สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ภาวะเงินเฟ้อชะลอตัว

ภาวะเงินเฟ้อชะลอตัว

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์




บทความก่อนหน้า ผมได้เขียนถึงผลของ QE program ของสหรัฐฯ

ได้ส่งผลให้ราคาสินทรัพย์ในกลุ่มประเทศ Emerging markets ปรับสูงขึ้นอย่างรวดเร็วจนสร้างความกังวลให้แก่ธนาคารกลางหลายประเทศ แต่ในเวลานี้ เงินเฟ้อทั่วโลกกลับชะลอตัวลงอย่างฉับพลัน ทั้งใน Eurozone จีน อังกฤษ รวมถึงอีกหลายประเทศในเอเชีย สาเหตุสำคัญมาจากการปรับลดลงของราคาน้ำมันอย่างรุนแรง และประเด็นเงินเฟ้อที่ชะลอตัวลงนั้น ได้กลายเป็นความกังวลใหม่ของธนาคารกลางสหรัฐ ไปแล้ว

รายงานการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินในรอบวันที่ 28-29 ตุลาคม ระบุว่า สมาชิกหลายคนของ FED มองว่าคณะกรรมการควรกลับมาให้ความสนใจต่อสัญญาณที่อาจบ่งบอกว่าอัตราเงินเฟ้อคาดการณ์ในระยะยาวอาจปรับลดลง ซึ่งการประชุมในรอบดังกล่าวเป็นการประชุมที่คณะกรรมการตัดสินใจจบมาตรการ QE ลง

แนวโน้มราคาพลังงานและสินค้านำเข้าที่ปรับลดลงเป็นปัจจัยสาคัญที่กดอัตราเงินเฟ้อให้อยู่ในระดับต่ำ และหากเกิดภาวะเงินฝืดขึ้นจริงจะเป็นที่น่ากังวลมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากกระทบกับอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจ สาหรับสถานการณ์ของเศรษฐกิจสหรัฐ ในภาพรวมนั้น กิจกรรมทางเศรษฐกิจสามารถขยายตัวได้ในระดับปานกลางอย่างต่อเนื่อง ตลาดแรงงานก็ปรับตัวดีขึ้น

ความกังวลต่อสถานการณ์ในตลาดแรงงานของธนาคารกลางสหรัฐ เริ่มคลายความกังวลลง หรือ ในอีกนัยหนึ่ง ธนาคารกลางสหรัฐในปัจจุบัน ได้หันไปให้ความสนใจต่อสถานการณ์ทางด้านเงินเฟ้อ จากเดิมที่เคยให้ความสนใจต่อตลาดแรงงาน ... ผมคิดว่า ธนาคารกลางหลายประเทศก็เริ่มมีแนวคิดที่จะสวิทช์จาก Core inflation ไปยัง Headline inflation (ซึ่งรวมราคาน้ำมัน) โดยเฉพอย่างยิ่งในภาวะที่ราคาน้ำมันดิบปรับลดลงจาก $94 ลงสู่ $74 ต่อบาร์เรล ภายในระยะเวลาเพียง 7สัปดาห์

Global Asset Re-allocation ที่ไหลออกจาก Risky assets เข้าสู่พันธบัตรทั่วโลกในครั้งนี้ล้วนมาจากมุมมองบนเศรษฐกิจของฝั่งยุโรปและญี่ปุ่นที่อ่อนแรงอย่างมาก ล่าสุดนายชินโซ อาเบะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นได้ประกาศยุบสภาฯ โดยมีผลวันที่ 21 พ.ย. 2014 นี้ และกำหนดให้มีการเลือกตั้งใหม่ในเดือน ธ.ค. 2014

นายกฯ อาเบะยังมีความเชื่อว่า นโยบาย “Abenomics” ที่ดำเนินมายังคงส่งผลดีต่อระบบเศรษฐกิจแม้จะได้รับการวิพากวิจารณ์จากฝ่ายค้าน และได้ตัดสินใจเลื่อนการขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่มจาก 8% สู่ 10% ออกไป18 เดือน จาก ต.ค. 2015 เป็น เม.ย. 2017 หลังจากตัวเลขเศรษฐกิจญี่ปุ่นในไตรมาส3 ปี2014 ชะลอตัวลงอย่างมาก จากการบริโภคที่ชะลอตัวอันเป็นผลมาจากการปรับขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่มไปในรอบก่อนหน้า นอกจากนั้น ได้ปรับลดประมาณการ GDP ปี 2014 ลงจากระดับ 1% เหลือเพียง 0.5%

