สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

QE ยุโรป น่าจะแจ๋วไม่แพ้ของเฟด ?

QE ยุโรป น่าจะแจ๋วไม่แพ้ของเฟด ?

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์




สัปดาห์ที่แล้วผมได้มีโอกาสร่วมเป็นวิทยากรในงาน TISCO Wealth Investment Forum ระหว่างเสวนาได้ทิ้งประโยคที่ว่า..

การทำ QE ของยุโรป ไม่น่าจะมีประสิทธิภาพต่ำกว่าของสหรัฐ เนื่องจาก QE ของยุโรปมีความหลากหลายกว่า แม้เงินยูโรจะไม่ได้มีสถานะที่เป็นเอกสิทธิ์ของโลกอย่างดอลลาร์ก็ตาม บทความนี้จะขอเล่าถึงข้อดีของ QE ในส่วนสินทรัพย์ภาคเอกชนโดยเฉพาะอย่างยิ่งวิสาหกิจขนาดกลางและเล็ก หรือ SME ซึ่งคงเป็นพระเอกของ QE ในช่วงแรกจากธนาคารกลางยุโรป

โดยกระบวนการเปลี่ยนแปลงสินเชื่อที่ไม่มีสภาพคล่อง อย่างสินเชื่อ SME ให้กลายเป็นสินทรัพย์ที่มีสภาพคล่องสูง มีข้อดีกว่าการทำ QE แบบที่ทำกันในสหรัฐและญี่ปุ่น ด้วยเหตุผล 5 ประการ ดังนี้

หนึ่ง ในระยะสั้น การทำ QE ผ่านสินเชื่อ SME สามารถเพิ่มปริมาณสินเชื่อในเซกเมนต์ดังกล่าวซึ่งถือเป็นจุดอ่อนของระบบธนาคารในยุโรป คล้ายกับที่ธนาคารกลางสหรัฐทำกับตลาดสินเชื่อบ้านที่เป็นโฟกัสสำคัญของเศรษฐกิจสหรัฐ โดยความเสี่ยงด้านเครดิตในส่วนนี้จะสามารถส่งผ่านออกจากระบบธนาคารพาณิชย์ไปสู่ระบบการเงินในภาคส่วนอื่นหากการปล่อยสินเชื่อใหม่สามารถทำได้แบบที่มีมาตรฐานที่เข้มงวด บริษัทจัดการกองทุนรวมที่มีความเข้มแข็งทางการเงินย่อมจะสามารถแบ่งปันผลตอบแทนที่เหมาะสมตามความเสี่ยงของสินเชื่อใหม่ดังกล่าวได้ ระบบการเงินของยุโรปย่อมจะมีความคล่องตัวขึ้นจากการบริหารความเสี่ยงด้านเครดิตโดยรวมที่ดีกว่าเดิม

สอง การแทรกแซงของธนาคารกลางด้วย QE ควรจะมีความสมดุลระหว่างรายอุตสาหกรรมต่างๆ ภายในเศรษฐกิจของยุโรป นโยบายการเงินไม่ควรจะให้ความสำคัญต่อหนี้ของรัฐบาลและหนี้ของบริษัทขนาดใหญ่มากกว่า SME ด้วยแผนการกระตุกให้ตลาด Securitization ของ SME ให้มีความคึกคักขึ้นของนายมาริโอ ดรากิ ประธานธนาคารกลางยุโรปที่ประกาศออกมาเมื่อ 3 เดือนก่อน เป็นสัญญาณที่ส่งออกมาว่า QE ของยุโรปรอบนี้ จะไม่ยอมมุ่งเพียงทำแต่ตลาดพันธบัตรรัฐบาลและปล่อยโอกาสให้นักลงทุนเอกชนที่ยังสนใจตลาด SME นำเงินมาลงทุนในเซกเมนต์ดังกล่าวหลุดลอยไป

สาม จะว่าไปการแปลงสินเชื่อให้เป็นสินทรัพย์หรือ Securitization โดยเฉพาะอย่างยิ่งของ SME สำหรับภูมิภาคยุโรปเพื่อให้เกิดสินทรัพย์ประเภทใหม่ เท่ากับเป็นการสร้างช่องทางตัวกลางทางการเงินให้กับบริษัทขนาดกลางและเล็กให้เกิดขึ้นในมิติการเชื่อมโยงกันสำหรับตลาดระหว่างประเทศจนสามารถครอบคลุมทั่วภาคพื้นยุโรป ซึ่งการทำ QE เฉพาะในส่วนของพันธบัตรรัฐบาลไม่สามารถได้รับอานิสงส์นี้ เนื่องจากจำกัดอยู่เฉพาะ interbank lending หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งคือ การใช้ระบบการเงินเป็นช่องทางในการกระตุ้นเศรษฐกิจต้องไม่ทำเพียงในมิติ “รายอุตสาหกรรม” แต่ต้องทำในมิติ “รายหรือทั่วภูมิภาค” ให้สมดุลกันด้วย

