สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

มุมมอง นักวิชาการ-นักธุรกิจ ต่อปัญหาเศรษฐกิจไทย

จากประชาชาติธุรกิจ

หมายเหตุ - เสียงสะท้อนของนักวิชาการและนักธุรกิจต่อปัญหาเศรษฐกิจที่ยังไม่ฟื้นตัว ล่าสุดรัฐบาลเตรียมปรับคณะรัฐมนตรีแต่งตั้งรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจเพิ่มอีก 2 ตำแหน่ง พร้อมแต่งตั้งนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ และทีมที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี จำนวน 11 คน



http://www.matichon.co.th/online/2014/11/14161092861416109299l.jpg
ณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ
อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

แนว ทางเศรษฐกิจเชิงโครงสร้างในไทยขณะนี้ให้ความสำคัญเรื่องทุนนิยมเท่านั้นที่ มีอยู่ในตลาดสิ่งที่ตามมาคือให้ความสำคัญกับการลงทุนการส่งออกและสิ่งที่ตาม มาอีกทอดคือ การจัดสรรคนเข้าไปวางแผนหรือบริหารแผนเศรษฐกิจก็ล้วนเป็นคนที่โปรโมตแนวทาง การลงทุนและส่งออก ทีมงานที่ทำกันมาตั้งแต่ต้นไม่ได้คำนึงถึงการให้ความสนใจกับเศรษฐกิจภาค ประชาชน ขณะทั่วโลกกำลังประสบปัญหาเรื่องการค้าระหว่างประเทศ และหันไปพึ่งตลาดภายใน แต่ไทยยังไม่คิดถึงการพึ่งตลาดภายในว่าต้องทำอะไรบ้าง สำหรับแนวทางปฏิรูปขณะนี้ก็ยังไม่ชัดเจน การจ่ายเงินให้ชาวนาชาวสวนอาจไม่ได้ช่วยเหลือเขามากนัก เนื่องจากรายได้หลักของคนคือ ค่าจ้างกับทำอาชีพอิสระ ซึ่งมีเกษตรกรเป็นหนึ่งในนั้น

แนวทางปฏิรูปที่ควรเป็นนั้นจะต้องให้ความสนใจกับเศรษฐกิจภาคประชาชน พอๆ กับเศรษฐกิจภาคธุรกิจ เนื่องจากจีดีพี ณ ปัจจุบันมาจากการบริโภคครัวเรือน 55 เปอร์เซ็นต์มาจากธุรกิจและการลงทุนแค่ 22 เปอร์เซ็นต์ การส่งออกเพียงลำพังไม่สามารถสร้างจีดีพีได้

เพราะจะต้องหักหนี้จำนำข้าวด้วย ตามทฤษฎีเศรษฐศาสตร์ การส่งออกต้องลบการนำเข้าถึงจะเป็นตัวสร้างจีดีพีได้

ตัวลากจูงเศรษฐกิจในปัจจุบันคือ การบริโภคของครัวเรือน พลังการบริโภคมาจากรายได้ของคนทุกคน รายได้จากกระเป๋าที่ 41 เปอร์เซ็นต์มาจากค่าจ้าง 37 เปอร์เซ็นต์มาจากอาชีพอิสระ จะต้องปรับให้สมดุล ไม่ใช่ไม่สนใจการลงทุนภาคธุรกิจ แต่ควรยกระดับความสำคัญของเศรษฐกิจภาคประชาชนให้สูงขึ้นกว่านี้ ในรายละเอียดการปฏิรูปไม่มีเลย ควรคิดว่าทำอย่างไรให้คนซื้อง่ายขายคล่อง ให้ชาวบ้านมีเงินมากขึ้น สิ่งหลักๆ ที่ควรทำคือ ต้องลดต้นทุนพลังงาน เพราะเป็นต้นทุน 20 เปอร์เซ็นต์ของการผลิต ชาวนาจะตัดหญ้า ใช้รถไถ ก็ต้องใช้น้ำมัน ทำไมเราไม่ลดราคาลงมาให้มีนัยยะพอจะลดต้นทุนลงไป ทำให้คนมีรายได้ในกระเป๋ามากขึ้น

