สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

วงจรข้อมูลความยั่งยืน

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
ดร.พิพัฒน์ ยอดพฤติการ



การลงทุนเป็นโอกาส ผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูล ESG ก่อนการตัดสินใจลงทุน

ในบ้านเรา เริ่มได้ยินว่ามีบริษัทจดทะเบียนไทยหลายแห่งที่ได้เข้าอยู่ในดัชนีความยั่งยืนดาวโจนส์ (DJSI) ซึ่งเอสแอนด์พี/ดาวโจนส์ (ควบรวมกันในปี 2554) ถือเป็นผู้จัดทำและให้บริการดัชนีสำหรับการลงทุนรายใหญ่รายหนึ่งที่กำเนิดจากฝั่งอเมริกา ขณะที่ในฝั่งยุโรป (อังกฤษ) มีฟุตซี่ (FTSE) ที่ให้บริการข้อมูลดัชนีที่คล้ายคลึงกัน


เอสแอนด์พี/ดาวโจนส์ และฟุตซี่ เป็นผู้เล่นกลุ่มที่ให้บริการข้อมูลดัชนีในวงจรข้อมูลความยั่งยืน ซึ่งนำข้อมูลที่ใช้จัดทำดัชนีมาจากบริษัทประเมินหรือบริษัทวิจัย เช่น RobecoSAM หรือ Sustainalytics ขณะที่บริษัทประเมินหรือบริษัทวิจัยเหล่านี้ นอกจากจะเป็นผู้รวบรวมข้อมูลจากแหล่งปฐมภูมิเองแล้ว จะซื้อจากบริษัทขายข้อมูลอย่าง บลูมเบิร์ก หรือทอมสัน รอยเตอร์ส โดยที่บริษัทขายข้อมูลเหล่านี้ จะเป็นผู้ประกอบร่างข้อมูลจากแหล่งปฐมภูมิ เช่น ข้อมูลที่บริษัทเปิดเผยตามข้อกำหนด รายงานผลประกอบการ รวมถึงผลการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG) ตลอดจนจากแหล่งทุติยภูมิ เช่น เสียงสะท้อนจากผู้มีส่วนได้เสีย ภาคประชาสังคม และข้อเท็จจริงที่ปรากฏในสื่อต่างๆ


บริษัทที่เปิดเผยข้อมูลได้อย่างชัดเจน ครบถ้วน และเป็นไปตามบรรทัดฐานสากลตั้งแต่ต้นทาง เริ่มจากผู้รวบรวมข้อมูล (Aggregators) ไปยังบริษัทวิจัยข้อมูล (Researchers) และบริษัทผู้ประเมิน (Raters) สู่การจัดทำข้อมูลดัชนี (Indexes) ส่งตรงไปยังผู้ใช้ข้อมูล (Users) ซึ่งเป็นผู้ลงทุนโดยส่วนใหญ่ และผู้ใช้ข้อมูลปลายทาง จะยังประโยชน์ให้แก่ตัวองค์กรต่อการเป็นที่ยอมรับและการตัดสินใจลงทุนในบริษัท


ปัจจุบัน มีหน่วยงานที่พัฒนาแนวทางการเปิดเผยข้อมูลหรือกรอบการรายงาน เช่น IIRC, GRI, SASB ได้ออกเกณฑ์วิธีใหม่ๆ (เช่น การสานสัมพันธ์ผู้มีส่วนได้เสียเพื่อระบุเรื่องที่เกี่ยวข้อง การกำหนดสารัตถภาพของประเด็นที่เลือกมาดำเนินการ) เพื่อช่วยเหลือบริษัทในการเปิดเผยข้อมูลและการรายงานข้อมูลความยั่งยืนอย่างต่อเนื่อง ซึ่งหลักการรายงานความยั่งยืนของ GRI (ปัจจุบันใช้ฉบับ G4) ได้กลายมาเป็นมาตรฐานตามความนิยม (de facto standard) ที่ใช้อ้างอิงสำหรับการเปิดเผยข้อมูลความยั่งยืนอย่างแพร่หลายในระดับสากล


