สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

มาตรการสร้างความเป็นธรรม เสริมความเชื่อมั่นในตลาดทุน

มาตรการสร้างความเป็นธรรม เสริมความเชื่อมั่นในตลาดทุน

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์




ท่านผู้อ่านครับ ภารกิจสำคัญของ ก.ล.ต. นอกเหนือจากการกำกับดูแลและพัฒนาตลาดทุนแล้ว

ยังมีภารกิจด้านการบังคับใช้กฎหมายเพื่อลงโทษผู้กระทำความผิดในตลาดทุนในความผิดตามพระราชบัญญัติหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 (พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ) ด้วยนะครับ ณ วันนี้ การบังคับใช้กฎหมายหลักทรัพย์มีพัฒนาการเพิ่มขึ้นมากครับ

จากการประเมินภาพรวมตลาดทุนไทยของ Asian Corporate Governance Association ในรายงาน CG Watch 2014 ในส่วนของคะแนนประเมินในด้านการบังคับใช้กฎหมาย ประเทศไทยได้คะแนนดีขึ้นจากการประเมินเมื่อสองปีก่อน คือ จาก 44 คะแนนเป็น 51 คะแนน โดยสูงเป็นลำดับที่ 4 จากประเทศที่ได้รับการประเมินทั้งหมด 11 ประเทศ ซึ่งเป็นภาพสะท้อนจากมาตรฐานในเรื่องการดำเนินการกับผู้กระทำผิดในตลาดทุนไทย และการเปิดเผยข้อมูลการดำเนินการดังกล่าวที่ดีขึ้น

เมื่อเร็วๆนี้ หลายท่านคงได้อ่านข่าวก.ล.ต. โดยคณะกรรมการเปรียบเทียบได้เปรียบเทียบปรับผู้กระทำผิดกรณีการใช้ข้อมูลภายในของบริษัทจดทะเบียนในการซื้อขายหุ้นและสร้างราคาหุ้นรวมทั้งสิ้น 17 ราย เป็นเงินรวม 24.68 ล้านบาทและเมื่อพิจารณาย้อนไปตั้งแต่ต้นปี จะพบว่ามีการเปรียบเทียบปรับผู้กระทำผิดในหมวดการกระทำอันไม่เป็นธรรมในการซื้อขายหลักทรัพย์ทั้งสิ้น 43 ราย เป็นเงินรวม 107. 47 ล้านบาท โดยเงินค่าปรับที่ได้รับ ก.ล.ต. จะนำส่งเข้าคลังเพื่อเป็นรายได้ของแผ่นดินต่อไป และก.ล.ต.ยังได้กล่าวโทษผู้กระทำผิดในลักษณะเดียวกัน ต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษอีก 23 รายนะครับ

ก.ล.ต. มีเป้าหมายในการบังคับใช้กฎหมาย เพื่อป้องปรามมิให้เกิดการกระทำความผิด หรือยับยั้งการกระทำความผิดอย่างมีประสิทธิผล และทันต่อสถานการณ์และลงโทษผู้กระทำความผิดด้วยมาตรการที่เหมาะสมกับผู้กระทำความผิด ภายในระยะเวลาพอสมควร เพื่อรักษาความเป็นธรรมและสร้างความมั่นใจให้ตลาดทุนไทย นะครับ

อย่างไรก็ดี การปราบปรามหรือการบังคับใช้กฎหมายที่ผ่านมานั้น มีข้อจำกัดหรืออุปสรรคบางประการ เช่นในเรื่องของมาตรฐานการพิสูจน์ตามกฎหมายอาญาเนื่องจากความผิดตาม พ.ร.บ. หลักทรัพย์ฯ กำหนดให้มีเฉพาะบทลงโทษทางอาญา การพิสูจน์ความผิดจึงต้องเป็นไปตามหลักการพิสูจน์จนปราศจากข้อสงสัย(beyond reasonable doubt) จึงเป็นการยากที่จะดำเนินคดีที่เกี่ยวข้องกับหลักทรัพย์ เพราะหลักฐานการกระทำผิดส่วนใหญ่ จะอยู่ในการครอบครองของผู้กระทำผิดและการพิสูจน์ร่องรอยที่ทิ้งไว้ก็ไม่ง่ายนัก เมื่อเทียบกับคดีอาญาทั่วไป นอกจากนี้ องค์ประกอบความผิดที่ได้กำหนดไว้ยังมีความซับซ้อน และต้องอาศัยการตีความรวมทั้งในการดำเนินคดีทางอาญานั้น มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหลายหน่วยงาน ส่งผลให้กระบวนการดำเนินคดีโดยรวม ใช้เวลาเพิ่มมากขึ้นครับ

ด้วยเหตุผลดังกล่าว ก.ล.ต. จึงได้มีแนวคิดที่จะหามาตรการเพิ่มเติม เพื่อให้สามารถดำเนินการกับผู้กระทำผิดในหมวดการกระทำอันไม่เป็นธรรม ในการซื้อขายหลักทรัพย์และการกระทำผิดหน้าที่ของกรรมการหรือผู้บริหารของบริษัทที่ออกหลักทรัพย์ ที่ไม่ทำหน้าที่อย่างซื่อสัตย์สุจริต ไม่ระมัดระวังการบริหารงาน จนทำให้บริษัทเสียหายได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

