สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ห้องเรียนในแคมป์ก่อสร้าง-ฝันที่เป็นจริงของลูกกรรมกร

จาก โพสต์ทูเดย์

เรื่อง...อินทรชัย พาณิชกุล / ภาพ...ภัทรชัย ปรีชาพานิช

ตู้คอนเทนเนอร์สีเหลืองสดใสถูกดัดแปลงเป็นห้องเรียนขนาดกะทัดรัด คงไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรนัก ถ้ามันไม่ตั้งอยู่ในแคมป์ก่อสร้างริมทางรถไฟ สอนโดยครูข้างถนน และมีนักเรียนคือลูกแรงงานข้ามชาติ

นี่คือเรื่องที่สังคมไทยไม่เคยรู้มาก่อน และอาจไม่ใส่ใจเลยก็ได้ แต่เชื่อว่าทุกคนจะต้องทึ่ง หลังจากได้รับรู้เรื่องราวทั้งหมดนี้

ห้องเรียนอาเซียนในแคมป์ก่อสร้าง

ธงไตรรงค์โบกไสว เด็กน้อยตัวกระเปี๊ยกกว่า 40 ชีวิตยืนเข้าแถวร้องเพลงชาติไทยเจื้อยแจ้วด้วยภาษาที่ฟังไม่ได้ศัพท์

ช่างเป็นภาพที่งดงามอย่างน่าประหลาด

เบื้องหน้าพวกเขาคือ ตู้คอนเทนเนอร์สีเหลืองสดใสที่ดัดแปลงสภาพเป็นห้องสี่เหลี่ยมล้อมรั้วอย่างดี มีกระดานดำ โต๊ะเก้าอี้ อุปกรณ์การเรียนการสอน ไม่ว่าโปสเตอร์ฝึกท่องสูตรคูณ พยัญชนะอักษรไทย ชั้นหนังสือบรรจุแบบเรียน สมุดภาพระบายสี นิทาน ดินสอปากกากองระเกะระกะอยู่บนพื้น

รวมถึงองค์ประกอบสำคัญที่สุด นั่นคือ ชายวัยกลางคนหน้าตาใจดีที่พวกเขาเรียกว่า “ครู”

ที่นี่คือ “ศูนย์เด็กก่อสร้าง” หรือที่พวกเขาเรียกอย่างภาคภูมิใจว่าโรงเรียน ตั้งขึ้นโดยการสนับสนุนของบริษัทนารายณ์พรอพเพอตี้ จำกัด และมูลนิธิสร้างสรรค์เด็ก บนพื้นที่กว่า 5 ไร่ของแคมป์ก่อสร้างริมทางรถไฟ ย่านวัดเสมียนนารี กทม.

“อย่าลืมว่าคนเหล่านี้เขามาช่วยพัฒนาความเจริญให้ประเทศ ต้องถือว่าเขาเป็นพลเมืองของเรา ลูกหลานที่ติดมาด้วยก็ควรจะได้รับสวัสดิการดูแลบ้างเล็กๆน้อยๆ บางบริษัทกำไรเป็นหมื่นล้านแบ่งให้เขาสักนิดสักหน่อยจะเป็นไรไป ไม่ใช่เรื่องเหนือบ่ากว่าแรงเลย

ห้องเรียนแห่งนี้เกิดขึ้นจากทางบริษัทนารายณ์พรอพเพอตี้ เจ้าของพื้นที่แคมป์คนงานก่อสร้างมองว่า ลูกหลานของเหล่ากรรมกรทั้งคนไทยและคนต่างด้าวซึ่งมีจำนวนไม่น้อย อยู่กับบ้านเฉยๆขณะที่พ่อแม่ออกไปทำงาน ไม่มีโอกาสได้เรียนหนังสือ เลยมีการติดต่อพูดคุยกับทางมูลนิธิสร้างสรรค์เด็กเกี่ยวกับการเรื่องจัดการเรียนการสอนที่เหมาะสมกับเด็กเหล่านี้ โดยจะบริจาคพื้นที่ส่วนหนึ่ง พร้อมตู้คอนเทนเนอร์ให้ด้วย ที่สุดแล้วจึงได้ตั้งศูนย์เด็กก่อสร้างขึ้นเป็นแห่งแรกและแห่งเดียวของประเทศ”ไพโรจน์ จันทรวงษ์ มูลนิธิสร้างสรรค์เด็ก ในฐานะ “ครูใหญ่” เล่าให้ฟัง