อาจมีข้อกังขาว่า ข้อมูลที่บริษัทเปิดเผยนั้น มีความน่าเชื่อถือหรือถูกต้องตรงกับความเป็นจริงมากน้อยเพียงใด จึงได้เกิดผู้เล่นอีกกลุ่มหนึ่งในตลาดทุน เพื่อพยายามแก้ข้อจำกัดในเรื่องการขาดความเชื่อมั่นในข้อมูลดังกล่าว โดยในส่วนของข้อมูลบริษัท ได้เกิดผู้ให้บริการงานให้ความเชื่อมั่น (Assurance Providers) ต่อการเปิดเผยข้อมูลที่มิใช่ตัวเลขทางการเงิน หรือรายงานด้านความยั่งยืน ตามมาตรฐานการสอบทานและการให้ความเชื่อมั่นที่พัฒนาขึ้นมารองรับจากหน่วยงาน IAASB และ AA1000 เป็นต้น


ในส่วนของข้อมูลวิจัยที่เผยแพร่จากบริษัทวิจัย ได้มีมาตรฐานคุณภาพการวิจัยข้อมูลการลงทุนอย่างมีความรับผิดชอบ (ARISTA) เกิดขึ้น เพื่อให้ความมั่นใจว่าข้อมูลวิจัยที่ได้รับการเผยแพร่มาจากกระบวนการวิจัยที่น่าเชื่อถือ มีความเป็นกลาง ได้คุณภาพ และสามารถตรวจสอบได้ ปัจจุบัน มาตรฐานที่ใช้เป็นฉบับที่ 3 และมีองค์กรที่ร่วมลงนาม 14 แห่ง
ในส่วนของการประเมิน จัดอันดับ และจัดทำดัชนี ได้มีการพัฒนามาตรฐานด้านการประเมินความยั่งยืน โดยหน่วยงานความริเริ่มสากลด้านการประเมินความยั่งยืน (GISR) มีระเบียบวิธีการประเมินทั้งในด้านกระบวนการและด้านเนื้อหา ที่ให้คำนึงถึงความเห็นของผู้มีส่วนได้เสียที่เกี่ยวข้องกับการนำผลการประเมินไปใช้ประโยชน์ รวมถึงเป้าหมายการดำเนินงานในระยะยาวของบริษัทที่ใช้เป็นแนวกำกับผลลัพธ์ทั้งในระยะสั้นและระยะกลางควบคู่ไปพร้อมกัน


ทั้งนี้ ผลได้ทางตรงของบริษัทในการเปิดเผยข้อมูลที่ได้คุณภาพและเป็นที่ยอมรับในระดับสากล คือ โอกาสที่จะได้รับเม็ดเงินลงทุนเพื่อสร้างความแข็งแกร่งและการเติบโตของธุรกิจจากผู้ลงทุน โดยเฉพาะผู้ลงทุนประเภทสถาบัน ที่ใช้ปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล ประกอบการตัดสินใจลงทุน


ส่วนผลได้ทางอ้อมของบริษัท (แต่ให้ผลทันที) คือ การยกระดับภาพลักษณ์และการเป็นที่ยอมรับขององค์กร จากการได้รับบทวิเคราะห์ในเชิงบวกจากบริษัทวิจัย อันดับที่ดีจากบริษัทผู้ประเมิน และการได้เข้าอยู่ในดัชนีชั้นนำของโลก


ด้วยผลได้ทางตรงและทางอ้อมที่จะเกิดแก่ทั้งฝั่งบริษัทและกับฝั่งผู้ลงทุน ทำให้ตลาดหลักทรัพย์รวมทั้งหน่วยงานกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ในหลายประเทศ (รวมทั้งประเทศไทย) ต่างออกมาตรการในการส่งเสริมให้บริษัทดำเนินการเปิดเผยข้อมูลด้านความยั่งยืนให้ได้มาตรฐาน เป็นที่ยอมรับ โปร่งใส ตรวจสอบได้ และมีมาตรการในการสนับสนุนให้ผู้ลงทุนใช้ข้อมูล ESG ประกอบการตัดสินใจลงทุน เพื่อลดความเสี่ยงจากการลงทุนในบริษัทที่ขาดธรรมาภิบาล ขาดความรับผิดชอบต่อสังคม และสร้างผลกระทบเสียหายต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งมีผลต่อความยั่งยืนและผลประกอบการในระยะยาวของกิจการ

การลงทุนเป็นโอกาส ผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูล ESG ก่อนการตัดสินใจลงทุน


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : วงจรข้อมูล ความยั่งยืน

view