สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

เศรษฐกิจดิจิทัล (Digital Economy) อัพเดต-อัดเกรด ใส่ Human Ware

จากประชาชาติธุรกิจ

คอลัมน์ เรื่องเล่าซีอีโอ โดย วิชัย เบญจรงคกุล

รัฐบาลมีนโยบายดิจิทัลอีโคโนมิกที่ออกมาเร็ว ๆ นี้ จนถึงขนาดจะคิดเปลี่ยนชื่อกระทรวงไอซีทีให้เป็นกระทรวงดิจิทัล (อะไรบ้างอย่าง) ซึ่งหากมันทำให้คนมีทัศนคติความคิดในการทำงานขับเคลื่อนความเจริญของชาติทางเศรษฐกิจและสังคมให้ดีขึ้น จะเรียกกระทรวงนี้ว่าอะไรก็คงไม่มีใครว่า จึงขอมาย้อนทบทวนความคิดว่า องค์ประกอบที่สำคัญและน่าจะเป็นส่วนของสูตรสำเร็จในการพัฒนาระบบเศรษฐกิจของชาติไทยแบบดิจิทัล จะต้องอาศัยอะไรบ้างในการขับเคลื่อน

เราปฏิเสธไม่ได้ว่าองค์ประกอบที่สำคัญที่สุดในการขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงในเกือบทุกเรื่อง คือ "คน"

เช่นเดียวกับการขับเคลื่อนให้เกิดและมีความสำเร็จของเศรษฐกิจดิจิทัล คือ "คน" เช่นเดียวกัน

ไม่ว่าคนในส่วน Supply Side หรือ Demand Side ก็ตาม คือทั้งฝ่ายดำเนินการและฝ่ายรับบริการ

ฝ่ายดำเนินการ คือ ภาครัฐและหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งรัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้อง

ฝ่ายรับบริการ คือ ภาคประชาชนและระบบเศรษฐกิจโดยรวม

"คน" ในที่นี้รวมทั้งผู้กำหนดนโยบายตลอดจนคนที่จะต้องนำนโยบายไปปฏิบัติ และรวมถึงประชาชนผู้ที่จะต้องเข้าสู่ระบบใหม่ เพื่อที่จะได้รับผลประโยชน์อันพึงจะเกิดจากการขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจด้วยเทคโนโลยียุคใหม่นี้

เรื่องที่เกี่ยวข้องกับ "คน" ที่ต้องบริหารจัดการเพื่อมุ่งหวังให้นโยบายใหม่นี้ประสบความสำเร็จให้มากที่สุด คือ ความรู้ความเข้าใจ รวมถึงการสร้างและพัฒนาระบบการเรียนรู้ในองค์ความรู้ใหม่นี้ ให้เกิดและปลูกฝังในคนรุ่นใหม่จนหลอมรวมกลายเป็นค่านิยมใหม่ ที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในระยะยาวที่มีความยั่งยืนขึ้น

เราคงคาดหวังกับคนในระบบราชการปัจจุบันจำนวนมากไม่ได้ ว่าจะสามารถช่วยผลักดันนโยบายเศรษฐกิจดิจิทัลให้เกิดผลเป็นรูปธรรมได้อย่างเต็มที่ เพราะเรามีบุคลากรที่ค่อนข้างมีอายุและมีความรู้จำกัด อีกทั้งยังมีความเคยชินกับระบบราชการแบบระบบแอนะล็อก (รวมทั้งนักการเมืองระบบใต้ดิน) จึงต้องมีการวางแผนในการสร้างข้าราชการยุคใหม่ เพื่อสำหรับการขับเคลื่อนนโยบายและแผนของเศรษฐกิจดิจิทัล ให้เห็นผลแบบเต็มรูปแบบในระยะเวลา 3-5 ปีข้างหน้านี้

อย่างน้อยเราจะต้องใช้เวลา 2-3 ปีในการปรับระบบการทำงานต่าง ๆ รวมทั้งค่านิยมต่าง ๆ ภายในหน่วยงานราชการ และเราต้องการพัฒนาคนรุ่นใหม่ในระบบราชการให้เกิดแรงบันดาลใจ ให้มีความคิดและจิตสำนึกใหม่ ที่มุ่งพัฒนาชาติมากกว่าทำงานรับใช้ระบบนักการเมือง หรือระบบข้าราชการที่ทุจริต

และสิ่งที่ท้าทายสำหรับสังคมไทย คือ มีการล้มล้างระบบหรือระบอบความคิดดี ๆ ใหม่ ๆ เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงผู้ปกครอง