หลังจาก BOJ ตัดสินใจคงอัตราดอกเบี้ยในการประชุมวันที่ 19 พ.ย.2014 JPY อ่อนค่าทันที จาก 116.8 สู่ระดับ 117.33-117.38 และในระยะเวลาเพียง 1 เดือนที่ผ่านมา เยนได้อ่อนค่าอย่างรุนแรงจาก 106.5 ลงสู่ 117.35 (ต่ำที่สุดในรอบ 7ปี) โดยสาเหตุหนึ่งมาจากการเพิ่มปริมาณเงินอัดฉีดเข้าระบบผ่านโปรแกรม QE ในวันที่ 31 ต.ค. ที่ผานมาจากระดับ 60ล้านเยน เป็น 80ล้านเยน ต่อปี

ที่น่าสังเกตุคือ ผลการโหวตที่สนับสนุนการเพิ่มปริมาณ QE นั้น ออกมาที่เกือบเป็นเอกฉันท์ 8 : 1 เทียบกับครั้งก่อนที่ 5 : 4 นั้น ย่อมชี้ชัดถึงเศรษฐกิจที่บอบบาง และสะท้อนให้เห็นอย่างชัดเจนว่ารัฐบาลพร้อมที่จะเข็นมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจออกมาโดยไม่รีรอ

สิ่งที่ธนาคารกลางญี่ปุ่นกังวลมากที่สุดก็คือ เงินเฟ้อที่อยู่ในระดับต่ำ โดยจากการประเมินของธนาคารกลางญี่ปุ่น พบว่า อัตราเงินเฟ้อผู้บริโภค หลังลบผลกระทบจากการเพิ่มภาษีการขายอยู่ที่ระดับประมาณ 1% เท่านั้น นอกจากนี้ ผู้ว่าการธนาคารกลางญี่ปุ่น นาย Haruhiko Kuroda ยังกล่าวอีกว่า มีโอกาสที่อัตราเงินเฟ้อจะปรับลดลงต่ากว่า 1% (Target เงินเฟ้อ หลังจากญี่ปุ่นเข้าทำ QE อยู่ที่ 2%) ส่งผลให้ค่าเงินเยนอ่อนลงในทันทีจากประมาณ 117.7 แตะจุดต่ำสุดของวันที่ 20 พ.ย. ที่ 118.96 JPY/USD

ในมุมของบ้านเรา กนง.แสดงความกังวลถึงเศรษฐกิจที่อ่อนแอ และกล่าวถึง Downside risk ที่เพิ่มมากขึ้นจากการชะลอตัวของ domestic demand และของเศรษฐกิจโลก เรียกได้ว่า ที่เคยประเมินกันว่า ดอกเบี้ยนโยบายของไทย (และของสหรัฐ) จะปรับขึ้นกลางปีหน้านั้น ได้ถอยร่นไปเป็นต้นไตรมาส 4 เป็นที่เรียบร้อย ที่มากไปกว่านั้นคือ นักลงทุนสถาบันคาดว่า อาจมี Surprised rate cut จึงได้วาง position กันตั้งแต่วันนี้

สภาพคล่องจำนวนมากไหลเข้าสู่ตลาดพันธบัตรไทย ส่งผลให้ Yield ปรับลดลง 20-40bps ตลอดทั้ง Yield curve ในเวลาเพียง 1 เดือน แม้รัฐบาลจะพยายามเข็นมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านโครงการขนาดใหญ่ และการปรับขึ้นเงินเดือนข้าราชการ แต่ความเสี่ยงของเศรษฐกิจโลกยังคงมีอยู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อราคาน้ำมันปรับตัวลดลงต่อเนื่องจน เข้าสู่ oversupply อย่างเต็มรูปแบบ


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ภาวะเงินเฟ้อชะลอตัว

view