สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

สนทนากับ Joseph Stiglitz 3 ข้อคิดสำหรับเศรษฐกิจไทย (1)

จากประชาชาติธุรกิจ

คอลัมน์ มายาการเงิน
โดย สันติธาร เสถียรไทย sattitarn.sathirathai@gmail.com

เมื่อไม่นานมานี้ ผมได้รับเชิญจากกระทรวงการคลังของอินโดนีเซียให้ไปร่วมงานสัมมนาประจำปี ที่จัดร่วมกับ World Bank และ ADB ที่บาหลี เลยมีโอกาสสนทนาแลกเปลี่ยนกับอาจารย์ที่ผมนับถือที่สุด เพราะท่านมาเป็นคนบรรยายพอดี ท่านผู้นั้น คือ ศาสตราจารย์ Joseph Stiglitz นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบล ที่เคยเป็นทั้งประธานทีมที่ปรึกษาเศรษฐกิจของประธานาธิบดีคลินตัน, Chief economist ของ World Bank, และผู้เขียนหนังสือที่ยอดขายติดอันดับเป็น best seller ระดับโลก อีกหลายเล่ม

ผมเลยใช้โอกาสนี้ศึกษาทบทวนข้อคิดทางเศรษฐศาสตร์หลายข้อ หลังจากที่ห่างหายจากคัมภีร์เศรษฐศาสตร์มาอยู่ด้านตลาดการเงินมาพักหนึ่ง รวมถึงได้คุยประเด็นที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจไทยหลายข้อด้วย วันนี้เลยอยากหยิบข้อคิดหลัก ๆ มาสัก 3 ประการ มาฝากให้คิดกันต่อครับ


ภาพจาก www.trinity.edu

ข้อแรก ระวังโรค Deficit fetishism
อย่ากลัวการขาดดุลการคลังมากเกินไป


ศาสตราจารย์ Stiglitz เน้นว่านักเศรษฐศาสตร์และคนวางนโยบายจำนวนไม่น้อย ยังมีอาการ Fiscal deficit fetish คือ ไม่กล้าใช้กระสุนการคลังเท่าที่ควร เพราะกังวลเรื่อง "การขาดดุลการคลัง" และ "หนี้สาธารณะ" มากเกินไป โดยบางครั้งรัฐบาลอาจกลัวกับปัญหาเงินเฟ้อ หรือกลัวกับการที่นโยบายอาจจะดูเป็นประชานิยมจนเกินไป ตัวอย่างที่ชัดเจนมาก คือ ในยูโรโซนหลายประเทศใช้นโยบายการคลังไม่ได้ จนทำให้เศรษฐกิจติดหล่มเป็นปัญหาเศรษฐกิจเรื้องรัง

อาจารย์ Stiglitz ย้ำว่าสิ่งที่เราควรจะกังวล คือ เรื่องการใช้เงินการคลังไปกับอะไรมากกว่า สมัยผมยังเป็นนักเรียน ผมเคยเป็นส่วนหนึ่งของทีมวิจัยของศาสตราจารย์ Dani Rodrik ที่อยู่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ตอนนั้นได้ศึกษาพบว่านโยบาย "ประชานิยม" นั้น ไม่ได้แปลว่าแย่เสมอไป หากเป็นประชานิยมที่ไม่ใช้ต้นทุนสูงอย่างไร้เหตุผลและรั่วไหลมากเกินไป คล้ายกับอาจารย์ที่ TDRI เคยกล่าวไว้ว่า สิ่งที่สำคัญคือต้องเป็น "นโยบายที่มีความรับผิดชอบ"

ผมว่าข้อคิดนี้อาจมีความสำคัญกับประเทศไทยเหมือนกัน แม้การยกเลิกโครงการจำนำข้าวเป็นสิ่งที่ดีในสายตานักเศรษฐศาสตร์แล้ว เพราะโครงการนี้ใช้กระสุนการคลังไปแบบสูญเปล่าจำนวนมากอย่างไม่จำเป็น และบิดเบือนตลาดการเกษตรและแรงงานอย่างลึกซึ้ง (อาจพูดได้ว่านโยบายไร้ความรับผิดชอบ)

แต่ก็คงปฏิเสธได้ยาก ว่าการหยุดโครงนี้กะทันหันย่อมมีผลทางลบต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะสั้นพอสมควร หากไม่มีมาตรการกระตุ้นทางการคลังมาทดแทน หรือการกระตุ้นนั้นไม่รุนแรงพอ เศรษฐกิจก็อาจจะฟื้นตัวช้า อาจติดหล่มไม่เป็น V-shape แต่เป็น U-shape แทน เหมือนให้คนที่เคยดื่มกาแฟเข้ม ๆ มาหลายปี หยุดกะทันหัน และมาจิบชาอ่อน ๆ แก้ง่วงแทน ก็คงไม่ได้ผลเท่าที่ควร (แม้อาจจะดีต่อสุขภาพมากกว่าในระยะยาว)

