สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

The Lewis Turning Point

The Lewis Turning Point

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์




สำหรับนักลงทุนระยะยาว การคาดการณ์ได้ถูกต้องว่าประเทศที่ตนเองลงทุน จะมีการเติบโตทางเศรษฐกิจในอนาคตอย่างไร

นับว่ามีประโยชน์มาก คือ จะได้รู้ว่าบริษัทจดทะเบียนที่จะลงทุน มีการเติบโตเร็วขึ้น หรือช้าลง และอาจจะหยุดโตเมื่อไรตามภาวะเศรษฐกิจ ประเทศหรือสังคมที่เศรษฐกิจไม่โต โอกาสก็ยากที่ดัชนีหุ้นของประเทศจะปรับตัวขึ้นไปได้มาก

ตัวอย่าง ตลาดหุ้นในยุโรปและญี่ปุ่น ที่ไม่ไปไหนมานานตามภาวะเศรษฐกิจที่โตน้อยมากมานาน ย่อมยืนยันได้ดี ประเด็นอยู่ที่เราจะคาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะยาวอย่างไร? เรื่องนี้ผมคิดว่า โมเดลของ Arthur Lewis นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบิล ที่ตีพิมพ์ผลการศึกษาเรื่องของการพัฒนาทางเศรษฐกิจตั้งแต่ 60 ปีที่แล้วสามารถจะอธิบายได้ดี

แนวความคิดของ Lewis คือ ในสังคมที่มีคนอยู่ในสองภาค ภาคหนึ่งคือสังคมแบบ "ทุนนิยม" เช่นในเมืองหลวง หรือเมืองท่าขนาดใหญ่ กับอีกภาคหนึ่ง คือ สังคมแบบ "พออยู่พอกิน" เช่นในชนบท หรือในต่างจังหวัดที่ห่างไกล กระบวนการการพัฒนาทางเศรษฐกิจ จะเริ่มต้นโดยที่โรงงานอุตสาหกรรม หรือธุรกิจจะลงทุนขยายงานโดยมี "แรงงานส่วนเกินที่ไม่จำกัด" จากชนบท

ดังนั้น พวกเขาจึงไม่จำเป็นต้องจ่ายค่าแรงเพิ่ม ทำให้ธุรกิจมีกำไรดีกว่าปกติ และกำไรที่ได้ก็นำไปลงทุนขยายงานเพิ่ม โดยสามารถดึงคนจากชนบทมาทำงานโดยไม่ต้องจ่ายค่าแรงเพิ่ม กระบวนการนี้ทำให้ประเทศพัฒนาก้าวหน้าขึ้นเรื่อยๆ กลายเป็นเศรษฐกิจทุนนิยมสมัยใหม่ จุดที่แรงงานในภาคพออยู่พอกินถูก "ดูดซับ" ไปหมดและการลงทุนเพิ่มต่อไปจะทำให้ค่าแรงเพิ่มขึ้นนั้นก็คือจุดที่เรียกว่า "Lewis Turning Point" ( LTP)

ณ จุด LTP ค่าแรงจะเพิ่มขึ้นรวดเร็ว การหาแรงงานจะยากขึ้นมาก อุตสาหกรรมที่ต้องจ่ายค่าแรงสูงขึ้น ทำให้การลงทุนคุ้มค่าน้อยลง เพราะผลตอบแทนต่ำลงส่งผลให้การขยายการลงทุนของประเทศลดลง ผลคือ การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ จะชะลอลงกว่าที่เคยเป็น การที่จะทำให้ประเทศเจริญเติบโตต่อไป ต้องอาศัยแรงงานใหม่ คือ คนที่จะเติบโตขึ้นมาเป็นแรงงานใหม่ แต่โดยปกติมักจะไม่เพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดด เหมือนการเคลื่อนย้ายคนจากภาคเกษตรในต่างจังหวัดอยู่แล้ว

