สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ความไม่แน่นอนปีหน้า 2558 โดย วีรพงษ์ รามางกูร

จากประชาชาติธุรกิจ

คอลัมน์ คนเดินตรอก

หมู่นี้ไม่มีข่าวอะไรหวือหวา บรรยากาศไม่ว่าจะเป็นบรรยากาศทางเศรษฐกิจ หรือทางการเมือง หรือทางสังคมก็ดำเนินไปเรื่อย ๆ ไม่คึกคักครึกครื้นเหมือนเมื่อปลายปีที่แล้ว

บรรยากาศที่เป็นอยู่ใน ขณะนี้คาดการณ์ได้ว่าเป็นบรรยากาศของภาวะเศรษฐกิจที่ซึมเซาไม่กระฉับกระเฉง เหมือนเมื่อตอนที่เศรษฐกิจเป็นเศรษฐกิจขาขึ้น พ่อค้าแม่ค้ารายเล็กหรือเจ้าของธุรกิจรายเล็กต่างก็บ่นกันดังทั่วไปว่า ธุรกิจการค้าขายไม่คึกคักคล่องตัว ไม่ว่าจะเป็นหาบเร่แผงลอย ร้านอาหารระดับล่างหรือระดับกลาง

ข่าวที่ว่าอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของเราคงจะไม่ถึงร้อยละ 1.5 ได้ยินดังขึ้นเรื่อย ๆ มีบางเสียงกล่าวว่าเศรษฐกิจของเราในปี 2557 ซึ่งเหลืออีกเพียง 2 เดือนก็จะสิ้นปีแล้วอาจจะไม่ขยายตัวเลย กล่าวคือ อัตราการขยายตัวเป็น 0 หรืออาจจะติดลบเสียด้วยซ้ำ เป็นเรื่องที่เป็นไปได้



ถ้าจะว่าไปแล้วไม่มีความจำเป็นต้องมาถกเถียงกันว่าอัตราการขยายตัวปี 2557 ว่าจะเป็น +1 เปอร์เซ็นต์ 0 เปอร์เซ็นต์ หรือ -1 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งไม่มีอะไรแตกต่างกัน จะแตกต่างก็เพียงตัวเลขเท่านั้น อย่างไรก็ตาม ถ้าอัตราการขยายตัวยังเป็นบวกหรือไม่ติดลบ ก็อาจจะมีผลในแง่จิตวิทยาอยู่บ้าง ในยามเศรษฐกิจซบเซาอย่างนี้ จิตวิทยาจึงเป็นเรื่องที่มีความสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจิตวิทยาทางด้านการเมือง

ถ้าจะว่าไปแล้ว สาเหตุสำคัญที่ทำให้เศรษฐกิจของเราซบเซาค่อนข้างมากและรวดเร็ว ก็เพราะเหตุปัจจัยทั้งภายในและภายนอกประเทศ ซึ่งทุกคนก็ทราบดีแล้วว่ามีอะไรบ้าง

การส่งออกและธุรกิจการท่องเที่ยวของเราในปี 2557 นี้มีปัญหาอย่างมาก เพราะตลาดในต่างประเทศยังอ่อนแอ ยังไม่ฟื้นตัวอย่างชัดเจน

สหรัฐอเมริกา หลังจากที่มีข่าวเรื่องสามารถผลิตน้ำมันและก๊าซธรรมชาติได้ในราคาที่ถูกกว่าต่างประเทศ สามารถลดการนำเข้าพลังงานจากต่างประเทศได้ใปริมาณมาก ขณะเดียวกัน การลงทุนในอุตสาหกรรมปิโตรเคมีและอุตสาหกรรมอื่น ๆ รวมทั้งการที่ธนาคารกลางสหรัฐเพิ่มปริมาณเงินหมุนเวียนในระบบตามมาตรการคิว.อี.เพื่อประคับประคองสถาบันการเงินและวิสาหกิจใหญ่ๆ ไม่ให้ขาดสภาพคล่องได้ โดยไม่ก่อให้เกิดความกดดันทางเงินเฟ้อ ก็น่าจะเป็นข่าวดีอยู่เหมือนกัน แม้ว่าผลจะยังมาไม่ถึงประเทศของเรา