ส่วนเรื่องกฎอัยการศึก ถ้าเราเข้าใจว่าเศรษฐกิจภาคประชาชนมีความสำคัญ เราก็จะเปิดโอกาสให้เขาเข้ามาบ้าง การเอากฎอัยการศึกไปกดทับไว้ บางทีการที่เขาอยากบ่น แต่ไม่กล้าบ่น จะเป็นผลเสีย พอนานๆ เข้าก็เกิดระเบิดได้ เหมือนน้ำร้อนที่พอเป็นไอแล้วไม่เจาะรูให้มันระบายออกมาบ้างก็มีปัญหา สรุปว่าไม่ควรไปจำกัดสิทธิเสรีภาพของคนมากเกินไป

การเมืองในภาพกว้างตามทรรศนะส่วนตัว คือ ปฏิสัมพันธ์อำนาจของกลุ่มคนและชนชั้นในการจัดสรรผลประโยชน์ ปฏิสัมพันธ์ระหว่างประชาชนกับรัฐ ขณะนี้รัฐมีอำนาจเกินไปหรือไม่ ปฏิสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มทุนกับประชาชนเป็นอย่างไร กลุ่มทุนมีอำนาจมากเกินไปหรือไม่ ประชาชนเสียประโยชน์มากเกินไปหรือไม่ คำตอบของคำถามก่อนหน้าคือ อำนาจของประชาชนไม่ว่าอำนาจทางการเมืองการปกครอง อำนาจทางเศรษฐกิจ ด้อยไปหมดเลยเมื่อเทียบกับทุนและรัฐ

http://www.matichon.co.th/online/2014/11/14161092861416109369l.jpg
พรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกูล
รองประธานกรรมการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย

การเร่งเบิกจ่ายงบประมาณกว่า 3 แสนล้านบาทของรัฐบาล รวมทั้งมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆ ทั้งการจ่ายเงินช่วยเหลือข้าวและยางพาราไร่ละ 1,000 บาท อาจจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจฟื้นตัวได้ระดับหนึ่ง โดยเงิน 3 แสนกว่าล้านบาทที่ออกมา หากสามารถหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจได้ 5 รอบ จะทำให้เกิดการใช้จ่ายหมุนเวียนกว่า 1.5 ล้านล้านบาท ด้านการท่องเที่ยวปีนี้ จำนวนนักท่องเที่ยวอาจจะเติบโตได้บ้างราว 1-1.5% มองว่าแม้จะยังมีกฎอัยการศึกอยู่ แต่เชื่อว่านักท่องเที่ยวจะเริ่มทยอยเดินทางกลับมา เนื่องจากสถานการณ์การเมืองมีเสถียรภาพมากขึ้น ส่วนการส่งออกมองว่า จะเติบโตทรงตัวจากปีที่ผ่านมาหรือเติบโตเพิ่มขึ้นตัวเล็กน้อย

สำหรับการปรับเพิ่มทีมเศรษฐกิจ ทั้งการแต่งตั้งนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ อดีตรองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานคณะที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี และเสนอแต่งตั้งนายอำนวย ปะติเส เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และนายวิสุทธิ์ ศรีสุพรรณ เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังนั้น อาจจะไม่ส่งผลดีอย่างมีนัยสำคัญ หรือช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจให้ดีขึ้นในเร็ววัน เนื่องจากระบบเศรษฐกิจของไทยเป็นระบบเดิมในรูปแบบการค้าเสรี และไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง เพราะใครเข้ามาก็จะต้องทำงานในรูปแบบเดียวกัน เข้ามาก็เหมือนข้าราชการคนหนึ่ง ที่เข้ามาช่วยแบ่งเบาภาระหน้าที่

