สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

กลยุทธ์เทคโนโลยี

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
เรวัติ ตันตยานนท์



ในโลกของการแข่งขันคนที่แข็งแกร่งกว่าเท่านั้นที่จะสามารถเก็บเกี่ยวผลตอบแทนจากความสามารถในการใช้จ่ายของผู้บริโภค

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในการทำธุรกิจปัจจุบัน เทคโนโลยีมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการช่วยให้ธุรกิจสามารถสร้างความแปลกใหม่ในการผลิตสินค้าและการให้บริการ ทำให้สินค้าหรือบริการของธุรกิจตรงกับความต้องการ หรือกระตุ้นให้เกิดความต้องการซื้อจากผู้บริโภคได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

ดังนั้น เรื่องของการบริหารจัดการเทคโนโลยี จึงเริ่มเข้ามามีความสำคัญ โดยเป็นกุณแจสำคัญประการหนึ่งในกลยุทธ์การบริหารจัดการธุรกิจ

แม้ว่า ทักษะทางด้านการบริหารจัดการกลยุทธ์เทคโนโลยีในระดับบริษัท อาจจะเป็นเรื่องใหม่สำหรับผู้บริหารระดับสูงหลายๆ คนในบริษัท แต่ก็เริ่มมีการศึกษาในหมู่นักวิชาการด้านบริหารธุรกิจ เพื่อรวบรวมเป็นทฤษฎีหรือเป็นโมเดลของการบริหารจัดการกลยุทธ์เทคโนโลยีสมัยใหม่

ให้ผู้บริหารขององค์กรธุรกิจได้นำมาใช้เป็นต้นแบบในการพัฒนาการจัดการเทคโนโลยีในระดับองค์กรของตนเองต่อไป

กลยุทธ์เทคโนโลยี โดยรวมแล้วจะหมายถึง กระบวนการหรือวิธีการที่บริษัทจะนำมาใช้ในการบริหารจัดการทรัพยากรด้านเทคโนโลยี เพื่อทำให้บริษัทสามารถบรรลุวัตถุประสงค์ในการดำเนินธุรกิจของบริษัทได้ตามต้องการ

ในการเริ่มต้นกำหนดกลยุทธ์เทคโนโลยีให้กับบริษัท สิ่งสำคัญที่สุดที่ผู้บริหารต้องนำมาทบทวน จะต้องเริ่มจากการสำรวจสภาพแวดล้อมภายในและภายนอกของธุรกิจ ด้วยการตั้งชุดคำถาม ดังต่อไปนี้

1. ขอบเขตการดำเนินธุรกิจปัจจุบันของเราเป็นอย่างไร

2. คู่แข่งหรือผู้เล่นอื่นๆ ในตลาดเดียวกัน มีแนวโน้มที่จะปรับทิศทางธุรกิจไปอย่างไร

3. ทิศทางการเปลี่ยนแปลงแบบใดจะเหมาะสมกับธุรกิจของเรามากที่สุด

4. จะต้องปรับวิธีการทำงานอย่างไรจึงจะสอดคล้องกับทิศทางการเปลี่ยนแปลงที่ต้องการ

5. จะทำอย่างไรเพื่อสามารถทำงานตามทิศทางใหม่ได้อย่างมีประสิทธิภาพได้สูงสุด

6. จะทำอย่างไรเพื่อสามารถทำงานตามทิศทางใหม่ให้เกิดประสิทธิผลได้สูงสุด

แล้วจึงนำคำถามทั้ง 6 ข้อนี้ ไปเปรียบเทียบกับเทคโนโลยีต่างๆ ที่บริษัทสนใจที่จะนำมากำหนดไว้ให้เป็นทางเลือกในการนำไปสู่อนาคต

ขอบเขตการดำเนินธุรกิจของบริษัทต่างๆ มักจะอยู่ในบริบทของการกำหนดตัวเองว่า อยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรมใด กลยุทธ์การเลือกใช้เทคโนโลยี จึงขึ้นอยู่กับวิสัยทัศน์ของบริษัทว่า จะยังคงยึดมั่นที่จะอยู่ในอุตสาหกรรมเดิมต่อไป หรือต้องการที่จะปรับกระบวนทัศน์ของบริษัท ให้ขยายหรือปรับขอบเขตไปสู่อุตสาหกรรมใหม่ในอนาคต

แนวโน้มการปรับตัวของอุตสาหกรรม มักจะเป็นตัวชี้นำการปรับตัวของธุรกิจที่ดำเนินการภายใต้อุตสาหกรรมนั้นๆ กลยุทธ์เทคโนโลยี จึงมีความสัมพันธ์กับแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในอุตสาหกรรม ความสามารถของบริษัทในการวิเคราะห์หรือทำนายทิศทางการเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรม จึงเป็นปัจจัยชี้วัดที่สำคัญที่จะทำให้บริษัทกำหนดกลยุทธ์เพื่อเลือกใช้เทคโนโลยีได้อย่างถูกต้องและแม่นยำ