ยุโรปและญี่ปุ่น ยังเป็นปัญหา จะสามารถประคับประคองตัวไม่ให้เศรษฐกิจซบเซาชะงักงันได้เหมือนสหรัฐอเมริกาหรือไม่ ความรู้สึกโดยทั่วไปยังไม่คิดว่ายุโรปและญี่ปุ่นจะประคับประคองตัวไม่ให้ไหลลงต่อไปอีกได้

ยังเหลือแต่จีนเท่านั้นที่ยังเป็นตลาดของเราทั้งตลาดสินค้าและตลาดของการท่องเที่ยว แต่ก็ไม่เพียงพอที่จะชดเชยการชะลอตัวของการส่งออกสินค้าและการท่องเที่ยวจากทั้ง 3 ตลาด คือสหรัฐอเมริกา ยุโรป และญี่ปุ่น แถมบวกเพิ่มด้วยความไม่แน่นอนทางการเมืองของเราเอง

ที่น่าสนใจก็คือในปี 2558 คือปีหน้า อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของเราจะดีขึ้นกว่าปีนี้หรือไม่ ถ้าดีขึ้นจะดีขึ้นมากน้อยเพียงใด คำถามดังกล่าวเป็นคำถามที่ตอบได้ยาก การพยากรณ์หรือการคาดการณ์แนวโน้มนั้น ทำได้ง่ายกว่าการพยากรณ์หรือการคาดการณ์จุดหักเห

การที่การส่งออกสินค้าและบริการหรือการท่องเที่ยวของเราซบเซาทำให้รายได้ของประชาชนและบริษัทห้างร้านต่าง ๆ ชะลอตัวลง รายได้ทางธุรกิจหลาย ๆ อย่างหดตัวลงอย่างเห็นได้ชัด การผลิตของภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการของกิจการต่าง ๆ อยู่ในระดับต่ำกว่าความสามารถในการผลิต กล่าวคือ การผลิตอยู่ในระดับประมาณ 60 เปอร์เซ็นต์ของกำลังการผลิตเท่านั้นเอง เมื่อการผลิตอยู่ในระดับต่ำกว่ากำลังความสามารถในการผลิตขนาดนี้ ก็ย่อมคาดได้ว่าการลงทุนขยายการผลิตหรือการลงทุนเพื่อผลิตของใหม่ ๆ จะไม่มีหรือมีก็น้อย

ถ้าตลาดการส่งออกยังซบเซาอยู่อย่างนี้ การลงทุนของภาคเอกชนก็คาดการณ์ได้ว่าคงจะยังไม่ฟื้นตัวจากปีนี้มากนัก การลงทุนในภาคการท่องเที่ยว เช่น โรงแรม ที่พัก และอื่น ๆ ที่โยงกันเป็นลูกโซ่ต่อเนื่องจากการท่องเที่ยว ก็ยังไม่ค่อยชัดว่าตลาดอเมริกายุโรปและญี่ปุ่นสำหรับการท่องเที่ยวจะเป็นอย่างไร

ที่หวังกันมากก็คือการลงทุนของภาครัฐบาลเป็นต้นว่า โครงการบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาทก็ดี หรือโครงการในเรื่องการคมนาคมขนส่ง จำนวน 2.2 ล้านล้านบาท ที่พูดกันมาตั้งแต่รัฐบาลที่แล้ว แต่หลังการเปลี่ยนรัฐบาลมีการเปลี่ยนแปลงโยกย้ายข้าราชการอย่างขนานใหญ่ กว่าข้าราชการชั้นผู้ใหญ่เหล่านั้นจะตั้งตัวได้ กว่าจะสามารถตัดสินใจได้ ก็คงต้องใช้เวลาระยะหนึ่ง อาจจะครึ่งปีหรือปีหนึ่งเป็นอย่างน้อย ประกอบกับโครงการลงทุนต่าง ๆ ก็ต้องมีขั้นตอนในการจัดซื้อจัดจ้าง การระดมทุน แม้จะเป็นเงินทุนจากการขายพันธบัตรภายในประเทศก็ตาม การที่จะหวังให้เม็ดเงินออกมาหมุนเวียนในตลาดภายในปี 2558 ปีหน้าก็คงเป็นไปได้ยาก

