สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ใครทำให้ลูกน้อง แก้ปัญหาไม่เป็น

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
ธีรพล แซ่ตั้ง



ความเชี่ยวชาญในการ"แก้ปัญหาให้ลูกน้อง"ไปซะทุกเรื่องอาจเป็นเรื่องที่ดูดี แต่ถ้าผมจะบอกแรงๆว่า"แส่ไม่เข้าเรื่อง"

เพราะผลที่ตามมา ของการแก้ปัญหาให้ลูกน้องไปซะทุกเรื่อง คือ...

1.ท่านจะ "ยุ่งมันทั้งวัน" (คงจะว่างมากเลยมั้ง เลยหมกมุ่นกับกิจกรรมนี้!) วันทั้งวัน หมดไปกับการแก้ปัญหาให้กับลูกน้อง หนักไปกว่านั้นก็คือ ส่วนมากเป็นปัญหารายวันและเป็น "ปัญหาซ้ำๆ ซากๆ"!

2.ลูกน้องของท่าน จะเกิดความเคยชิน คิดเอง แก้เองไม่เป็น เพราะมีอะไรก็วิ่งโร่มาให้ท่านช่วยแก้ไปซะทุกเรื่อง ทั้งที่บางเรื่องเป็นเรื่องเล็กน้อย แถมในบางครั้งท่านอยู่ที่บ้าน ลูกน้องยังอุตส่าห์โทรไปหาท่านให้ท่านช่วยแก้ปัญหาให้อีก! (ลูกน้องของท่าน อาจจะคิดว่าท่านเป็น ผู้จัดการประเภท เซเว่น อีเลฟเว่น ที่ต้องมีหน้าที่แก้ปัญหาให้ลูกน้อง 24 ชั่วโมง)

3.ท่านมักจะบ่นอยู่ตลอดเวลาว่า ลูกน้องคิดเองไม่เป็น ไม่พัฒนา ไม่เก่ง ฯลฯ จะว่าไปแล้ว ทั้งหมดทั้งปวงจะไปโทษลูกน้องท่านก็ไม่ได้ เพราะคนที่ทำให้ลูกน้องของท่านเป็นแบบนี้ และทำให้ท่านตกอยู่ในชะตากรรมแบบนี้ ก็คือ "ตัวท่านเอง" !

ผู้จัดการหรือผู้บริหารที่เก่ง จะ "ฝึกและสร้าง" ลูกน้องให้ คิดเอง ทำเองและแก้ปัญหา (ในหลายๆเรื่อง) ได้ด้วยตัวเอง และถ้าจะมาหาท่าน ก็จะมาปรึกษาปัญหาพร้อมกับทางแก้ 1-2 ทางเลือก

หนึ่งในแนวทางการ ฝึกและสร้างให้ลูกน้อง คิดเป็น รู้จักแก้ปัญหาเป็น ก็คือการ Coaching ลูกน้อง โดยใช้เทคนิค C.B.Q. (ไม่ใช่ บาร์บีคิว อาหารปิ้งย่างนะครัช!) ซึ่งคือ Coaching By Question

C.B.Q.เป็นการ Coaching โดยเน้นการตั้งคำถาม ไม่ใช่การเสนอทางออกหรือทางแก้ปัญหาให้กับลูกน้อง

ข้อดีของการตั้งคำถามคือ ลูกน้องจะถูกกระตุ้น และฝึกให้คิด ไม่ใช่รอคำตอบจากเจ้านาย การที่ลูกน้องได้ฝึกคิด จนกระทั่งค่อยๆ ได้แนวทางแก้ไข ผลที่ตามมาก็คือ ความภาคภูมิใจ ความรู้สึกมีส่วนร่วม ความตั้งใจที่จะไปแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น ที่สำคัญคือ ลูกน้องได้รับการพัฒนา

เพราะบ่อยครั้งที่ท่านแก้ปัญหาให้กับลูกน้องหรือบอกวิธีแก้ปัญหา แล้วลูกน้องมักจะไม่นำสิ่งที่ท่านบอกไปปฏิบัติ เพราะไม่เข้าใจตรรกะ/ ไม่เห็นด้วย/ ขัดกับความเชื่อ ค่านิยมของลูกน้อง หรือนำสิ่งที่ท่านแนะนำไปใช้ ก็มักจะไม่ค่อยได้ผล!