และหากเศรษฐกิจไม่ฟื้น ปัญหาหนี้ครัวเรือนจะแย่ลง เพราะคนยิ่งต้องลดการใช้จ่ายบริโภคเพื่อผ่อนหนี้ ซึ่งก็จะทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัวช้าลงไปอีก เป็นวังวนปัญหาเศรษฐกิจ ประเด็นนี้ยิ่งสำคัญในยามที่มีมรสุมเศรษฐกิจอื่นหลายอย่าง ตั้งแต่ราคาสินค้าเกษตรที่ซบเซา เศรษฐกิจโลกนอกจากอเมริกาที่ยังไม่ฟื้นตัว ทำให้ทั้งครัวเรือนและธุรกิจรายได้น้อยลงในขณะที่ภาระหนี้ครัวเรือนนั้นสูงขึ้นมาก

ทั้งหมดนี้ คือเหตุผลบางข้อที่ทำให้ทีมเศรษฐกิจผมคาดการณ์ตัวเลขเศรษฐกิจสวนกระแสมาตลอด ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม ว่า GDP ปีนี้ไม่น่าโตถึง 1.5-2% โดยโดนฉุดจากการบริโภคและลงทุน ไม่ใช่แค่ส่งออกและท่องเที่ยวเท่านั้น นอกจากจะได้การกระตุ้นจากภาคการคลังเต็ม ๆ

มาตรการกระตุ้นทางการคลังยังไม่พอ
ต้องการ "ทัพเสริม" ต้นปีหน้า


ในยามที่ดอกเบี้ยนโยบายนั้นต่ำอยู่แล้ว นโยบายที่จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้ดี ต้องมาจาก "การคลัง" การจะออกจากวังวนปัญหาหนี้ครัวเรือนที่ดีที่สุดวิธีหนึ่งก็คือ การทำให้เศรษฐกิจฟื้น ทำให้คนมีรายได้ ไม่จมใต้หนี้สินและภาระดอกเบี้ย โดยใช้นโยบายทางการคลัง ตอนนี้เราเริ่มเห็นทางรัฐบาลกังวลเรื่องเศรษฐกิจและคลอดมาตรการกระตุ้นมาบ้างแล้ว เป็นเม็ดเงินเพิ่มจากปกติกว่า 3 แสนล้านบาทในไตรมาส 4 นี้

แต่เรายังคงต้องลุ้น เพราะเท่าที่ดู "ยา" อาจยังไม่แรงพอที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจได้เท่าไร เพราะมาตรการการลงทุนหลายตัว ดูเป็น การนำรายจ่ายที่จะเกิดขึ้นในอนาคตมาใช้วันนี้แทน ก็คงเหมือนการเอาเงินเดือนของต้นปีหน้ามาเบิกจ่ายให้เราวันนี้แทน ถ้าวันนี้เราใช้จ่ายมากขึ้น ปีหน้าเราก็จะลดการใช้จ่ายลง เพราะเงินเดือนเราไม่ได้เพิ่มขึ้นจริง

ถ้าจะให้ได้ผลจริง รัฐบาลอาจต้องมี "งบกลางปี" เป็นทัพเสริมอีกระลอกตอนต้นปีหน้า โดยอาจจะยอมเพิ่มการขาดดุลการคลังของปีนี้ให้มากกว่าประมาณ 2% ของ GDP ตามที่เคยวางไว้ และกรอบของโครงการที่จะใช้งบฯนั้นก็พอมีในแผน 2.4 ล้านล้านอยู่แลัว และที่จริงแล้ว ประเทศไทยยังมี Fiscal space หรือช่องทางยิงกระสุนการคลังได้พอสมควรสำหรับระดับการขาดดุลการคลังกับหนี้สาธารณะระดับประมาณ 45% ของ GDP ในปัจจุบัน

เพียงแต่ต้องไม่กลัวการขาดดุลเกินไปจนเป็นโรค Deficit fetishism อย่างที่อาจารย์ Stiglitz ท่านกล่าว และหันไปเน้นดูด้านคุณภาพของการใช้จ่ายแทน ให้เป็นโครงการที่ช่วยเพิ่มรายได้ และการจ้างงานให้คนด้วย เพื่อให้เกิด Multiplier ต่อเศรษฐกิจต่อไป ไม่ใช่ลงทุนที่มีแต่การนำเข้าอุปกรณ์เครื่องจักร และป้องกันการรั่วไหล ที่อาจเกิดในยามที่ใช้เงินอย่างเร่งด่วน

สำหรับเรื่องการปัองกันการรั่วไหลนั้น น่ายินดีที่ Supervisory Board หรือที่เรารู้จักกันในชื่อ "ซูเปอร์บอร์ดของรัฐวิสาหกิจ" นั้น ได้มีการเริ่มนำเอาเครื่องมือที่อาจสามารถช่วยเพิ่มความโปร่งใสและลดรอยรั่วของการลงทุนภาครัฐในหลายประเทศมาแล้วอย่าง Integrity Pact กับ Construction Sector Transparency Initiative หรือ Cost มาใช้ ก็คงต้องมาดูกันว่าผลจะเป็นอย่างไรบ้าง

