สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

R3A เส้นทางแห่งโอกาส ไทย-จีน

R3A เส้นทางแห่งโอกาส "ไทย-จีน"

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์




สถานกงสุลใหญ่ ณ นครคุนหมิง มีที่ตั้งอยู่ในจุดยุทธศาสตร์สำคัญของจีน คือ ตั้งอยู่ที่เมืองเอก

หรือ เมืองหลวงของมณฑลยูนนานซึ่งถือว่าเป็นมณฑลใต้สุดของจีนซึ่งใกล้ไทยมากที่สุด หากนับระยะทางบนเส้นทาง R3A จากชายเเดนจีนผ่านลาวเข้าสู่ไทยเพียง 247 กม. เท่านั้น ดังนั้น จึงเป็นเรื่องที่จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเเนะนำ R3A ให้ผู้อ่านชาวไทยได้รู้จักมากยิ่งขึ้น

ก่อนอื่นต้องขอเกริ่นนำว่า ทางหลวงคุนหมิง-กรุงเทพฯ (Kunming-Bangkok Highway : R3A) หรือที่คนจีนเรียกว่า คุน-ม่าน-กง-ลู่ (????) เป็นเส้นทางเศรษฐกิจสำคัญที่เชื่อมภาคตะวันตกของจีน หรือมณฑลยูนนานกับไทย ด้วยระยะทาง 1,887 กม. ผ่านสามประเทศคือ จีน-ลาว-ไทย เริ่มต้นจากนครคุนหมิง ผ่านเมืองยวี่ซี เมืองผูเอ่อร์ และเขตสิบสองปันนาของจีน ออกที่ด่านบ่อหาน มณฑลยูนนาน เข้าด่านบ่อเต็น แขวงหลวงน้ำทาของลาว และออกที่ด่านห้วยทราย แขวงบ่อแก้วของลาว เข้าไทยที่ด่านเชียงของ จังหวัดเชียงราย มุ่งหน้าสู่กรุงเทพฯ โดยเป็นระยะทางในจีน 827 กม. ลาว 247 กม. และไทย 813 กม.

R3A เปิดใช้งานอย่างเป็นทางการเมื่อปี 2551 โดยต้องข้ามแพขนานยนต์ เส้นทาง R3A นับเป็นส่วนหนึ่งของทางหลวงอาเซียนสาย AH3 ได้รับการสนับสนุนการก่อสร้างจากฝ่ายจีน ลาว ไทย และธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย (Asian Development Bank : ADB) ปัจจุบัน เเม้เส้นทางดังกล่าวจะได้รับความนิยมอย่างมากทั้งทางด้านโลจิสติกส์ การค้า และการท่องเที่ยว เเต่นักธุรกิจไทยยังไม่ค่อยรู้จักเเละใช้ประโยชน์กันมากเท่าที่ควร

สะพานข้ามโขงแห่งที่ 4 ลดปัญหา “ความไม่แน่นอน” และ “การรอไม่ไหว”

หลายท่านคงได้อ่านข่าวว่า วันที่ 11 ธ.ค.2556 เป็นวันเปิดสะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งที่ 4 (เชียงของ -ห้วยทราย) อย่างเป็นทางการ สะพานมิตรภาพไทยลาวแห่งนี้ยาว 630 เมตร ค่าก่อสร้างสูงถึง 48.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ก่อสร้างโดย CR5-KT Joint Venture ซึ่งเป็นการร่วมทุนระหว่างบริษัท China Railway No.5 ของจีนและบริษัท กรุงธน เอนจิเนียริ่ง จำกัด ของไทย ซึ่งรัฐบาลไทยและรัฐบาลจีนลงทุนฝ่ายละครึ่ง เป็นครั้งแรกที่ทางหลวงคุนหมิง-กรุงเทพฯ (R3A) สามารถเดินรถได้ตลอดสาย โดยไม่ต้องลงแพขนานยนต์ข้ามแม่น้ำโขงอีก

