรค์ครับ เมื่อก่อนความคิดสร้างสรรค์ถือเป็นของแถม แต่วันนี้ใครมีก็จะรุ่ง และเป็นที่ต้องการมาก

แต่ในอนาคต ความคิดสร้างสรรค์จะกลายเป็นเรื่องจำเป็น คือถ้าใครไม่มีก็แย่ ประเทศไหนไม่ค่อยมีคนคิดสร้างสรรค์ ประเทศนั้นก็จะลำบาก เพราะคิดอะไรไม่เป็น ต้องรอลอกเขา ไร้ปัญญา และต้องขายทรัพยากรกินไปวัน ๆ

ผลสำรวจความคิดเห็นของผู้บริหารระดับ CEO 1,500 บริษัทที่สหรัฐอเมริกาสรุปว่า ความคิดสร้างสรรค์ คือคุณสมบัติสำคัญที่สุดในการเป็นผู้นำในยุคนี้และอนาคต แต่ปัญหาคือคนอเมริกันมีความคิดสร้างสรรค์น้อยลงมาตลอดในช่วง 20 ปีมานี้ และนี่คือสิ่งที่นักการศึกษาเรียกมันว่าวิกฤตทางการศึกษาครับ

สิ่งที่อเมริกาทำวันนี้ คือการคิดและวิจัยรูปแบบการสอน เพื่อให้เด็กมีความคิดสร้างสรรค์ และเร่งปฏิรูปการสอนแบบดั้งเดิม สู่รูปแบบการสอนใหม่ ที่จะช่วยให้ผู้เรียนมีทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 และทักษะสำคัญที่สุด คือทักษะในการคิดสร้างสรรค์

ปัจจุบันนักการศึกษาทั่วโลกให้ความสนใจที่จะพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ แบบวัดความคิดสร้างสรรค์ที่ศาสตราจารย์ Torrance ได้ทำขึ้น จนมีผู้สนใจและนำไปใช้ถึง 50 ภาษา

สหรัฐอเมริกายังช้ามากครับในเรื่องนี้ อาจารย์ส่วนใหญ่ยังใช้วิธีสอน และการสอบแบบดั้งเดิม ซึ่งหน่วยงานต่าง ๆ กำลังพยายามช่วยพัฒนาให้ครู อาจารย์เปลี่ยนแปลงการสอนจากเดิมสู่การสอนรูปแบบใหม่ แต่ความสำเร็จในการเปลี่ยนแปลงการสอน กลับไปอยู่ที่ประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก

เริ่มกันที่ยุโรป ซึ่งประเทศในแถบนี้ส่วนมากมีการปฏิรูปการศึกษาจริงจัง และทำให้ครูเปลี่ยนการสอนได้มากกว่าอเมริกาเยอะ

อังกฤษเปลี่ยนหลักสูตรการศึกษาตั้งแต่ ปี 2008 เลิกท่องจำ เน้นให้คิดทุกวิชา ทั้งวิชาภาษา สังคม คณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ มีการทดลองนำแบบทดสอบความคิดสร้างสรรค์มาใช้วัดผลสัมฤทธิ์ของนักเรียนในหลายโรงเรียน

ปี 2009 กลุ่มประเทศสหภาพยุโรปกำหนดให้เป็นปีแห่งความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรม The European Year of Creativity and Innovation มีการจัดงานประชุมวิชาการด้านความคิดสร้างสรรค์ จัดงบประมาณให้บุคลากรทางการศึกษา เรียนรู้เรื่องความคิดสร้างสรรค์ และส่งเสริมการเปลี่ยนการสอนแบบเลกเชอร์ให้เป็นการสอนแบบเอาปัญหาเป็นฐาน Problem-based Learning และให้นำปัญหาโจทย์ในชีวิตจริงเข้าสู่ห้องเรียน


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ความคิดสร้างสรรค์ (1)

view