สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ผลวิจัยชี้กรมที่ดินครองแชมป์เรียกสินบน

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์

"สุภา"ชี้คอร์รัปชั่นรับสินบน มะเร็งร้ายทำลายประเทศ ผลวิจัยชี้กรมที่ดินครองแชมป์ เรียกสินบนรองลงมาสถานีตำรวจ

ที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ สนามบินน้ำ จ.นนทบุรี สำนักงานคณะกรรมการ ป.ป.ช.ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย(สกว.) คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย องค์การต่อต้านคอร์รัปชั่นประเทศไทย สำนักงานงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน(ก.พ.) สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ(ก.พ.ร.) สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน จัดสัมนา เรื่อง "คอร์รัปชั่นในระบบราชการ ต้องทำอะไรต่อ" พร้อมนำเสนอข้อมูลที่ได้จากงานวิจัย เรื่อง "คอร์รัปชั่นในระบบราชการไทย การสำรวจทัศนคติประสบการณ์ของหัวหน้าครัวเรือน" โดย มีน.ส.สุภา ปิยะจิตติ กรรมการ ป.ป.ช. เป็นประธานกล่าวเปิดงานว่า การคอร์รัปชั่นในระบบราชการไทย โดยเฉพาะการรับสินบน เป็นเหมือนมะเร็งที่อยู่ในตัวเรา ประเทศไทย หากไม่แคะหรือเคาะออกก็จะกินทั้งประเทศ บางครั้งเราอาจไม่รู้สึกถึงเพราะยังมาไม่ถึงตัวเรา แต่สักวันจะลุกลามถึง เพราะฉะนั้นเราต้องต่อต้านให้สำเร็จ แม้จะเหนื่อยยากลำบากก็ต้องทำ โดยการทำงานวิจัยเรื่องนี้สามารถนำมาต่อยอด เป็นประโยชน์และมีส่วนสำคัญในการลดการรับสินบน ต่อไปในระยะยาว

ด้าน น.ส.ผาสุก พงษ์ไพจิตร คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึง งานการวิจัย เรื่อง "คอร์รัปชั่นในระบบราชการไทย การสำรวจทัศนคติประสบการณ์ของหัวหน้าครัวเรือน" ว่า หากจัดการคอร์รัปชั่นในรูปแบบสินบน แบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ 1.สินบนแบบใหญ่ วงเงินสูงขนาดสิบหรือร้อยล้านบาท โดยเฉพาะการจัดซื้อจัดจ้างและโครงการขนาดใหญ่ของภาครัฐ นักธุรกิจได้รับผลกระทบมาก 2.สินบนขนาดเล็ก วงเงินไม่สูงมากที่ครัวเรือนประสบในชีวิตประจำวัน หรือเรียกว่า คอร์รัปชั่นภาคครัวเรือน

น.ส.ผาสุก กล่าวว่า การจัดดัชนีภาพพจน์คอร์รัปชัน(ซีพีไอ)โดยองค์การความโปร่งใสนานาชาติ ซึ่งเป็นการจัดอันดับการคอร์รัปชั่นของประเทศต่างๆ อาจจะไม่ใช่ตัวชี้ระดับคอร์รัปชั่นจากประสบการณ์ ทัศนคติของประชาชนในประเทศนั้นๆ เพราะเป็นการจัดที่เกิดจาก นักธุรกิจข้ามชาติ นักข่าวสายการเงิน ผู้เชี่ยวชาญในประเทศนั้นๆ ทั้งนี้ซีพีไอของไทยไม่เคยเปลี่ยนแปลง แต่สำหรับการจัดอันดับเทียบกับประเทศอื่น ไทยเลวลงเพราะประเทศที่แย่กว่าไทยปรับตัวดีขึ้น ซึ่งมุมมองการคอร์รัปชั่นในไทย และซีพีไอ อาจไม่ใช่ตัวชี้วัดมุมมองของประชาชนในประเทศไทย

