สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

20ปีกว่าจะเป็นค่าโง-3-หมื่นล-จารึกประวัติศาสตร์มหาโกง

จาก โพสต์ทูเดย์

โดย...ธเนศน์ นุ่นมัน

กรมควบคุมมลพิษ(คพ.) ออกมาแถลงว่าศาลปกครองสูงสุด มีคำสั่งให้ต้องจ่ายเงินค่าก่อสร้างที่เหลือให้กับภาคเอกชน หลังมีการสั่งยุติโครงการบำบัดน้ำเสียคลองด่าน จ.สมุทรปราการ เป็นเงิน 9,618 ล้านบาท ตัวเลขของเงินงบประมาณที่ต้องเสียไป ทำให้โครงการนี้ กลายเป็นจุดด่างพร้อยการทุจริตครั้งมโหฬารครั้งหนึ่ง ที่ประวัติศาสตร์การเมืองไทยต้องจารึกไว้

โครงการนี้ถูกริเริ่มขึ้นครั้งแรกในปี 2538 ใช้เวลาศึกษาความเป็นไปได้ 2 ปี จนถึงยุคที่ ยิ่งพันธ์ มนะสิการ อดีต รมว.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี(เสียชีวิตแล้ว) เป็นผู้เซ็นสัญญาก่อสร้าง ตามที่คณะรัฐมนตรี สมัย พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ เป็นนายกรัฐมนตรี อนุมัติ เมื่อวันที่ 20 ส.ค.40

 เดิม โครงการบำบัดน้ำเสียเคยมีการกำหนดจุดก่อสร้าง 2 แห่ง คือ ที่ ต.บางปลากด ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา และพื้นที่ ต.บางปูใหม่ ด้านฝั่งตะวันออก ของแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งเป็นพื้นที่มีโรงงานอุตสาหกรรมจำนวนมากตั้งอยู่ โดยงบก่อสร้างก้อนเดิมประมาณ 13,612 ล้านบาท

แต่ต่อมาในปี 2540 ได้มีการเซ็นระหว่างกลุ่มกิจการร่วมค้า "เอ็นวีพีเอสเคจี" และมีความพยายามเปลี่ยนแปลงพื้นที่ก่อสร้างมาอยู่ที่ ต.คลองด่าน อ.บางบ่อ จ.สมุทรปราการ และห่างจากจุดเดิม 20 กิโลเมตร แม้บริเวณดังกล่าวไม่มีโรงงานอุตสาหกรรม และส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ทำการประมง และการเกษตรเป็นหลัก

จุดก่อสร้างที่ถูกเปลี่ยนจากเดิม ทำให้ต้องใช้งบประมาณเพิ่มขึ้นอีก 1หมื่นล้านบาท เนื่องจากต้องก่อสร้าง เป็นระบบท่อทั้งหมด 60% โดยทำท่อลอดแม่น้ำเจ้าพระยา ส่งน้ำเสียเข้ามาบำบัดที่คลองด่าน รวมงบเพิ่มเป็น 23,700 ล้านบาท หลายฝ่ายออกมาคัดค้านว่า ไม่ใช่พื้นที่เหมาะสมในการก่อสร้างระบบบำบัด ต้องปั๊มน้ำเสียมายังจุดบำบัด เป็นระยะทางถึง120 กม.มาที่คลองด่าน 

ต่อมา วันที่ 28 ก.พ. 2546 ประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในขณะนั้น ได้สั่งระงับการก่อสร้างและยกเลิกสัญญาโครงการ หลังจากตรวจสอบพบว่าบริษัทร่วมก่อสร้างไม่มีคุณสมบัติถูกต้องตั้งแต่ต้น โดยในเวลาต่อมา ได้มีการระบุอีกว่า โครงการนี้ ถูกก่อสร้างขึ้น ในพื้นที่หรือที่ดิน ที่อนุกรรมการไต่สวนการทุจริต คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ชี้มูลความผิด ว่า มีชื่อนักการเมืองเข้าไปเกี่ยวข้องในฐานะเป็นผู้อนุมัติ 3 คน ได้แก่ ยิ่งพันธ์ ,สุวัจน์ ลิปตพัลลภ อดีต รมช.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี วัฒนา อัศวเหม อดีต รมช.มหาดไทย ทั้งหมดถูกกล่าวหา ว่า ซื้อที่ดินแล้วนำมาขายต่อให้โครงการสมัยที่ยังดำรงตำแหน่ง

