สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ญี่ปุ่นจะทำเงินท่วมโลกครั้งใหม่

ญี่ปุ่นจะทำเงินท่วมโลกครั้งใหม่

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์




การประกาศเพิ่มการอัดฉีดเงินเข้าระบบของธนาคารกลาง ญี่ปุ่นเมื่อสิ้นเดือนต.ค. เป็นเรื่องที่อาจจะเหนือความคาดหมาย

ของคนส่วนใหญ่

แต่อาจจะเป็นเรื่องที่เป็นไปตามความคาดหมายของคนอีกหลายกลุ่ม เนื่องจากมองว่านโยบายของนายกรัฐมนตรีชินโซะ อาเบะ จะต้องเดินมาถึงจุดที่จะต้องอัดฉีดสภาพคล่องเพิ่มเติม

อย่างไรก็ดี กลุ่มนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่รู้สึกแปลกใจในการเพิ่มการอัดฉีดสภาพคล่องในครั้งนี้

ภายหลังจากที่ญี่ปุ่นประกาศอัดฉีดสภาพคล่องเข้าไปในระบบเพิ่มจากเดิม 60-70 ล้านล้านเยนต่อปี เป็น 80 ล้านล้านเยนต่อปี เมื่อวันศุกร์ที่ 31 ตุลาคม 2557 ที่ผ่านมา ตลาดเกิดอาการช็อค และค่าเงินเยนของญี่ปุ่นก็อ่อนไปมากกว่า 2% ในวันเดียว โดยแตะระดับ 112 เยนต่อเหรียญสหรัฐทันที และมีการอ่อนตัวเพิ่มขึ้นในสัปดาห์ถัดมา อยู่ในระดับที่อ่อนที่สุดในรอบ 7 ปี ในวันที่ 3 พฤศจิกายน 2557 รวมอ่อนค่าลงไปประมาณ 6-7%

ในขณะเดียวกัน ตลาดหุ้นก็ทะยานเพิ่มขึ้น โดยดัชนีนิเคอิ 225 ปรับเพิ่มขึ้นถึง 4.8% เพราะนักลงทุนที่ขายช็อตตลาดญี่ปุ่นต้องเข้ามาปิดสถานะ

การอัดฉีดเงินเข้าระบบด้วยการซื้อพันธบัตรและสินทรัพย์ของธนาคารกลางของญี่ปุ่นได้ดำเนินการมาแล้วตั้งแต่ต้นปี 2556 โดยเป็นส่วนหนึ่งของลูกดอกแรก ในจำนวนลูกดอกสามลูกที่นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นเสนอในตอนเข้ารับตำแหน่งในเดือนธันวาคม 2555

ลูกดอกแรกคือ การกระตุ้นเศรษฐกิจโดยให้ธนาคารกลางประเทศญี่ปุ่นอักฉีดสภาพคล่องเข้าไปในระบบ ซึ่งเมื่อเริ่มทำในต้นปี 2556 ค่าเงินเยนก็อ่อนจากระดับ 82 เยนต่อดอลลาร์ ไปสู่ระดับ 95 เยนต่อดอลลาร์ในเดือนกุมภาพันธ์ 2556 และเชื่อว่า จะทำให้สินค้าญี่ปุ่นมีความสามารถในการแข่งขันมากขึ้น เงินเยนอยู่ในแนวโน้มอ่อนค่าอย่างต่อเนื่อง และอ่อนไปแตะ 105 เยนต่อดอลลาร์ในต้นปี 2557

ลูกดอกที่สองที่นายกอาเบะใช้คือ การใช้จ่ายเงินภาครัฐเพื่อลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานเพิ่มขึ้น

และลูกดอกที่สามคือ การปฏิรูปโครงสร้างการเงินของประเทศ

ในตอนต้นนโยบายต่างๆ ดูเหมือนจะใช้ได้ผล ตลาดหุ้นญี่ปุ่นทะยานขึ้น กลายเป็นตลาดที่ให้ผลตอบแทนมากที่สุดในปีที่แล้ว ค่าเงินเยนที่อ่อนลงทำให้สินค้าของญี่ปุ่นส่งออกได้มากขึ้น และเริ่มมีอัตราเงินเฟ้อเกิดขึ้น รวมถึงอัตราเติบโตทางเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มดีขึ้น รัฐบาลถึงกับตั้งเป้าหมายอัตราเงินเฟ้อไว้ที่ 2%

แต่มนต์ขลังของนโยบายนี้ค่อยๆ หมดไป ส่วนหนึ่งเนื่องจากการขึ้นอัตราภาษีการขาย (Sales Tax) จาก 5% เป็น 8% เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา และอีกส่วนหนึ่งคือการที่เศรษฐกิจโลกฟื้นตัวช้ากว่าที่คาดไว้ โดยล่าสุด รัฐบาลญี่ปุ่นต้องลดเป้าหมายอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจในปีงบประมาณ 2557 ลงเหลือเพียง 0.5%

การอัดฉีดสภาพคล่องนี้ ดูจะเป็นการทุ่มอย่างสุดตัวของญี่ปุ่นในการทำให้เศรษฐกิจฟื้น โดยในรอบนี้ธนาคารกลางของญี่ปุ่นจะไม่เพียงเข้าไปซื้อพันธบัตรเท่านั้น แต่จะเข้าไปซื้อสินทรัพย์เสี่ยงอื่น คือ กองทุนตลาดรอง หรือ Exchange Traded Funds -ETF และ กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ของญี่ปุ่นด้วย

