สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ความไม่สมดุลปัญหาหนี้และความเสี่ยงต่อวิกฤติ

ความไม่สมดุลปัญหาหนี้และความเสี่ยงต่อวิกฤติ

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์




ผมเขียนบทความนี้ขณะเตรียมข้อมูลไปร่วมให้ความเห็นในงานสัมมนาเชิงนโยบาย จัดโดย กองทุนการเงินระหว่างประเทศ

และธนาคารกลางเกาหลีใต้ ในหัวข้อ การปรับตัวทางเศรษฐกิจมหภาคเพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน วันนี้จึงเขียนเรื่องนี้เพื่อสะท้อนความเห็นของผมในประเด็นดังกล่าว

วิกฤติเศรษฐกิจโลกที่เกิดขึ้นปี 2009 มีการวิเคราะห์ว่าเป็นผลอย่างสำคัญจากความไม่สมดุลในระบบเศรษฐกิจโลกที่สะสมมาต่อเนื่องจนถึงระดับที่ตลาดการเงินขาดความเชื่อมั่น และเกิดเป็นปัญหาในที่สุด ความไม่สมดุลนี้ ปรากฏในรูปของการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดในระดับสูงของประเทศอุตสาหกรรมหลัก โดยเฉพาะ สหรัฐ ขณะที่ประเทศกำลังพัฒนาหรือประเทศตลาดเกิดใหม่ ซึ่งรวมถึงจีนและประเทศในเอเชีย มีการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดต่อเนื่อง ณ จุดสูงสุดของความไม่สมดุลประเทศจีนเกินดุลบัญชีเดินสะพัดกว่าร้อยละ 10 ของรายได้ประชาชาติปี 2007 ขณะที่สหรัฐขาดดุลบัญชีเดินสะพัดร้อยละ 6 ของรายได้ประชาชาติในปี 2006

ในทางเศรษฐศาสตร์ การขาดดุลบัญชีเดินสะพัด คือ อาการของเศรษฐกิจที่ใช้จ่ายเกินตัว คือ ใช้จ่ายเกินรายได้ที่มี ทำให้ประเทศต้องกู้ยืมและเป็นหนี้มากขึ้น ถ้าประเทศขาดดุลต่อเนื่อง ระดับหนี้ก็จะยิ่งสูงขึ้น เราจึงเห็นหนี้ของสหรัฐเพิ่มสูงขึ้นมากก่อนปี 2009 ตรงข้ามกับประเทศที่เกินดุลเช่น จีน การเกินดุลนำไปสู่การสะสมฐานะความเป็นเจ้าหนี้ในรูปของทุนสำรองทางการที่ได้เพิ่มสูงขึ้นมาก ซึ่งส่วนใหญ่ถือครองในรูปสินทรัพย์สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ เช่น เงินฝากและพันธบัตรรัฐบาล ทำให้จีนกลายมาเป็นประเทศเจ้าหนี้จากจำนวนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐที่จีนถือไว้มหาศาล ขณะที่สหรัฐกลายเป็นประเทศลูกหนี้ เพราะพันธบัตรที่รัฐบาลสหรัฐออกมากู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุล ถูกถือครองโดยทางการจีนในจำนวนที่มาก

กลุ่มประเทศ G20 มองความไม่สมดุลนี้ว่าเป็นสาเหตุของความไม่ยั่งยืนทางเศรษฐกิจ และส่วนหนึ่งมาจากนโยบายเศรษฐกิจของประเทศตลาดเกิดใหม่โดยเฉพาะจีน ที่มุ่งหารายได้โดยกระตุ้นการส่งออกผ่านมาตรการอัตราแลกเปลี่ยนที่เน้นให้ค่าเงิน อ่อนค่าเกินจริง เพื่อให้สินค้าออกสามารถแข่งขันได้ คือ ไม่ให้อัตราแลกเปลี่ยนเคลื่อนไหว ตามกลไกตลาด แต่เน้นแทรกแซงให้ค่าเงินอ่อนลงอย่างตั้งใจ โดยเฉพาะเงินหยวนของจีน และเมื่อประเทศตลาดเกิดใหม่มีรายได้จากการเกินดุล ก็นำรายได้ดังกล่าวไปลงทุนในสินทรัพย์เงินดอลลาร์สหรัฐ (ในรูปของเงินสำรองทางการ) เพื่อหาผลตอบแทน ทำให้มีเงินทุนต่างประเทศไหลกลับเข้าสหรัฐ ทั้งที่สหรัฐขาดดุล ส่งผลให้สหรัฐมีสภาพคล่องมาก กดอัตราดอกเบี้ยในประเทศให้ต่ำ และกระตุ้นการใช้จ่ายให้ขยายตัวต่อเนื่องผ่านการเติบโตของสินเชื่อ นำมาสู่การขาดดุลบัญชีเดินสะพัด นี่คือกลไกที่ทำให้การใช้จ่ายเกินตัวเกิดขึ้นได้ต่อเนื่อง จนนำไปสู่ปัญหา