ทางการเมือง ผู้ที่มาใหม่มักจะทำลายล้างสิ่งที่ผู้ที่หมดอำนาจลงได้ริเริ่มหรือดำเนินการไว้ ทำให้ระบบการพัฒนาชาติของไทยไม่มีความต่อเนื่อง และขาดความมั่นใจของผู้ปฏิบัติ

แม้แต่วาระต่าง ๆ มีชื่อต่อท้ายว่า "วาระแห่งชาติ" และแม้แต่กำหนดอยู่ในแผนพัฒนาประเทศฉบับต่าง ๆ แต่พอมีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองทีไรก็มักจะมีการ "ตีความใหม่" ว่า วิธีปฏิบัติตามแผนนั้นทำอย่างไร หรือไม่ก็ถูกยกเลิกเพราะเป็นนโยบายที่มีการทุจริต หรือเป็นนโยบายที่ขัดกับสิ่งที่กลุ่มการเมืองใหม่ที่เข้ามามีความเห็นขัดแย้ง ทำให้ขาดความต่อเนื่องในการดำเนินการพัฒนา รวมทั้งอีกหลาย ๆ ครั้งการจัดสรรงบประมาณก็ไม่ต่อเนื่อง ทำให้การดำเนินการพัฒนาต่าง ๆ ต้องชะลอหรือหยุดชะงัก

เราอาจต้องเริ่มปฏิรูปวิธีคิดในการพัฒนาประเทศควบคู่กับการวางนโยบายที่ดี ๆ ใหม่ ๆ

ทำอย่างไรเมื่อมีการตั้ง "วาระแห่งชาติ" แล้วจะเป็นเรื่องที่มีแผนดำเนินการที่ชัดเจน เช่น ประกอบด้วยระยะเวลา เป้าหมายหลักที่กำหนดตัวชี้วัด รวมทั้งมีกำหนดงบประมาณที่ชัดเจน ซึ่งเป็นสิ่งที่ทุกรัฐบาลจะต้องถือว่าเป็นตัวชี้วัดผลงานของรัฐบาลที่ "ต้องทำ"

แม้ว่ารัฐบาลนั้นไม่ใช่ผู้ริเริ่ม "วาระแห่งชาติ" นั้น (จะมีกลยุทธ์ในการดำเนินการที่แตกต่างได้ แต่ต้องรักษาไว้ซึ่งเป้าหมายและข้อกำหนดที่สำคัญ ๆ ดังนั้น การกำหนดเรื่อง "วาระแห่งชาติ" ต้องมีความชัดเจน ไม่ใช่เรื่องอะไรก็ใส่ชื่อแบบนี้ไว้)

อีกทั้งในเมื่อ "สถาบันการเมืองการปกครอง" อย่างเช่น รัฐสภา ได้รับรองการเป็นเรื่อง "วาระแห่งชาติ" แล้ว เสมือนตัวแทนประชาชนทุกภาคส่วนทั้งประเทศได้มีการยอมรับสิ่งนั้น ดังนั้น ไม่ว่ารัฐบาลจะเปลี่ยนชุดมาบริหารปกครองบ้านเมือง ยังจะต้องดำเนินการตามสิ่งที่ประชาชนต้องการนั้นต่อไป จะเป็นสิ่งที่ล้มล้างหรือไม่ใส่ใจในการดำเนินการไม่ได้ง่าย ๆ แบบที่ผ่านมา

หากหนึ่งในวาระแห่งชาติที่รัฐบาลต้องผลักดัน เพื่อความเจริญก้าวหน้าของประเทศ และความอยู่ดีมีสุขของคนในชาติ การปรับเปลี่ยนหรือจะปฏิรูปวิธีการบริหาร และแนวคิดการปฏิบัติงานราชการที่มี "คน" เป็นตัวตั้ง ให้สามารถดำเนินการอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน จะต้องมีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนกว่าการกำหนดเรื่องที่จะเป็น "วาระแห่งชาติ" เราคงไม่จำเป็นต้องให้ข้าราชการทุกคน หรือนักการเมืองทุกคนที่จะมีความสามารถเปลี่ยนแปลงได้ถึงจะประสบความสำเร็จ

แต่เราต้องการให้มีคนเหล่านี้ในจำนวนที่ "มากกว่า" เข้ามาบริหารกิจการบ้านเมือง เสมือนว่าเราจำเป็นต้อง Update/Upgrade/Reload" ความคิดใหม่/เวอร์ชั่นใหม่ ใส่ลงใน "Human Ware" ของเราก่อน หรืออย่างช้าพร้อม ๆ กับการขับเคลื่อนการพัฒนาชาติที่จะสามารถเห็นผลในสิ่งที่เราต้องการเห็น จากนโยบายเศรษฐกิจดิจิทัล (Digital Economy) นี้


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : เศรษฐกิจดิจิทัล Digital Economy อัพเดต-อัดเกรด Human Ware

view