สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ถึงเวลาใช้ยาสมเหตุผลแก้ภาระงบประมาณชาติ

จาก โพสต์ทูเดย์

โดย...ทีมข่าวในประเทศโพสต์ทูเดย์

น่าจับตาการลงนามเอ็มโอยูร่วมกัน ระหว่างกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) สำนักงานประกันสังคม สถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (สรพ.) กรมบัญชีกลาง และกลุ่มสถาบันแพทย์ศาสตร์แห่งประเทศไทยเพื่อ “พัฒนาโรงพยาบาลส่งเสริมการใช้ยาอย่างสมเหตุผล” ให้เกิดขึ้นจริง

เป้าหมายที่ตั้งไว้ คือในปี 2558 โรงพยาบาล นำร่องทั้งหมด 57 แห่ง จะต้องมีการใช้ยาอย่างเป็นมาตรฐาน คุ้มค่า และเกิดประโยชน์กับประชาชนอย่างแท้จริง หลังจากเกิดปัญหาการใช้ยาที่ฟุ่มเฟือย สร้างภาระให้กับงบประมาณ และยังส่งผลกระทบกับสุขภาพของประชาชนต่อเนื่องมานานหลายปี

นพ.พิสนธิ์ จงตระกูล อาจารย์ภาควิชาเภสัชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ อนุกรรมการส่งเสริมการใช้ยาสมเหตุสมผล ยกตัวอย่างว่า การใช้ยาไม่สมเหตุผล มีตั้งแต่การที่หมอเน้นจ่ายยาปฏิชีวนะ รักษาทุกอาการ ทั้งที่โดยหลักการไม่ควรให้คนไข้รับยาปฏิชีวนะเกิน 20% แต่ในบ้านเรามีการจ่ายยาปฏิชีวนะในโรงพยาบาลรัฐสูงถึง 56% และในโรงพยาบาลเอกชนมีการจ่ายสูงถึง 80-90% ทำให้โรคง่ายๆ รักษาด้วยยายากขึ้น หรือการจ่ายยาแก้ปวดชนิดเอ็นเซด ซึ่งส่งผลเสียต่อกระเพาะอาหาร รวมถึงผู้ป่วยที่มีอาการความดันในเลือดสูง หรือโรคเบาหวาน เป็นต้น ไม่นับรวมถึงปัญหาเป็นที่ถกเถียงกันก่อนหน้านี้ อย่างการจ่ายยาพาราเซตามอลเกินความจำเป็น เช่น ให้คนไข้กินยา 2 เม็ด ทั้งที่มีน้ำหนักไม่ถึงเกณฑ์ จึงส่งผลเสียต่อตับมานานหลายสิบปี

“ทั้งหมดนี้เกิดจากการไม่มีระบบตรวจสอบมาตรฐานยา เช่น การตั้งค่ามาตรฐานในคอมพิวเตอร์ว่า หากคนไข้ป่วยเป็นโรคนี้ ต้องจ่ายยาชนิดนี้ โดยที่ไม่มีการประเมินเพิ่มเติมว่า คนไข้เคยรับยาอะไรไปแล้วบ้าง หรือมีสัดส่วนน้ำหนักตัวเหมาะกับยาหรือไม่ ขณะที่ปัญหาสำคัญอีกอย่างคือการตัดสินใจของแพทย์ ซึ่งมักจะใช้ยาดี ราคาแพง เป็นหลัก โดยที่ไม่ได้ถูกประเมินว่าเหมาะสมหรือไม่ ปัญหานี้ทำให้ค่าใช้จ่ายของรัฐในระบบยาสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง”นพ.พิสนธิ์ กล่าว

ทั้งนี้ ภายใน 1 ปี ในโรงพยาบาลนำร่องจะมี การกำหนดมาตรฐาน เป็นต้นว่า ผู้่ป่วยควรรับยาอะไร ขณะเดียวกันจะมีการประเมินว่า ผลที่ได้รับ จะสามารถทำให้การใช้ยาเป็นไปอย่างคุ้มค่า ลดการเจ็บป่วยลงได้หรือไม่ โดยหน่วยงานอย่าง สรพ.จะเป็นผู้ร่วมประเมินเกณฑ์

ขณะที่ ภญ.นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี ผู้จัดการ แผนงานพัฒนากลไกเฝ้าระวังระบบยา (กพย.) บอกว่า การใช้ยาไม่สมเหตุสมผลเกิดขึ้นทั้งจากการขาดระบบฐานข้อมูลการใช้ยา รวมถึงระบบส่งเสริมการขาย โฆษณา ประชาสัมพันธ์ที่เกินจริง และปัญหาใหญ่อย่างทัศนคติของแพทย์ รวมถึงผู้บริโภคว่าจำเป็นต้องใช้ยา “ไฮคลาส” เท่านั้นในการรักษา

“เรื่องจริงที่เราพบ ก็คือ ในโรงพยาบาลรัฐหรือโรงพยาบาลมหาวิทยาลัย เมื่อแพทย์จะจ่ายยาให้คนไข้ จะต้องใช้ยาที่แพงที่สุดเสมอ แต่คนเหล่านี้เวลาไปเปิดคลินิกจะจ่ายแต่ยาสามัญ ซึ่งมีราคาถูกกว่า แต่ให้ผลการรักษาไม่ต่างกัน” ภญ.นิยดา กล่าว

อย่างไรก็ตาม แม้ ภญ.นิยดา จะสนับสนุนการดำเนินงานตามเอ็มโอยูดังกล่าว แต่ก็ยังแสดงความกังวลในการนำนโยบายไปปฏิบัติ โดยเฉพาะการกำหนดชุดความรู้มาตรฐาน ที่ไม่มีหน่วยงานเป็น แกนกลางลงไปตรวจสอบ และการใช้กลไกของ อนุกรรมการส่งเสริมการใช้ยาสมเหตุสมผล อาจไม่เพียงพอ เพราะอาจต้องอาศัยอำนาจและกลไกการตรวจสอบที่จะประสานงานทุกส่วนเข้าด้วยกัน ขณะเดียวกันความเห็นเรื่องชุดความรู้ หรือการใช้ยาอย่างสมเหตุสมผลยังคงหลากหลาย เพราะผู้เชี่ยวชาญแต่ละด้านยังมองรูปแบบการรักษาที่แตกต่างกัน

นอกจากนี้ ชุดความรู้ของผู้บริโภคเองก็ยังแตกต่าง เพราะความรู้เรื่องยายังคงมีมากจนทำให้สับสนว่าความรู้ที่ถูกต้องเป็นอย่างไร และสำคัญที่สุดคือระบบประเมินผลและตรวจสอบจะทำงานได้จริงหรือไม่

“ในออสเตรเลีย มีการแบ่งบทบาทชัดเจนว่า และทั้งหมดทำงานเชื่อมโยงกัน แต่เรายังมีช่องว่างระหว่างหน่วยงาน อาจเป็นโจทย์ใหญ่ที่คนทำงานต้องคิดว่า จะแก้ปัญหาอย่างไร”ภญ.นิยดา ระบุ


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ถึงเวลาใช้ยา สมเหตุผล แก้ภาระ งบประมาณชาติ

view