สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

เกมเก็งกำไร

จากประชาชาติธุรกิจ

คอลัมน์ คิดแยกแยะวิเคราะห์ โดย วีระพงษ์ ธัม

คอลัมน์ คิดแยกแยะวิเคราะห์ โดย วีระพงษ์ ธัม www.facebook.com/10000Li

ในช่วงสองสามปีที่ผ่าน มา ตลาดหุ้นไม่ว่าจะเป็นตลาด SET หรือโดยเฉพาะอย่างยิ่งตลาด mai รวมไปถึงตลาดอสังหาริมทรัพย์ เช่น บ้าน คอนโดฯ ที่ดิน มีกระแสของการเก็งกำไรมากขึ้นเรื่อย ๆ จะเห็นได้จากพื้นฐานที่รองรับของสินทรัพย์ เช่น อัตราเงินปันผล หรือผลตอบแทนค่าเช่า เริ่มไม่สมเหตุผลมากขึ้นกับการเพิ่มขึ้นของราคาสินทรัพย์ ทุกคนซื้อสินทรัพย์โดยคาดหวัง Capital gain หรือกำไรจากการ "ขายต่อ" ในราคาที่แพงขึ้น

ข้อมูลทางสถิติจากหนังสือ The Crash of the Culture ของ John Bogle บ่งชี้ว่า ตลาดทุนกำลังเคลื่อนตัวไปสู่ "เกมเก็งกำไร" มากขึ้นเรื่อยๆ ในปี ค.ศ. 1951 อัตราการซื้อขายหมุนเวียนหุ้นในตลาดสหรัฐมีอยู่เพียง 15% ของมูลค่าตลาด (นั่นหมายถึงว่ามีการถือหุ้นแต่ละตัวเฉลี่ยประมาณ 6-7 ปี) แต่การหมุนเวียนก็เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จนเป็น 250% ในปี 2011 (แปลว่าคนถือหุ้นเฉลี่ยเหลือเพียงแค่ 4 เดือน)

ข้อมูลของประเทศไทยก็เป็นในทิศทางเดียวกัน ในปี 2556 ตลาด SET มีอัตราการซื้อขายหมุนเวียนหุ้น 102% ซึ่งเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา เหตุผลที่ตัวเลขต่ำกว่าอเมริกามาก ส่วนหนึ่งผมคิดว่าเกิดจากบริษัท "มหาชน" ในประเทศไทยยังไม่ใช่มหาชนโดยแท้จริง แต่เป็นบริษัทที่มีเจ้าของชัดเจน ซึ่งหุ้นส่วนเจ้าของแทบจะไม่มีการหมุนเวียน ดังนั้น อัตราการหมุนเวียนจริงๆ ซึ่งคิดจากเฉพาะ Free Float อาจจะใกล้เคียง 200%

แต่สำหรับตลาด mai แล้ว สถิติยิ่งน่าสนใจกว่า ในปี 2556 มีอัตราการซื้อขายถึง 312% และเพิ่มเป็น 971% ในช่วงเดือนกันยายน 2557 ที่ผ่านมา นั่นแสดงถึงสัญญาณความร้อนแรงในการเก็งกำไรของตลาด mai แน่นอนว่า ถ้าพูดเฉพาะเจาะจงเป็นหุ้นบางตัว จะได้ตัวเลขที่สูงกว่านี้มาก

มุมมองของ Bogle นี่อาจจะเป็นแนวโน้มใหญ่ของตลาดหุ้นที่อัตราส่วนนักลงทุนจะน้อยลงเรื่อย ๆ เมื่อเทียบกับนักเก็งกำไร ด้วยหลาย ๆ เหตุผล รวมไปถึงกระแส "สังคม" ในภาพใหญ่ ซึ่งนิยม "ความเร็ว" มากขึ้นในทุก ๆ กิจกรรมของมนุษย์ รวมไปถึงเทคโนโลยี อินเทอร์เน็ตที่ช่วยหนุนเกมเก็งกำไร แต่นี่อาจจะเป็นการเสียสมดุลทางอัตราส่วนที่เหมาะสมระหว่างการเก็งกำไรและ การลงทุน อันที่จริงแล้วนักลงทุนและนักเก็งกำไรจะเกื้อหนุนกัน เพราะนักเก็งกำไรจะเพิ่มเติมสภาพคล่อง ส่วนนักลงทุนจะจัดสรรทรัพยากรให้ราคาหุ้นสอดคล้องกับมูลค่าในระยะยาว แต่หากสมดุลนี้เสียไป ก็จะส่งผลไม่ดีนักต่อประสิทธิภาพของตลาดทุน

