สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

เงินเฟ้อต่ำทำลูกจ้างอ่วม

เงินเฟ้อต่ำทำลูกจ้างอ่วม

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์




Corporate Financial Accounting 12e“เงินเฟ้อคือการเก็บภาษีโดยไม่ต้องออกกฎหมาย” มิลตัน ฟรีดแมน นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบลปี ค.ศ. 1976

ย้อนดูตัวเลขเงินเฟ้อในภาพรวมของไทยตั้งแต่เดือนมกราคมเป็นต้นมาไม่เคยมีเดือนไหนเลยที่พุ่งขึ้นถึง 3%ถือว่าอยู่ในระดับต่ำน่าพอใจ ขณะที่บางเดือนเงินเฟ้อในอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์พุ่งทะลุ 8%เมื่อเงินเฟ้อเรายังไม่ได้สูงจนน่ากลัวขนาดนั้น แล้วทำไมถึงได้ยินเสียงคนไทยทอดถอนใจกันทั่วแผ่นดินว่า ของสมัยนี้มันแพงเหลือเกิน หรือว่ามีความลับอะไรซ่อนอยู่ในเงินเฟ้อที่ถูกมองข้ามไป?

ถ้าว่ากันตามภาษาชาวบ้าน เงินเฟ้อ คือ การที่ของแพงขึ้นโดยวัดเป็นเปอร์เซ็นต์ เช่น เงินเฟ้อในเดือนตุลาคมปีนี้เท่ากับ 1.48 แสดงว่า เมื่อเทียบกับเดือนตุลาคมปีที่แล้ว ของแพงขึ้น 1.48% สมมติว่าเดือนตุลาคมปีที่แล้วข้าวเหนียวส้มตำไก่ย่างชุดหนึ่งรวมกันแล้วราคา 100 บาท หากจะกินข้าวเหนียวส้มตำไก่ย่างชุดเดิมเหมือนที่เคยกินปีก่อน ตอนนี้ราคาจะเพิ่มเป็น 101.48 บาท ถ้าเรากำเงิน 100 บาทไปซื้อ วันนี้เราจะได้ข้าวเหนียวน้อยกว่าปีก่อน นั่นแสดงว่า ถึงแม้เงินในกระเป๋าเราจะเท่าเดิม แต่เงินเฟ้อก็ทำให้เราจนลงได้ ไม่ต่างอะไรกับการโดนเก็บภาษีเงินได้ ที่ทำให้รายได้สุทธิของเราน้อยกว่าเงินเดือน

คนที่เดือนร้อนจากเงินเฟ้อมากที่สุด คือ คนที่มีรายได้ประจำ เพราะถึงของจะแพงขึ้น ค่าแรง ค่าจ้าง เงินเดือนก็ไม่ได้ปรับขึ้นตามในทันที เมื่อเจอกับของแพง แต่เงินไม่เพิ่ม ถ้าไม่จ่ายเงินเพิ่มเพื่อให้ได้ของเท่าเดิม ก็ต้องลดปริมาณของที่ซื้อ ไม่ว่าจะเลือกทางไหน เงินเฟ้อก็ทำให้เจ็บตัวได้ทั้งนั้น ยิ่งถ้ามองให้ลึกลงไปแล้ว ฤทธิ์ของเงินเฟ้อยังขึ้นอยู่กับรูปแบบการใช้จ่ายของเราด้วย

สำหรับคนที่หาเช้ากินค่ำ ลูกจ้างรายวัน พนักงานกินเงินเดือน หากมีรายได้ไม่เกินกว่า 9,000 บาทต่อเดือน ค่าใช้จ่ายในแต่ละวันประมาณ 70%จะหมดไปกับอาหารการกิน ดังนั้น ชีวิตความเป็นอยู่ของเขาจึงถูกกระทบจากเงินเฟ้อในส่วนของอาหารการกินมากที่สุด แสดงว่า การจะเข้าใจความเดือนร้อนของเขาให้ได้ ก็ต้องมองให้ลึกไปกว่าเงินเฟ้อในภาพรวม

