สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

เลือกจะอยู่/ไม่อยู่ กับ กบข.

เลือกจะอยู่/ไม่อยู่ กับ "กบข."

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์




อยากจะเรียนเพื่อประกอบการพิจารณาก็คือ ต้องเปรียบเทียบสิ่งที่จะได้มาและสิ่งที่สูญเสียไปหากเลือกลาออกจาก กบข.

หลังจากการรอคอยมายาวนานในที่สุด สภานิติบัญญัติแห่งชาติได้ผ่านร่างแก้ไข พ.ร.บ. กบข. เปิดโอกาสให้กับข้าราชการที่เมื่อ 17 ปีก่อน (27 มีนาคม 2540) สมัครเข้าเป็นสมาชิกกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการโดยความสมัครใจ สามารถตัดสินใจว่าเลือกจะอยู่กับ กบข. หรือลาออกจาก กบข. ได้ เนื่องจากประเด็นเรื่องส่วนของผลประโยชน์ที่กรมบัญชีกลางได้เคยนำเสนอในการเชิญชวนให้ข้าราชการเข้าเป็นสมาชิก กบข. ในปี 2539 ไม่เป็นไปตามที่คาดการณ์กันไว้ และที่สำคัญยิ่งกว่าคือส่วนต่างของเงินบำนาญสำหรับผู้ที่เป็นสมาชิก กบข. และที่ไม่เป็นสมาชิก กบข. เพราะผู้ที่เลือกเป็นสมาชิก กบข. ในขณะนั้นจะมีสูตรบำนาญที่อิงกับฐานเงินเดือนเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้าย ขณะที่ผู้ไม่เลือกเป็นสมาชิก กบข. จะได้รับเงินบำนาญตามสูตรบำนาญเดิมที่อิงกับเงินเดือนๆ สุดท้าย

ผู้เขียนถูกถามค่อนข้างมากว่า ควรจะอยู่กับ กบข. หรือเลือกลาออก (ที่เรียกกันว่า undo) ก็เป็นคำตอบที่ยาก เพราะปัจจัยประกอบการตัดสินใจของแต่ละบุคคลแตกต่างกัน ที่สำคัญๆ ได้แก่ หนึ่ง อายุราชการ สำหรับผู้ที่มีอายุราชการมากกว่า 37 ปี แล้ว ควรเลือกลาออกจาก กบข. เพราะจะทำให้ได้รับบำนาญสูงกว่าที่คุ้มกับการลาออกเพราะได้ประโยชน์จากอายุราชการที่ยาวนานได้เต็มที่ ในขณะที่บำนาญภายใต้สูตรเงินบำนาญของ กบข. ถูกกำหนดเพดานไว้ที่เทียบเท่ากับอายุราชการ 35 ปี บุคคลในกลุ่มนี้เหมาะสำหรับทหารที่มีอายุราชการมากเนื่องจากมีวันอายุทวีคูณ เนื่องจากมีการปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่เสี่ยง หรือมีอายุราชการเพิ่มจากสงคราม

สอง อัตราเงินเดือนในช่วง 60 เดือนสุดท้าย ที่ในระยะหลังนี้จะมีการปรับขึ้นอัตราเงินเดือนข้าราชการมากกว่าปีละ 1 ครั้ง จึงทำให้อัตราเงินเดือนๆ สุดท้าย ต่างจากอัตราเงินเดือนเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้ายค่อนข้างมาก ทำให้เงินบำนาญของทั้งสองระบบจึงมีส่วนต่างกว้างมากขึ้น ดังนั้น หากข้าราชการที่อัตราเงินเดือนตันที่เต็มขั้น ที่เงินเดือนแทบจะไม่ได้ปรับขึ้นเลยในช่วงก่อนเกษียณ จึงไม่ควรลาออกจาก กบข. เพราะเงินบำนาญรายเดือนที่จะได้รับแทบไม่มีความแตกต่างกันเลย

นอกจากคำตอบกลางๆ เพื่อการพิจารณาแล้ว ข้าราชการแต่ละคนก็มีสถานภาพแวดล้อมแตกต่างกัน แต่ที่อยากจะเรียนเพื่อประกอบการพิจารณาก็คือ ต้องเปรียบเทียบสิ่งที่จะได้มาและสิ่งที่สูญเสียไปหากเลือกลาออกจาก กบข. ดังนี้ ส่วนที่จะได้หลังจากการลาออกจาก กบข. คือ เงินบำนาญรายเดือนที่จะได้รับ เนื่องจากจะได้รับเงินบำนาญสูตรเดิมที่คำนวณบนฐานเงินเดือนๆ สุดท้าย จำนวนมากน้อยเท่าไรจะขึ้นอยู่กับอัตราเงินเดือนและจำนวนอายุราชการของแต่ละบุคคล

