สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ผ่าตัดการศึกษายุคคสช-หวังได้แต่ระวังถอยหลัง

จาก โพสต์ทูเดย์

โดย...ชัยฤทธิ์ ยนเปี่ยม / เจษฎา จี้สละ

วิกฤตการศึกษาไทยเป็นหัวข้อใหญ่ที่ทุกฝ่ายหวังให้เกิดการสะสางในรัฐบาลชุดนี้ ขณะที่กระทรวงศึกษาธิการรับลูกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)เดินหน้านโยบายปฏิรูปการศึกษาในแบบฉบับ "ท่านผู้นำ" ที่ผสมกลิ่นอายการปลูกฝังค่านิยมสร้างชาติ

สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือทีดีอาร์ไอ ให้สัมภาษณ์พิเศษโพสต์ทูเดย์ ว่า นโยบายการศึกษาของรัฐบาลชุดนี้ที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีแถลงต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติหลายเรื่อง ถือว่ามาถูกทาง ไม่ได้ฉาบฉวยเหมือนอย่างแท็บเล็ต เช่น ทำอย่างไรให้การเรียนรู้นำไปสู่การประกอบอาชีพ เพราะตรงนี้เป็นปัญหาที่จบแล้วทำงานไม่ได้ หรือจะปฏิรูปกองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษาซึ่งปัญหาเยอะมากการกระจายอำนาจไปสู่สถานศึกษา ให้สถานศึกษาเป็นนิติบุคคล อาชีวะเชื่อมโยงกับมาตรฐานวิชาชีพ

อย่างไรก็ตาม ยังมีเรื่องสำคัญที่ไม่ได้พูดในนโยบายการศึกษา คือ การรับครู ซึ่งในอีก 4 ปีข้างหน้าที่จะมีครูเกษียณมากถึง 1.2 แสนคน จากครูทั้งหมด 4 แสนคน หรือเกือบ 40% ที่ต้องถ่ายเลือดกัน

"ถ้าครูล็อตนี้ไม่ดี เช่น มีการโกงข้อสอบกันระบบก็จะเป๋ไปอีกหนึ่งชั่วคนเลย สมมติครูรุ่นใหม่ไม่ดี กว่าจะเกษียณก็อีก 30-40 ปี รัฐบาลจะต้องเอาใจใส่เป็นพิเศษให้ได้กระบวนการรับครูที่ดี ทุกวันนี้มันเละมาก ปัญหาใหญ่ของการศึกษาไทย คือโรงเรียนไม่มีทางเลือกให้ได้ครูที่เหมาะกับโรงเรียนเองเลย เขตการศึกษา กระทรวงศึกษาฯ เป็นคนจัดสอบเอง และข้อสอบนี่มีปัญหา แต่ละเขตจะออกอย่างไรก็ได้ตามใจชอบ มันไม่ใช่ระบบที่จะทำให้ได้ครูที่ตรงความต้องการจริง ดังนั้นถ้าระบบรับครูเป็นอย่างนี้แก้ปัญหาไม่ได้เลย"

ประธานทีดีอาร์ไอเสนอว่า สิ่งที่ต้องแก้ คือโรงเรียนต้องมีบทบาทในการรับครู โดยส่วนกลางเป็นคนจัดสอบครูทั่วประเทศ ข้อสอบจะได้มีมาตรฐานป้องกันไม่ให้โกงกัน แล้วให้โรงเรียนสอบสัมภาษณ์เลือกครูด้วยตัวเอง อย่าให้กระทรวงศึกษาฯ จ้างเปรียบเหมือนทีมฟุตบอล โค้ชคือผู้บริหารโรงเรียน ทำโรงเรียนให้ดี แต่กลับไม่รู้ใครโยนนักเตะเข้ามา เลือกก็ไม่ได้เลือก ไม่รู้ว่าทีมต้องการอะไร จึงได้ครูอย่างหนึ่งครูสอนเป็นหรือไม่ก็ไม่มีการทดสอบ แต่ละที่ปัญหาก็ไม่เหมือนกัน โรงเรียนเล็กต้องการครูที่สอนได้หลายวิชา โรงเรียนใหญ่ก็ต้องการครูอีกแบบหนึ่ง แต่ถ้าเลือกจากครูส่วนกลางมันวัดอะไรไม่ได้ นี่คือหัวใจถ้าทำตัวนี้ไม่ได้จะล้มเหลวไปอีกหนึ่งชั่วคน

