สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ใครรับผิดชอบ

จากประชาชาติธุรกิจ

คอลัมน์ สามัญสำนึก โดย ถวัลย์ศักดิ์ สมรรคบุตร

ในขณะที่สาธารณชนสนใจเรื่อง "ข้าว" แต่เวลาเดียวกันก็มี 3 เหตุการณ์ที่น่าสนใจ หนึ่ง คือกรณีคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีมติให้ส่งรายงานการไต่สวนข้อเท็จจริงเรื่องถอดถอน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี หลังที่ประชุม ป.ป.ช.มีมติ "ชี้มูล" ความผิดมี พฤติกรรมส่อว่าจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 178 และส่อว่าจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อบทบัญญัติแห่ง พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 มาตรา 11 (1) กรณีไม่ระงับยับยั้งความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการดำเนินโครงการรับจำนำข้าวเปลือกทุกเม็ดของรัฐบาลชุดที่ผ่านมา

สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) จะรับเรื่องการถอดถอนเพื่อดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ของ สนช.หรือไม่ อย่างไร

กรณีที่สอง คือสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) เปิดผลวิจัย "การคอร์รัปชั่นกรณีศึกษา : โครงการรับจำนำข้าวทุกเม็ด" โครงการเดียวกับที่ ป.ป.ช.ชี้มูลความผิด น.ส.ยิ่งลักษณ์ โดย ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการเกียรติคุณ TDRI บอกว่า โครงการรับจำนำทั้ง 5 รอบของอดีตรัฐบาลยิ่งลักษณ์ส่งผลให้ประเทศไทยขาดทุนทางการคลังไปถึง 660,000 ล้านบาท ข้าวในสต๊อกที่รับจำนำตกมาตรฐานด้านคุณภาพถึง 85% หากรัฐบาลใช้เวลาในการระบายข้าวในสต๊อกที่รับจำนำเข้ามาทั้งหมดภายใน 10 ปี (ความล่าช้าในการระบายข้าว) ก็จะขาดทุนเพิ่มขึ้นเป็น 960,000 ล้านบาท หรือเฉียด 1 ล้านล้านบาท

โดย ดร.นิพนธ์อธิบายความจากผลการวิจัยมีข้อบ่งชี้ว่า เกิดกระบวนการ "ทุจริต" ในการระบายข้าวในสต๊อกของรัฐบาลชุดที่ผ่านมาถึง 4 วิธีคือ 1) การขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ หรือ G to G โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อกล่าวอ้างที่ว่า มีการทำสัญญา G to G กับรัฐบาลจีน คิดเป็นปริมาณข้าว 7.8 ล้านตัน 2) การเลือกขายข้าวในสต๊อกรัฐบาลให้กับพ่อค้าสมัครพรรคพวกคิดเป็นปริมาณข้าว 3.7 ล้านตัน 3) การสับเปลี่ยนข้าวหรือข้าวหายอีก 5.9 ล้านตัน และ 4) กรณีการขายข้าวถุงราคาถูกขององค์การคลังสินค้า (อคส.) ด้วยการจ้างผู้ประกอบการค้าข้าวปรับปรุงคุณภาพข้าวและจ้างผู้ประกอบการรายเดียวกันนั้นกระจายสินค้าข้าวถุงคิดเป็นปริมาณข้าว 2.4 ล้านตัน

กรณีนี้ต้องจับตาดูว่า สุดท้ายแล้ว "อัยการ" จะสั่งฟ้องหรือไม่ เนื่องจากผลสอบสวนข้อเท็จจริงของ ป.ป.ช.กรณีการระบายข้าวของรัฐบาลเกี่ยวพันถึงนักการเมืองอย่างนายบุญทรง เตริยาภิรมย์ นายภูมิ สาระผล สองอดีตรมว.กระทรวงพาณิชย์ หรือข้าราชการระดับสูงอย่าง นายมนัส สร้อยพลอย อดีตอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ, นายทิฆัมพร นาทวรทัต อดีตผอ.สำนักบริหารการค้าข้าว, นายอัครพงษ์ ทีปวัชระ อดีตเลขานุการกรมการค้าต่างประเทศ โดยมีกุญแจสำคัญอยู่ที่บริษัทสยามอินดิก้าจะเปิดปากซัดทอดการขายข้าว G to G กับรัฐวิสาหกิจจีน (4.8 ล้านตัน แต่มีข้าวส่งออกไปจริงเพียง 375,000 ตัน) โดยไม่มีการส่งออกข้าวไปจริงหรือไม่

สุดท้ายกรณีที่สาม การบริหารจัดการสต๊อกข้าวจากโครงการรับจำนำข้าว เบื้องต้นกะกันว่า จะมีสต๊อกข้าวสูงถึง 17.4 ล้านตัน จากผลการตรวจสอบของคณะอนุกรรมการตรวจสอบฯ มี ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ปรากฏว่า ปริมาณข้าวคงเหลือในสต๊อกคิดเป็นข้าวดีได้มาตรฐาน 10% หรือเท่ากับ 1.8 ล้านตัน มีข้าวคุณภาพต่ำสีเหลืองอยู่ 12.6 ล้านตัน มีข้าวเสื่อมสภาพ 900,000 ตัน และข้าวหายอีก 100,000 ตัน ทั้งหมดนี้จะระบายข้าวในสต๊อกกันอย่างไร

ทั้ง 3 เหตุการณ์ล้วนเป็นเหตุเป็นผลซึ่งกันและกัน ถ้าไม่มีรัฐบาลยิ่งลักษณ์ก็จะไม่มีโครงการรับจำนำข้าวทุกเม็ดจนเกิดกระบวนการทุจริตทุกขั้นตอน จริงอยู่ที่ว่าการ "แทรกแซง" ตลาดข้าวไม่ว่าจะด้วยวิธีการใดล้วนเกิดการทุจริต แต่ไม่มีการทุจริตครั้งใดในอดีตที่จะประสบความเสียหายต่อรัฐมากมายเหมือนโครงการนี้ ท่ามกลางความวิตกกังวลที่ว่า สุดท้ายแล้วอาจจะหา "ใคร" มารับผิดชอบต่อความเสียหายร้ายแรงครั้งนี้ไม่ได้


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ใครรับผิดชอบ

view