ทั้งนี้ใน 12 เดือนที่ผ่านมา ค่าเงินเยนอ่อนลงไปแล้วเกือบ 15% เมื่อเทียบกับเงินหยวนของจีน

เงินเยนที่อ่อนลงอาจทำให้สินค้านำเข้ามีราคาสูงขึ้นสำหรับคนญี่ปุ่น แต่คาดว่าอัตราเงินเฟ้อคงไม่สามารถขึ้นไปถึง 2% ตามที่นายกรัฐมนตรีอาเบะตั้งเป้าหมายไว้ เพราะแนวโน้มราคาน้ำมันก็อ่อนและทรงตัว แนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจยุโรปก็ไม่ดี

สำหรับตลาดหุ้นญี่ปุ่น นอกจากความหวังว่าสภาพคล่องที่เพิ่มขึ้นจะทำให้เงินลงทุนบางส่วนไหลเข้าตลาดหุ้นแล้ว การที่กองทุนบำเหน็จบำนาญของญี่ปุ่นซึ่งเป็นกองทุนบำนาญที่ใหญ่ที่สุดในโลกจะเปลี่ยนสัดส่วนการลงทุนโดยลดสัดส่วนการลงทุนในพันธบัตรลงจาก 60% เป็น 35% และจัดสรรเงินไปลงทุนในหุ้นมากขึ้น ทำให้ตลาดหุ้นของญี่ปุ่นคึกคักขึ้นมาหลายเดือนแล้ว

นักวิเคราะห์มองว่า การอัดฉีดสภาพคล่องเพิ่มเติมนี้หากได้ผล จะช่วยปูทางให้การขึ้นภาษีการขายในรอบต่อไป ที่กำหนดไว้จาก 8% เป็น 10% ในปีหน้าคือปี 2015 เป็นไปได้ง่ายขึ้น

แต่เมื่อพิจารณาดูแล้วผลสัมฤทธิ์ที่จะได้จากการอัดฉีดสภาพคล่องน่าจะน้อยลงเรื่อยๆเพราะสิ่งหนึ่งที่ญี่ปุ่นต้องตระหนักคือ การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของประชากรเมื่อสังคมมีสัดส่วนของผู้สูงวัยเพิ่มขึ้น การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมย่อมเป็นไปได้ยากกว่าสังคมที่มีสัดส่วนของคนหนุ่มสาวมาก คนหนุ่มสาวพร้อมที่จะรับสิ่งใหม่ๆ พร้อมที่จะใช้จ่าย แต่ผู้สูงอายุไม่พร้อมที่จะทำเช่นนั้น

ประการที่สอง โลกสมัยนี้ปรับเปลี่ยนเร็วมาก วงจรชีวิตของสินค้าหรือ Product Life Cycle สั้นลงกว่าเดิมมากสินค้าและบริการที่เป็นที่นิยมในช่วงหนึ่ง อาจเสื่อมความนิยมได้อย่างรวดเร็วใน 2-3 ปี และถูกทดแทนด้วยสินค้าหรือบริการใหม่ ถ้าจะปรับให้ทันต้องมีการคิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆตลอดเวลา และหลังจากคิดค้นได้ จะต้องส่งออกไปในตลาดให้เร็วที่สุด เพื่อใช้ประโยชน์จากความได้เปรียบในช่วงเวลาสั้นๆให้เต็มที่ ประเด็นนี้ควรต้องเรียนรู้จากตัวอย่างของเกาหลีใต้

คาดว่าสภาพคล่องไม่น่าจะออกมาท่วมโลกค่ะ จะอยู่ในญี่ปุ่นเป็นส่วนใหญ่ แต่ที่เป็นประเด็นต่อเนื่องคือสงครามค่าเงินต่างหาก

สิ่งที่ญี่ปุ่นและประเทศอื่นๆ ต้องตระหนักก็คือ การอ่อนลงของค่าเงินอาจทำให้ได้เปรียบในทางการค้าในระยะหนึ่งแต่ในช่วงที่ประเทศต่างๆ ต่างเสาะแสวงหาการเติบโตทางเศรษฐกิจจากการส่งออก เชื่อว่าไม่มีประเทศไหนยอมให้ค่าเงินของตัวเองแข็งค่ามากจนเกินไปและเสียเปรียบทางการค้า ดังนั้น ต้องจับตาดูนโยบายการเงินของจีนในช่วงต่อไป

แม้ว่าเงินบาทจะอ่อนค่าตามเงินเยนไปด้วย แต่ไม่อ่อนมากเท่า ดังนั้นเมื่อเทียบเงินบาทกับเงินเยนแล้ว เงินเยนถูกลง คงเป็นที่ยินดีสำหรับนักท่องเที่ยวไทยที่จะไปเที่ยวญี่ปุ่น หรือผู้นิยมใช้ของญี่ปุ่น ที่อาจซื้อหาได้ในราคาที่ถูกลง

ก็ขอให้ใช้แต่พอดีๆนะคะ ประเทศเรายังไม่ร่ำรวยมาก และอย่าลืมอุดหนุนสินค้าไทยด้วยนะคะ


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ญี่ปุ่น ทำเงินท่วมโลก ครั้งใหม่

view