สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

เงินฝืด

เงินฝืด

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์




แม้ว่ามนุษย์จะเป็นสิ่งมีชีวิตเพียงหนึ่งเดียวที่เข้าใจความแตกต่างของกาลเวลาและรู้จักความหมายของอดีต ปัจจุบัน

และอนาคตแต่เอาเข้าจริงๆ แล้ว เรากลับเห็นมนุษย์ส่วนใหญ่หลงวนเวียนอยู่กับอดีต จนลืมนึกถึงปัจจุบัน และเฝ้ากังวลกับอนาคตที่ยังมาไม่ถึง

ภาวะเช่นนี้เกิดขึ้นกับทุกชนชั้นในสังคม นับตั้งแต่ประชากรกลุ่มใหญ่ที่สุดในบ้านเราคือเกษตรกร ชาวไร่ชาวนา ก็ล้วนอยู่กับวงวันแห่งความคิดเช่นนี้ นั่นคือเฝ้าคิดถึงสภาวะแห้งแล้งขาดน้ำขาดฝนที่ผ่านมาจนพืชผลไม่งอกงามเท่าที่ควร แทนที่จะคิดหาทางแก้ไขปลูกพืชอื่นๆ ทดแทน ก็กลับกังวลถึงอนาคตว่าจะขายข้าวไม่ได้ราคา

กับคนหนุ่มสาวในเมืองก็ล้วนไม่แตกต่างกัน ส่งผลให้คนทุกวันนี้วิตกกังวลจนเป็นโรคซึมเศร้ากันมากมายเพราะครุ่นคิดแต่เรื่องที่ยังไม่เกิดขึ้น และหวาดกลัวอนาคต ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้วอนาคตไม่ใช่เรื่องน่ากลัวเลยหากเราใช้เวลากับปัจจุบันให้มากขึ้นเพื่อเตรียมความพร้อม ซึ่งถ้าเราปล่อยวางอดีตและหันมาตระหนักในการทำปัจจุบันให้ดีที่สุดแล้ว เราก็จะมีความหวังต่ออนาคตขึ้นมาได้โดยอัตโนมัติ

ถึงแม้จะมีอุปสรรคเข้ามาทำให้แผนการของเราสะดุดลงบ้าง แต่ท้ายสุดแล้วทุกอย่างก็ต้องเดินต่อไป เช่นภาวะน้ำท่วมครั้งใหญ่ในบ้านเราเมื่อ 3 ปีที่แล้ว ซึ่งครั้งนั้นกระทบกับธุรกิจและอุตสาหกรรมจนหยุดชะงักไปเกือบทั้งประเทศ แต่เมื่อน้ำแห้งธุรกิจก็กลับมาดำเนินกิจการต่อได้ทันที

แต่สิ่งที่เราได้เรียนรู้จากน้ำท่วมครั้งนั้นก็คือเรื่องผลกระทบทางจิตวิทยา ระหว่างที่น้ำกำลังจะมาถึงกรุงเทพฯ มีข่าวมากมายเกิดขึ้นว่าน้ำจะท่วมในพื้นที่ต่างๆ บ้างก็ว่าไม่ท่วม ภาวะแบบนั้นทำให้คนทั้งกรุงเทพฯ ไม่มีอารมณ์ที่จะจับจ่ายใช้สอยแม้ว่าจะอยู่นอกเขตน้ำท่วมก็ตาม

ภาวะที่เกิดขึ้นทำให้ผมนึกถึงภาวะเศรษฐกิจของญี่ปุ่นที่เคยรุ่งเรืองขึ้นถึงจุดสูงสุดในยุคหลังปี 2518 จนมีกำลังซื้อมหาศาล จนถึงขั้นซื้ออาคารสำนักงานขนาดใหญ่ในนิวยอร์กมากมาย เช่น Rockefeller Center และ Radio City Music Hall ที่เป็นศูนย์กลางธุรกิจและความบันเทิงของสหรัฐอเมริกาในยุคนั้น รวมถึงอีกหลายอาคารและอีกหลายบริษัทที่นักลงทุนญี่ปุ่นเข้าไปซื้อกิจการ

