สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

นักเศรษฐศาสตร์ MIT จับสัญญาณ 17 ปี หนี้ครัวเรือนไทย

จากประชาชาติธุรกิจ

สัมภาษณ์พิเศษ


การทำความเข้าใจระบบการเงินของภาคประชาชน เพื่อนำไปสู่การออกแบบนโยบายสาธารณะที่เป็นประโยชน์อย่างทั่วถึง และทรงประสิทธิภาพ จำเป็นต้องอาศัยฐานข้อมูลและการประมวลผลข้อมูลที่แม่นยำและครอบคลุมหลายมิติของการดำเนินชีวิตของผู้คน




"ประชาชาติธุรกิจ" มีโอกาสสัมภาษณ์พิเศษ "ศาสตราจารย์ ดร.โรเบิร์ต เอ็ม ทาวน์เซนด์" นักเศรษฐศาสตร์ จากสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ หรือ MIT ในฐานะผู้ศึกษาวิจัยสร้างและพัฒนาฐานข้อมูลภาคครัวเรือนและธุรกิจขนาดเล็กในประเทศไทยมาอย่างต่อเนื่อง 17 ปี ถึงปัจจุบันในโครงการที่ชื่อ "Townsend Thai" โดยสะท้อนภาพการเงินภาคครัวเรือนไทยดังนี้


- การเงินภาคครัวเรือนไทยช่วง 17 ปีที่ผ่านมามีการเปลี่ยนแปลงอย่างไร

มีการเปลี่ยนแปลงในหลายมิติ แต่ในพื้นที่ที่ผมศึกษาใน 4 จังหวัด ที่เป็น 2 จังหวัดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่ บุรีรัมย์ ศรีสะเกษ กับอีก 2 จังหวัดในภาคกลาง ได้แก่ ลพบุรี และฉะเชิงเทรา พบว่าอัตราการบริโภครายเดือนของประชาชนใน 4 จังหวัดนี้มีความแตกต่างกัน

อย่างศรีสะเกษเป็นจังหวัดที่มีรายได้น้อยที่สุดในประเทศไทย มีอัตราการบริโภคในครัวเรือนเพียง 3,000 บาทต่อเดือน ขณะที่บุรีรัมย์ ลพบุรี และฉะเชิงเทรา อยู่ที่เดือนละ 6,000 บาท 10,000 บาท และ 15,000 บาท ตามลำดับ ซึ่งจะเห็นว่าครัวเรือนในฉะเชิงเทรามีอัตราการบริโภคสูงกว่าศรีสะเกษถึง 5 เท่า สะท้อนถึงรายได้และความมั่งคั่งของครัวเรือนในแต่ละพื้นที่ หรือการเข้าถึงผลิตภัณฑ์การเงินในแต่ละจังหวัดที่แตกต่างกัน เช่น ฉะเชิงเทรา 20% ของประชากรสามารถเข้าถึงเงินกู้ แต่ในศรีสะเกษมีน้อยกว่า 5% เป็นต้น

เราได้ศึกษาพฤติกรรมทางการเงินในชีวิตประจำวันและการสะสม ความมั่งคั่งของครัวเรือนและกลุ่มธุรกิจขนาดเล็กในชุมชนต่างๆแล้วนำชุด ข้อมูลเหล่านี้มารวมเป็นหน่วยใหญ่ เพื่อวิเคราะห์ถึงการผลิตและพฤติกรรมการบริโภค การลงทุนในระดับหมู่บ้านและระดับภูมิภาค คล้ายๆ กับการใช้ข้อมูลบัญชีรายได้และผลิตภัณฑ์ประชาชาติ เพื่อศึกษาผลกระทบจากเหตุการณ์ต่างๆ (Shock) ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต


- ความแตกต่างของรายได้และการสะสมความมั่งคั่งที่พบคืออะไร


ในช่วง 15-17 ปีที่ผ่านมา ภาคครัวเรือนไทยมีการเปลี่ยนแปลงในสิ่งที่เรียกว่า Net Worth หรือมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ ซึ่งคำนวณได้จากสินทรัพย์หักด้วยหนี้ พบครัวเรือนที่ยากจนมีอัตราการเติบโตของ Net Worth สูงถึง 25% ต่อปี ขณะที่ครัวเรือนที่มีเงินมากอยู่แล้วกลับมีอัตราการเติบโตของ Net Worth เพียง1% ต่อปี สะท้อนว่าในครัวเรือนที่ยากจนมีพัฒนาการสะสมความมั่งคั่งที่เพิ่มขึ้น

เมื่อดูที่ความมั่งคั่ง (Wealth) ของภาคครัวเรือนไทย ซึ่งคำนวณจากอัตราส่วนหนี้สินต่อสินทรัพย์ (Debt to Asset Ratio) ยังพบว่าครัวเรือนไทยมีอัตราส่วนหนี้สินต่อสินทรัพย์เพิ่มขึ้นถึง 20% ในช่วง 15-17 ปีที่ผ่านมา สะท้อนว่าแม้คนจะมีหนี้เพิ่มขึ้น แต่ก็มีสินทรัพย์เติบโตขึ้นด้วยเช่นกัน เพราะครัวเรือนไทยได้สะสมความมั่งคั่งในรูปที่ดิน อุปกรณ์การประกอบอาชีพ เป็นต้น