โดยผลักดันให้มีการเพิ่มมาตรการลงโทษทางแพ่ง (Civil Sanction)ในพ.ร.บ. หลักทรัพย์ฯ เพื่อให้มีความเป็นสากลซึ่งเป็นแนวทางที่สอดคล้องกับนานาประเทศ อาทิ สหรัฐ ออสเตรเลีย ฝรั่งเศส เขตปกครองพิเศษฮ่องกง สิงคโปร์ มาเลเซีย ลดความซ้ำซ้อนยุ่งยากขององค์ประกอบความผิด เพิ่มบทสันนิษฐานข้อเท็จจริง เพื่อลดภาระการพิสูจน์ในบางองค์ประกอบความผิด รวมถึงกำหนดฐานความผิดเพิ่มเติม เช่น เพิ่มความผิดของบุคคลอื่น ที่นำข้อมูลภายในที่ตนได้รับมา (tippee) ไปใช้ซื้อขายหลักทรัพย์ เพิ่มโทษปรับสำหรับความผิด ที่เกี่ยวข้องกับการกระทำอันไม่เป็นธรรมในอัตราที่สูงขึ้น ครับ

สำหรับความคืบหน้าในการผลักดันมาตรการข้างต้น ล่าสุด คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้มีมติเห็นชอบร่าง พ.ร.บ. หลักทรัพย์ฯ ที่แก้ไขเพิ่มเติมและขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา ก่อนที่จะมีการเสนอให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณาต่อไปครับ ซึ่ง พ.ร.บ. หลักทรัพย์ฯ ฉบับแก้ไขเพิ่มเติมนี้จะช่วยให้กระบวนการบังคับใช้กฎหมายของ ก.ล.ต. มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอนครับ

นอกเหนือจากแนวทางการเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินการกับผู้กระทำผิดแล้ว ก.ล.ต. ยังให้ความสำคัญกับมาตรการป้องกันและป้องปรามการกระทำความผิดด้วยนะครับ โดย ก.ล.ต. ได้มีการประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย สมาคมบริษัทหลักทรัพย์ในการกำหนดมาตรการดูแลลูกค้าที่มีพฤติกรรมการซื้อขายไม่เหมาะสม รวมถึงการให้ความรู้อย่างต่อเนื่องแก่กรรมการและผู้บริหารบริษัทจดทะเบียน

เพื่อให้มีความเข้าใจในบทบาทหน้าที่ และความรับผิดชอบของตนเอง เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดการกระทำผิดจากการรู้เท่าไม่ถึงการณ์อันอาจเป็นเหตุให้บริษัทได้รับความเสียหายได้ อาทิ การจัดอบรมเกี่ยวกับ ข้อควรปฏิบัติในขณะที่ยังมิได้เปิดเผยสารสนเทศสำคัญต่อสาธารณชน การดูแลการเปิดเผยข้อมูลของบริษัทให้ถูกต้อง รวดเร็ว และทันต่อเหตุการณ์ พฤติกรรมที่อาจเข้าข่ายเป็นการซื้อขายหลักทรัพย์โดยใช้ข้อมูลภายใน เพื่อให้ผู้ลงทุนได้รับทราบข้อมูลอย่างเท่าเทียมและทั่วถึง ครับ

บุคคลสำคัญอีกกลุ่มหนึ่งที่จะช่วยสร้างความมั่นใจและน่าเชื่อถือแก่ตลาดทุนเพิ่มขึ้นก็คือ ผู้ลงทุนนะครับ

ผู้ลงทุนควรศึกษาพิจารณาข้อมูลและความเสี่ยงต่าง ๆ ก่อนที่จะตัดสินใจลงทุน เพื่อเป็นการลงทุนด้วยความรู้และความเข้าใจไม่ใช่การลงทุนตามข่าวหรือตามบุคคลอื่น โดย ก.ล.ต. จะช่วยในการกำกับดูแลให้มีการเปิดเผยข้อมูลที่ถูกต้อง เพียงพอ ทันเวลา รวมทั้ง ให้ความรู้แก่ผู้ลงทุนผ่านช่องทางต่างๆอย่างต่อเนื่อง

แต่ผู้ลงทุนต้องดูแลตัวเองโดยการศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับหลักทรัพย์ที่ท่านต้องการลงทุนผ่านสื่อหรือแหล่งข้อมูลต่างๆ เพื่อประกอบการพิจารณาตัดสินใจลงทุนด้วยซึ่ง ก.ล.ต. มุ่งหวังให้ผู้ลงทุนมีความรู้ความเข้าใจและมีข้อมูลเพียงพอ และอย่าลืมว่า “การลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูลให้รอบด้านก่อนการตัดสินใจลงทุน” นะครับโดย ก.ล.ต. มุ่งหวังให้ผู้ลงทุนมีความรู้ความเข้าใจ

ท่านผู้อ่านครับ จากผลการประเมินที่เป็นที่ยอมรับเป็นสากลในรายงาน CG Watch 2014 ในส่วนของคะแนนประเมินในด้านการบังคับใช้กฎหมายประเทศไทยเราได้รับคะแนนดีขึ้นผมเชื่อมั่นว่าเราสามารถทำให้ดีขึ้นได้อีกนะครับในอนาคตอันใกล้นี้ เราสามารถเพิ่มประสิทธิภาพในการบังคับใช้กฎหมายเมื่อมาตรการทางแพ่งมีผลใช้บังคับ โดยที่ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในตลาดทุนให้ความร่วมมือกันอย่างสร้างสรรค์ เพื่อสร้างความเป็นธรรม สร้างความเชื่อมั่น และร่วมกันนำตลาดทุนไทยไปสู่การเติบโตและพัฒนาอย่างยั่งยืนได้แน่นอนครับ


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : มาตรการ สร้างความเป็นธรรม เสริมความเชื่อมั่น ตลาดทุน

view