สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

กระตุ้นเศรษฐกิจ โดย วีรพงษ์ รามางกูร

จากประชาชาติธุรกิจ

คอลัมน์ คนเดินตรอก

ระยะนี้เรามักจะได้ยินคำว่า "กระตุ้นเศรษฐกิจ" เป็นข่าวโดยทั่วไปทั้งโลก ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐอเมริกา ยุโรป ญี่ปุ่น แม้แต่จีนเองก็พูดถึงเรื่องกระตุ้นเศรษฐกิจกันบ้างแล้ว

สำหรับบ้านเราเห็นจะไม่ต้องพูดถึง เพราะทุกวันถ้าอ่านข่าวหนังสือพิมพ์หรือฟังข่าวจากวิทยุ หรือดูโทรทัศน์ หรือปาฐกถา คำให้สัมภาษณ์ของรองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจก็จะเห็นว่าเน้นย้ำเรื่องการกระตุ้นเศรษฐกิจเป็นหลัก

ส่วน การแก้ไขปัญหาราคาสินค้าเกษตรตกต่ำไม่ใช่นโยบายของรัฐบาลนี้เพราะรัฐบาลต้อง การให้ราคาสินค้าเกษตรเป็นไปตามราคาที่กำหนดโดยกลไกตลาด จึงใช้วิธีชดเชยหรือช่วยเหลือโดยตรงไร่ละ 1,000 บาท แต่ไม่เกิน 15 ไร่ แต่เมื่อราคายางตกต่ำลงมามากเหลือเพียงกิโลกรัมละ 40 บาท รัฐบาลก็อดไม่ได้ที่จะต้องเข้ามาแทรกแซงราคาโดยการประกาศตั้ง "มูลภัณฑ์กันชน" ในแง่หลักการทำมูลภัณฑ์กันชนก็คล้าย ๆ กับโครงการจำนำสินค้าเกษตรนั่นเอง เพียงแต่ไม่เก็บไว้เป็นปริมาณมาก และไม่เก็บไว้เป็นปีหรือหลายปี แต่คงจะหมุนเวียนอยู่ในวงเงินจำกัด หวังว่าคงจะจำกัดวงเงินไม่ให้เสียหายมากแบบโครงการจำนำข้าวและจำนำยาง ซึ่งจนป่านนี้ก็ยังขายออกไม่หมด

นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของไทยนั้นคงจะไม่ทำเหมือนอเมริกา ยุโรป และญี่ปุ่น โดยการเพิ่มปริมาณเงินเข้ามาในระบบ เพราะเท่าที่สหรัฐอเมริกา ยุโรป และญี่ปุ่นทำไปก็ดูจะยังไม่ประสบความสำเร็จ



นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของญี่ปุ่นที่เสนอโดย นายกรัฐมนตรีชินโซ อาเบะ นั้น ได้ทำอย่างเป็นระบบชัดเจน กล่าวคือ นโยบายการเงิน โดยการเพิ่มปริมาณเงินทำนองเดียวกับอเมริกา เพิ่มการขาดดุลงบประมาณโดยการลงทุนในโครงการพื้นฐานที่เป็นสาธารณูปโภค การขนส่งการคมนาคมและอื่น ๆ โดยการออกพันธบัตรกู้ยืมเงินจากประชาชนเพิ่มขึ้นอีก ทั้ง ๆ ที่หนี้สาธารณะต่อจีดีพีก็มีสัดส่วนที่สูงอยู่แล้วถึงร้อยละ 230 และอันสุดท้ายเพิ่มอำนาจในการตัดสินใจให้องค์กรส่วนท้องถิ่นมีอำนาจในการตั้งงบประมาณรายจ่าย เพื่อการลงทุนในโครงการต่าง ๆ ได้มากขึ้น

ทั้งหลายทั้งปวงเหล่านี้ล้วนแต่เป็นนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจโดยนโยบายการเงิน นโยบายการคลัง รวมทั้งการกระจายอำนาจการตัดสินใจการใช้จ่ายเงินให้รัฐบาลท้องถิ่นใช้จ่ายเงินงบประมาณให้มากขึ้น แต่ผลก็ยังไม่ปรากฏอย่างเป็นรูปธรรม

นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของไทยเท่าที่ติดตามฟังการแถลงก็ดี การแสดงปาฐกถาก็ดี พอจะสรุปได้ว่ามีอยู่ 2 เรื่องใหญ่ ๆ เรื่องแรกเป็นเรื่องของกระทรวงที่นายทหารเป็นรัฐมนตรี คือโครงการพัฒนาระบบขนส่งทางบก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการขนส่งระบบราง ฟังดูก็ยังไม่ค่อยเข้าใจว่าจะทำอย่างไร จะลงทุนเองโดยการเปิดประมูลระหว่างประเทศ หรือจะมอบสัมปทานให้ต่างชาติอย่างประเทศจีนมาลงทุนโดยจ่ายเป็นสินค้าเกษตร เช่น จ่ายเป็นข้าว ยางพาราและอื่น ๆ หรือจะให้ผู้ลงทุนหารายได้เอาเองเมื่อโครงการเสร็จดำเนินกิจการได้ คงจะเป็นการออกข่าวไปอย่างนั้นเอง เพราะคงจะทำไม่ได้

ส่วนโครงการบริหารจัดการน้ำที่ฮือฮากันมาหลังจากเกิดมหาอุทกภัยเมื่อปลายปี 2554 ดูเหมือนผู้คนจะลืมกันไปแล้ว รัฐบาลทหารชุดนี้ก็ไม่มีใครพูดถึง โครงการนี้ก็คงจะพับไป ตกลงโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจก็คงจะเหลือแค่โครงการที่รองนายกรัฐมนตรีประกาศว่าจะใช้เงิน 3-4 แสนล้านบาท ทำโครงการต่าง ๆ ซึ่งก็ยังไม่แน่ชัดว่าเป็นโครงการเก่าที่ยังคั่งค้างอยู่ เป็นการล้างท่อจำนวนเท่าใด เป็นโครงการใหม่จำนวนเท่าใด จะเป็นเม็ดเงินออกมาสู่มือประชาชนเท่าใด

ทุกวันนี้โครงการสร้างงานเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างโครงการ"เงินผัน" ก็ดี โครงการ "สร้างงานในชนบท" ก็ดี คงจะทำอย่างสมัยก่อนไม่ได้ เพราะโครงการสาธารณะอย่างนั้นหาแรงงานทำไม่ได้แล้ว พัฒนาการที่ผ่านมาทำให้ตลาดแรงงานเปลี่ยนไปแล้ว งานก่อสร้างเกือบทุกชนิดบัดนี้ใช้เครื่องจักรทำงานหมดแล้ว โครงการงานก่อสร้างต่าง ๆ ใช้แรงงานน้อยมาก ถึงอยากจะใช้ก็หาแรงงานใช้ไม่ได้ การกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านโครงการสาธารณะสำหรับระดับการพัฒนาอย่างประเทศไทยจึงใช้ไม่ได้

นอกจากนั้นการจะกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นด้วยโครงการใช้จ่ายของพ.ร.บ.งบประมาณประจำปี คงจะทำได้ยาก เพราะเงินงบประมาณประจำปีต้องผ่านขบวนการทางงบประมาณ เริ่มตั้งแต่อนุมัติโครงการไปจนถึงการประมูลจัดซื้อจัดสร้าง การดำเนินงาน การตรวจรับงาน กว่าจะจ่ายเงินออกมาได้ก็ใช้เวลานาน จะนำเงินส่วนนี้มากระตุ้นเศรษฐกิจในไตรมาสนี้ในไตรมาสหน้า หรือแม้แต่ปีหน้าทั้งปีก็คงจะทำได้ยาก ทำได้ไม่ง่าย

สำหรับการลงทุนของภาคเอกชนและการบริโภคของครัวเรือนนั้นคงจะกระตุ้นได้ยาก เพราะความเชื่อมั่นทั้งทางเศรษฐกิจและการเมืองยังไม่แน่นอน โดยเฉพาะอย่างยิ่งความแน่นอนในทางการเมืองยังเป็นสิ่งที่ทุกฝ่ายมีความกังวลใจ ไม่มั่นใจในระยะยาว กล่าวคือปีนี้ไม่ต้องพูดถึง แต่หากปีหน้าหรือสองปีข้างหน้า โครงการของรัฐบาล ทั้งโครงการจัดการบริหารน้ำ โครงการขนส่งคมนาคมทางบก รวมทั้งโครงการโครงสร้างพื้นฐาน ไม่เกิดหรือต้องเลื่อนกำหนดการยืดออกไป การลงทุนภาคเอกชนก็คงจะยังไม่เกิด