ปัจจุบัน แคมป์ก่อสร้างแห่งนี้ มีแรงงานพักอาศัยอยู่ประมาณ 400 คน ในจำนวนนั้นมีเด็กอายุตั้งแต่ 3 -18 ปี รวมทั้งหมด 43 คน ประกอบด้วยชาวกัมพูชา พม่า และไทย ตามลำดับ

ครูไพโรจน์ บอกว่า เหตุผลสำคัญที่ต้องหยิบยื่นการศึกษาให้แก่เด็กเหล่านี้ก็เพื่อยับยั้งไม่ให้พวกเขาเข้าสู่วงจรการทำงานเร็วขึ้น การเรียนหนังสือยังช่วยดึงวัยรุ่นห่างไกลจากอบายมุข และอาจสร้างแรงบันดาลใจให้เห็นความสำคัญของการเรียนได้ ภายใต้ความเชื่อที่ว่าการศึกษาเท่านั้นที่จะเป็นใบเบิกทางสู่ชีวิตที่ดี

“เด็กพวกนี้ในอนาคตเขาต้องใช้ชีวิตอยู่ประเทศไทยแน่ จึงอยากให้การศึกษาขั้นพื้นฐาน โดยเฉพาะภาษาไทย ทั้งพูด อ่าน เขียน เพราะภาษาไทยจำเป็นมากต่อการสื่อสาร ถ้าเขาพูดไทยได้ช่องว่างระหว่างเขากับคนไทยจะลดลง มีโอกาสที่จะขยับฐานะหน้าที่การงานให้สูงขึ้น อาจช่วยต่อยอดให้เขาสนใจศึกษาต่อในสายอาชีพที่ชอบในวันหน้า หรืออย่างน้อยที่สุด การที่เราดึงเขาให้มาเรียนหนังสือจะช่วยป้องกันไม่ให้ไปมั่วสุมกับอบายมุขที่มีอยู่รอบๆแคมป์ก่อสร้าง

การเรียนการสอนจะใช้หลักสูตรเตรียมอนุบาลทั่วไป ผมเรียกว่าเป็นการจัดการศึกษาแบบตลาดนัด คล้ายกับตลาดนัดที่ต้องมีสินค้าน่าสนใจหลากหลายประเภทให้ลูกค้าเลือกตามใจชอบ ผมถามเลยว่าอยากเรียนวิชาอะไร ภาษาไทย อังกฤษ เขมร พม่า ลาว ศิลปะ งานประดิษฐ์ คณิตศาสตร์ หรืออยากทำอาหาร ทำขนมก็ได้ทั้งนั้น ต้องดึงให้เขามาสนใจให้ได้ ต้องเอาชนะคู่แข่งภายนอกทั้งโทรทัศน์ หนังโป๊ บุหรี่ เหล้ายาปลาปิ้ง ทำยังไงก็ได้ให้เขาตื่นเช้าแล้วอยากมาโรงเรียนมากกว่าไปสนใจเรื่องไร้สาระ

นอกเวลาเรียนยังต้องแนะนำเรื่องการใช้ชีวิต ให้คำปรึกษาเรื่องส่วนตัว บางคนมาเล่าให้ฟังว่าเห็นคนนั้นเอากับคนนี้ บางคนแอบเล่นยา ดูหนังโป๊ สูบบุหรี่ เราถึงต้องเอาการเรียนดึงเขามาจากสิ่งเหล่านั้นให้ได้ ... คุณก็รู้บรรยากาศในแคมป์ก่อสร้างมันน่าอภิรมย์ซะที่ไหน”

หัวอกครูข้างถนน

ประสบการณ์กว่า 20 ปี ในฐานะครูข้างถนน พเนจรร่อนเร่สอนหนังสือแก่เด็กด้อยโอกาสตามซอกหลืบต่างๆของเมืองกรุง ทำให้ครูวัย 51 คนนี้  มองเห็นระบบการศึกษาของไทยในมุมที่ต่างออกไป