ก่อนมีสะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งที่ 4 (เชียงของ-ห้วยทราย) การขนส่งสินค้าบนเส้นทาง R3A ต้องพึ่งพาการข้ามแพขนานยนต์ บริเวณช่วงรอยต่อห้วยทรายในลาวกับเชียงของของไทย เพราะมีแม่น้ำโขงกั้น ตลอดแนวระยะทาง 500 เมตร แต่ต้องใช้เวลาข้ามฟากรวมขั้นตอนการทำเอกสารอย่างน้อยต้องใช้เวลาเป็นชั่วโมง หากช่วงปริมาณรถมาก อาจต้องรอต่อคิวกันเป็นวัน

นอกจากนี้ รถขนสินค้าหนึ่งตู้คอนเทนเนอร์ขนาดมาตรฐาน จะมีค่าใช้จ่ายในการข้ามแพขนานยนต์ ประมาณ 400 หยวน (1 หยวน ประมาณ 5.20 บาท) หากจำนวนรถที่จะข้ามฟากมีมาก ต้องรอวันถัดไป จะมีค่าใช้จ่ายอื่น ๆ เช่น ค่าที่พัก ค่าอาหาร ค่าจอดรถ ค่าทำความเย็นของตู้ เพิ่มขึ้นอีกประมาณ 600 หยวน รวมๆ แล้ว รถ 1 คัน อาจมีค่าเสียเวลาหรือต้นทุนที่เพิ่มขึ้นอีกราว 1,000 หยวน

การมีสะพานเชื่อม ทำให้ลดปัญหา “ความไม่แน่นอน” และ “การรอไม่ไหว” ของการข้ามฟากด้วยแพขนานยนต์ และเป็นครั้งแรกที่ทางหลวงคุนหมิง-กรุงเทพฯ สามารถเดินรถได้ตลอดสาย โดยไม่ต้องลงเรือข้ามแม่น้ำโขงอีกต่อไป ทำให้การเดินทางจากคุนหมิง-กรุงเทพฯ เกิดความคล่องตัวมากขึ้น นับเป็นความสำคัญของถนน R3A และเป็นโครงสร้างพื้นฐานการขนส่งทางบกที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (Greater Mekong Subregion : GMS)

R3A ถือเป็นเส้นทางที่จะเชื่อมอุตสาหกรรม โดยยูนนานเริ่มยุทธศาสตร์เมืองหัวสะพาน (คือ นโยบายของจีนที่วางตัวให้ยูนนานเป็นประตูการค้าทางภาคตะวันตกเฉียงใต้ของจีน ที่เชื่อมมณฑลตอนในของจีน กับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเอเชียใต้) ลาวและยูนนานเริ่มสร้างเขตความร่วมมือเศรษฐกิจข้ามพรมแดนบ่อหาน-บ่อเต็น และไทยที่อำเภอเชียงของกับโครงการนิคมอุตสาหกรรมเชียงของ จะเห็นได้ว่าการมีสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานที่ดี นำมาซึ่งโอกาสทางการค้า เส้นทาง R3A จะกลายเป็นเส้นทางห่วงโซ่อุตสาหกรรมและห่วงโซ่การค้าระหว่างประเทศที่สำคัญในอนาคตระหว่างจีนกับไทยและอาเซียน

R3A เส้นทางโอกาสของผลไม้ไทยและสินค้าอื่น ๆ

เป็นที่ทราบกันดีอยู่เเล้วว่าเศรษฐกิจในมณฑลภาคตะวันตกของจีนที่มีการเติบโตอย่างต่อเนื่องในระยะ 5 ปีที่ผ่านมาไม่น้อยกว่าร้อยละ 10 ซึ่งเป็นตลาดใหญ่ที่มีศักยภาพทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นมาก และมีการแข่งขันน้อยกว่ามณฑลทางภาคตะวันออก สามารถเป็นตลาดรองรับสินค้าไทยได้ เเต่ในปัจจุบันมูลค่าการค้าระหว่างจีนตะวันตกกับไทยยังอยู่ในระดับต่ำ ดังนั้น จึงเป็นโอกาสสำหรับไทยในการเข้าไปมีส่วนร่วมในการเติบโตของจีนตะวันตกตั้งแต่เนิ่น ๆ