"ปัญหาใหญ่ที่ต้องเร่งผ่าตัด คือ เรื่องครูนี่แหละมันมีผลการศึกษาชี้แล้วชี้อีกว่า นักเรียนคนเดียวกันถ้าเรียนกับครูเก่งก็จะพุ่งเลย เรียนกับครูอ่อนนี่ตกเลยดังนั้นรัฐบาลต้องจัดระบบคัดเลือกครูที่ดีให้โรงเรียนมีส่วนร่วมมากขึ้นแล้วต่อยอดไปจากนั้น ไปดูระบบพัฒนาครู ตอนนี้เรามีโอกาสคัดเลือกครูที่ดีจากคะแนนสอบแอดมิตของครุศาสตร์ อีกทั้งเงินเดือนครูก็ดีขึ้นแล้วไม่แพ้อาชีพอื่นๆ 10 ปีที่ผ่านมาเงินเดือนครูโรงเรียนของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เพิ่มขึ้น 2 เท่า อัตราการแข่งขันครูในโรงเรียนสังกัด สพฐ.ก็ดุเดือด 100 คน เอาแค่2 คน จึงมีโอกาสที่จะดูดคนเก่งคนดีเข้ามามาก นี่จึงถือว่าเป็นโอกาสที่จะปฏิรูปได้ง่ายมาก"

อีกปัญหาของการศึกษาไทย คือ การสอนแบบท่องจำ เรียนไปแล้วเอาไปใช้ในชีวิตจริงก็ไม่ได้ เรื่องนี้สมเกียรติ ยอมรับว่าเป็นกังวลเหมือนกันว่ารัฐบาลนี้อาจแก้ไม่ได้ การเรียนสมัยใหม่ต้องทำให้เด็กคิดได้จริงการทำโปรเจกต์โครงงานพิสูจน์แล้วว่าเรียนรู้ได้ดีที่สุดสิ่งสำคัญต้องเรียนในห้องเรียนให้น้อยลง อย่างสิงคโปร์ก็สอนน้อยลง แต่เน้นเรียนรู้มาก ขณะที่ไทยถ้ายังสอบแบบจับยัด อย่างเรื่องอาเซียน หรือหน้าที่พลเมือง เอาประวัติศาสตร์ให้เด็กเรียนรู้อย่างนี้ไม่ถูกต้อง

"วิธีการสอนที่ดีสำหรับโลกยุคปัจจุบัน คือ เอาเนื้อเป็นตัวเดินเรื่อง ไม่ใช่ไปจับเนื้อหาเพื่อเข้าใจหลักวิชา เพราะหลักจะอยู่กับตัวเราหลายประเทศโดยเฉพาะประเทศไทยเด็กมัธยมเรียนเป็นพันชั่วโมงต่อปี แต่พอวัดระดับกับต่างประเทศผลออกมาแย่ ถึงพูดกันว่ายิ่งเรียนยิ่งโง่ ทำอะไรก็ไม่ได้ เสียเวลาทั้งคนเรียนและคนสอน"

ประเด็นที่กำลังวิพากษ์วิจารณ์ คือ การที่ พล.อ.ประยุทธ์ ให้นำ "ค่านิยมคนไทย 12 ประการ" ไปปลูกฝังเด็กไทย จนกระทรวงศึกษาธิการได้ปรับหลักสูตรเพิ่มหน้าที่พลเมือง รวมถึงให้มีการท่องอาขยานประจำชั้น กระทั่งมีนักเรียนกลุ่มหนึ่งเคลื่อนไหวเรียกร้องให้ "หยุด 12 ค่านิยมล้างสมอง" สมเกียรติมองว่านี่คือปัญหาเกี่ยวกับทัศนคติของรัฐบาล กล่าวคือรัฐบาลทหารเคยชินกับการใช้อำนาจสะท้อนผ่านเรื่องค่านิยม 12 ประการ แบบไม่เปิดกว้างให้มีการวิจารณ์สวนทางกับการเรียนรู้ในโลกยุคใหม่ ที่ต้องคิดให้เยอะท่องให้น้อย เน้นวิพากษ์วิจารณ์ ตรงนี้จะเป็นด้านที่ทำให้การศึกษาถอยหลัง

"มันจะย้อนยุคก็ตรงนี้ หลายๆ เรื่องในนโยบายเขียนดี แต่ถ้าทัศนคติของผู้นำไปสวนทาง กลัววิจารณ์ กลัวไม่เชื่อ สั่งให้จำ มันสวนทางกับการเรียนรู้ ปฏิรูปหลักสูตร ผมก็เสียวว่ามันจะถอยหลังทัศนคติของผู้นำไม่ทันกับโลกปัจจุบัน มันสวนทางกับการสอนให้น้อยลง เรียนรู้ให้มากขึ้น แต่คุณเพิ่มประวัติศาสตร์ หน้าที่พลเมือง อย่างนี้จะทำให้การปฏิรูปหลักสูตรมันเสียไป"