เนื่องจาก ณ จุดจุดหนึ่งกิจกรรมการเก็งกำไร "เพิ่มมูลค่า" ให้เศรษฐกิจน้อยมาก เนื่องจากเป็น Zero Sum Game (ผลลัพธ์ของผู้เล่นทุกคนเท่ากับศูนย์) แต่นักเก็งกำไรจำนวนมากต้องทุ่มเทเวลา และรัพยากร แทนที่จะใช้ทรัพยากรไปสร้างสิ่งที่เกิด "มูลค่าเพิ่ม" มากกว่า

หากพูดถึงแรงจูงใจของนักเก็งกำไรแล้ว นักเศรษฐศาสตร์ "จอห์น เมนาร์ด เคน" พูดเรื่องเกมเก็งกำไรไว้อย่างน่าสนใจว่า เกมของนักเก็งกำไร คือเกมคาดเดาอนาคตของ "ตลาด" ได้ดีกว่าตัวของ "ตลาด" เอง แต่แทนที่จะลงทุนในสิ่งที่นักลงทุนมองว่ามีคุณภาพดีในระยะยาว นักเก็งกำไรจะมองถึง "ทิศทางของราคา" ที่จะขับเคลื่อนไปอย่างรวดเร็ว มากกว่า "พื้นฐานกิจการ" ซึ่งมักกินระยะเวลายาวนานกว่ามาก ดังนั้น "ความเร็ว" คือเสน่ห์หลักอย่างหนึ่งของการเก็งกำไร และการชอบความท้าทายและตื่นเต้นก็อยู่ในยีนส์มนุษย์อยู่แล้ว

แม้ว่านักลงทุนทั่วไปจะมองการเก็งกำไรว่าเป็นการพนัน แต่อันที่จริง การเก็งกำไร คือการใช้ข้อมูลจำนวนมากเพื่อประเมินทิศทางของตลาด ซึ่งมากเสียไปกว่าการพึ่งพาดวง หรือความน่าจะเป็นอย่างเดียว เหมือนเกมการพนันจึงไม่ต่างจากนักลงทุนที่ต้องการข้อมูลจำนวนมาก เพื่อประเมินคุณภาพกิจการเช่นเดียวกัน ส่วนต่างสำคัญคือความจำเป็นในการเข้าถึงข้อมูลอย่างรวดเร็วของนักลงทุนนั้นน้อยกว่ามาก

ข้อมูลของนักเก็งกำไรต้อง "เร็วกว่า" ซึ่งความเร็ว ในการเข้าถึงข้อมูลของผู้เล่นแต่ละคนในตลาดเก็งกำไรจะส่งผลอย่างมากต่ออัตรา ผลตอบแทนและโอกาสแพ้ชนะ

และความเชื่อสำคัญที่เหมือนกันระหว่างนักลง ทุนกับนักเก็งกำไร คือตลาดไม่มีประสิทธิภาพ ทำให้ราคาจะเคลื่อนตัวออกจาก "มูลค่า" เสมอๆ ซึ่งเป็นช่องว่างให้เก็บเกี่ยวผลตอบแทนเพื่อให้ "ชนะตลาด" ได้ ความเหมือนหลายๆ อย่างระหว่างการลงทุนกับการเก็งกำไร ทำให้สองกิจกรรมนี้เป็นเหมือนเส้นบางๆ ระหว่างกันเสมอ

ส่วนตัวผมคิดว่า ในฐานะนักลงทุนรายย่อยทั่วๆ ไป วิธีการลงทุนที่น่าจะเหมาะที่สุด คือเกมการลงทุนระยะยาว เพราะคุณไม่ต้องเสียแต้มต่อจากปัจจัยหลายอย่างในเกมเก็งกำไร เช่น การเข้าถึงข้อมูลที่เร็วกว่า และไม่มีความจำเป็นที่จะต้องใช้เวลา "เฝ้า" มากเหมือนกิจกรรมเก็งกำไร สามารถใช้เวลาไปสร้างผลิตผลอย่างอื่น ที่สำคัญมันคือเกมที่สามารถ "ชนะไปด้วยกัน" เพราะมูลค่ากิจการที่ดีมีแต่จะเพิ่มขึ้นในระยะยาว

แต่ถ้าคุณอยู่ในเกมเก็งกำไร อย่าลืมว่านี่คือ Zero Sum Game ผู้ชนะจะมีได้เพราะมีผู้แพ้และผู้ชนะที่คุณเห็น คือคนส่วนน้อยมากๆ ของผู้แพ้ที่เดินไปจากตลาด โดยไม่เคยได้พูดหรือไม่มีโอกาสพูดอะไร (ผลการวิจัยของสมาคม North American Securities Administrators สรุปไว้ว่า โอกาสชนะในระยะยาวของเกมเก็งกำไรมีเพียง 12% เท่านั้น)


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : เกมเก็งกำไร

view