ตัวเลขเหล่านี้บ่งชี้ว่าประเทศไทยไม่ใช่ประเทศที่มีเกษตรกรยากจนอีกต่อไป หากเป็นประเทศที่มีความมั่งคั่งระดับหนึ่ง อีกทั้งยังมีชนชั้นกลางเพิ่มขึ้น และมีพัฒนาการสะสมความมั่งคั่งในอัตราที่สูงขึ้น


- มองปัญหาหนี้ครัวเรือนที่เป็นประเด็นใหญ่ในสังคมไทยปัจจุบันอย่างไร


มีการเพิ่มขึ้นของหนี้สินในภาคครัวเรือนไทยในภาพรวมจริงซึ่งหนี้ส่วนใหญ่มาจากการกู้ยืมเพื่อซื้อรถยนต์และการใช้จ่ายส่วนบุคคล ซึ่งเป็นปัญหาโดยเฉลี่ยของทั้งในเมืองและชนบท แต่ผมจะไม่เห็นด้วยเลย หากจะเหมารวมว่าปัญหาหนี้มีมากที่สุดในกลุ่มอาชีพใดอาชีพหนึ่ง ภูมิภาคใดภูมิภาคหนึ่ง เพราะการชี้ชัดแบบนั้น จำเป็นต้องใช้ข้อมูลจากแหล่งอื่นๆ นอกจากงานศึกษาของผมด้วย เพื่อหาให้พบว่าปัญหาเรื่องหนี้สินรายได้ของภาคครัวเรือนอยู่ตรงไหน เพื่อจะได้เข้าใจถึงปัญหาที่แท้จริง

ส่วนข้อมูลที่ผมมีอยู่คือปัญหา หนี้ครัวเรือนไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในเมืองใหญ่เท่านั้นและสิ่งที่ควบคู่กับ เรื่องหนี้คือเรื่องการออมและการลงทุนพบว่าครัวเรือนในพื้นที่ที่เราศึกษา ยังเก็บเงินในรูปเงินสดเป็นจำนวนมาก ไม่ได้นำไปฝากธนาคารเก็บกินดอกเบี้ยด้วยซ้ำ ทั้งที่หากฝากแบงก์อาจจะสะสมดอกผลให้เพิ่มขึ้น แต่เนื่องจากหลายคนไม่มีความรู้เรื่องผลิตภัณฑ์ทางการเงินเพียงพอ แตกต่างจากคนในกรุงเทพฯ ที่เข้าถึงข้อมูลและความรู้เหล่านี้ได้ดีและง่ายกว่า


- การขาดความเข้าใจในผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่เหมาะสมเป็นปัญหามากหรือไม่

ก็ไม่เชิง ในแง่ของคนเป็นหนี้ ก็ย่อมต้องหาทางจะลดหรือจ่ายหนี้คืนให้หมด แต่บางทีเขาก็ไม่รู้จะต้องทำอย่างไร จ่ายเท่าไร หรือนานแค่ไหน เพราะบางคนยังไม่เข้าใจสัญญา เงื่อนไขการกู้ สิ่งที่ทั้งภาคเอกชนและภาครัฐต้องช่วยกัน คือช่วยให้คนเป็นหนี้มีทางออก อาจช่วยเข้าไปเจรจาไกล่เกลี่ยหนี้ หรือหาผู้กู้รายใหม่ที่คิดดอกเบี้ยถูกกว่า ไม่ใช่การสนับสนุนให้เขาหนีหนี้

ปัญหาเรื่องความรู้ทางการเงินของภาคครัวเรือนมีหลายระดับ บางคนมีปัญหาเรื่องเงินกู้ บางคนมีปัญหาเงินฝาก และสิ่งที่เราศึกษาพบชัดเจน คือคนจำนวนมากมีเงิน แต่ยังนิยมเก็บเป็นเงินสด ไม่ฝากแบงก์เพื่อกินดอกเบี้ย คำถามคือพวกเขาไม่รู้ถึงผลประโยชน์ที่จะได้รับ หรือว่าพวกเขาเข้าไม่ถึงผลิตภัณฑ์เงินฝาก ซึ่งจุดนี้จำเป็นต้องมีข้อมูลวิเคราะห์และสร้างนโยบายที่จะทำให้ประชาชนเข้าใจ และรู้จักผลิตภัณฑ์การเงินต่างๆ ที่ต้องอาศัยความร่วมมือทั้งจากสถาบันการเงินและภาครัฐ

แต่สิ่งที่ต้องการย้ำคือก่อนจะทำนโยบายอะไรอย่าตัดสินจากเพียงเหตุการณ์ใดเหตุการณ์หนึ่งแต่ต้องศึกษาข้อมูลให้มากที่สุด และติดตามพัฒนาการเป็นระยะเวลานาน เพื่อให้เห็นการเปลี่ยนแปลงทั้งปัญหาหนี้ครัวเรือนและปัญหาการออม เพราะสิ่งที่น่ากังวลคือนโยบายภาครัฐที่เคยมีมาก่อนหน้านี้มักมาจากการพิจารณาจากกรณีใดกรณีหนึ่ง ซึ่งอาจเป็นจุดอ่อนได้ 


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : นักเศรษฐศาสตร์ MIT จับสัญญาณ หนี้ครัวเรือนไทย

view