กลุ่มประเทศ G20 มองว่าความไม่สมดุลดังกล่าวจำเป็นต้องแก้ไข คือประเทศอย่างสหรัฐต้องลดการขาดดุลหรือลดการใช้จ่ายซึ่งหมายถึงจะต้องประหยัด ขณะเดียวกันประเทศที่เกินดุลอย่างจีนและประเทศในเอเชียก็ต้องลดการเกินดุล โดยต้องใช้จ่ายมากขึ้น อันนี้จึงเป็นที่มาของนโยบายที่ต้องการให้ประเทศตลาดเกิดใหม่ขับเคลื่อนการเติบโตของเศรษฐกิจโดยการใช้จ่ายในประเทศ ไม่ใช่การส่งออก ต้องการให้ประเทศตลาดเกิดใหม่ อย่างจีน ใช้จ่ายมากขึ้น เพื่อลดความไม่สมดุล โดยหวังว่าการลดความไม่สมดุล จะช่วยการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก และลดความเสี่ยงของการเกิดวิกฤติในอนาคต

ผลที่เกิดขึ้นก็คือ หลังปี 2009 เศรษฐกิจประเทศอุตสาหกรรมหลักถดถอยรุนแรง (ซึ่งเป็นปรกติของเศรษฐกิจที่เกิดวิกฤติ) ไม่มีการใช้จ่าย การประหยัดจึงเกิดขึ้นโดยปริยาย ขณะที่ประเทศตลาดเกิดใหม่ก็ขยายการใช้จ่ายทั้งการบริโภคของครัวเรือนและการลงทุนของภาครัฐ กระตุ้นโดยนโยบายของรัฐบาลที่หันมาสร้างหนี้ใหม่ คือกู้เงินเพื่อให้เกิดการใช้จ่าย (ของเราเองก็คือ การกระตุ้นการบริโภค โดยมาตรการภาษี เช่นรถคันแรก และเร่งการลงทุนของภาครัฐ) ส่งผลให้เศรษฐกิจของประเทศตลาดเกิดใหม่ขยายตัวได้ดี เทียบกับประเทศอุตสาหกรรมหลักที่ถดถอย จึงเกิดภาวะเศรษฐกิจโลกสองความเร็ว ที่ประเทศตลาดเกิดใหม่ขยายตัวมากแต่ประเทศอุตสาหกรรมหลักหดตัว

การปรับตัวมีมาต่อเนื่องถึงปัจจุบัน จนขณะนี้เศรษฐกิจประเทศอุตสาหกรรมหลักบางประเทศ เช่น อังกฤษและสหรัฐเริ่มฟื้นตัว ขณะที่ประเทศตลาดเกิดใหม่ก็เริ่มขยายตัวในอัตราที่ลดลง เพราะรัฐบาลหยุดหรือลดทอนการกระตุ้นเศรษฐกิจ เศรษฐกิจโลกจึงกลับมาขยายตัวในอัตราที่ต่ำลงอย่างที่เห็นในปัจจุบัน แต่ความไม่สมดุลก็ได้ลดลงมาก ปีที่แล้ว สหรัฐขาดดุลบัญชีเดินสะพัดลดลงเหลือร้อยละ 2.3 ของรายได้สหประชาชาติ ขณะที่จีนเกินดุลบัญชีเดินสะพัดที่ร้อยละ 2 ของรายได้ประชาชาติ สอดคล้องกับเป้าหมายที่ต้องการลดความไม่สมดุล

แล้วจากนี้ไปอะไรจะเกิดขึ้นต่อ ในเรื่องนี้ผมมีความเห็นอยู่สามเรื่อง

หนึ่ง ในภาวะที่เศรษฐกิจโลกขยายตัวต่ำอย่างปัจจุบัน การปรับตัวของความไม่สมดุลคงมีต่อ แต่ก็อาจเป็นการปรับตัวในทิศทางตรงข้าม คือความไม่สมดุล อาจกลับมาใหม่อีกรอบ ถ้าเศรษฐกิจสหรัฐฟื้นตัวดี กลับมาใช้จ่ายอีก ขับเคลื่อนโดยค่าเงินสหรัฐที่แข็งค่าขึ้น เงินทุนต่างประเทศที่จะไหลกลับสหรัฐ และอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ยังต่ำแต่มีแนวโน้มจะปรับสูงขึ้น ซึ่งชี้ว่า การขาดดุลบัญชีเดินสะพัดเป็นผลโดยตรงจากการเติบโตของเศรษฐกิจการใช้จ่ายที่ขยายตัวและการก่อหนี้