ผมเป็นครูข้างถนนมา 20 ปี ตั้งแต่ยุคสนามหลวง หัวลำโพง จนมาสอนตามแคมป์คนงานก่อสร้าง เด็กต่างด้าวตั้งใจเรียนกว่าเด็กไทยเยอะมาก ทั้งที่โอกาสแตกต่างกันลิบลับ เด็กต่างด้าวกระตือรือล้นกว่า ขยันกว่า สนใจเรียนมากกว่า จัดอะไรไปก็เรียนหมด อาจเป็นเพราะว่าบ้านเกิดเมืองนอนเขามีที่เรียนไม่เยอะ ต้องเสียเงิน โอกาสการเข้าถึงการศึกษายากมาก

แตกต่างจากพ่อแม่คนไทยที่มองว่าห้องเรียนในแคมป์กระจอกงอกง่อย พาไปเข้าโรงเรียนข้างนอกดีกว่า เข้าง่าย แถมเรียนฟรีด้วย หลายคนประมาทคิดว่ารู้ภาษาไทยอยู่แล้วจะไปเรียนอีกทำไม ขณะที่พ่อแม่เด็กต่างด้าวต้องวิ่งเต้นสุดฤทธิ์ อยากให้ลูกมาเรียน จะเป็นศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก หรือแคมป์ก่อสร้างอะไรก็เถอะ”

สอนตามมีตามเกิด --- ครูใช้คำนี้ ขณะเหลียวมองรอบกายสำรวจบรรยากาศภายในศูนย์เด็กก่อสร้างพบว่า เป็นห้องสี่เหลี่ยมที่โล่งโปร่งสบายพอสมควร แม้คับแคบไปหน่อยแต่ก็ถือว่าใช้สอยพื้นที่ได้อย่างคุ้มค่าทุกตารางนิ้ว

ไล่ตั้งแต่กระดานดำผืนใหญ่เหนือขึ้นไปประดับประดาธงชาติอาเซียน ชั้นวางหนังสือภายในบรรจุแบบเรียน สมุดวาดเขียน นิทาน การ์ตูน ดินสอสี ปากกาที่ได้รับการสนุนจากมูลนิธิสร้างสรรค์เด็ก ชุดเครื่องเล่นสไลเดอร์สภาพมอมแมมที่เก็บได้จากกองขยะ ทีวีจอสีขนาด 14 นิ้วเก่าๆที่ครูควักเงินส่วนตัวซื้อมาคู่กับดาวเทียมมือสองจากตลาดนัด หวังเปิดโลกทัศน์ให้เด็กๆได้เรียนทางไกล ดูหนังดูการ์ตูน พัดลมเครื่องใหม่เอี่ยมนี่ก็เพิ่งได้มาจากการบริจาคของผู้ใจบุญ รวมถึงค่าน้ำค่าไฟที่สนับสนุนโดยนารายณ์พรอพเพอร์ตี้ ค่าอาหารการกิน รวมถึงสวัสดิการครูเล็กๆน้อยๆที่ได้จากการสมทบทุนของกองทุนวิจิตรพงศ์พันธุ์

“เท่าที่เคยตระเวนสอนเด็กตามแคมป์ก่อสร้าง ผู้ดูแลแคมป์ก่อสร้างเขาก็อยากให้มีศูนย์แบบนี้เยอะๆนะ แต่ไม่รู้จะเริ่มยังไง เพราะมีแค่ที่ดินกับเงินช่วยเหลือนิดๆหน่อยๆ ไม่รู้จะหาครูจากไหน จะจัดหลักสูตรการสอนอะไรให้เด็กๆ ผู้รับเหมาคนหนึ่งเคยบอกว่าถ้าเด็กสื่อสารภาษาไทยได้จะเป็นผลดีต่ออนาคตของเขามาก ดีกว่าวิ่งเล่นไปวันๆไม่มีคนดูแล อีกเรื่องที่ไม่ควรมองข้ามคือ หลังเปิดเออีซีจะมีคนหลั่งไหลเข้ามาอีก เด็กต่างด้าวจะเยอะขึ้น ถ้าเราไม่จัดการศึกษาให้เขามีปัญหาแน่”

