สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ความเสี่ยง Geopolitics ปี 2015

ความเสี่ยง Geopolitics ปี 2015

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์




จากนี้ไป จะเกิดอะไรขึ้นกับยูเครนจากการมีอิทธิพลจากรัสเซีย แน่นอนว่า รัสเซียคงจะไม่ยอมถอนตัวจากยูเครนแน่ๆ

ในโลกการเงินวันนี้ แม้ภายใต้บรรยากาศที่ค่อนข้างชื่นมื่นจากการประชุม APEC ที่ประเทศจีน ความเสี่ยงทางด้านภูมิรัฐศาสตร์ยังถือเป็น X-factor ที่ไม่ควรมองข้าม ณ นาทีนี้ ความเสี่ยงที่ถือว่ามาแรงสุด ได้แก่ ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับโลกตะวันตก โดยจุดเริ่มต้นของวิกฤตินี้ เริ่มต้นเมื่อรัสเซียกดดันให้ยูเครนประกาศยกเลิกการเปิดเสรีทางการค้า ที่ถือเป็นหนึ่งในเงื่อนไขสำคัญในการเข้าร่วมกับสหภาพยุโรป ส่งผลให้เกิดการประท้วงครั้งใหญ่ในกรุงเคียฟจนประธานาธิบดี วิคเตอร์ ยานูโควิช ต้องหนีออกจากยูเครนไปรัสเซีย โดยนายวลาดิเมียร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซีย โน้มน้าวให้ชาวรัสเซียเชื่อว่าการคงอิทธิพลต่อยูเครนเป็นนโยบายการต่างประเทศที่จำเป็น รวมถึงการยึดไครเมียในเวลาต่อมา อีกทั้งยังเพิ่มความสนับสนุนต่อกลุ่มแบ่งแยกดินแดนทางใต้ของยูเครน เนื่องจากเป็นมาตรการตอบโต้อย่างสมน้ำสมเนื้อต่อประเทศตะวันตกที่คว่ำบาตรทางเศรษฐกิจต่อรัสเซีย

จากนี้ไป จะเกิดอะไรขึ้นกับยูเครนจากการมีอิทธิพลจากรัสเซีย แน่นอนว่า รัสเซียคงจะไม่ยอมถอนตัวจากยูเครนแน่ๆ ทั้งนี้ นายปูตินตั้งใจว่าจะเพิ่มความกดดันทางทหารต่อยูเครน อย่างน้อยจนกระทั่งกลุ่มแบ่งแยกดินแดนที่ตนเองให้ความสนับสนุนอยู่เบื้องหลัง จะสามารถครอบครองยูเครนทางใต้ได้แบบสมบูรณ์แบบ ซึ่งถึงตรงจุดนั้น คงจะไม่ต้องพูดถึงการเข้าร่วมกับยูโรของยูเครน ในตอนนี้ ประเทศที่ออกจะร้อนๆ หนาวๆ กับรัสเซีย ได้แก่ ประเทศที่เคยเป็นส่วนหนึ่งของสหภาพโซเวียต อันประกอบด้วย เอสโตเนีย ลัตเวีย ลิธัวเนีย และโปแลนด์ ซึ่งประเทศเหล่านี้มีความเกี่ยวพันกับรัสเซีย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเชื้อชาติหรือวัฒนธรรม ซึ่งคงไม่แปลก ที่หลังจากยูเครน รัสเซียจะกลับมาเล่นประเทศเหล่านี้ต่อ

วิกฤติดังกล่าวไม่จำกัดอยู่เพียงดินแดนยุโรปตะวันออก ยังได้ลามไปถึงโลกไซเบอร์ด้วย โดยมีหลักฐานค่อนข้างชัดว่า การจู่โจมในโลกไซเบอร์ต่อธุรกรรมทางการเงินที่เกี่ยวข้อง กับธุรกิจและภาคครัวเรือนกว่า 83 ล้านรายของ บริษัท เจพี มอร์แกน เชส นั้นมีรัสเซียเกี่ยวข้องอยู่ด้วย ซึ่งไม่น่าแปลกเท่าไรนัก หากพิจารณาจากความชำนาญในการเข้าถึงข้อมูลของ รัฐบาลรัสเซีย ที่มีอยู่เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว

สำหรับชาวยุโรป การคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจต่อรัสเซียถือเป็นดาบสองคมที่จะกลับมาทำร้าย เศรษฐกิจของตนเองเช่นกัน โดยผลกระทบต่อยุโรปนั้น จะมีผลกระทบต่อแต่ละประเทศไม่เท่าเทียมกัน โดยเยอรมันได้รับผลกระทบต่ออุตสาหกรรม สหราชอาณาจักรและไซปรัสได้รับผลกระทบด้านการเงิน ส่วนฝรั่งเศสนั้นโดนกระทบชิ่งทางด้านอุตสาหกรรมด้านการทหาร อีกทั้งในแง่การพึ่งพาทางด้านการพลังงาน ยุโรปต้องพึ่งพาก๊าซธรรมชาติจากยุโรปถึงราวหนึ่งในสาม ซึ่งการปรับตัวของยุโรปในเรื่องนี้ต้องใช้เวลา เป็นปีๆ เลยทีเดียว ทั้งหมดถือเป็นต้นทุนที่ไม่ถูกของยุโรป จึงอาจกล่าวได้ว่า ตอนนี้ ยุโรปไม่ได้กังวลว่ายูโรจะแตกจากกลุ่ม PIIGS เท่ากับภัยเงียบใหม่จากรัสเซีย

ทว่าหากย้อนกลับมามองที่รัสเซีย การเล่นเกมทางการเมืองเพื่อต่อรองกับเงื่อนไขทางเศรษฐกิจ ของนายปูติน ที่ประชาชนในประเทศยังให้การสนับสนุนอยู่นั้น กลับทำให้เศรษฐกิจของตนเองย่ำแย่ลงไปเรื่อยๆ แม้ว่าในขณะนี้ อาจจะยังพอยืนอยู่ได้จากการหันไปทำการค้ากับทางจีนแทน ทว่าหากพิจารณาจากตลาดการเงินของตนเอง กลับพบว่า ตั้งแต่อัตราดอกเบี้ยที่ภาคธุรกิจต้องแบกรับนั้นสูงไปถึงกว่าร้อยละ 13 ค่าเงินรูเบิลลดลงถึงร้อยละ 40 ในเวลาเพียงไม่กี่เดือน ดังรูปที่ 1

แม้ว่าธนาคารกลางรัสเซียจะใช้เงินกว่า 7 หมื่นล้านดอลลาร์ตั้งแต่ต้นปี มาแทรกแซงในตลาดแลกเปลี่ยนเงินตราก็ตาม รวมถึงหนี้ต่างประเทศของเอกชนที่มีอยู่ด้วยมูลค่ากว่า 4 แสนล้านดอลลาร์ ที่สำคัญ การค้าระหว่างประเทศที่ย่ำแย่ลงอย่างมากจากราคาน้ำมันที่ดิ่งลงเป็นประวัติการณ์ ซึ่งรัสเซียไม่มีสินค้าส่งออกหลักอื่นที่จะมาช่วยการพึ่งพาการส่งออกพลังงาน ซึ่งเป็นถือเป็นพระเอกเพียงอย่างเดียว และยังไม่มีแนวโน้มที่จะมีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการส่งออกดังกล่าว ในอนาคตอันใกล้ ส่งผลให้รัสเซียต้องถูกกดดันทางเศรษฐกิจจากชาติตะวันตกได้โดยง่าย ผ่านการดิ่งลงของราคาน้ำมัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากการมีเทคโนโลยี Shale Gas ของสหรัฐ

นั่นคือ หากนายปูตินยังยื้อไปตามแนวทางในขณะนี้ของตนเอง อาจทำให้เกิดวิกฤติทางเศรษฐกิจในรัสเซียขึ้นมา ก่อนที่ความได้เปรียบเทียบทางการเมือง ระหว่างประเทศของตนเองจะผลิดอกออกผลครับ


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ความเสี่ยง Geopolitics 2015

view