สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

โมเดลเศรษฐกิจใหม่แก้กับดักแก่ก่อนรวย

จาก โพสต์ทูเดย์

โดย...ทีมข่าวเศรษฐกิจภาครัฐ

ในสถานการณ์ที่ไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุและเสี่ยงต่อการขาดแคลนแรงงานในประเทศ ซึ่งมีผลต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยในระยะยาว

สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ)จัดงานสัมมนา เรื่อง "ประเทศไทยในสามทศวรรษหน้า :สี่ความท้าทายเพื่อการเติบโตอย่างมีคุณภาพ" โดย โฆสิตปั้นเปี่ยมรัษฎ์ประธานทีดีอาร์ไอ มองว่าไทยอยู่ในช่วงของการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ คือ การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุเต็มรูปแบบท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจและภาคการส่งออกของไทยที่ชะลอตัวลง สัดส่วนเงินออมในระดับต่ำหนี้ครัวเรือนอยู่ในระดับสูง จะส่งผลให้ภาครัฐมีภาระสวัสดิการเพิ่มขึ้นในอนาคต

"เราเข้าสู่สังคมคนแก่เร็วกว่าเพื่อนบ้าน ซึ่งถ้าปล่อยไว้เราจะเป็นสังคมที่มีแต่คนที่แก่ก่อนรวย และภาครัฐจะมีภาระดูแลคนแก่เพิ่ม" โฆสิตบอก จากภาพที่สะท้อนออกมาดังกล่าว ทีดีอาร์ไอจึงจัดทำสมมติฐานเกี่ยวกับสิ่งที่จะเกิดขึ้นกับประเทศไทยในอีก 30 ปีข้างหน้า โดยเฉพาะเรื่องของการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุสมบูรณ์แบบในปี 2568 ซึ่งเร็วกว่าเพื่อนบ้านในภูมิภาคเอเชียที่อยู่ในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา

สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานทีดีอาร์ไอ ระบุว่าหากไม่มีการปฏิรูปกลไกต่างๆ เพื่อรองรับการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ คาดว่าภายใน 30 ปีข้างหน้า กองทุนประกันสังคมจะล้มละลายและภาระการดูแลแรงงานทั้งหมดจะตกเป็นของรัฐบาล จึงเป็นความท้าทายว่าไทยจะไปยืนอยู่ตรงไหนและอยู่อย่างไร

"การพัฒนาเศรษฐกิจในอดีตเน้นการพัฒนาบนฐานทรัพยากร ขายแรงงานราคาถูก มุ่งการส่งออก จึงทำให้กำลังซื้อในประเทศต่ำและเกิดความเหลื่อมล้ำสูง ส่งผลให้เกิดนโยบายประชานิยมตามมา" สมเกียรติ ระบุ

อย่างไรก็ตาม ทีดีอาร์ไอประเมินความเป็นไปได้ในการพัฒนาประเทศในอีก 30 ปีข้างหน้าออกเป็น 3 กรณีได้แก่ 1.กรณีพื้นฐาน คือ ประเทศไทยยังคงไปอย่างนี้เรื่อยๆ จะทำให้รายได้ต่อหัวของคนไทยจะอยู่ที่ 1.7 หมื่นบาท/คน/ปี ในปี 2588 และอัตราการเติบโตเฉลี่ย3.55% ต่อปี ซึ่งเท่ากับว่าไทยจะหลุดพ้นจากการเป็นประเทศที่มีรายได้ปานกลาง หลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุแล้ว10 ปี หรือคนไทยจะแก่ก่อนรวย

แต่หากไทยยังคงใช้นโยบายประชานิยมที่มีค่าใช้จ่ายขั้นต่ำปีละ 1 แสนล้านบาท จะทำให้ไทยหลุดพ้นจากการเป็นประเทศที่มีรายได้ปานกลางล่าช้าจากที่ประเมินไว้ในกรณีพื้นฐานเพิ่มขึ้นอีก 4 ปี