แม้ตามพ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก พ.ศ.2546 และอนุสัญญาว่าด้วยเด็กสิทธิเด็ก ข้อ 29 ที่ระบุไว้ว่า เด็กไม่ว่าจะมีสัญชาติใด จะมีสถานะถูกกฎหมายหรือไม่ก็มีสิทธิที่จะได้รับการศึกษาขั้นพื้นฐาน โดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย

เอาเข้าจริงมีเด็กสักกี่คนเชียวที่ได้เข้าโรงเรียนดั่งใจหวัง

"การศึกษาในระบบ สัดส่วนเด็กที่ได้เข้าเรียนจริงมีแค่หนึ่งในสิบเท่านั้นแหละ กว่าจะได้เข้าโรงเรียนที่ต้องการ ต้องไปทะเลาะ อ้อนวอนสารพัด มีเงินมีเส้นมีสาย เข้าไปได้ก็ไม่ตั้งใจเรียนเพื่อรักษาสิทธิ์ตัวเองอีก นี่พูดถึงเด็กไทยนะ ยิ่งเด็กต่างด้าวนี่ยากเลย บางคนไม่มีบัตร ไม่มีหลักแหล่ง บางคนโชคดีได้โรงเรียนใจดีให้เรียน บางโรงเรียนแอนตี้หาว่าไปแย่งงบประมาณเด็กไทยอีก คำว่าให้โอกาสการเข้าถึงการศึกษาอย่างเท่าเทียมกันไม่ว่าจะเชื้อชาติสัญชาติใดก็ตาม ผมว่าความเป็นจริงมันไม่ใช่ เพราะมันไม่ได้บังคับใช้อย่างจริงจัง”

สิ่งที่ได้เรียนรู้จากการเป็นครูข้างถนน คือ คนเรามันต้องมีแรงจูงใจถึงจะเข้าสู่โอกาสได้

“ผมถึงพยายามสอนให้เขารักการเรียน สร้างแรงจูงใจให้เขาอยากเรียน ทำให้เขาเห็นความสำคัญของการเรียนหนังสือ เพราะการศึกษาเป็นรากฐานของชีวิต วันข้างหน้าจะได้ต่อยอดไปหาโอกาสที่ดีกว่า ออกไปจากวังวนเดิมๆ ถ้าไม่เรียนหนังสือ หนีไม่พ้นแน่ๆ สิ่งที่ภูมิใจที่สุดคือเห็นเด็กก้าวหน้า มีชีวิตที่ดีขึ้น”

ไม่ต้องบังคับ หนูมาเอง

ทุกๆเช้า คล้อยหลังรถบรรทุกขนคนงานเคลื่อนออกจากแคมป์ นักเรียนทั้งหลายจะพากันวิ่งกรูไปทุบประตูศูนย์เด็กก่อสร้างเสียงดังปึงปังน่าหนวกหู

ทุกคนยิ้มแย้มแจ่มใส ดีใจที่ได้มาโรงเรียน

ครูไพโรจน์เล่าขำๆว่าบางวันเพิ่งล้างหน้าแปรงฟันยังไม่ทันหมาดน้ำ แถมยังนุ่งชุดนอนด้วยซ้ำ ก็ต้องถือหนังสือให้เด็กท่องอาขยาน อีกมือหนึ่งถือถ้วยกาแฟยกซดตามไปด้วย วันไหนเรียนวิชาศิลปะอาจเอะอะมะเทิ่งกว่าวิชาอื่นๆ เพราะศิลปินตัวน้อยแย่งกันวาดแย่งกันอวดครูจนชุลมุนวุ่นวาย บางวันมีอาสาสมัครใจดีจากมหาวิทยาลัยต่างๆมาช่วยสอนวิชาภาษาไทย อังกฤษ พม่า เขมร สร้างสีสันครึกครื้นไปอีกแบบ พักกินข้าวเที่ยงชั่วโมงเดียวแล้วลากยาวสอนต่อตลอดบ่ายโดยไม่มีหยุดพัก กระทั่งล่วงเลยถึงช่วงเย็นแดดราแสงนั่นแหละ เด็กๆถึงได้ปิดหนังสือ เฮโลออกไปวิ่งเล่นข้างนอก เป็นอันรู้กันว่าโรงเรียนเลิก