ด้านนายธานี ชัยวัฒน์ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ผลการสำรวจครั้งนี้แบ่งเป็นสามส่วน คือ ประสบการณ์ที่จ่ายสินบนจริง ทัศนคติที่มีต่อคอร์รัปชั่นและการตอบสนองของหัวหน้าครัวเรือนในการติดต่อหน่วยงานนั้นๆ โดยการสำรวจเป็นการเปรียบเทียบข้อมูล ปี 42 กับปี 57 ซึ่งในปี 42 มูลค่าสินบนที่ต้องจ่ายต่อครัวเรือน อยู่ที่ 9,722 บาท ส่วนในปี 57 อยู่ที่ 5,016 บาท และมูลค่ารวมที่มีการจ่ายสินบน ปี 42 อยู่ที่ 15,400 ล้านบาท ในปี 57 อยู่ที่ 4,944 ล้านบาท ดังนั้นจะเห็นได้ว่ามูลค่าของการเรียกรับสินบนลดลงถึง 3 เท่าจากเมื่อ 15 ปีก่อน

นายธานี กล่าวว่า หน่วยงานที่หัวหน้าครัวเรือนไปติดต่อและถูกเรียกสินบนบ่อยที่สุด คือ สำนักงานที่ดิน ในปี 42 คิดเป็นร้อยละ 12.3 ปี 57 คิดเป็นร้อยละ 7.2 รองลงมา ได้แก่ สถานีตำรวจ ปี 42 คิดเป็นร้อยละ8.5 ปี 57 คิดเป็นร้อยละ 6.1 ขณะที่กรมศุลกากรและกรมขนส่งทางบก มีจำนวนการเรียกรับสินบนลดลงอย่างมาก จากเดิมปี 42 ร้อยละ 10.3และ 7.7 ตามลำดับ ในปี 57 เหลือเพียงร้อยละ 2.4 และร้อยละ 1.9

อย่างไรก็ตามใน ปี 57 หน่วยงานที่หัวหน้าครัวเรือนไปติดต่อแล้วมีการเรียกเงินสินบนก้อนใหญ่เกิน 100,000 บาทต่อราย เหลือเพียงที่เดียว คือ สำนักงานที่ดินเท่านั้น ส่วนกรมศุลกากร ตำรวจ และกรมสรรพากรยังคงเป็นหน่วยงานที่หัวหน้าครัวเรือนไปติดต่อแล้วมีการเรียกเงินสินบนก้อนใหญ่ แต่ลดลงมาอยู่ที่ 10,000 -100,000 บาทต่อราย และมีสองหน่วยงานที่มีการเรียกเงินสินบนเพิ่มขึ้นมา ได้แก่ โรงเรียนของรัฐ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น อย่างไรก็ดีหัวหน้าครัวเรือนไปติดต่อแล้วถูกเรียกเงินสินบนส่วนใหญ่จะโดนเรียกเงินที่มีมูลค่าไม่เกิน 1,000 บาท

นายธานี กล่าวว่า ทั้งนี้การเรียกเงินสินบนที่โรงเรียนของรัฐบาลมีมูลค่าเฉลี่ย 11,796 บาท สูงที่สุดเทียบกับหน่วยราชการอื่น ๆ ในปี 57 ส่วนศุลกากรอยู่ในอันดับ 2 มูลค่าเฉลี่ย 10,538 บาท รองลงมาได้แก่ สำนักงานที่ดิน มูลค่า 5,341 บาท และสถานีตำรวจ 4,919 บาท หากดูผลการวิจัยนับว่าคอร์รัปชั่นทางด้านการศึกษาดูเหมือนจะมีความร้ายแรงที่สุดในปัจจุบัน นอกจากนี้ยังพบว่า หน่วยงานที่มีมูลค่ารวมของการเรียกเงินสินบนมากที่สุดยังคงเป็นสำนักงานที่ดิน 1,922 ล้านบาท สถานีตำรวจ 1,792 ล้านบาท แต่อันดับที่สามกลับเป็นโรงเรียนของรัฐบาล 640 ล้านบาท

