สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

กองทุนร่วมลงทุน

กองทุนร่วมลงทุน

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์




หนึ่งในมาตรการที่รัฐจะช่วยวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมคือ การตั้งกองทุนร่วมลงทุน หรือ Venture Capital Fund (VC)

ในฐานะที่ดิฉันเคยเป็นผู้จัดการกองทุนเพื่อร่วมลงทุนมาก่อน จึงอยากจะขอแบ่งปันประสบการณ์ให้ผู้เกี่ยวข้องพิจารณาค่ะ

ก่อนอื่นต้องขอปูพื้นเพื่อให้ท่านผู้อ่านได้เข้าใจไปพร้อมๆ กัน กองทุนร่วมลงทุน หรือ Venture Capital Fund คือกองทุนที่ผู้ลงทุนรวมเงินทุนมาเพื่อร่วมลงทุนในกิจการต่างๆ ที่ไม่ได้จดทะเบียนซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ ผู้ลงทุนเหล่านี้ ไม่ได้เป็นเจ้าของกิจการ แต่เป็นผู้ลงทุนที่เรียกว่า ผู้ลงทุนทางการเงิน หรือ Financial Investors

โดยอาจจะลงทุนตั้งแต่ กิจการยังเตาะแตะอยู่ ที่เรียกว่า Green Field ส่วนใหญ่จะเป็นทุนประเดิม (Seed Money) หรือดิฉันเคยเรียกว่า เชื้อไฟ คือนำเงินไปลงทุนเพื่อให้กิจการสามารถเริ่มต้นทำสิ่งต่างๆ ได้ เช่นอาจจะเพื่อทำสินค้าต้นแบบออกมา หรือนำมาใช้ลงทุนผลิตสินค้าล็อตแรกเพื่อทดลองตลาด

ถัดมาจะเป็นการลงทุนในช่วงที่ธุรกิจเริ่มขยาย หรือเรียกว่า Expansion Phase และ ช่วงเติบโต (Growth) ในช่วงนี้ธุรกิจจะต้องการเงินเพิ่ม ซึ่งอาจจะกู้ยืมจากธนาคารพาณิชย์ แต่หากฐานของทุนไม่แข็งแกร่ง ก็อาจจะกู้ได้น้อย จึงจำเป็นต้องมีการเพิ่มทุนให้กับธุรกิจ เพื่อให้สามารถสร้างฐานทุนให้ใหญ่ขึ้น หรือ กองทุนร่วมลงทุนอาจจะเป็นผู้ให้กู้และผู้ลงทุนไปพร้อมกันทั้งสองอย่างได้

กองทุนร่วมทุนจะไม่ได้ถือหุ้นของกิจการตลอดไป แต่จะถืออยู่ระยะหนึ่งซึ่งอาจเป็นช่วงเวลา 3-7 ปี แล้วก็จะขายหุ้นออกไป เมื่อกิจการแข็งแกร่งขึ้น เพราะผู้ลงทุนเป็นผู้ลงทุนทางการเงินตามที่ได้กล่าวไปแล้ว ไม่ได้ต้องการร่วมลงทุนกับกิจการไปตลอด เพราะอาจจะมีกิจการอื่นๆ ต้องการเงินลงทุนประเภทนี้อีก

เมื่อกิจการแข็งแกร่งขึ้น อาจเสนอขายหุ้นต่อประชาชน (IPO) และนำหุ้นเข้าไปจดทะเบียนซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ (Listing) ซึ่งกองทุนร่วมลงทุนอาจจะขายเงินลงทุนออกในช่วงนี้

แต่หากกิจการไม่มีความประสงค์จะจดทะเบียนซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ กองทุนร่วมลงทุนอาจขายคืนให้กับเจ้าของกิจการ หรือขายคืนให้กับผู้ลงทุนรายอื่นที่มีความสนใจลงทุน ซึ่งประเด็นนี้ก็ต้องตกลงกันให้ดี มิฉะนั้นหากผู้ลงทุนรายใหม่มีแนวทางการดำเนินธุรกิจที่ไม่ตรงกัน อาจจะก่อให้เกิดปัญหาได้

ประเด็นของการร่วมลงทุนจากภาครัฐที่ดิฉันอยากจะฝากไว้มีดังนี้

ประการแรกคือ การลงทุนประเภทเงินร่วมลงทุนหรือ VC นี้ มีความเสี่ยงสูง โดยเฉพาะหากร่วมลงทุนกับวิสาหกิจขนาดย่อม ในต่างประเทศถือเป็นเรื่องธรรมดามากที่กิจการที่ลงทุน จะให้ผลดีเพียง 1 หรือ 2 กิจการ จาก 10 กิจการที่ลงทุน เมื่อเป็นเช่นนี้ ผู้จัดการกองทุนร่วมลงทุน หรือตัวแทนของภาครัฐที่เข้ามาเป็นกรรมการหรือผู้กำกับนโยบาย ต้องได้รับการคุ้มครองว่า

หากเป็นการลงทุนที่เป็นไปโดยใช้ความระมัดระวังเยี่ยงวิญญูชนพึงกระทำแล้ว ผู้จัดการหรือกรรมการเหล่านั้น ไม่ควรต้องรับผิดชอบเป็นการส่วนตัว มิฉะนั้น ดิฉันทำนายว่า จะไม่สามารถหากิจการร่วมลงทุนได้ เพราะเจ้าหน้าที่หรือผู้เกี่ยวข้องจะเกร็งไปหมด และประโยชน์ของกองทุนจะหดหายไปทันที จะมีแต่ข่าวการตั้งกองทุนเพื่อให้กิจการขนาดกลางและขนาดย่อมดีใจและมีความหวังเท่านั้น

ประการที่สอง การดำเนินการควรมีความโปร่งใส ในลักษณะการจ้างให้หน่วยงานเอกชนหรือกึ่งเอกชนดำเนินการ ดิฉันเห็นด้วยกับการอยู่ภายใต้การกำกับของ สำนักงานคณะกรรมการ กลต.

