สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

วิพากษ์นโยบาย ดิจิตอลอิโคโนมี

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์



(รายงาน) วิพากษ์นโยบาย'ดิจิตอลอิโคโนมี' ระวังซ้ำรอยเศรษฐกิจ'สร้างสรรค์-ฐานความรู้'

ปัญจพล บิณกาญจน์ นักวิเคราะห์ของสถาบันอนาคตไทยศึกษา และ ศิริกัญญา ตันสกุล ผู้จัดการฝ่ายวิจัยของสถาบันอนาคตไทยศึกษา ได้ตั้งข้อสังเกตและข้อเสนอนโยบายเศรษฐกิจดิจิทัล(Digital Economy) ซึ่งจะเป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาลในปีหน้า โดยมีรายละเอียดดังนี้

นโยบายเรื่องเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ Digital Economy สามารถช่วยให้เศรษฐกิจไทยหลุดออกจากกับดักรายได้ปานกลาง เพราะประสบการณ์ของหลายประเทศที่ประสบความสำเร็จ อย่าง เกาหลีใต้ หรือญี่ปุ่น ล้วนแล้วแต่ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเป็นปัจจัยสำคัญในการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าและบริการ เพราะเทคโนโลยีดังกล่าวสามารถช่วยลดต้นทุน และเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตให้กับแรงงาน นำไปสู่การยกระดับรายได้ของประเทศ ดังนั้นเพื่อให้แนวคิดเรื่องเศรษฐกิจดิจิทัลเกิดผลที่เป็นรูปธรรมจริงๆ จึงจะขอให้ข้อสังเกตและข้อเสนอแนะเกี่ยวกับนโยบายนี้ใน 6 ประเด็นด้วยกัน

1. Digital Economy ต้องมุ่งเน้นไปที่ “การสร้างมูลค่าเพิ่ม” เป็นหลัก เพราะไม่ใช่ทุกอย่างที่เป็น Digital จะมีมูลค่าเพิ่มสูง แต่ต้องอยู่ในกระบวนการผลิตที่มีมูลค่าเพิ่มสูง เช่นในกรณีของ Hard Disk Drive สินค้าดิจิทัลที่เราส่งออกมากเป็นอันดับ 2 ของโลก แต่ราคาเพิ่มขึ้นเพียง 3% ต่อปี ซึ่งเพิ่มขึ้นน้อยมากเมื่อเทียบกับเมมโมรี่ประเภทอื่น เช่น Flash Memory เป็นต้น

นอกจากนี้ จากฐานข้อมูล WTO-OECD พบว่าไทยได้มีมูลค่าเพิ่มจากการส่งออกสินค้าประเภทอิเล็กทรอนิกส์เพิ่มขึ้นเฉลี่ยเพียง 5% ต่อปี (ขณะที่เวียดนามเพิ่มขึ้น 23% ฟิลิปปินส์เพิ่ม 17% และอินโดนีเซียเพิ่ม 13%) การที่เราทำหน้าที่เพียงรับจ้างผลิตและประกอบสินค้า แต่ไม่ได้ทำวิจัย ต่อยอด หรือพัฒนานวัตกรรมใหม่ที่จะให้มูลค่าเพิ่มสูงกว่า แต่ในขณะเดียวกันก็มีสินค้าบางอย่างที่ไม่ใช่สินค้าไฮเทค เช่น ยางพารา ที่เราส่งออกเป็นน้ำยาง หรือยางแผ่น ถ้านำมาแปรรูปเป็นยางรถยนต์จะสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มได้ถึง 7 เท่า