ราคาน้ำมันอาจเป็น "พระเอกขี่ม้าขาว"

แต่ถ้าห่วงเรื่องการขาดดุลจริง ๆ ปัจจัยหนึ่งที่อาจเป็น "พระเอกขี่ม้าขาว" มาช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจให้ฟื้นได้ โดยรัฐบาลไม่ต้องยอมขาดดุลการคลังเพิ่ม คือ ราคาน้ำมันดิบที่ลดลงมาอย่างรวดเร็ว โดยรัฐบาลอาจจะใช้จังหวะนี้กลับมาเก็บภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล ประมาณ 4-5 บาทต่อลิตร โดยไม่ต้องขึ้นราคาดีเซลที่ปั๊มจาก 30 บาท ได้เงินรายได้เข้าคลังเพิ่มเกือบแสนล้านบาท มาใช้ในการกระตุ้นเศรษฐกิจได้ (เกือบ 1% ของ GDP) เป็นกระสุนที่ได้เพิ่มขึ้นมาโดยไม่ต้องขาดดุลเพิ่ม โดยเราต้องหวังว่าราคาน้ำมันดิบโลกจะอยู่ที่ระดับนี้ต่อไปไม่ดีดตัวขึ้นไปใหม่

สอง-ภาคการเงินต้องอยู่เพื่อเศรษฐกิจ
ไม่ใช่เศรษฐกิจอยู่เพื่อภาคการเงิน


ฟังดูแล้วอาจจะบอกว่าแน่ละสิ มีที่ไหนที่เศรษฐกิจอยู่เพื่อภาคการเงิน แต่ในความเป็นจริงแล้วมีมากกว่าที่คิด เพราะวิธีที่เรามักใช้วัดประสิทธิภาพและความพัฒนาของภาคการเงิน หรือพูดง่าย ๆ ว่า KPI ของภาคการเงิน ที่คนวางนโยบายต่าง ๆ ใช้นั้น มักไม่สมบูรณ์

นักเศรษฐศาสตร์มักจะวัดระดับการพัฒนาของระบบการเงินจากขนาดของภาคการเงิน เทียบกับเศรษฐกิจ (อาจเป็นอัตราส่วนของ Broad Money หรือ Credit ต่อ GDP) แต่หลังจากเห็นสารพัดวิกฤตการเงินในยี่สิบปีที่ผ่านมา ก็รู้ว่าภาคการเงินที่ใหญ่เกินไปนั้น อาจเป็นอันตรายต่อเศรษฐกิจ กลายเป็นเพิ่มความเสี่ยงแทนที่จะช่วยกระจายความเสี่ยง

นักเศรษฐศาสตร์และการเงินจึงเพิ่มการเน้นให้ผู้ควบคุมดูแลกำกับภาคการเงินทั้งหลาย ต้องคุมเข้มขึ้นให้แน่ใจว่าสถาบันการเงินมีความแกร่ง ทั้งงบดุล สภาพคล่อง เงินทุนและเครื่องมือดูแลความเสี่ยงที่เพียงพอ

แต่ศาสตราจารย์ Stiglitz ชี้ว่าแนวคิดแบบนี้ "เสี่ยง" ที่จะสร้างระบบการเงินที่อยู่เพื่อตนเอง มากกว่าจะพัฒนาเพื่อช่วยเศรษฐกิจ อาจทำให้สถาบันการเงินอยู่เพื่อช่วยแต่บริษัทใหญ่ ๆ หรือไม่ก็ปล่อยสินเชื่อเฉพาะในยามเศรษฐกิจดี มากกว่าที่จะปล่อยกู้ให้กับกลุ่มที่ต้องการที่สุด ในยามที่เขาต้องการที่สุด เช่น SMEs ในยามที่เศรษฐกิจเป็นขาลง และการที่ภาคการเงินแกร่งมากทุนหนากำไรดี อาจสะท้อนถึงอำนาจตลาดที่มีมากไปก็ได้

พูดเสร็จศาสตราจารย์ยิ้มและถามกลับ ว่าแล้วภาคการเงินที่แกร่งและส่งเสริมแต่กลุ่มที่เข้าหาเงินทุนได้ง่ายอยู่แล้ว แต่ไม่ช่วยพัฒนาบริษัทใหม่ ๆ Entrepreneur ใหม่ ๆ แบบนี้ จะมีไปทำไม ?

"ไม่ใช่ว่าภาคการเงินควรมีหน้าที่ช่วยภาคเศรษฐกิจที่แท้จริงหรือ ?"


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : สนทนา  Joseph Stiglitz 3 ข้อคิด เศรษฐกิจไทย

view