สี่ ข้อดีของการทำ QE ของสินเชื่อภาคเอกชนโดยเฉพาะในส่วน SME ที่เหนือกว่า QE ของพันธบัตรรัฐบาล ได้แก่ การมีองค์ประกอบที่เรียกว่า Senior Tranche ในสินทรัพย์ประเภท Asset Backed Securities (ABS) อันได้แก่ หลักประกันที่มีคุณภาพและมีกระแสเงินสดที่มีความแน่นอนทำหน้าที่เป็นสินทรัพย์ที่ปราศจากความเสี่ยงของยุโรป โดยในส่วนนี้ สามารถใช้เป็นเงินทุนช่วยเหลือยุโรปตอนที่เกิดวิกฤติเมื่อเงินทุนไหลจากประเทศยุโรปใต้เข้าสู่เยอรมัน

ห้า การสร้างสินทรัพย์ประเภทใหม่ให้เกิดขึ้นเป็นโอกาสให้ยุโรปสามารถทำให้ตลาดสินทรัพย์ของยุโรปห่างไกลจากปัจจัยเสี่ยงที่เป็นต้นตอของวิกฤติยุโรปในรอบที่แล้ว นั่นคือหนี้ภาครัฐที่สูงเกินจนทำให้ความเสี่ยงของงบการเงินสถาบันการเงินสูงขึ้นจากการถือครองหนี้ภาครัฐ เนื่องจากตลาดสินทรัพย์ที่มีสินทรัพย์ค้ำประกันหรือ ABS ของสินเชื่อ SME พึ่งพาเพียงแต่ความเสี่ยงของสินทรัพย์จากสินเชื่อนี้เท่านั้น

อย่างไรก็ดี มีข้อควรระวังอยู่ 3 ประการ ในการทำ QE ผ่านสินเชื่อ SME ภาคเอกชน ได้แก่

หนึ่ง ระบบบริหารความเสี่ยงของแบงก์ในปัจจุบัน เข้าใจพฤติกรรมของการเกิด NPL ของหนี้ภาคครัวเรือนและสินเชื่อรถยนต์มากกว่าของสินเชื่อ SME ดังนั้นการทำ QE ในส่วนนี้ต้องระมัดระวังกว่าปกติ ไม่ว่าจะในมิติทางเทคนิคของการบริหารพอร์ตและทางกฎหมาย

สอง การบริหารความแตกต่างเรื่องระยะเวลาที่จะครบกำหนดระหว่างฝั่งสินทรัพย์หรือตัวสินเชื่อที่จะเป็นแหล่งสร้างกระแสเงินสด และฝั่งหนี้สินหรือการจ่ายเงินงวดให้กับผู้ถือตราสารนี้ ที่เรียกว่า Maturity Trans-formation ต้องทำให้ความแตกต่างดังกล่าวให้มีน้อยที่สุดโดยผู้ที่จะออกสินทรัพย์ประเภทนี้ต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ

ท้ายสุด การสร้างสินทรัพย์ประเภทใหม่นี้ ต้องไม่ทำให้เกิดการหากำไรส่วนเกินจากการซื้อมาขายไปหรือ arbitrage กับสินทรัพย์ประเภทอื่น ซึ่งต้องใช้ความระมัดระวังในการออกแบบผลิตภัณฑ์ ทั้งในมิติราคาและระดับการค้ำประกันจากภาครัฐ

กระนั้นก็ดี QE ของยุโรปที่ใกล้จะเกิดขึ้น ก็ยังน่าจะต้องมีการซื้อพันธบัตรรัฐบาลอยู่ดีเนื่องจากเป็นเครื่องหมายทางการค้าของ QE ขนานแท้จากนายห้างยี่ห้อ เบน เบอร์นันกี ซึ่งผลกระทบทางจิตวิทยาต่อตลาดจาก QE ขนานนายห้างเบน ดูจะแรงกว่าผล กระทบทางข้อดีจากปัจจัยพื้นฐานของ QE ในส่วน SME เสียด้วยซ้ำไปครับ


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : QE ยุโรป น่าจะแจ๋ว ไม่แพ้ เฟด ?

view