2. ไม่ใช่เพียงภาครัฐตั้งหน่วยงานใหม่ หรือปรับโครงสร้างองค์กร เพราะความสำเร็จของ Digital Economy ไม่ได้ขึ้นอยู่กับการเปลี่ยนชื่อกระทรวง หรือถ่ายโอนกำลังคน หรือการเพิ่มกรมขึ้นมาทำภารกิจ ประกอบกับเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะเรามีการตั้ง สำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์แห่งชาติ (Electronic Government Agency-EGA) มาเมื่อ 17 ปีก่อน เพื่อให้เกิดการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศในภาครัฐ ได้รับงบประมาณราว 1.5 พันล้านบาทในปี 2557 หรือคิดเป็น 1 ใน 5 ของงบประมาณกระทรวงไอซีทีทั้งหมด จนถึงปัจจุบันก็มีหน่วยงานอย่างน้อย 10 หน่วยงาน ที่มีภารกิจในด้านนี้โดยตรง

ดังนั้นสิ่งที่ควรให้ความสำคัญจะทำอย่างไรให้ Digital Economy เกิดขึ้นจากความร่วมมือภาคเอกชน และนำไปสู่การสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ

3. ไม่ใช่เพียงแค่จัดอบรมสัมมนาให้กับภาคเอกชน… เพราะจากข่าวที่ออกมาเกี่ยวกับทิศทางในการพัฒนาผู้ประกอบการในเรื่อง Digital Economy ว่าจะมีการ “อบรมเพื่อสร้างผู้ประกอบการรายใหม่” ต่อด้วย “อบรมและให้คำปรึกษาแนะนำในการใช้สื่อออนไลน์” จากนั้นจึง “อบรมสัมมนาในหลักสูตรการตลาด” ปิดท้ายด้วยการ “อบรมพัฒนากลุ่มที่ปรึกษาธุรกิจ” หลายต่อหลายครั้งเมื่อภาครัฐเริ่มวางกลยุทธ์ในการพัฒนาศักยภาพ

วิธีที่มักจะใช้คือการอบรมสัมมนา ซึ่งวัดได้ยากว่ามีประสิทธิภาพหรือไม่

4. แต่ต้องทำให้เอกชน และวิชาการเกิดความร่วมมือในการพัฒนาธุรกิจDigital ตัวอย่างจากต่างประเทศที่ประสบความสำเร็จจากการพัฒนา Digital Economy พบว่าคือการสร้างคลัสเตอร์ของสินค้าที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง บ้างก็เกิดขึ้นจากการขับเคลื่อนระหว่างเอกชนด้วยกัน บ้างก็เกิดโดยรัฐ แต่ปัจจัยที่ทำให้เกิดความสำเร็จคือความร่วมมือกันระหว่างภาคเอกชนและภาควิชาการ ไม่ว่าจะเป็น Silicon Wadi ในอิสราเอลที่ส่งออกสินค้า ICT Value added มากเป็นอันดับ 2 ของโลก4 ความสำเร็จส่วนหนึ่งเกิดจากความร่วมมือระหว่างเอกชนกับสถาบันวิจัยทางการทหาร หรืออุทยานวิทยาศาสตร์ซินจู่ (Hsinchu Science and Industrial Park) ในไต้หวัน ความสำเร็จเกิดจากความร่วมมืออย่างใกล้ชิดระหว่างเอกชนและสถาบันวิจัย เช่น Industrial Technology Research Institute (ITRI), รวมถึงสถาบันการศึกษาชั้นนำ เช่น National Tsinghua University และNational Chiao Tung University ทำให้สามารถผลิตงานวิจัยที่สามารถนำไปต่อยอดทางธุรกิจจนสามารถสร้างบริษัท semi-conductor ระดับโลกอย่าง UMC และ TSMC ได้ และบังกาลอร์ในอินเดียที่กลายเป็นศูนย์กลางด้าน IT Solution ของโลกมีมูลค่าส่งออกกว่า 4 หมื่น

วิศวกรที่ผลิตจากสถาบันการศึกษาอย่าง Indian Institutes of Technology ที่ผลิตวิศวกรปีละกว่า 5 แสนคน อย่างไรก็ตามหากความร่วมมือระหว่างภาคเอกชนและภาควิชาการไม่เกิดขึ้น การจะประสบความสำเร็จอาจจะเป็นเรื่องยาก เช่น กรณีของ Multimedia Super Corridor (MSC) ที่เป็นโครงการพัฒนา Digital Economy ของมาเลเซีย แต่ไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร เพราะมูลค่าการส่งออกซอฟต์แวร์ของมาเลเซียเท่ากับของปากีสถานที่รัฐไม่ได้สนับสนุนใดๆ

