สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ทุจริตกัดกร่อนคสช

จาก โพสต์ทูเดย์

โดย...ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์

กำลังจะกลายเป็นงูที่ขว้างไม่พ้นคอตัวเอง!!!

เมื่อหนึ่งในภารกิจเป้าหมายสำคัญของคณะรัฐประหารชุดนี้ คือ การกวาดล้างแก้ไขปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่นที่ฝังรากลึกมายาวนาน

ดังจะเห็นได้จากนโยบายรัฐบาลที่แถลงต่อรัฐสภา แถมเขียนล็อกไว้ในรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557  มาตรา 35  ตีกรอบให้คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญต้องเขียนเนื้อหาครอบคลุม

“กลไกที่มีประสิทธิภาพในการป้องกันตรวจสอบและขจัดการทุจริตและประพฤติมิชอบทั้งในภาครัฐและภาคเอกชน รวมทั้งกลไกในการกำกับและควบคุมให้การใช้อำนาจรัฐเป็นไปเพื่อประโยชน์ส่วนร่วมของประเทศชาติและประชาชน”

แต่ผ่านมาเกือบครึ่งปีนอกจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จะยังไม่อาจสร้างผลงานเป็นชิ้นเป็นอันเพื่อสกัดกั้นปราบปรามการทุจริตได้แล้ว  ยังมีบางจังหวะที่เข้าไปพัวพันกับเงื่อนงำความไม่โปร่งใส

เร่ิมตั้งแต่ “ไมค์ทองคำ” ที่แม้ผลสอบสุดท้ายจะออกมาว่าไม่พบความผิด แต่ต้องยอมรับว่าสั่นคลอนรัฐบาล คสช.ไม่น้อย ถึงขั้นต้องรีบยกเลิกการจัดซื้อจัดจ้าง

ที่สำคัญ เสียงสะท้อนจากคนในแวดวงอย่าง “วิชัย อัศรัสกร” รองประธานกรรมการหอการค้าไทย เคยออกมากระทุ้งว่า การต่อต้านคอร์รัปชั่นในประเทศไทยยังไม่ประสบความสำเร็จ 

การจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐที่ทำการสำรวจจากผู้ประกอบการ พบว่ายังมีการทุจริตอยู่ที่ 30-50% คิดเป็นตัวเงินปีละ 2-3 แสนล้านบาท           

“ขณะนี้ประชาชนเปลี่ยน แต่กลไกภาครัฐยังไม่เปลี่ยน นายกรัฐมนตรีทุกคนจะมีนโยบายต่อต้านคอร์รัปชั่นเป็นนโยบายแรก แต่ปล่อยให้เป็นไปตามกลไกเดิมจึงขจัดทุจริตไม่ได้ เดิมมีการพูดกันว่าจ่ายให้นักการเมือง 30% ตอนนี้อยู่ในช่วงที่ไม่มีนักการเมือง ต้นทุนก็น่าจะลดลงสัก 30% แต่ผู้ประกอบการพูดกันว่ามันไม่ได้ลดลงเลย แต่ระมัดระวังมากขึ้น”

ตอกย้ำว่าปัญหาการทุจริตไม่ได้ลดน้อยลงไปทั้งที่เป็นช่วงเปลี่ยนผ่าน อย่างไรก็ตามแม้จะไม่มีหลักฐานว่า คสช.มีเอี่ยวกับการทุจริตที่เกิดขึ้น แต่แค่การปล่อยปละให้เกิดขึ้นย่อมไม่เป็นผลดีกับ คสช.เองแล้ว

ทั้งในฐานะที่ฝ่ายบริหารและเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงขับเคลื่อนปฏิรูป ที่มีเป้าหมายเรื่องการป้องปรามทุจริต ยิ่งจะต้องเอาจริงเอาจังทำให้เห็นเป็นตัวอย่าง

สอดรับกับล่าสุด “อานันท์ ปันยารชุน” อดีตนายกรัฐมนตรี  กล่าวในงานสัมมนา “สนทนา 30 ปี ทีดีอาร์ไอ : สังคมเศรษฐกิจไทย : ความท้าทายและการปฏิรูป”

“มีหลายสิ่งหลายอย่างที่ได้ทำมาแล้วสบายใจ แต่ก็มีหลายสิ่งหลายอย่างที่ผมอึดอัดใจ ผมชักเริ่มไม่ค่อยแน่ใจว่า ความพยายามที่จะดูแลปัญหาคอร์รัปชั่นจริงใจแค่ไหนและจะทำหรือเปล่า เพราะข่าวลือมันมากเหลือเกิน ผมก็หวังว่าข่าวลือข้างนอก ทหารก็คงจะได้ยินบ้าง ผมเป็นคนไม่ค่อยเชื่อข่าวลือ แล้วก็ไม่ใช่เป็นคนฟังแล้วไปขยายต่อข่าว แต่เมื่อได้ยินมา ผมก็หวังว่าไม่ใช่

แต่ผมว่า ใครก็ตามที่รับผิดชอบ จำเป็นต้องรู้ว่ามีข่าวลือกันอยู่ และเขาต้องรู้ดีว่าข่าวลือนั้นจริงไม่จริง ถ้าเป็นจริงผม
ก็ช่วยไม่ได้ ถ้าไม่จริงก็ควรหาทางปรับความเข้าใจ”

ตรงนี้ถือเป็นสัญญาณสำคัญเมื่อคนที่เคยผ่านประสบการณ์ออกมาสะท้อนมุมมองความเป็นห่วงให้รีบแก้ไขปัญหา ป้องกันลุกลามบานปลายที่จะฉุดให้ทุกอย่างที่ีพยายามทำพังพาบลงมา

ยิ่งในช่วงตั้งไข่ของการปฏิรูปที่หลายฝ่ายพยายามเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาอุดช่องโหว่ป้องกันการทุจริตคอร์รัปชั่น ภาพลักษณ์ของคนที่จะมาทำเรื่องเหล่านี้จำเป็นต้องไม่มีข้อครหาพัวพันกับความไม่โปร่งใส

แถมในช่วงที่ คสช.มีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ยิ่งต้องทำให้เห็นถึงความเอาจริงเอาจังในการปราบปราบทุจริต เพื่อแก้ไขค่านิยมยอมรับการทุจริต ไม่ใช่ไล่ย้อนกลับไปถามหาใบเสร็จ หรือให้ไปแจ้งเรื่องกับศูนย์รับเรื่องร้องทุกข์เท่านั้น

เมื่อภารกิจปราบโกงเป็นวาระแห่งชาติที่ต้องเร่งทำให้เห็นเป็นที่ประจักษ์  ไม่ใช่แค่กำหนดเป็นหลักการสวยหรูเท่านั้น เพราะหากปล่อยให้การทุจริตยังคงอยู่ย่อมกัดกร่อนต้นทุน คสช. และฉุดให้ทุกอย่างที่ คสช.พยายามทำต้องพังพาบในที่สุด


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ทุจริต กัดกร่อน คสช

view