การที่เศรษฐกิจของโลกซบเซา สิ่งหนึ่งที่กระทบถึงรายได้ของประชาชนของเราก็คือราคาสินค้าที่เป็นวัตถุดิบก็มีราคาลดลงด้วยพร้อมๆ กับราคาสินค้าเกษตร ซึ่งเป็นสินค้าสำคัญของคนในชนบท เช่น ข้าว ยางพารา อ้อย มันสำปะหลังก็มีราคาลดลง เมื่อราคาสินค้าเกษตรกรรมเหล่านี้ลดลง รายได้ของประชาชนก็ลดลง เมื่อรายได้ลดลงก็ทำให้การบริโภคของครัวเรือนลดลง ดัจะเห็นได้ว่าตลาดของสินค้าบริโภค ไม่ว่าจะเป็นยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องจักร รวมทั้งสินค้าอุปโภคบริโภคก็ลดลงตามกันไป

สิ่งที่ประเทศของเราจะได้ประโยชน์ก็เห็นจะเป็นราคาน้ำมันที่ลดลงอย่างรวดเร็วอันสืบเนื่องมาจากราคาน้ำมันดิบลดลง ความต้องการใช้น้ำมันและก๊าซธรรมชาติขยายตัวใอัตราที่ลดลง เพราะภาวะเศรษฐกิจของอเมริกา ยุโรป ญี่ปุ่น รวมทั้งจีนด้วย ขณะเดียวกัน ความสามารถในการผลิตน้ำมันและก๊าซธรรมชาติของโลกก็สูงขึ้น เพราะสหรัฐอเมริกา ซึ่งเคยเป็นผู้นำเข้าพลังงานรายใหญ่ของโลก กำลังจะกลายเป็นผู้ส่งออกพลังงานไปเสียแล้ว

แนวโน้มที่ราคาน้ำมันและก๊าซธรรมชาติจะมีราคาลดลง คงจะยังเป็นแนวโน้มที่สำคัญในปีหน้า 2558 นี้อยู่ ถ้าเป็นเช่นนี้ ราคาสินค้าเกษตรของเรา ไม่ว่าจะเป็นข้าว ยางพารา อ้อย น้ำตาล และอื่น ๆ ก็น่าจะยังมีปัญหาต่อไป ถ้าราคาสินค้าเกษตรยังไม่กระเตื้องขึ้น ความต้องการจับจ่ายใช้สอยของครัวเรือนก็คงจะยังไม่ฟื้นตัวมากนัก

มาตรการ "กระตุ้นเศรษฐกิจ" ต่าง ๆ ที่พูดกันมา ไม่ว่าจะเป็นมาตรการแจกเงินช่วยเหลือผู้ผลิตในภาคเกษตรไร่ละพันบาทก็ดี การรับจำนำยุ้งฉางก็ดี โครงการจ้างงานในชนบทก็ดี ล้วนแต่เคยทำกันมาแล้วในอดีต ไม่สามารถชดเชยการอ่อนตัวลงของการส่งออกสินค้า การท่องเที่ยว รวมทั้งการอ่อนตัวลงของราคาสินค้าเกษตร เช่น ยางพารา ข้าว มันสำปะหลัง อ้อย กาแฟ และอื่น ๆ ลงได้ ปัญหาเหล่านี้คงจะโผล่ขึ้นมาให้เห็นกันอย่างมากมายในปี 2558

การที่ราคาน้ำมันลดลง ประโยชน์ก็คงจะตกอยู่กับคนในเมืองเป็นส่วนใหญ่ แต่การที่ราคาสินค้าเกษตรลดลง ภาระคงจะตกอยู่กับเกษตรกร ซึ่งเป็นคนที่อยู่นอกเมืองเป็นส่วนใหญ่ สถานการณ์อย่างนี้น่าจะนำไปสู่ปัญหาทางการเมือง จะบริหารจัดการอย่างไร ก็ควรจะต้องคิดไว้เสียแต่เนิ่น ๆ

ปีหน้าจึงเป็นปีที่น่าเป็นห่วง ถ้าปัญหาไม่เกิด ก็ต้องถือว่าเป็นกำไร


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ความไม่แน่นอน ปีหน้า 2558 วีรพงษ์ รามางกูร

view