สาเหตุที่รัฐบาลที่ผ่านมาไม่สามารถปฏิรูปการศึกษาได้ ทั้งที่ทุกยุคทุกสมัยก็ประกาศเป็นวาระเร่งด่วนสมเกียรติ เห็นว่าหลายรัฐบาลไม่ให้ความสำคัญกับการปฏิรูปการศึกษาอย่างจริงจัง จะเห็นได้ว่า 10 ปีที่ผ่านมา มีรัฐมนตรีว่าการมากถึง 17 คน รายที่อยู่น้อยที่สุดแค่ 2 เดือนกว่า อีกทั้งนักการเมืองมองครูเป็นแค่ฐานเสียง นโยบายปฏิรูปที่ดีๆ แต่กระทบครูก็จะไม่กล้าทำ เช่น เรื่องยุบโรงเรียน

"เราไม่มีระบบการศึกษาที่มีคุณภาพทั่วถึง ซึ่งมันควรจะเกิดขึ้นได้ เพราะใช้งบประมาณกับการศึกษาเยอะมาก ปีนี้ก็ 5 แสนล้านบาท สูงสุดทุกกระทรวงงบประมาณก็ขึ้น 2 เท่าในช่วง 10 ปี แต่ 80% เป็นเงินเดือนครู ส่วนงบลงทุนอื่นแทบไม่มี แล้วเงินเดือนก็ขึ้นก้าวกระโดด ครูที่อยู่นานก็เฉลี่ยอยู่ใกล้ 4 หมื่นบาท มากกว่าเงินเดือนอาจารย์มหาวิทยาลัยของรัฐถึงขนาดอาจารย์มหาวิทยาลัยบ่นอยากมาเป็นครูสอนมัธยมเลย แล้วเงินเดือนครูก็ขึ้นต่ำๆ 6% ทุกปีๆ

"...จากเดิมประเทศไทยเคยมีครูที่บอกเป็นเรือจ้างค่าตอบแทนต่ำ คนเก่งไม่อยากไปเรียน 10 กว่าปีที่ผ่านมา มันเปลี่ยนไปแล้ว กลายเป็นว่าครูเป็นอาชีพที่เงินเดือนดี แต่ระบบเละอยู่ เพราะเกณฑ์ตัวชี้วัดครูมันผิด ครูไปเขียนเปเปอร์กัน แล้วครูก็ไปทำงานธุรการกัน นี่คือปัญหาที่ทำให้การศึกษามันเจ๊ง"

อย่างไรก็ตาม ประธานทีดีอาร์ไอคาดหวังที่จะเห็นระบบการศึกษาได้รับการแก้ไขในรัฐบาลชุดนี้ เพราะถ้าไม่ทำประเทศไทยก็หมดอนาคต

"ยุคนี้อาจมีบางเรื่องถอยหลังไปบ้าง แต่ก็มีบางเรื่องตีโจทย์ได้ตรง และอยากให้ทำสำเร็จ โดยเฉพาะเรื่องใหญ่ๆ ที่ต้องทำให้ได้ 1.บุคลากรครู 2.ระบบการเงินต้องประเมินให้ถูก วิธีการไหลของเงินทำให้คนเปลี่ยน ถ้าทำสองเรื่องได้ดี ก็จะไปได้เยอะ 3.ทำการศึกษาทางเลือก เพราะถ้าการศึกษาในระบบมันแก้ไม่ได้ หรือแก้ไม่ได้เร็ว ก็ต้องเอาเทคโนโลยีไอทีมาใช้แทน บายพาสทั้งนักเรียนและครู ส่งตรงไปที่เด็กอย่างฝรั่งที่เป็นวาณิชธนากร วันหนึ่งไปติวเด็กถ่ายวิดีโอลงยูทูบคนมาดูกันหมด เลยลาออกมานั่งเลกเชอร์ถ้าปฏิรูปไม่สำเร็จ คนกลุ่มหนึ่งยังมีทางออกโดยไม่ต้องพึ่งโรงเรียน ครู

"ผมไม่ได้มองแง่ลบทั้งหมด กระแสปฏิรูปการศึกษามันแรงขึ้น แต่จำนวนหนึ่งไม่มีความฝันว่ามันจะเกิดขึ้นจริงได้ ประเทศไทยน่าห่วง คือคนไม่มีความฝัน คิดว่าทำมาแล้ว เจ๊งมาแล้ว แย่กว่าเดิม รอบนี้คงไม่มีอะไรดีกว่าเดิม นี่คือจุดตายของประเทศไทยที่คนไทยขาดความฝัน แต่ผมยังเชื่อว่าตอนนี้มีหลายคนอยากร่วมแก้ปัญหาระบบการศึกษา การปฏิรูปจึงน่าจะเกิดขึ้นได้พ่อแม่ทุกคนรักลูก อยากให้ลูกได้ดี ประเทศก้าวหน้าดังนั้นมีพลังแฝงอยู่" ประธานทีดีอาร์ไอ สรุป


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ผ่าตัดการศึกษา ยุคคสช หวังได้ ระวังถอยหลัง

view