อีกวิธีหนึ่ง คือ การเพิ่ม Productivity หรือผลิตภาพของแรงงานให้มีความสามารถในการทำงานสูงขึ้น ซึ่งอาจจะใช้การเพิ่มสัดส่วนของเครื่องจักร เปลี่ยนแปลงวิธีการทำงาน และอื่นๆ ซึ่งรวมถึงการประดิษฐ์คิดค้นสิ่งใหม่ๆ ที่มีคุณค่าสูงขึ้น เรื่องเหล่านี้ไม่ได้ทำได้ง่ายๆ เหมือนกับการดึงคนที่มีค่าแรงต่ำจากภาคเกษตรมาทำงาน

ประเทศที่นักเศรษฐศาสตร์ เชื่อว่า มีการพัฒนาทางเศรษฐกิจตรงกับโมเดลของ Arthur Lewis คือจีน ส่วนตัวผมเชื่อว่า ไทย ก็เป็นแบบเดียวกัน ว่า เศรษฐกิจของเรากำลังมุ่งเข้าสู่ "จุดกลับของลิวอิส" หรือ LTP ซึ่งหมายความว่า การเจริญเติบโตเศรษฐกิจ อาจช้าลงเมื่อเทียบกับอดีต "อย่างถาวร"

สิ่งที่ทำให้เชื่อว่าเป็นอย่างนั้น คือ ปัจจุบันการหาแรงงานของไทยยากขึ้นมาก จนต้องนำเข้าแรงงานจากเพื่อนบ้านจำนวนมากอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน ค่าแรงปรับตัวขึ้นรวดเร็วในเร็วๆ นี้ และว่ากันว่าในชนบทของไทย เวลานี้มีแต่คนแก่กับเด็ก อัตราการว่างงานของไทยต่ำมากจนแทบเป็นศูนย์ ส่วนคนหนุ่มสาวต่างก็เข้ามาทำงานในเมืองกันหมด จีนเองก็มีอาการแบบเดียวกัน ที่ค่าแรงปรับตัวขึ้นสูง จากที่เคยต่ำมากจนเวลานี้สูงกว่าค่าแรงของไทยไปแล้ว

ที่หนักไปกว่านั้นคือ Demography หรือโครงสร้างประชากรของจีนและไทย ต่างไม่เอื้อต่อการที่ประชากรวัยทำงานจะเพิ่มขึ้น มีการศึกษา และพบว่า ประชากรในวัยทำงานทั้งของจีนและไทย จะเพิ่มขึ้นอีกไม่กี่ปี หลังจากนั้นลดลง คาดการณ์กันว่า อาจจะภายในปี 2569-2568 หรืออีก 6-11 ปี จีนอาจจะถึงจุด LTP ส่วนของไทย ผมคิดว่าไม่ต่างกันมาก ถ้าเป็นอย่างนั้น และไม่มีการเปลี่ยนแปลงด้านอื่น เช่นการเพิ่มขึ้นของผลิตภาพของแรงงาน การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของทั้งสองประเทศ จะช้าลงมาก

โครงสร้างประชากรของจีน กล่าวกันว่ามีความผิดเพี้ยนไปอย่างแรงตรงที่มีนโยบาย "ลูกคนเดียว" มานาน ทำให้จำนวนเด็กเกิดใหม่ช่วงเวลานั้น มีน้อยลงไปมาก แม้ขณะนี้เริ่มปรับในบางเขตของประเทศ ก็ไม่น่าทันกาล ส่วนของไทย การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของคน "รุ่นใหม่" ทำให้เรามีลูกน้อยลง ผมดูตัวเลขประชากรของไทยกับของจีน ปรากฏว่าต่างก็มีโครงสร้างประชากรใกล้เคียงกันมากทั้งๆ ที่เราไม่ได้มีนโยบายลูกคนเดียวแบบจีน

นั่นคือ เรามีเด็กอายุ 0-14 ปี 17.6% ในขณะที่จีนมี 17.1% อายุ 15-24 ปี เรามี 15% ในขณะที่จีนมี 14.7% ด้านคนสูงอายุ ตั้งแต่ 55-64 ปี เรามี 10.9% ขณะที่จีนมี 11.3% และคนที่เกษียณแล้วที่ 65 ปีขึ้นไป เรามี 9.5% ขณะที่จีนมี 9.6% ที่จริงทั้งไทยและจีนต้องบอกว่ากำลังเป็นสังคม "คนแก่" ของเอเชีย ขณะที่ "คู่แข่ง" ในอาเซียน ต่างยังเป็นสังคมของคน "หนุ่มสาว"