ที่ดินดังกล่าว เป็นป่าชายเลนและที่เทขยะมูลฝอย ซึ่งเป็นที่สงวนหวงห้าม มีการซื้อขายจากชาวบ้านเปลี่ยนมือกันมาแล้วหลายทอด ต่อมาบริษัท ปาล์มบีช ดีเวลลอปเม้นท์ ที่มี สมลักษณ์ อัศวเหม และปรีชา เลาหพงศ์ชนะ ร่วมเป็นกรรมการ ก็เข้ามาซื้อต่ออีกทอดหนึ่ง โดยรวบรวมที่ดินของบริษัท แร่ลานทอง ของวัฒนา ,สมพร อัศวเหม และมั่น พัธโนทัย และพื้นที่ใกล้เคียงเข้าไว้ด้วยกัน ก่อนที่ดินผืนนี้จะถูกนำไปจำนองกับธนาคารไทยพาณิชย์และตกถึงมือบริษัท คลองด่านมารีน แอนด์ ฟิชเชอรี่ ที่ซื้อไว้ในราคา 563 ล้านบาท

13 พ.ย.2550 ศาลตัดสิน คดีที่ วัฒนา มีความผิดฐานเป็นเจ้าหน้าที่ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 148, 157, 33 และ 84 และ พ.ร.บ.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ พ.ศ. 2542 มาตรา 2 มีโทษจำคุกตั้งแต่ 5-20 ปี หรือจำคุกตลอดชีวิต และปรับ 2,000- 4 หมื่นบาท หรือประหารชีวิต

17 เม.ย. 2551ศาลนัดไต่สวนพยานจำเลยครั้งสุดท้าย วัฒนา เดินทางมาร่วมการพิจารณาคดีเป็นครั้งแรก หลังจากขอเลื่อนเข้าไต่สวนมาแล้ว 4 ครั้ง ด้วยข้ออ้างป่วย มีอาการสับสนเฉียบพลัน หลงลืม สูญเสียความทรงจำชั่วคราว เนื่องจากอาการโรคเส้นเลือดอุดตันที่ก้านสมอง และ ให้สัมภาษณ์ว่าถูกอดีตรัฐบาลกลั่นแกล้ง บีบบังคับให้เข้าสังกัดพรรคการเมือง

8 พ.ค.2551 วัฒนา เบิกความต่อศาลยืนยันความบริสุทธิ์ หากทำผิดจริงให้ลงโทษประหารชีวิต ซึ่งเป็นโทษสูงสุด และยืนยันด้วยว่าในวันพิพากษาจะมาฟังแน่นอน ไม่หลบหนี แต่ต่อมาในวันที่ 9 ก.ค. กลับไม่มารับฟังคำพิพากษาศาล โดยมีทนายบอกว่า ติดต่อจำเลยไม่ได้ และปรากฏตัวต่อสาธารณชนครั้งสุดท้ายวันที่ 29 มิ.ย.2551 ในพิธีแต่งงานลูกชาย พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน อดีตประธาน คมช. จากนั้น ก็มีข่าวว่าหลบหนีออกจากประเทศ

หลังจากยกเลิกสัญญา กิจการร่วมค้า เอ็นวีพีเอสเคจีได้ยืนฟ้องศาลเพื่อเรียกค่าจ้างส่วนที่เหลืองวดสุดท้าย ใช้เวลาในการพิจารณาคดี เป็นเวลา 11 ปี นับแต่มีการฟ้องร้องโดย 21 พ.ย.ที่ผ่านมา ศาลปกครองสูงสุด มีคำสั่งยืนตามอนุญาโตตุลาการ ให้ คพ.  จ่ายค่าจ้าง ค่าเสียหาย นับตั้งแต่วันยกเลิกสัญญา โดยต้องจ่ายเงินให้แล้วเสร็จภายใน 90 วัน นับแต่วันที่คดีถึงที่สุดหลังมีการสั่งยุติโครงการ เงินต้นของโครงการอยู่ที่ 5,270 ล้านบาท รวมดอกเบี้ย 7.5% ต่อเดือน เป็นเงิน อีก 4,348 ล้านบาท

ก่อนหน้านี้ คพ.เคยจ่ายค่าก่อสร้างไปแล้ว 21,023 ล้านบาท รวมแล้วทั้งโครงการ ต้องจ่าย30,642 ล้านบาทเป็นจำนวนนี้ ยังไม่รวมดอกเบี้ย ที่คิดอีกวันละ 2 ล้านบาท ตามที่ศาลให้คิดค่าดอกเบี้ยตั้งแต่วันที่ 21 พ.ย.ที่ผ่านมาและต้องจ่ายส่วนที่ค้างทั้งหมดภายใน 90 วัน

คพ.ต้องจ่ายส่วนที่เหลือดังกล่าว โดยจนถึงขณะนี้ยังไม่ทราบแน่ชัดว่า โรงบำบัดน้ำเสียซึ่งก่อสร้างไปแล้ว 98 % นั้นจะยังใช้งานได้แค่ไหน หรือต้องใช้งบประมาณในการซ่อมบำรุง อีกเท่าไหร่ รวมถึงไม่ทราบเช่นกันว่าผลที่ได้รับจากโครงการคุ้มค่ากับเม็ดเงินที่จะใช้ไปในอนาคตหรือไม่


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : 20ปี กว่าจะเป็น ค่าโง 3 หมื่นล. จารึกประวัติศาสตร์ มหาโกง

view