สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ตลาดหุ้นกับแผนปฏิรูปประเทศ

ตลาดหุ้นกับแผนปฏิรูปประเทศ

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์




สวัสดีครับท่านผู้อ่านทุกท่าน พบกันเช่นเคยทุกวันพุธที่สามของเดือน

ช่วงนี้ท่านที่เป็นนักลงทุนในตลาดหุ้นน่าจะไม่ค่อยเบิกบานใจเท่าไหร่ เพราะราคาหุ้นเริ่มที่จะไม่ค่อยปรับขึ้นมากนัก เหตุผลหลักเป็นเพราะเศรษฐกิจไทยไม่ได้ฟื้นตัวเร็วอย่างที่นักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่คาดการณ์กัน ตัวเลขล่าสุด GDP ไตรมาส 3 ขยายตัวเพียง 0.6% Y-o-Y ซึ่งส่งผลให้ผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนส่วนใหญ่ออกมาไม่ค่อยดีเท่าไหร่

ประกอบกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆ ของรัฐบาลก็ดูเหมือนว่าไม่น่าทำให้เศรษฐกิจขยายตัวได้มากนัก ขณะที่แผนปฏิรูปประเทศและเศรษฐกิจ ก็ยังไม่ออกมาเป็นรูปธรรม เลยทำให้นักลงทุนสถาบันยังไม่มีความมั่นใจพอที่จะเข้าลงทุนเพิ่มเติมในตลาดหุ้น เมื่อบวกกับภาวะเศรษฐกิจโลกที่ยังคงบอบบาง เลยทำให้ตลาดหุ้นเราเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบค่อนข้างแคบอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

ส่วนตัวแล้ว ผมเชื่อว่าตลาดหุ้นไทยไม่น่าจะมี Upside มากนักในช่วงที่เหลือของปีนี้ นอกจากปัจจัยเรื่องเม็ดเงินจากการลงทุนในกองทุน LTF ซึ่งมักจะเข้ามาในตลาดช่วงเดือนธันวาคม ผมยังไม่เห็นปัจจัยอื่นที่จะสามารถขับเคลื่อนตลาดให้สูงขึ้นไปมากกว่าระดับปัจจุบัน ราคาหุ้นไทยในเวลานี้ ซึ่งเทรดที่ค่าเฉลี่ย 2015F P/E ที่ 14 เท่า ก็ไม่ได้จัดอยู่ในระดับที่เรียกว่าถูก และในช่วงที่ดอกเบี้ยสหรัฐฯ กำลังจะกลับสู่ขาขึ้น

โอกาสที่จะเห็น Valuations หรือ P/E Ratio ปรับขึ้นไปอีกน่าจะมีไม่มาก ในช่วงที่ Cycle ดอกเบี้ย Bottom Out ไปแล้วและกำลังเข้าสู่ขาขึ้น กำไรบริษัทจดทะเบียนที่เพิ่มขึ้น จะเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้ราคาหุ้นสูงขึ้น ซึ่งถ้าวิเคราะห์ดูแล้ว โอกาสที่ผลประกอบการบจ.จะออกมาดีกว่าคาดมากๆ ในช่วง 3-6 เดือนข้างหน้าน่าจะเป็นไปได้น้อย

ในส่วนของนโยบายการคลังก็ไม่น่าจะทำอะไรได้มาก รัฐบาลนี้มีข้อจำกัดค่อนข้างมากในการกระตุ้นเศรษฐกิจเพราะ 1) เป็นรัฐบาลเฉพาะกาล 2) ได้ประกาศชัดเจนว่าจะไม่ทำนโยบายประชานิยม 3) ภารกิจหลักคือ การขับเคลื่อนการปฏิรูปเศรษฐกิจและการปฏิรูปประเทศ และ 4) งบประมาณปี 2558 มีค่อนข้างจำกัด เพราะแทบจะไม่ได้เพิ่มขึ้นจากปี 2557

ดังนั้น เศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวได้มากน้อยแค่ไหน คงขึ้นอยู่กับภาคเอกชนเป็นหลัก แต่เท่าที่ดูเวลานี้ ภาคธุรกิจก็ยังดูไม่แข็งแรงนัก โดยเฉพาะตัวเลขการส่งออกที่ยังแย่อยู่และเศรษฐกิจภูมิภาคที่ค่อนข้างซบเซา รวมถึงกำลังซื้อที่อ่อนแอของเกษตรกร เพราะราคาสินค้าเกษตรที่ตกต่ำ และรัฐบาลยังไม่มีนโยบายที่ชัดเจนสำหรับข้าวและยางพารา ซึ่งเป็นสินค้าเกษตรหลักของประเทศ

ในฝั่งของนโยบายการเงิน ส่วนตัวผมเชื่อว่ามีความเป็นไปได้ที่แบงก์ชาติอาจตัดสินใจลดดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% เพื่อประคับประคองเศรษฐกิจไม่ให้แย่ไปมากกว่านี้ การที่อัตราเงินเฟ้อลดลงกว่า 1% ในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา และดูเหมือนจะทรงตัวในระดับนี้ไปอีกหลายเดือน และ GDP โตน้อยกว่าคาดมาก น่าจะเป็นเหตุผลที่ดีในการลดดอกเบี้ยในรอบนี้ ซึ่งจะช่วยสร้างความคึกคักให้กับตลาดหุ้นได้บ้าง แต่ไม่น่าจะนาน เพราะเป็นเพียงแค่การปรับดอกเบี้ยลงชั่วคราว ทิศทางระยะยาวของดอกเบี้ยในประเทศยังน่าจะเป็นขาขึ้นตามทิศทางของดอกเบี้ยสหรัฐ