"รัฐบาลจะต้องวางแผนเศรษฐกิจในระยะยาวกว่านี้ เพราะปัจจุบันเน้นแค่มาตรการระยะสั้น และให้ความสำคัญกับเรื่องภาคการผลิต ทั้งเกษตร อาหารและอุตสาหกรรม และมาตรการจะต้องมีความชัดเจน โดยรัฐบาลชุดนี้ไม่ได้พูดถึงเรื่องการเปลี่ยนโครงสร้างการผลิต ที่ควรจะมีการอุดหนุนให้เปลี่ยนเหมือนกับการจัดโซนนิ่งเกษตรว่าจะลดการปลูกข้าวหรือยางพื้นที่ใดบ้าง แล้วเปลี่ยนไปปลูกอะไรแทน เป็นแผนระยะยาว 5-10 ปี ควรออกเป็นพระราชบัญญัติอุดหนุนสินค้าเกษตรเพื่อให้เกิดความต่อเนื่อง และรัฐบาลใหม่ที่เข้ามาจะได้ดำเนินการต่อ"

ปัจจุบันไทยผลิตข้าวมากกว่าอัตราการบริโภคในประเทศ ทำให้ต้องมีการส่งออก ซึ่งราคาขายขึ้นกับราคาในตลาดโลก และมีคู่แข่งมาก หากประเทศคู่แข่งประสบปัญหาส่งออกข้าวได้น้อย เราก็อาจจะได้ประโยชน์ ผลผลิตข้าวนาปีที่กำลังจะออกมา มองว่าจะต้องอุดหนุนแน่นอน เตรียมเงินไว้เลย แต่ประเด็นสำคัญคือ รัฐบาลต้องการให้เกษตรกรมีรายได้เท่าไร เพราะแม้จะอุดหนุนแต่ต่อไปต้นทุนการผลิตก็จะสูงขึ้น ดังนั้นนอกจากการปลูกข้าวตามฤดูกาลแล้ว ควรส่งเสริมให้เกษตรมีอาชีพเสริมเพื่อสร้างรายได้ให้ต่อเนื่องและยั่งยืน



http://www.matichon.co.th/online/2014/11/14161092861416109435l.jpg
ธำรง ปัญญาสกุลวงศ์

นายกกิตติมศักดิ์สมาคมอาคารชุดไทย

ภาพรวมเศรษฐกิจขณะนี้ยังซบเซา แม้ว่าจะฟื้นตัวดีขึ้นจากช่วงก่อน โดยภาคการท่องเที่ยว นักท่องเที่ยวชาวจีนยังเดินทางเข้ามาท่องเที่ยว แต่นักท่องเที่ยวจากประเทศอื่นๆ ชะลออยู่ เนื่องจากกังวลเรื่องกฎอัยการศึก ควรจะมีการพิจารณายกเลิกเพื่อดึงดูชาวต่างชาติเข้ามาท่องเที่ยว เพราะเป็นช่วงไฮซีซั่น การจับจ่ายของนักท่องเที่ยวที่หายไป ส่งผลให้สภาพคล่องที่หมุนเวียนในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ทั้งโรงแรม ร้านอาหาร ชะลอตัวไปด้วย ด้านการส่งออกยังไม่ดีมากนัก เนื่องจากราคาสินค้าเกษตร เช่น ข้าวและยางพาราในตลาดโลกยังตกต่ำ ส่วนการลงทุนและอุตสาหกรรม นักลงทุนต่างชาติยังชะลอการลงทุนใหม่ เนื่องจากรอดูสถานการณ์ก่อน

"ขณะนี้สถานการณ์การเมืองนิ่ง หากภาวะเศรษฐกิจโลกเริ่มปรับตัวดีขึ้น เชื่อว่าเศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวได้ดี อย่างไรก็ตาม คาดหวังว่าการเร่งเบิกจ่ายงบประมาณต่างๆ จะเริ่มเห็นผล ทำให้เศรษฐกิจปรับตัวดีขึ้นในช่วงต้นปี 2558 ตามที่ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ ประเมินไว้"