สอง การไหลเข้าของเงินทุนต่างประเทศ เป็นกลไกสำคัญที่ขับเคลื่อนการใช้จ่ายและความไม่สมดุลคือ การขาดดุลบัญชีเดินสะพัด และความเป็นหนี้ของประเทศที่ใช้จ่าย ที่สหรัฐขาดดุลมากก่อนปี 2009 ก็มาจากเงินทุนไหลเข้าสหรัฐจากประเทศตลาดเกิดใหม่ ที่จีนขยายตัวมากหลังปี 2009 ก็เกิดจากเงินทุนต่างประเทศไหลเข้าทำให้ค่าเงินหยวนแข็ง สภาพคล่องมีมาก กระตุ้นการใช้จ่ายของทั้งภาครัฐและเอกชน และที่ประเทศไทยเคยขาดดุลบัญชีเดินสะพัดมากก่อนปี 2540 ก็มาจากเงินทุนไหลเข้า ที่นำไปสู่การเก็งกำไรและใช้จ่ายเกินตัว ดังนั้น การบริหารจัดการเงินทุนไหลเข้าจึงจำเป็นและสำคัญต่อการดูแลเศรษฐกิจไม่ให้ใช้จ่ายเกินตัวเพื่อความยั่งยืนของเศรษฐกิจ

สาม เมื่อการใช้จ่ายของประเทศกลับมาขยายตัว ความเป็นหนี้ของประเทศก็จะเพิ่มสูงขึ้น ในรอบนี้ก็เช่นกันที่เศรษฐกิจประเทศตลาดเกิดใหม่ขยายตัวได้ดีหลังปี 2009 กระตุ้นโดยนโยบายภาครัฐ ระดับหนี้ของประเทศตลาดเกิดใหม่ก็กลับมาสูงขึ้นอีก โดยประมาณว่าหนี้เพิ่มขึ้นร้อยละ 36 ของรายได้ประชาชาติ ประเทศไทยก็เช่นกันหนี้ของเราทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และครัวเรือนก็เพิ่มสูงขึ้น ดังนั้น ถ้าเศรษฐกิจประเทศตลาดเกิดใหม่ขยายตัวต่ำในอนาคต ความสามารถในการชำระหนี้ก็อาจเป็นปัญหา เพราะรายได้จะไม่ขยายตัวได้มากพอเทียบกับภาระหนี้ที่มี ทำให้ประเทศจะล่อแหลมกับการเกิดปัญหาหนี้

ในแง่นโยบายจุดที่ต้องตระหนักก็คือ การกระตุ้นเศรษฐกิจให้เศรษฐกิจขยายตัว ก็คือการก่อหนี้มากขึ้น (นึกถึงโครงการประชานิยมต่างๆ และการลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ทั้งที่ทำไว้และจะทำ) แต่ในช่วงที่เศรษฐกิจขยายตัวต่ำ ปัญหาการชำระหนี้จะเกิดขึ้นง่ายเพราะ ประเทศอาจไม่มีรายได้มากพอที่จะชำระหนี้ ถ้าจุดนี้มาถึง วิกฤติก็จะเกิดขึ้น เพราะนักลงทุนจะสูญเสียความเชื่อมั่นในความสามารถของประเทศ (ทั้งภาครัฐและเอกชน) ที่จะชำระหนี้ ดังนั้น ปัญหาหนี้จะเกิดขึ้นได้ง่าย ในภาวะที่เศรษฐกิจไม่ขยายตัวหรือขยายตัวต่ำ ในภาวะที่อัตราดอกเบี้ยโลกปรับสูงขึ้น ในภาวะที่การส่งออกของประเทศชะลอหรือไม่ขยายตัว และในภาวะที่ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่า ทำให้ความสามารถในการชำระหนี้ที่เป็นเงินตราต่างประเทศมีข้อจำกัด

ณ จุดนี้ของเวลาคงต้องบอกว่าเศรษฐกิจโลกกำลังไปแบบนั้น คือเศรษฐกิจโลกขยายตัวต่ำ การส่งออกของไทยไม่เติบโต ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่า อัตราดอกเบี้ยสหรัฐกำลังจะปรับสูงขึ้น และเศรษฐกิจไทยปีนี้คงขยายตัวต่ำที่สุดในกลุ่มอาเซียน 10 ประเทศ ดังนั้น เราจึงต้องระวังมากๆ เรื่องการกระตุ้นเศรษฐกิจ การลงทุนใหม่ และการก่อหนี้ เพื่อหลีกเลี่ยงความเสี่ยงของการเกิดปัญหารุนแรง


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ความไม่สมดุล ปัญหาหนี้ ความเสี่ยงต่อวิกฤติ

view