ลองมาดูตัวอย่าง C.B.Q.สั้นๆ เรื่องนี้ดูสิครับ ท่านจะเข้าใจเห็นภาพชัดขึ้น หรืออาจจะนำไปปรับใช้ดูก็ได้

สถานการณ์คือ ผู้จัดการใช้ C.B.Q.กับลูกน้องที่มักจะเอาปัญหาเรื่องส่วนตัว มาทำให้เกิดผลเสียกับงาน

"ผมยังไม่รู้ว่าตอนนี้ คุณมีปัญหาอะไรบ้าง..แต่สิ่งที่ผมและทีมงานซึ่งก็คือพวกเรารวมทั้งคุณด้วย ทุกๆ คน ต่างก็รับรู้อย่างชัดเจนก็คือ..ปัญหาของคุณ กำลังส่งผลเสียอย่างรุนแรงกับปัญหาของทีม!"

"เอาละ ทีนี้เรามาคุยกันดีกว่า ว่า 'จะให้ผมเป็นคนแก้ปัญหาให้คุณ' ซึ่งคุณน่าจะไม่แฮปปี้แน่ หรือ 'คุณจะแก้ปัญหาของคุณด้วยตัวคุณเอง?' "

ประโยคข้างบนนั้น เป็นประโยคที่ผู้จัดการ พูดกับลูกน้องในแผนก

มองเผินๆ เหมือนเป็นการเรียกลูกน้องมาตำหนิแบบที่ผู้จัดการส่วนมากมักจะทำกันด้วยความเคยชิน..ลูกน้องมีปัญหา เรียกมาต่อว่า ตำหนิ..แต่ก็มักจะไม่ได้ผล!

ลองมาดูต่ออีกนิด ว่า ผู้จัดการคนนี้ Coaching ลูกน้องอย่างไร ที่ไม่ใช่แค่การตำหนิ แต่ได้ผลกันครับ

หลังจากลูกน้องฟังสิ่งที่ผู้จัดการพูด ก็เริ่มคิด เพราะรู้ดีว่า ผู้จัดการคนนี้ ถึงแม้จะไม่ใช่ผู้จัดการประเภทที่เอะอะ เสียงดัง หรือชอบข่มขู่ลูกน้อง ในทางตรงกันข้าม กลับเป็นผู้จัดการที่ดู ใจเย็น พูดจาให้เกียรติกับลูกน้องทุกคน เป็นผู้จัดการที่ทุกคนทั้งรักทั้งเกรง...เกรงตรงที่เมื่อถึงเวลาที่ต้องตัดสินใจเรื่องสำคัญๆเกี่ยวกับลูกน้อง ก็จะตัดสินใจด้วยความเฉียบขาด!

ลูกน้องเจ้าปัญหาก็เลยรีบตอบทันที "ถ้าอย่างนั้น ผมขอโอกาสลองแก้ปัญหาด้วยตัวเองก่อนดีมั้ยครับ?"

ผู้จัดการพยักหน้าและเริ่มมีสีหน้าที่ผ่อนคลาย พร้อมกับพูด "ดีมากเลย จะได้สบายใจด้วยกันทั้งสองฝ่าย ไหนลองบอกแนวทางที่จะแก้ปัญหาด้วยตัวเองให้ผมฟังหน่อยสิ ลองบอกมาสักสองสามแนวทาง แล้วเราค่อยมาหาข้อสรุปกัน ว่าแนวทางไหนที่เป็นแนวทางที่ดีที่สุด ดีมั้ย?"

จากแนวคิดเรื่อง C.B.Q.และตัวอย่างสั้นๆ อันนี้ หวังว่าคงจะจุดประกาย หรือได้ไอเดียไปฝึกลูกน้องให้รู้จักคิด รู้จักแก้ปัญหาได้ด้วยตัวเองนะครับ


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ใครทำให้ลูกน้อง แก้ปัญหาไม่เป็น

view