กรณีที่ 2.ไทยมีการพัฒนาอุตสาหกรรมก้าวหน้าโดยการเพิ่มผลิตภาพการผลิต มุ่งเน้นการวิจัยและพัฒนาตลอดจนการย้ายการผลิตมูลค่าต่ำไปประเทศเพื่อนบ้านซึ่งการพัฒนาตามแนวทางนี้ จะทำให้รายได้ต่อหัวประชากรจะเฉลี่ยอยู่ที่ 2.37 หมื่นบาท/ปี และมีอัตราการเติบโตเฉลี่ย 4.59% ต่อปี จะทำให้ไทยหลุดพ้นจากการเป็นประเทศรายได้ปานกลางในปี 2570 ช้ากว่าการเข้าสู่สังคมสูงอายุสมบูรณ์แบบเพียง 2 ปี

โดยสิ่งที่รัฐบาลต้องดำเนินการ คือ พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่มีคุณภาพ พัฒนาทักษะฝีมือแรงงานที่มีคุณภาพสูง ลงทุนด้านงานวิจัยและพัฒนา ส่งเสริมเอกชนไปลงทุนต่างประเทศ และไม่ควรใช้มาตรการดึงดูดแรงงานต่างด้าวไร้ทักษะเข้ามาทำงาน

และกรณีที่ 3.การพัฒนาในรูปแบบเกษตรทันสมัย

และบริการฐานความรู้ซึ่งจะทำให้มีรายได้ต่อหัวเฉลี่ยอยู่ที่ 2.84 หมื่นบาท/ปี และอัตราการเติบโตเฉลี่ย 5.21%ต่อปี จะทำให้ไทยหลุดพ้นรายได้ปานกลางในปี 2570 แต่มีความเหลื่อมล้ำในสังคมลดลง

ในขณะที่สิ่งที่รัฐบาลต้องลงทุน คือ ปรับเปลี่ยนภาคเกษตรไปสู่การเป็นเกษตรทันสมัย เช่น การพัฒนาแหล่งน้ำ ลงทุนวิจัยและพัฒนาพันธุ์พืช แต่ไม่ควรอุดหนุนราคาสินค้าเกษตรในระดับสูง หรือยุติการคุ้มครองธุรกิจบริการที่ผูกขาดภายในประเทศ

"ไทยจะเดินไปแบบเรื่อยๆ ไม่ได้ ต้องปรับเปลี่ยนไปสู่ฐานความรู้จึงเป็นทางออก" สมเกียรติ สรุป

ด้าน ณรงค์ชัย อัครเศรณี รมว.พลังงาน ให้มุมมองว่า การที่ไทยจะเปลี่ยนผ่านไปสู่ประเทศฐานความรู้ ยอมรับว่าค่อนข้างยาก เพราะการบริหารจัดการในอดีตไม่ดี

"หากไทยสามารถบริหารอำนาจบริหาร นิติบัญญัติและตุลาการให้บาลานซ์กันได้ ก็จะเป็นประโยชน์ แต่ปัญหาที่ถูกหมักหมมมาหลายสิบปี ทำให้แก้ยากและรัฐบาลชุดนี้ต้องเข้ามาแก้ในสิ่งที่ไม่ถูก จนทำให้ไม่มีเวลาทำอย่างอื่น ยิ่งตอนนี้เราเจอปัญหาเศรษฐกิจเข้ามาไม่รู้ว่า1 ปีจะแก้ปัญหาได้ทันหรือไม่" ณรงค์ชัย ทิ้งท้าย

จากกลไกที่เป็นอยู่ในขณะนี้ ต้องยอมรับว่าการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุของไทยมีปัญหาแน่หากไม่มีการปฏิรูป


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : โมเดลเศรษฐกิจใหม่ แก้กับดัก แก่ก่อนรวย

view