น้อยคนจะรู้ว่าในเเง่ที่ตั้งเชิงยุทธศาสตร์ไทยและยูนนานมีความเหมาะสมอย่างยิ่งในการทำหน้าที่เป็นประตูสู่กันและกัน ด้วยการเชื่อมโยงทางคมนาคมบนเส้นทาง R3A ระหว่างภาคเหนือของไทย จากอำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย ซึ่งเป็นเมืองหน้าด่านการเชื่อมโยงทางบกของไทย ถึงด่านบ่อหาน เขตสิบสองปันนา มณฑลยูนนาน ใช้เวลา 5 ชั่วโมง ซึ่งประหยัดเวลากว่าการขนส่งทางทะเลไปยังมณฑลกวางตุ้ง ซึ่งใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 7 วัน และยังต้องใช้เวลาขนส่งเข้ามายังมณฑลตอนใน เส้นทาง R3A จึงเหมาะสมสำหรับการขนส่งสินค้าเกษตรกรรม อย่างเช่น ผลไม้ ประกอบกับศักยภาพและปริมาณความต้องการผลไม้ไทยที่เพิ่มขึ้นในกลุ่มผู้บริโภคชาวจีน

ทั้งนี้ ในช่วงครึ่งแรกของปี 2557 ยูนนานนำเข้าผลไม้ไทยมีมูลค่าสูงถึง 80 ล้านดอลลาร์ โดย 3 อันดับแรก ได้แก่ มังคุด 42 ล้านดอลลาร์ ลำไยสด 19 ล้านดอลลาร์ กล้วยไข่ 11 ล้านดอลลาร์ คิดเป็นสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 45 ของมูลค่าการค้าไทย-ยูนนาน

บทบาทความสำคัญของ R3A “การค้าคึกคัก ท่องเที่ยวครึกครื้น”

ในอดีต ก่อนมีเส้นทาง R3A ดอกไม้จากคุนหมิงเดินทางสู่เมืองไทยด้วยเครื่องบิน ต้นทุนอยู่ที่ 9-12 หยวน/ก.ก. หลังจากมี R3A ต้นทุนค่าขนส่งลดลงเหลือเพียง 2-3 หยวน/ก.ก. และใช้เวลาเดินทางเพียง 2 วัน ดอกไม้จากยูนนานเข้าสู่ตลาดเมืองไทยจากเดิม 25%-30% เพิ่มเป็น 60%

นับตั้งแต่เปิดใช้เส้นทาง R3A มูลค่าการส่งออกสินค้าจากไทยไปยูนนานบน R3A ที่ผ่านมาได้เติบโตอย่างรวดเร็ว ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการมีกลไกสนับสนุนและอำนวยความสะดวก ทั้งการเปิดเขตการค้าเสรีอาเซียน-จีน และการเริ่มใช้พิธีสารการขนส่งผลไม้ระหว่างไทยกับจีนผ่านประเทศที่สามบนเส้นทาง R3A ซึ่งมีส่วนกระตุ้นให้การค้าผ่านเส้นทางนี้สูงขึ้นอย่างมาก โดยเฉพาะเมื่อสะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งที่ 4 ได้เปิดอย่างเป็นทางการ ช่วง 8 เดือนแรกของปี 2557 ไทยส่งออกผ่านด่านเชียงของสู่เส้นทาง R3A มีอัตราการขยายตัวสูงถึงร้อยละ 39.4