สาเหตุหนึ่งก็เพราะขาดความร่วมมือสถาบันการศึกษาในพื้นที่ที่จะเข้าร่วมผลิตผลงานวิจัยและพัฒนา

5. บุคลากรด้าน IT มีปริมาณมากพอแล้ว แต่ต้องปรับปรุงคุณภาพ เพราะปีๆ หนึ่งเรามีบัณฑิตปริญญาตรีที่จบสาขาคอมพิวเตอร์กว่า 10,000 คน เป็นสาขายอดนิยมของคณะด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี แต่กลับพบว่า 1 ใน 6 ของคนที่จบสาขานี้ตกงาน และเกือบ 40% ของบัณฑิตสาขาคอมฯ ทำงานเป็นเจ้าหน้าที่ธุรการหรือเสมียน ทำให้ได้รับเงินเดือนเริ่มต้นเฉลี่ยเพียง 9,400 บาท ต่ำกว่าเงินเดือนเฉลี่ยของคนที่จบระดับปริญญาตรีทั่วไป ในขณะเดียวกัน บริษัทจัดหางานก็ยังจัดให้บุคลากรด้าน IT เป็นสาขาที่มีความต้องการมากที่สุดเป็นอันดับ 2

ดังนั้นโจทย์ของเรื่องกำลังคนไม่ใช่เรื่อง “ปริมาณ” แต่เป็นเรื่อง “คุณภาพ”

6. และที่สำคัญ...ปรับปรุง “กระบวนการ” ทำงานของรัฐเพื่อให้เกิดผลจริง ผ่านการกำหนดตัวชี้วัดการดำเนินงาน (KPI) ของหน่วยงานรัฐ ต้องมุ่งเน้นการวัดที่ผลลัพธ์ (Outcome) มากกว่ากระบวนการ (Process) เพราะ KPI ของ กระทรวง ICT ในปีงบประมาณ 2557 มีมากถึงตัวชี้วัด 14 ตัว แต่มีเพียง 1 ตัว ที่วัดด้านผลลัพธ์ คือ มูลค่าสินค้า ICT ต้องเพิ่มขึ้นปีละ 10% ที่เหลือเป็นการวัดด้านกระบวนการ เช่น จำนวนคนหรือผู้ประกอบการที่เข้าฝึกอบรมด้าน IT จำนวนโรงเรียนที่ติดตั้งอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง เป็นต้น

เป้าหมายที่กำหนดต้องมีความเป็นไปได้ เพราะ หนึ่งใน KPI ของแผนพัฒนาไอซีทีแห่งชาติ เคยตั้งเป้าว่า ประชากร 80% สามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้ ภายในปี 2558 แต่จากการสำรวจ5ในปี 2556 พบว่า ประชากรที่เข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้มีเพียง 29% เท่านั้น คิดเป็น 1 ใน 3 ของเป้าหมายที่ตั้งไว้เท่านั้น นอกจากนี้ถ้าจะให้เกิดผลจริงจะต้องมี

ผู้รับผิดชอบชัดเจน มีการตรวจสอบติดตาม รวมถึงใช้ผลการดำเนินการตามตัวชี้วัดในการพิจารณาจัดสรรงบประมาณ

ทั้งนี้ รัฐควรจริงจังกับการนำนโยบายไปปฏิบัติให้เห็นผลเป็นรูปธรรม ไม่เช่นนั้นนโยบาย Digital Economy จะไม่ต่างอะไรกับนโยบายอื่นๆ ที่ผ่านมา เช่น Knowledge-based Economy หรือ Creative Economy ที่ไม่สามารถปฏิบัติจนเห็นผลเป็นรูปธรรมเท่าที่ควร


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : วิพากษ์นโยบาย ดิจิตอลอิโคโนมี

view