สำหรับการปรับทีมเศรษฐกิจ โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้แต่งตั้ง นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ เป็นประธานคณะที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี และได้มีการเสนอแต่งตั้ง นายอำนวย ปะติเส เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และนายวิสุทธิ์ ศรีสุพรรณ เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง นั้น มองว่านายกฯน่าจะเห็นแนวโน้มเศรษฐกิจที่ชะลอตัว จึงได้ดึงคนที่เชื่อมั่นว่าจะเข้ามาช่วยผลักดันภาวะเศรษฐกิจให้ดีขึ้น ซึ่งนายสมคิดเอง เป็นคนที่ทุกคนคาดหวัง ที่ผ่านมาเป็นมือวางด้านเศรษฐกิจมาตั้งแต่สมัยอดีตนายกรัฐมนตรี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ซึ่งเสริมทัพทีมเศรษฐกิจ น่าจะสร้างความมั่นใจและทำให้ความเชื่อมั่นด้านเศรษฐกิจของนักลงทุนฟื้นกลับมาดีขึ้นต่อเนื่อง

กรณีที่ข้าวนาปีที่ผลผลิตกำลังจะออกมาเป็นสินค้าที่เราต้องแข่งขันกับประเทศอื่นอาทิเวียดนามอินเดีย เป็นต้น ซึ่งขณะนี้ราคาในตลาดโลกยังไม่ดี ส่งผลให้ราคาขายในประเทศตกต่ำ การช่วยเหลือชาวนาของรัฐบาลที่จ่ายไร่ละ 1,000 บาท เป็นเพียงมาตรการระยะสั้นและรัฐบาลไม่สามารถที่จะช่วยเหลือได้ตลอด ดังนั้นชาวนาจะต้องปรับตัวและกลับมาทำงานอื่น หรืออาชีพเสริมเพื่อสร้างรายได้ จะรอให้รัฐบาลช่วยเหลืออย่างเดียวไม่ได้ เพราะปกติช่วงระยะเวลาการทำนาจะใช้เวลาราว 30 วัน ใน 1 ปี ชาวนาจึงมีเวลาเหลือ เดิมชาวนาก็จะผันตัวมาทำงานอื่น อาทิ ก่อสร้าง เป็นต้น แต่หลังจากที่มีโครงการรับจำนำข้าว ชาวนาเร่งปลูกข้าวและรอนำข้าวไปเข้าโครงการ แรงงานที่เข้ามาทำงานก่อสร้างก็หายไปจากระบบ มีแต่แรงงานต่างชาติ แต่ผลที่ออกมาข้อมูลจากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ปรากฏว่า โครงการรับจำนำข้าวขาดทุนกว่า 6.6 แสนล้านบาท



http://www.matichon.co.th/online/2014/11/14161092861416109495l.jpg
พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์
อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

การแต่งตั้งรัฐมนตรีเข้ามาเพิ่มเติมไม่มีนัยยะ ในภาพรวมดูหัวก็จบแล้ว เศรษฐกิจปีนี้โตแค่ 0.5 เปอร์เซ็นต์ ตายไหม เท่าที่ดูสถิติต่ำที่สุดในโลก ไม่ใช่เฉพาะในอาเซียน แต่ทั้งโลกเกือบ 200 ประเทศ ประเทศไทยอยู่ข้างล่าง สาเหตุเพราะกฎอัยการศึกนี่แหละ เก็บกฎอัยการศึกไว้ก็อยู่อย่างนี้ ส่งผลต่อภาคการท่องเที่ยวและการลงทุน ตัวเลขการลงทุนไม่ค่อยมีใครพูดถึง พูดถึงแต่การท่องเที่ยวเพราะเห็นชัด การท่องเที่ยวหายหมด ไม่มีฝรั่ง มีแต่ทัวร์จีนซึ่งก็ไม่เยอะ ตัวเลขทางการท่องเที่ยว นักท่องเที่ยวจีนหายไปเกือบล้านคน ขนาดพยายามยกเลิกค่าวีซ่าให้ยังไม่มาเลย ก็ลำบากแต่กฎอัยการศึกเลิกไม่ได้พอเข้าใจอยู่ ถ้าเลิกกฎอัยการศึกเมื่อไหร่คนออกมาประท้วงกันวุ่นแน่นอน เลิกกฎอัยการศึกแล้วเศรษฐกิจก็คงยังไม่ฟื้น คงวุ่นคนออกมาเดินขบวนชุมนุมหลายสีเยอะแยะ สำหรับรัฐบาลกับ คสช. ตอนนี้เขาก็ลำบาก เก็บกฎอัยการศึกไว้เศรษฐกิจก็เป็นแบบนี้ จะยกเลิกก็วุ่นไปหมด น่าเห็นใจอยู่

มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลก็ไม่ส่งผลถ้าดูตามตัวเลข เพราะว่าเศรษฐกิจไทยตัวเลขรวมแต่ละปีเป็นล้านล้านบาท แต่ตัวเลขที่ออกมาไม่ว่าจะเป็นช่วยชาวนาหรือสวนยาง เร่งรัดจ่ายเงินงบประมาณ ตัวเลขแค่หมื่นล้านบาท นิดเดียว น้ำหยดเดียวในโอ่งใหญ่ ไม่พอหรอก เศรษฐกิจไทยพึ่งภาครัฐบาลไม่ได้แล้ว นี่คือสิ่งที่คนไม่ค่อยเข้าใจ ภาครัฐบาลอย่างเดียวทำไม่ได้ เพราะทุกวันนี้เศรษฐกิจไทยใหญ่มาก ภาคเอกชนกับต่างชาติใหญ่มากรวมกันประมาณ 85 เปอร์เซ็นต์ของเศรษฐกิจไทย ภาครัฐบาลนิดเดียวแค่ 7-8 เปอร์เซ็นต์

สิ่งที่ควรทำ ไม่ใช่รัฐบาลเร่งใช้จ่ายแต่ต้องให้ต่างชาติกับเอกชนใช้จ่าย ตรงนี้คนไม่ค่อยเข้าใจ เพราะฉะนั้นทุกวันนี้ไม่ใช่ว่าให้รัฐบาลเข้ามาใช้จ่ายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ คนไม่เข้าใจตรงนี้ แต่ถ้าจะใช้ต่างชาติกับเอกชนใช้จ่ายก็ต้องเลิกกฎอัยการศึก พัวพันเป็นงูกินหาง ต้องเลิกกฎอัยการศึกต่างชาติจะเข้ามาท่องเที่ยวมาลงทุนเปิดโรงแรม นักธุรกิจไทยก็เพิ่มสั่งจองสั่งซื้อของ ผู้บริโภคก็ออกไปเที่ยวห้างใช้จ่าย พอมีกฎอัยการศึกคนก็ชะงักหมด แล้วรัฐบาลใช้จ่ายแทนแค่ 8 เปอร์เซ็นต์ของประเทศไทย จะช่วยอะไรได้

ไม่รู้ว่าคนที่โดนจะอดทนได้แค่ไหน แต่อย่างน้อยเขาคงไม่มีความสุข แต่เศรษฐกิจอย่างเดียวคงไม่ทำให้รัฐบาลล้ม เมืองไทยในอดีตปัญหาเศรษฐกิจไม่ได้ทำให้รัฐบาลล้มในทันที ต้องมีประเด็นอื่นเข้ามาช่วย ประเด็นทางการเมืองจึงจะเกิดเหตุ ซึ่งตอนนี้ยังไม่มีก็คงอยู่อย่างนี้ไป คนที่ลำบากก็ลำบากไป แต่มองแล้วเขาคงลากยาว


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : มุมมอง นักวิชาการ นักธุรกิจ ปัญหาเศรษฐกิจไทย

view