สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

การเมืองเรื่องเศรษฐกิจ

การเมืองเรื่องเศรษฐกิจ

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์




เศรษฐกิจและการเมืองเป็นองค์ประกอบที่แยกจากกันไม่ได้สำหรับเมืองไทยที่ต่างฝ่ายต่างส่งผลซึ่งกันและกัน

จนกลายเป็นภาวะชะงักงันที่เราประสบมานานหลายปี ทั้งภาวะที่เกิดขึ้นจริงๆ คือการชุมนุมทางการเมือง การปิดถนน การรัฐประหาร ฯลฯ ที่ส่งผลกระทบถึงคนทั้งประเทศ

กับอีกด้านหนึ่งที่อาจไม่ได้เกิดอะไรรุนแรงขึ้นแต่เป็นเรื่องของจิตวิทยาและความเชื่อมั่น ซึ่งเป็นผลเกี่ยวเนื่องมาจากข้อแรก เพราะเมื่อเกิดความผันผวนวุ่นวายมากขึ้น ท้ายที่สุดก็ไม่มีใครอยากจับจ่ายใช้สอยเพราะไม่มั่นใจในอนาคตจึงต้องการเก็บเงินสดไว้ใช้ในยามจำเป็น

ประจวบกับรัฐบาลใหม่ที่เพิ่งจัดตั้งยังเบิกจ่ายงบประมาณไม่ได้ตามแผนทำให้เงินที่น่าจะเพิ่มเข้ามาในระบบต้องสะดุดลง กลายเป็นปัญหาทางเศรษฐกิจทั้งระดับจุลภาคและมหภาคส่งผลสะท้อนให้เห็นในดัชนีตลาดสดที่ผมเกริ่นไว้ใน “ไอทีไร้พรมแดน” ฉบับที่แล้ว

ความหวังต่อรัฐบาลปัจจุบันที่มีอยู่สูงมากในระยะแรกจึงกลายเป็นความกังขาเมื่อเห็นนโยบายหลายๆ อย่างที่สวนทางกับความคาดหวัง เช่นเงินช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าวในอัตราไร่ละ 1,000 บาท ซึ่งมองในมุมหนึ่งก็อาจเป็นเรื่องสำคัญและจำเป็นเพราะเกษตรกรไทยยังคงลืมตาอ้าปากไม่ได้ จึงต้องหวังพึ่งเงินช่วยเหลือจากภาครัฐเหมือนอดีต

แต่ประเด็นที่น่ากังวลก็คือการช่วยเหลือลักษณะนี้จะต้องดำเนินต่อไปเรื่อยๆ ทุกปีหรือไม่ เหมือนกับเรามองเห็นโรคร้ายที่เกิดขึ้นในตัวคนไข้แต่หมอกลับทำได้เพียงการให้ยาบรรเทาอาการปวดโดยไม่ได้ให้ยาที่มุ่งเน้นการรักษาโรคโดยตรง

ตัวอย่างที่ผมยกขึ้นมาเสมอก็คือเกษตรกรญี่ปุ่นที่พัฒนาสินค้าทางการเกษตรของตัวเองจนกลายเป็นผลิตภัณฑ์เอสเอ็มอี ส่งออกไปทั่วโลกรวมถึงบ้านเรา ผลไม้ที่วางขายตามซูเปอร์มาร์เก็ตระดับพรีเมี่ยมเหล่านี้ถึงจะแพงแต่ก็แบ่งเกรดตามราคาอย่างถูกต้อง ที่สำคัญยังละเอียดถึงขั้นระบุชื่อฟาร์ม ชื่อเจ้าของฟาร์ม ชาวไร่ เพื่อแสดงความรับผิดชอบต่อผลผลิตของเขาและเป็นกลไกที่รับประกันว่าผลไม้นั้นต้องสดอร่อยแน่นอน

เช่นเดียวกับสินค้าโอท็อปของญี่ปุ่นอีกมากมาย ต่างก็มีวิเคราะห์วิจัยขบวนการผลิตสินค้าที่ต้องเลือกเพาะปลูกให้เหมาะสมกับสภาพอากาศ สภาพภูมิประเทศ ทำให้มีสินค้าที่หลากหลายรวมถึงการใส่ใจพัฒนาหีบห่อบรรจุภัณฑ์ให้สวยงาม น่ารับประทาน เพิ่มมูลค่าให้สินค้าเหล่านั้น ซึ่งต่างกับบ้านเราที่สินค้าโอท็อปในแต่ละภูมิภาคควรจะแตกต่างกัน แต่แท้ที่จริงแล้วกลับมีสินค้าเหมือนกัน ทำให้สินค้าบางส่วนไม่มีคุณภาพเพราะพื้นที่การเพาะปลูกไม่เหมาะสม รวมถึงทำให้ผลผลิตล้นตลาดทำให้ภาครัฐต้องเข้ามาอุดหนุนสินค้าดังกล่าว

การสร้างความเข้มแข็งให้เกษตรกร ทั้งชาวไร่ ชาวนาต้องทำงานร่วมกับรัฐบาลอย่างเป็นระบบ ทั้งการแลกเปลี่ยนข้อมูลและองค์ความรู้ ร่วมกับสถาบันการศึกษาในท้องถิ่น เพราะสถาบันการศึกษาจะได้รับงบประมาณจากรัฐบาลค้นคว้าวิจัย โดยนักศึกษาจะต้องลงไปวิเคราะห์ในภาคทฤษฎี และภาคปฏิบัติร่วมกับเกษตรกร ซึ่งจะเป็นประโยชน์ร่วมกันทั้งสองฝ่ายที่เกษตร กลุ่มผู้ปลูกพืช ก็ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพ ส่วนนักศึกษาเองก็ได้ความรู้และประสบการณ์เมื่อเรียนจบ

สัปดาห์หน้า ผมจะพูดถึงตัวแปรของเออีซีที่จะส่งผลให้เราต้องแข่งขันกับประเทศที่มีความคล้ายคลึงกันมากเพราะอยู่ในภูมิภาคเดียวกันอย่างไรบ้างนั้น อย่าลืมติดตามต่อครับ


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : การเมือง เรื่องเศรษฐกิจ

view