ผมเชื่อว่าปัจจัยสำคัญที่สุด ที่จะกำหนดทิศทางตลาดหุ้นไทยในระยะ 6-12 เดือนข้างหน้า คือ แผนปฏิรูปประเทศในด้านต่างๆ ที่สภาปฏิรูปแห่งชาติกำลังจัดทำอยู่ และรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่กำลังจะมีการร่างกันขึ้น ถ้าแผนปฏิรูปประเทศทำออกมาได้ดี โดยเฉพาะส่วนที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจ และสามารถเรียกความมั่นใจจากนักลงทุนได้ ตลาดหุ้นก็มีโอกาสปรับขึ้นได้อีกเยอะ เพราะการลงทุนในตลาดหุ้นคือการซื้ออนาคต

ถ้านักลงทุนส่วนใหญ่เชื่อว่า แผนปฏิรูปจะช่วยทำให้ประเทศไทยและภาคธุรกิจไทยสามารถเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน เพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินกิจการ กฎเกณฑ์ต่างๆ ที่โบราณ และเป็นอุปสรรคในการดำเนินธุรกิจถูกแก้ไขให้ดีขึ้น การทุจริตคอร์รัปชันมีน้อยลง การลดความเหลื่อมล้ำของรายได้มีสูงขึ้น ฯลฯ ผมเชื่อว่าจะทำให้เม็ดเงินไหลเข้าตลาดหุ้นอีกมาก โดยเฉพาะจากนักลงทุนต่างประเทศ ซึ่งมีหุ้นไทยน้อยมากในเวลานี้

ในขณะเดียวกัน รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ก็จะมีความสำคัญสำหรับตลาดหุ้นไม่น้อยไปกว่าการปฏิรูปประเทศและเศรษฐกิจ เพราะจะเป็นตัวกำหนดอนาคตการเมืองของประเทศไทยว่าจะยังคงจมปลักอยู่กับการเมืองแบบเดิมๆ การซื้อสิทธิขายเสียง ความไม่เป็นธรรมในสังคม หรือเราจะได้เห็นประเทศไทยและการเมืองไทย เข้าสู่ยุคของความมีเสถียรภาพ พรรคการเมืองที่มีความเป็นสถาบัน นักการเมืองที่ดีมีคุณภาพ การบริหารประเทศที่มีระบบการตรวจสอบหรือ Check and Balance ที่เข้มข้นและมีประสิทธิภาพ ฯลฯ ตัวผมเอง ในฐานะสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติด้านเศรษฐกิจ จะพยายามทำหน้าที่ให้ดีที่สุด เพื่อช่วยให้เกิดแผนปฏิรูปเศรษฐกิจไทย ที่จะทำให้เราสามารถก้าวขึ้นเป็นผู้นำในภูมิภาคนี้

เพื่อเป็นประโยชน์กับท่านผู้อ่าน ผมขออนุญาตเล่าให้ฟังคร่าวๆ ถึงการแบ่งงานใน สปช. ว่าเป็นอย่างไร เรามีการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญประจำสภาฯ ขึ้นมาทั้งหมด 18 คณะ เพื่อจัดทำแผนปฏิรูปในด้านต่างๆ ในจำนวน 18 คณะนี้ เป็นทางด้านเศรษฐกิจ 2 คณะ คือ คณะกรรมาธิการปฏิรูปเศรษฐกิจ การเงิน และการคลัง และคณะกรรมาธิการปฏิรูปการเกษตร อุตสาหกรรม พาณิชย์ การท่องเที่ยว และการบริการ ผมเป็นกรรมาธิการอยู่ในทั้ง 2 คณะ ถ้าพูดให้เข้าใจง่ายๆ คณะแรกจะรับผิดชอบงานด้านเศรษฐกิจมหภาค และ Financial Sector ขณะที่คณะที่สอง จะเน้นเศรษฐกิจรายสาขาหรือ Real Sector

ในส่วนของตลาดทุน จะมีการตั้ง คณะอนุกรรมาธิการปฏิรูปตลาดทุนขึ้น เพื่อจัดทำแผนที่เกี่ยวข้องกับการปฏิรูปด้านตลาดทุนโดยเฉพาะ เช่น การทำให้ธุรกิจขนาดเล็กสามารถเข้าถึงแหล่งทุนได้ง่ายและสะดวกขึ้น การทำให้ภาคธุรกิจและรัฐวิสาหกิจระดมทุนผ่านตลาดทุนให้มากขึ้น การทำให้ประชาชนทุกคนมีความรู้พื้นฐานด้านการเงิน การออม และการลงทุน การปฏิรูประบบบำนาญของประเทศ เพื่อรองรับสังคมผู้สูงอายุ เป็นต้น เนื้อที่ผมหมดพอดี ไว้เดือนหน้าผมจะมาเล่ารายละเอียดแผนงานด้านต่างๆ ของการปฏิรูปเศรษฐกิจ และตลาดทุนให้ฟัง สวัสดีครับ


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ตลาดหุ้น แผนปฏิรูปประเทศ

view