ถึงแม้ต้นทุนค่าการขนส่งบนเส้นทาง R3A อาจจะสูงกว่าการขนส่งทางแม่น้ำโขง แต่ปัจจุบันผู้ประกอบการเลือกใช้ R3A ด้วยเหตุผลที่สะดวกและรวดเร็ว เนื่องจากลดต้นทุนด้านเวลาในการขนส่งและลดภาระการขนถ่ายสินค้าหลายทอดเมื่อเปรียบเทียบกับเส้นทางแม่น้ำโขง จึงเหมาะกับสินค้าที่มีอายุการเก็บรักษาสั้น หรือเน่าเสียง่าย และการขนส่งสินค้ามาทาง R3A ยังสามารถกระจายสินค้าไทยสู่มณฑลตอนในของจีน โดยเฉพาะทางภาคตะวันตกของจีนได้อย่างรวดเร็ว โดยใช้ประโยชน์จากการพัฒนาโครงข่ายคมนาคมด้านขนส่งภายใต้ยุทธศาสตร์เมืองหัวสะพาน (เฉียวโถวเป่า) ของมณฑลยูนนาน ซึ่งจะทำให้โครงข่ายคมนาคมภายในประเทศจีนสามารถเชื่อมต่อกันได้โดยสะดวก

สินค้าสำคัญที่ไทยนำเข้าจากยูนนาน ได้แก่ ผัก ผลไม้ และสินค้าเกษตรอื่นๆ ครองสัดส่วนถึงร้อยละ 70 สำหรับสินค้าสำคัญที่ไทยส่งออกไปยูนนาน ได้แก่ ปิโตรเลียม (น้ำมันสำเร็จรูป) ปลา ผลไม้ เมล็ดถั่ว และยางพารา คิดเป็นสัดส่วนถึงร้อยละ 85

ทั้งนี้ สินค้าส่งออกอันดับ 1 คือ ปิโตรเลียม ซึ่งมีสัดส่วนร้อยละ 34 ในปี 2556 และเพิ่มเป็นร้อยละ 38 ในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2557 ดังนั้น จึงชี้ให้เห็นว่า จีนยังมีความต้องการพลังงานและนำเข้าจากประเทศเพื่อนบ้าน โดยผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม นิยมขนส่งทางบกมากกว่าทางน้ำ เนื่องจากแม่น้ำโขงเป็นแม่น้ำนานาชาติ และประเทศที่มีพรมแดนติดแม่น้ำโขงยังมีความกังวลเกี่ยวกับการรั่วซึมของน้ำมันที่อาจเกิดขึ้นจากการขนส่ง

ในแง่สินค้าส่งออกจากไทย นอกจากสินค้าดาวรุ่งของไทยทั้งผลไม้ ดอกกล้วยไม้ และผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม ที่มีสัดส่วนสูงอยู่แล้วนั้น สินค้าไทยที่น่าจับตามองว่าจะเป็นสินค้าที่มีอนาคตในการขนส่งบนเส้นทาง R3A ได้แก่ สินค้าประมงประเภทปลาเค็ม ปลาแห้ง และปลารมควัน และสินค้าบริโภคของไทย อาทิ น้ำปลา ซอสและเครื่องปรุงรส รวมถึงอาหารแปรรูปไม่บรรจุกระป๋อง ซึ่งถึงแม้มูลค่าการส่งออกจะยังไม่สูงมากจนน่าตื่นตาตื่นใจ แต่มีมูลค่า การส่งออกเพิ่มสูงขึ้นในระยะที่ผ่านมา

ในส่วนของการท่องเที่ยวและการเดินทางไปมาระหว่างไทย-ลาว-จีน บนเส้นทาง R3A เป็นกรณี “คลาสสิก” ที่ต้องกล่าวถึง หนัง “Lost in Thailand” ที่ออกฉายในปี 2555 ส่งผลให้ชาวจีนอยากมาเที่ยวเมืองไทยมากขึ้น โดยเฉพาะจังหวัดเชียงใหม่ จึงไม่แปลกใจที่จำนวนคนที่เดินทางบนเส้นทาง R3A เข้าออกด่านเชียงของโดยรวมของปี 2556 จะขยายตัวถึงร้อยละ 14.6 และคาดว่าปี 2557 จำนวนคนที่สัญจรผ่านเส้นทางนี้จะขยายตัว ไม่ต่ำกว่าตัวเลขสองหลักเป็นแน่


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : R3A เส้นทางแห่งโอกาส ไทย-จีน

view