การลงทุนของภาคเอกชน ไม่ว่าจะเป็นโรงงานอุตสาหกรรมหรือการลงทุนอื่น ๆ คงจะเป็นไปได้ยาก ถ้าหากกำลังการผลิตยังเหลือเฟืออยู่มาก การตัดสินใจลงทุนเพื่อขยายโรงงานเพิ่มกำลังการผลิตคงจะยังไม่เกิดขึ้น เพราะความไม่แน่นอน ทั้งในด้านเศรษฐกิจและการเมืองยังเป็นปัญหาอยู่

เหลืออยู่เพียงไม่ กี่ปัจจัยที่จะเป็นตัวกระตุ้นเศรษฐกิจของเราก็คือการส่งออกและการท่องเที่ยว ที่จะเป็นตัวดึงหรือรั้งการชะลอตัวทางเศรษฐกิจได้ การส่งออกมีสัดส่วนถึงร้อยละ 70 ของรายได้ประชาชาติ การส่งออกขณะนี้ทั้งราคาและปริมาณการส่งออกลดลงอย่างฮวบฮาบ ราคาสินค้าส่งออก ไม่ว่าจะเป็นข้าว ยางพารา น้ำตาล ไก่ กุ้ง ซึ่งใช้สินค้าเกษตรเป็นวัตถุดิบ ราคาลดลงอย่างทั่วหน้ากันหมด สินค้าประเภทอุตสาหกรรม ความต้องการก็อ่อนตัวลงเกือบจะทุกตัว เนื่องจากการชะลอตัวทางเศรษฐกิจเกือบทั่วทุกภูมิภาค แต่อย่างไรก็ตาม การส่งออกก็ยังต้องการการกระตุ้นและการผลักดันอย่างมากจากภาครัฐบาลที่อาจจะ สามารถลดต้นทุนจากการส่งออกได้

การท่องเที่ยวเป็นกิจกรรมอันหนึ่งที่ มีส่วนในการดึงภาวะเศรษฐกิจของเราไว้จากการชะลอตัวของภาคเศรษฐกิจอื่นๆ ขณะนี้ แต่ละปีมีนักท่องเที่ยวมาเยือนไทยปีละ 25-26 ล้านคน ถ้าจะทุ่มเงินงบประมาณในด้านการโฆษณาดึงดูดใจให้นักท่องเที่ยวเข้ามาเพิ่ม ขึ้นให้มากกว่านี้ก็จะเป็นการทำที่ถูกจุดขณะนี้ก็ติดอยู่กับการยังไม่ประกาศ เลิกกฎอัยการศึก เพราะนักท่องเที่ยวกลัวมาก โพลที่ไปถามนักท่องเที่ยวมา เขาก็ต้องบอกว่าไม่กลัว แต่นักท่องเที่ยวที่กลัว เขาก็ไม่มา

นโยบายการเงิน ถ้าจะสามารถดูแลให้มีสภาพคล่องเพียงพอ ขณะเดียวกันก็ไม่มีความกดดันทางด้านดอกเบี้ย และอัตราแลกเปลี่ยนมีเสถียรภาพ ก็จะช่วยลดความไม่แน่นอนในส่วนนี้ ไม่ให้เพิ่มต้นทุนขึ้นจากภาวะความไม่แน่นอนทางด้านอื่น ๆ ได้

การกระตุ้นเศรษฐกิจตามที่รัฐบาลประกาศออกมา ไม่น่าจะเพียงพอที่จะยับยั้งการชะลอตัวทางเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นแนวโน้มของโลกไปได้ ถึงอย่างไรเศรษฐกิจก็ยังเป็นขาลงอยู่

การเตรียมการเพื่อรับกับสถานการณ์ การยอมรับความเป็นจริงก็เป็นสิ่งที่สำคัญ เท่ากับปัญหาก็ลดลงไปครึ่งหนึ่งแล้ว แต่ที่ยังใจชื้นอยู่ ก็เพราะเรามีทุนสำรองระหว่างประเทศที่อยู่ในระดับสูง ขณะเดียวกัน ราคาน้ำมันยังมีแนวโน้มที่จะลดลงต่อไป

ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนคงต้องเตรียมตัวรับสถานการณ์


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : กระตุ้นเศรษฐกิจ วีรพงษ์ รามางกูร

view