แต่อย่าลืมว่าเงินบำนาญดังกล่าวเป็นเงินในอนาคตที่ท่านอาจจะได้รับหรือไม่ได้รับ (หากอายุขัยสั้น) ที่ค่าเงินในอนาคตย่อมเสื่อมค่าลงตามอัตราเงินเฟ้อหรือราคาสินค้าและบริการ นอกจากนี้จะได้รับผลประโยชน์เต็มเม็ดเต็มหน่วยก็ต่อเมื่อท่านมีอายุยืนยาวได้อยู่ใช้เงินบำนาญ จึงมีความเสี่ยง 2 ประการคือ ความเสี่ยงของการลดค่าลงของเงิน และความเสี่ยงหากมีอายุขัยสั้นที่ไม่มีใครจะรู้อายุขัยของตนเองได้

ความสูญเสียจากการลาออกจากการเป็นสมาชิก กบข. ก็คือ เงินก้อนที่จะได้รับจาก กบข. ทั้งนี้ สมาชิก กบข. แต่ละคนนั้นจะมีเงินอยู่ 5 ส่วนใหญ่ๆ อยู่ในบัญชี คือ เงินประเดิม (ที่รัฐจ่ายให้แก่ข้าราชการที่อยู่ก่อน 27 มีนาคม 2540 และเลือกเข้าเป็นสมาชิก กบข.) และเงินชดเชย (ร้อยละ 2 ของเงินเดือน) เงินสมทบ (ที่รัฐจ่ายสมทบเข้าให้เท่ากับเงินสะสมในอัตราร้อยละ 3 ของเงินเดือน) เงินสะสมรายเดือนของสมาชิกที่ส่งเข้า กบข. (ร้อยละ 3 ของเงินเดือน) บวกเงินผลประโยชน์หรือดอกผลของการลงทุนที่ในรอบ 17 ที่ผ่านมาได้รับผลตอบแทนเฉลี่ยประมาณร้อยละ 7 ต่อปี

ซึ่งจำนวนเงินของสมาชิกจะแตกต่างกันไปตามอัตราเงินเดือนเป็นหลัก สมาชิกหากเลือกลาออกก็จะเหลือเพียงเงินสะสมบวกผลประโยชน์การลงทุนเท่านั้น เงินก้อนที่จะสูญเสียไปเป็นเงินก้อนที่ใหญ่กว่า ซึ่งสมาชิกแต่ละคนจะสามารถรู้ยอดเงินจากรายงานที่ กบข. จะแจ้งยอดให้สมาชิกรับทราบ แต่โดยคร่าวๆ แล้วเงินส่วนที่เสียไปนี้จะหายไป 5/8 ของเงินในส่วนที่อยู่กับ กบข. ตัวอย่างเช่น หากยอดเงินที่ กบข. มียอดรวม 800,000 บาท ก็จะเหลือเงินส่วนที่เป็นของสมาชิกเฉพาะส่วนเงินสะสม + ผลประโยชน์จำนวนรวมประมาณ 300,000 บาท เงินส่วนที่สมาชิกจะต้องคืนก็คือ 500,000 บาท

สำหรับผู้เลือกจะอยู่กับ กบข. นั้นหลังเกษียณก็จะมีเงินก้อนมากขึ้น 500,000 บาทบวกกับเงินบำนาญรายเดือนที่ต่ำกว่ากรณีเลือกลาออก แต่ข้อดีคือ จะมีเงินก้อนอยู่ในมือและเป็นเงินปัจจุบันที่จะสามารถใช้สอยได้ทันที เช่น ชำระหนี้ผ่อนบ้าน ผ่อนรถ ท่องเที่ยวในที่อยากจะไป หรือนำลงทุนให้เกิดดอกออกผล ในขณะที่ตัดสินใจลาออกจาก กบข. ก็จะเสียเงินก้อนไปโดยมีเงินบำนาญรายเดือนที่มากขึ้น แต่พึงระลึกว่า เงินบำนาญนี้เป็นเงินอนาคตที่เราทยอยรับและจะมีประโยชน์หากมีอายุขัยยืนยาว ดังนั้นก่อนเลือกจึงต้องพิจารณาเลือกทางเลือกที่เหมาะสมสำหรับตัวเอง


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : เลือกจะอยู่/ไม่อยู่ กบข.

view