ฟิลิปปินส์เป็นประเทศที่น่าจะ "เด็ก" ที่สุด เพราะมีเด็กอายุไม่เกิน 14 ปี สูงถึง 33.7% ของประชากร หรือเกือบเท่าตัวของไทย ขณะที่คนแก่อายุเกิน 65 ปี ที่เกษียณแล้วมีแค่ 4.5% หรือน้อยกว่าครึ่งของไทย รองลงมาคือมาเลเซียที่มีเด็ก 28.8% และคนแก่แค่ 5.5% ตามด้วยอินโดนีเซีย ที่มีเด็ก 26.2% และคนแก่ 6.5% ทั้งหมดมาจากเรื่องของศาสนา ที่ห้ามคุมกำเนิดทำให้มีประชากรเกิดมาก

ส่วนเวียดนาม ซึ่งไม่ได้มีข้อห้ามคุมกำเนิด ก็ค่อนข้างเป็นสังคมคนหนุ่มสาวมีเด็ก 24.3% และคนแก่ 5.7% ในส่วนของสิงคโปร์ ซึ่งเป็นประเทศพัฒนาแล้ว แม้อ่อนกว่าไทยเล็กน้อย แต่ตัวเลขเด็กเกิดใหม่ลดลง ปัจจุบันมีคนแก่ 8.5% แต่มีเด็ก 13.4% ทำให้สิงคโปร์ต้องรณรงค์ให้คนมีลูกมากขึ้น

ประเทศคู่แข่ง และ "คู่ค้า" ที่อยู่รอบบ้านเรานี้ กำลังมาแรงในด้านการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ พวกเขายังห่างจากจุด LTP มาก ว่าที่จริงหลายประเทศเพิ่งจะเริ่มพัฒนาทางเศรษฐกิจ และอาศัยแรงงานที่มีค่าแรงถูกที่มีอยู่อย่างไม่จำกัด ไทยเองใกล้ หรืออาจจะถึงจุด LTP แล้ว

ดังนั้น การจะเจริญเติบโตรวดเร็ว จึงต้องการแรงงานเพิ่ม ปัจจุบัน คือ แรงงานต่างด้าวเป็นหลัก เพราะเป็นเรื่องยากที่จะเพิ่มคนโดยการกระตุ้นให้คนไทยมีลูกมากขึ้นหรือเปิดรับคนเข้าเมืองแบบ สหรัฐหรือออสเตรเลีย การเพิ่มผลิตภาพของแรงงาน เป็นเรื่องสำคัญ เพราะช่วยสร้างความ "อยู่ดีกินดี" ของประชาชนอย่างแท้จริง

นี่ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะต้องอาศัยการศึกษาที่ดีของประชากรและอื่นๆ อีกมาก รวมถึงการจัดการและลงทุนด้านสาธารณูปโภคต่างๆ ซึ่งต้องอาศัยรัฐบาลที่มีเสถียรภาพและมองการณ์ไกล จึงเป็นสิ่งที่ไทยยังไม่พร้อมนัก

สำหรับผมแล้ว ผมคิดว่าเมืองไทย เปรียบเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านที่จะ "รวม" เป็นเออีซีปีหน้า เราคงเสียเปรียบ การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะยาวเราคงสู้ไม่ได้ และผลที่ตามมา คือ ผลตอบแทนจากการลงทุนในตลาดหุ้น อาจจะไม่ดีนัก บริษัทจดทะเบียนไทย ที่รุกเข้าไปในเออีซี อาจเติบโตได้ดีและรุ่งเรืองได้ทั้งๆ ที่เศรษฐกิจไทยอาจไม่โดดเด่นนัก นอกจาก "ซูเปอร์สต็อก" อีกวิธีหนึ่งที่จะอยู่รอด และสร้างผลตอบแทนที่ดีระยะยาว คือ เข้าไปลงทุนในประเทศเหล่านั้นโดยตรง


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : The Lewis Turning Point

view