แต่หลังจากนั้นอีกไม่กี่ปีทุกอย่างก็ดูจะตรงกันข้าม เมื่อเศรษฐกิจญี่ปุ่นเริ่มชะลอตัว และสิ่งที่สั่นคลอนความเชื่อมั่นของคนญี่ปุ่นที่สุดก็คือระบบการจ้างงานแบบตลอดชีพที่หายไปจากระบบ เพราะชาวญี่ปุ่นคุ้นเคยกับระบบดังกล่าวนี้มาเป็นสิบๆ ปี ด้วยการเลือกบริษัทที่ตัวเองต้องการหลังเรียนจบจากมหาวิทยาลัย แล้วก็ฝากทั้งชีวิตอยู่กับบริษัทนั้นๆ ได้เลย โดยไม่ต้องคิดถึงการถูกเลิกจ้าง เพราะบริษัทจะเลี้ยงดูพนักงานและครอบครัวอย่างใกล้ชิดเพื่อให้พนักงานทุ่มเทให้บริษัทได้อย่างเต็มที่โดยไม่ต้องกังวลใจเรื่องใดๆ

เมื่อเศรษฐกิจตกต่ำ บริษัทญี่ปุ่นก็ไม่อาจคงนโยบายเช่นนั้นเอาไว้ได้ ผลสุดท้าย ในยุคนั้นเราจึงพบเจอชาวญี่ปุ่นวัยกลางคนจำนวนไม่น้อยเร่ร่อนอยู่ข้างถนนในยามค่ำคืนเพราะอับอายจนไม่กล้ากลับบ้านไปพบหน้าญาติพี่น้อง ถึงจะยังมีรายได้จากเงินสวัสดิการของรัฐบาลก็ตาม

ภาวะซบเซาดังกล่าวเกิดขึ้นมาต่อเนื่องยาวนานมาเกือบ 20 ปี จนคนส่วนใหญ่คิดว่าชาวญี่ปุ่นคงจนกรอบกันทั้งประเทศ ซึ่งภาวะเศรษฐกิจในญี่ปุ่นไม่ได้เป็นแบบนั้นเลยเนื่องจากยังมีเงินออมอยู่ในระบบเป็นจำนวนมาก แต่สาเหตุสำคัญมาจากความไม่มั่นใจจนไม่กล้าใช้เงินต่างหาก

รัฐบาลญี่ปุ่นพยายามทำทุกวิถีทางเพื่อกระตุ้นให้ประชากรของตัวเองหันมาจับจ่ายใช้สอยให้เหมือนปกติ จนถึงขั้นลดอัตราดอกเบี้ยลงใกล้ 0% ซึ่งเท่ากับว่าคนที่ฝากเงินไว้กับธนาคารเมื่อครบ 1 ปีจะได้ดอกเบี้ยน้อยกว่าอัตราเงินเฟ้อเสียอีกจนเงินที่ตัวเองสะสมเอาไว้ด้อยค่าลงทุกปีๆ

แล้วเงินที่มีมากมายในระบบเงินฝาก รวมถึงผลประกอบการของธุรกิจต่างๆ ในญี่ปุ่นไม่มีผลอย่างใดต่อระบบเศรษฐกิจเลยหรือ?... คำตอบสุดท้ายก็คือความเชื่อมั่นของประชาชนทั่วไปที่ยังไม่รู้สึกอยากใช้เงิน ถึงจะถูกลดค่าเมื่อฝากในธนาคารก็ยังดีเสียกว่าเอามาใช้เพราะยังไม่มั่นใจในอนาคต

บทบาทคนธรรมดาๆ ทั่วไปจึงมีบทบาทในการชี้ชะตาเศรษฐกิจของประเทศได้ไม่แพ้องค์กรธุรกิจขนาดใหญ่เลย เมื่อความรู้สึก “ไม่มั่นใจ” ของคนกลุ่มหนึ่งถูกขยายผลไปจนกลายเป็นความรู้สึกร่วมของคนทั้งประเทศ ก็ทำให้เงินหายไปในระบบเศรษฐกิจทันทีเพราะไม่มีใครยอมนำเงินมาใช้จ่าย

ประเทศไทยในวันนี้ก็ประสบปัญหาที่ไม่ต่างกันมากนัก แต่เราจะฟื้นได้อย่างไร เพราะประเทศญี่ปุ่นในวันนี้เริ่มเห็นสัญญาณบวกชัดเจนขึ้นแล้ว คงต้องติดตามต่อใน “ไอทีไร้พรมแดน”ฉบับหน้านะครับ


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : เงินฝืด

view