ไม่ว่าบริษัทจะกำหนดทิศทางอนาคตว่า จะยังยึดอยู่กับอุตสาหกรรมเดิม หรือถึงเวลาที่จะต้องขยายขอบเขตไปสู่อุตสาหกรรมอื่น หรือแม้กระทั่งการปรับธุรกิจเพื่อเข้าไปเป็นผู้เล่นในอุตสาหกรรมใหม่ที่น่าจะมีโอกาสและตรงกับศักยภาพของบริษัทที่มีอยู่มากที่สุด

เมื่อกำหนดทิศทางการเปลี่ยนแปลงในอนาคตของบริษัทได้ กลยุทธ์เทคโนโลยี จะต้องดำเนินให้สอดคล้องกับตำแหน่งทางธุรกิจหรือตำแหน่งทางการตลาดที่ต้องการ

อาจเรียกได้ว่า เป็นการกำหนดตำแหน่งเชิงเทคโนโลยีขององค์กร

เช่น ต้องการเล่นในตำแหน่งใช้เทคโนโลยีที่พิสูจน์แล้วว่าใช้งานได้จริง ต้องการเล่นในตำแหน่งเป็นผู้นำในเทคโนโลยีใหม่ๆ หรือต้องการเล่นในตำแหน่งเป็นผู้สร้างเทคโนโลยีขึ้นเอง ฯลฯ เป็นต้น

หลังจากนี้ ก็จะเป็นคิดต่อไปว่า จากตำแหน่งเทคโนโลยีที่เลือก บริษัทจำเป็นที่จะต้องศึกษาหรือหาองค์ความรู้ด้านใดบ้างที่จะมารองรับตำแหน่งเทคโนโลยีนั้นๆ และเริ่มศึกษาเกี่ยวกับตัวเทคโนโลยีเอง โดยเฉพาะในส่วนที่จะต้องนำเทคโนโลยีนั้นมาเสริมเส้นทางหรือทิศทางการดำเนินกิจการของบริษัท

คำถามทั้ง 6 ข้อ จะนำไปสู่กระบวนการการสร้างกลยุทธ์เทคโนโลยีของบริษัท ซึ่งประกอบไปด้วยขั้นตอนต่างๆ ได้แก่

การกำหนดขอบเขตธุรกิจ - การทำนายพัฒนาการของเทคโนโลยี - การกำหนดตำแหน่งของบริษัทเชิงเทคโนโลยี - การค้นหาเทคโนโลยีที่เหมาะสม - การแสวงหาผลตอบแทนจากการลงทุนในเทคโนโลยี - และ - การบริหารจัดการเทคโนโลยีให้มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลตลอดอายุหรือการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี

มีนักวิชาการได้กำหนดช่วงระยะเวลาต่างๆ ในกระบวนการสร้างกลยุทธ์เทคโนโลยีไว้ เพื่อแสดงให้เห็นวิถีทางของการกำหนดกลยุทธ์เทคโนโลยี คือ

การกำหนดของเขตของธุรกิจ ควรมองไปให้ไกลกว่า 20 ปี หรือในอีกนัยหนึ่ง บริษัที่มีอายุใกล้เคียง 20 ปี ควรต้องหันกลับมากำหนดโจทย์หรือทิศทางของธุรกิจใหม่ เนื่องจาก หากเป็นการใช้เทคโนโลยีเดิมมาโดยตลอด เทคโนโลยีนั้นๆ จะเข้าข่ายของความล้าสมัยแล้ว

การทำนายพัฒนาการของเทคโนโลยี ควรมองให้ครอบคลุมระยะเวลาการใช้งานหรือความทันสมัยของเทคโนโลยี ซึ่งจะอยู่ในช่วงระหว่าง 10 -20 ปี

การกำหนดตำแหน่งทางเทคโนโลยีของบริษัท ควรปรับปรุงทุกๆ 5 - 10 ปี

การแสวงหาผลตอบแทนจากเทคโนโลยี ส่วนใหญ่เทคโนโลยีที่นำมาใช้ใหม่ จะให้ผลตอบแทนสูงสุดกลับคืนมาให้ธุรกิจในช่วงเวลาตั้งแต่ 3 - 7 ปี

การบริหารจัดการเทคโนโลยี เป็นเรื่องที่จะต้องทำทุกวันเป็นงานประจำ

ดังนั้น จะเห็นได้ว่า การตอบคำถามทั้ง 6 ข้อที่นำเสนอมาในตอนต้น จะเปรียบได้กับกระบวนการการบริหารจัดการเทคโนโลยีในอนาคต หรือหมายถึง กระบวนการการสร้างกลยุทธ์เทคโนโลยีของบริษัท นั่นเอง


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : กลยุทธ์เทคโนโลยี

view