นายธานี กล่าวต่อว่า ทัศนคติของหัวหน้าครัวเรือนยังคงให้ความสำคัญกับปัญหาการคอร์รัปชั่นมากกว่าที่เคยสำรวจไว้ แต่ก็ยังเห็นว่าความร้ายแรงของปัญหาคอร์รัปชั่นนั้นน้อยกว่าปัญหาเศรษฐกิจไม่ดีและค่าครองชีพสูง โดยเห็นว่าการคอร์รัปชั่นเป็นปัญหาเรื้อรังที่แก้ไม่ได้เพราะเกิดจากการกระทำของนักการเมือง ไม่ใช่ประชาชนคนธรรมดา ทั้งนี้สถาบันที่หัวหน้าครัวเรือนมีความไว้ใจเชื่อถือลดลง คือ สื่อมวลชน ระบบศาล และข้าราชการ โดยหัวหน้าครัวเรือนเห็นว่าสถาบันการศึกษาเป็นองค์กรที่มีประสิทธิภาพสูงสุดในการปราบปรามคอร์รัปชั่น รองลงมาคือ ป.ป.ช. เอ็นจีโอ สื่อมวลชน และเครือข่ายต่อต้านการคอร์รัปชั่นภาคเอกชนตามลำดับ ส่วนหน่วยงานที่หัวหน้าครัวเรือนเห็นว่ามีความไม่สุจริตมากที่สุด คือ ตำรวจ,ส.ส., สภากทม., สภาเขตและกระทรวงพาณิชย์ นอกจากนี้มีความเห็นเป็นเอกฉันท์ว่า ข้าราชการที่ทุจริตคอร์รัปชั่นควรถูกลงโทษสถานหนักกว่าประชาชนคนธรรมดา และรัฐบาลควรให้ความสำคัญกับการปราบปรามคอร์รัปชั่นเป็นลำดับต้น

นายธานี กล่าวว่า การที่ระดับการคอร์รัปชั่นและจำนวนเงินที่ประชาชนถูกร้องขอเป็นสินบนเงินหรือเงินพิเศษพบว่าลดลงในปี 57 นั้น อาจเป็นการประมาณการต่ำกว่าความเป็นจริงด้วยสาเหตุ 2 ประการ คือ ข่าวสารการต่อต้านคอร์รัปชั่นทำให้ผู้ตอบระมัดระวังตัวมากขึ้น และการให้สินบนอาจมีรูปแบบอื่นที่ไม่ใช่ตัวเงิน ผลการสำรวจวิจัยนี้ทำให้เห็นภาพว่าการคอร์รัปชั่นที่ครัวเรือนประสบได้ลดลง แต่ก็ยังมีปัญหาร้ายแรงในบางจุด

นายธานี กล่าวว่า อย่างไรก็ตามควรจะมีการศึกษาต่อยอดกรณีที่ประสบความสำเร็จมากเปรียบเทียบกับกรณีที่ยังเป็นปัญหาให้ลุ่มลึกถึงสาเหตุและวิธีการคอร์รัปชั่น เพื่อสรุปบทเรียนการสร้างความโปร่งใสและลดการทุจริตภาคราชการให้ได้ผลยิ่งขึ้นอีก ให้หน่วยงานและองค์กรหรือบุคคลสาธารณะที่ยังมีปัญหาใส่ใจกับการปฏิรูปอย่างเร่งด่วน ,ให้มีการสำรวจแบบเดียวกันนี้ในระดับชาติทุก 5 หรือ 10 ปี เป็นมาตรการหนึ่งในการตรวจสอบและป้องปรามการคอร์รัปชั่นภาคราชการที่ครัวเรือนประสบ และการเรียกรับสินบนก้อนใหญ่ในบางหน่วยงานราชการส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะผู้ให้สมยอมเนื่องจากได้ประโยชน์มากกว่าที่เสีย ซึ่งทำให้ยากที่จะปราบ จึงควรศึกษาวิจัยถึงมาตรการป้องกันและการเฝ้าระวังที่มีประสิทธิภาพที่ใช้ได้ผลแล้วในประเทศอื่น เช่น มาตรการกำกับและควบคุมข้าราชการที่ร่ำรวยผิดปกติแบบต่าง ๆ โดยศึกษาความเป็นไปได้และการปรับให้เหมาะสมกับระบบกฎหมายของไทย ซึ่งอาจศึกษาเปรียบเทียบกับการสร้างฐานข้อมูลภาษีเงินได้ในระบบอิเล็กทรอนิกส์ที่เชื่อมกับการทำธุรกรรมทางเศรษฐกิจเป็นตัวกำกับ


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ผลวิจัยชี้ กรมที่ดิน ครองแชมป์ เรียกสินบน

view