รูปที่นำเสนอ เป็นการสรุปข้อมูลอัตราเงินเฟ้อของประเทศในอาเซียน 6 ประเทศ ในช่วง 10 เดือนแรกของปีนี้ โดยมีอัตราเงินเฟ้อสองกลุ่ม คือ เงินเฟ้อภาพรวม แสดงถึงการเพิ่มขึ้นของระดับราคาสินค้าในภาพรวมของประเทศทั้งหมด กับเงินเฟ้ออาหาร แสดงถึงการเพิ่มขึ้นของระดับราคาอาหารการกินโดยเฉพาะ ซึ่งจะเห็นได้ว่า สำหรับประเทศไทย ในช่วง 10 เดือนที่ผ่านมา ระดับราคาอาหารการกินเพิ่มขึ้นเร็วกว่าระดับราคาสินค้าในภาพรวมถึงเท่าตัว

การที่ 70% ของรายได้ของผู้มีรายได้น้อย เป็นค่าใช้จ่ายด้านอาหารการกิน นั่นหมายความว่าผลกระทบที่พวกเขาได้รับจากภาวะ “ของแพง” ย่อมหนักหนาสาหัสกว่าคนที่มีรายได้ปานกลางและคนรวย ความอ่วมจากเงินเฟ้ออาหารนี้เองคือที่มาของเสี่ยงพร่ำบ่นว่าข้าวแพงขึ้นทุกวัน

หากมองภาพรวมในอาเซียน เราจะเห็นว่า นอกจากไทยแล้ว ประเทศที่มีความต่างระหว่างอัตราเงินเฟ้อในภาพรวมกับเงินเฟ้ออาหารในระดับที่ค่อนข้างสูง คือ ฟิลิปปินส์ เวียดนาม และสิงคโปร์ เมื่อตัดสิงคโปร์ออกไป แล้วดูเฉพาะสองประเทศที่เหลือซึ่งมีระดับรายได้ต่อหัวอยู่ในกลุ่มเดียวกับไทย ในเบื้องต้นอาจจะเห็นว่า ลูกจ้างบ้านเขาก็อ่วมไม่แพ้กับลูกจ้างบ้านเรา

น่าเศร้าที่ความจริงไม่ได้เป็นเช่นนั้นเสียทั้งหมด

เงินเฟ้อเป็นแค่ด้านหนึ่งของเหรียญ อีกด้านคือ ระดับรายได้ หากของแพงขึ้น 10% แต่รายได้เพิ่มขึ้น 20% หรือของแพงขึ้น 100% แต่รายได้เพิ่มขึ้น 200% เงินเฟ้อก็ทำร้ายเราไม่ได้ โดยทั่วแล้ว เราใช้อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจเป็นตัวชี้วัดเบื้องต้นเกี่ยวกับการเพิ่มขึ้นของรายได้ เพียงแค่ 6 เดือนแรก เศรษฐกิจเวียดนามขยายตัว 6.2% และเศรษฐกิจฟิลิปปินส์เองก็คาดว่าจะขยายตัวไม่น้อยกว่า 5% ในช่วงครึ่งปีแรก สำหรับประเทศไทยปีนี้ทั้งปีโตได้ 1.5% ก็ถือว่าเก่งแล้ว

ในเวียดนาม เมื่อรายได้เพิ่มเร็วกว่าเงินเฟ้อทั้งในภาพรวมและเงินเฟ้ออาหาร ก็แสดงว่า คนของเขาไม่ได้เจ็บตัวจากโรคของแพงมากนัก ส่วนฟิลิปปินส์ โดยภาพรวมแล้วคนของเขายังพออยู่ได้ แต่กลุ่มผู้มีรายได้น้อยยังได้รับความเดือดร้อนอยู่พอสมควร

ในบรรดาหกประเทศนี้ คนมีรายได้น้อยในประเทศไทยน่าสงสารที่สุด เพราะของโดยเฉพาะอาหารแพงขึ้นเยอะ สุทธิแล้วอำนาจซื้อจึงติดลบมากกว่าประเทศอื่น ยิ่งรายได้น้อยลงเท่าไหร่ อำนาจซื้อก็ยิ่งลดลงมากขึ้นเท่านั้น

มีหลายอย่างที่เรามีศักยภาพพอจะเป็นที่หนึ่งในอาเซียนได้ แต่การขึ้นแท่นเป็นประเทศที่คนจนอ่วมจากเงินเฟ้อมากที่สุด คงไม่ใช่ตำแหน่งที่เราอยากได้มาครองอย่างแน่นอน


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : เงินเฟ้อต่ำ ทำลูกจ้างอ่วม

view