โอน หนุ่มน้อยชาวกัมพูชา วัย 17 บอกว่าพ่อแม่ปลื้มใจสุดๆเมื่อรู้ว่าเขามาเรียนเอง โดยไม่ต้องบังคับ

“ผมชอบเรียนภาษาไทยครับ สมัยมาเมืองไทยแรกๆฟังไม่รู้เรื่องเลย น่าเบื่อจนอยากกลับบ้าน อาศัยตั้งใจฟังครู ฝึกพูดฝึกคุยบ่อยๆผ่านไปสองปีเดี๋ยวนี้พูดคล่องปรื๋อเลย อยู่ที่นี่ถ้าเราไม่เก่งอยู่ไม่รอด ต้องพัฒนาฝีมือเรื่อยๆอนาคตอยากเป็นหัวหน้างานครับ เงินดี เท่ จีบสาวง่ายด้วย”

เช็ก เด็กหญิงชาวกัมพูชาวัย 13 ลูกแรงงานข้ามชาติ พูดไทยชัดเปรี๊ยะ เธอย้ายแคมป์ก่อสร้างมา 3-4 ที่แล้วแต่ก็ไม่มีโอกาสได้เรียนหนังสือเหมือนที่นี่

“หนูชอบเรียนภาษาเขมร ภาษาอังกฤษด้วย รู้หลายภาษาจะได้มีงานดีๆให้ทำเยอะๆ”

ทั้งเด็กไทย พม่า กัมพูชา บอกตรงกันว่าอยากให้แคมป์คนงานก่อสร้างทุกที่มีโรงเรียนแบบนี้ เพราะลูกกรรมกรอย่างพวกเขาไม่มีโอกาสได้เข้าเรียนในโรงเรียนดีๆ ใส่ชุดนักเรียนสวยๆ เหมือนอย่างเด็กคนอื่น

อีกไม่นาน ประมาณเดือนเมษายนปี 2558 แคมป์แห่งนี้ก็จะถูกรื้อถอนตามวาระงานที่เสร็จสิ้น แรงงานก่อสร้างทั้งหมดก็จะอพยพไปทำงานยังพื้นที่อื่นต่อไป แคมป์ก่อสร้างก็จะถูกสร้างขึ้นใหม่อีกครั้ง

ไม่มีใครรู้ว่าจะมีศูนย์เด็กก่อสร้างตั้งขึ้นในแคมป์นั้นด้วยหรือไม่ ความหวังยังคงรางเลือน

“คงต้องขึ้นอยู่กับผู้บริหารที่รับผิดชอบดูแลพื้นที่แคมป์ก่อสร้างนั้นว่า ยังอยากให้มีด้วยหรือไม่ ถ้าไม่ ผมก็ยังตระเวนตามไปสอนเด็กๆตามแคมป์ต่อไปอยู่ดี อาจลำบากเรื่องสถานที่ แต่ก็ไม่มีอะไรน่าหนักใจ เพราะผมผ่านมาหมดแล้ว”

ครูใหญ่โรงเรียนในแคมป์ก่อสร้างยิ้มอย่างคนเข้าใจชีวิต

ท้ายที่สุด แม้เด็กลูกกรรมกรก่อสร้างเหล่านี้ บางคนอาจมีโอกาสได้เรียนต่อ ชีวิตก้าวหน้าขึ้น บางคนต้องเข้าสู่กระบวนการทำงานอย่างไม่มีทางเลือก แต่การศึกษาที่พวกเขาเคยได้รับติดตัวไปจากห้องเรียนเล็กๆในแคมป์ก่อสร้างแห่งนี้ ก็น่าจะสร้างแรงบันดาลใจให้กับคนอื่นๆข้างหลังอีกมากมายไม่รู้จบ


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ห้องเรียน แคมป์ก่อสร้าง ฝันที่เป็นจริง ลูกกรรมกร

view