แต่ผู้จัดการกองทุนอาจจะเป็น บริษัทหลักทรัพย์ หรือบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน หรือบริษัทหลักทรัพย์จัดการเงินร่วมลงทุนก็ได้ เนื่องจากการบริหารจัดการเงินร่วมลงทุน ต้องอาศัยประสบการณ์ในการลงทุนและจัดโครงสร้าง ซึ่งเป็นคุณสมบัติที่มีอยู่ในตัวของวาณิชธนากร หรือ Investment Banker ซึ่งอาจจะเป็นหน่วยงานในธนาคารพาณิชย์ หรือบริษัทหลักทรัพย์รูปแบบอื่นๆ ได้

การดำเนินงานเองโดยหน่วยงานภาครัฐ ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานเก่าหรือใหม่ จะก่อให้เกิดประเด็นการแทรกแซงจากหน่วยงานหรือบุคคลภายนอกได้ ผู้ปฏิบัติงานก็มีความลำบากใจ

ประการที่สาม กฎเกณฑ์คุณสมบัติของกิจการที่จะขอรับการสนับสนุนต้องไม่ซับซ้อนหรือเข้มงวดจนเกินไป เช่นต้องการเน้นการจ้างงานในชนบทด้วย ต้องการเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน และสนับสนุนการคิดค้นนวัตกรรมด้วย หลายครั้งคุณสมบัติหรือกฎเกณฑ์เหล่านี้อาจจะขัดแย้งกัน ทำให้กิจการที่ผ่านคุณสมบัติให้พิจารณามีน้อยลง อาจกำหนดให้มีคุณสมบัติ 2 ใน 10 อย่าง ถือว่าผ่านเบื้องต้น เป็นต้น เพราะกิจการยังจะต้องไปผ่านด่านอื่นๆที่ หินและโหด อีกมาก เช่น การมีความโปร่งใส การมีธรรมาภิบาลในการประกอบการ ฯลฯ

ประการที่สี่ อยากให้รัฐตั้งผลตอบแทนที่คาดหวังให้ต่ำกว่ากองทุนร่วมลงทุนทั่วไป เพราะ ณ ปัจจุบัน อัตราดอกเบี้ยก็ต่ำ ต้นทุนเงินของรัฐก็ถูกลง การลงทุนในกิจการในประเทศไทย ไม่ค่อยมีกิจการที่มีนวัตกรรมในลักษณะแปลกใหม่ หรือ Breakthrough เหมือนของซีกโลกตะวันตก เช่น แอปเปิล หรือ เฟซบุ๊ค แต่กิจการของไทย โดยเฉพาะสำหรับผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม จะเป็นกิจการต่อยอด และสร้างมูลค่าเพิ่มเป็นส่วนใหญ่ ดังนั้นจึงยากที่ผู้ลงทุนจะได้รับผลตอบแทนประเภทหลายเท่าตัวของเงินลงทุน

ประการที่ห้า หากต้องการให้ได้ผลสัมฤทธิ์สูง ดิฉันอยากเสนอให้แบ่งกองทุนเป็นหลายกอง โดยแยกตามวัตถุประสงค์ เช่น กองทุนที่เน้นหนักเรื่องเทคโนโลยีและนวัตกรรม กองทุนที่เน้นบริษัทการค้า (Trading Company) และกองทุนที่เน้นการต่อยอดธุรกิจ เช่น การบริการ โลจิสติกส์ หรือกองทุนที่เน้นการสร้างมูลค่าเพิ่มในอุตสาหกรรมการผลิต ที่ไทยเราทำได้อย่างดีเยี่ยมอยู่แล้วแต่อยากทำให้ดียิ่งขึ้น

สาเหตุที่เสนอให้แยก เนื่องจาก ผู้จัดการเงินร่วมลงทุน จะสามารถหาผู้เชี่ยวชาญมาให้คำปรึกษาและแนะนำกิจการต่างๆ ที่ร่วมลงทุนได้ หรือหากยังมีความเหมาะสมไม่ถึงขีดขั้นที่จะลงทุน อาจจะช่วยปั้น ช่วยนวดให้เก่งขึ้นแข็งแรงขึ้น

เพราะจากประสบการณ์ของดิฉัน บางกิจการมาขอรับการสนับสนุนร่วมลงทุน เพราะอยากได้คำแนะนำ อยากขอความช่วยเหลือ หารือปรึกษาในการทำธุรกิจ ซึ่งหากเป็นผู้จัดการกองทุนร่วมลงทุน เราจะไม่มีเวลาทำในเรื่องต่างๆ เหล่านี้ เพราะเป้าหมายอยู่ที่ต้องร่วมลงทุนให้ได้เร็ว ให้ได้ดีที่สุด สิ่งที่ทำได้ก็เพียงแต่ให้คำแนะนำไปหาหน่วยงานที่จะช่วยให้คำปรึกษาได้

หากรัฐจัดตั้งกองทุนร่วมลงทุน ควบคู่ไปกับการตั้งหน่วยงานหรือว่าจ้างหน่วยงานเอกชน ทำหน้าที่ พี่เลี้ยงธุรกิจ ไปพร้อมๆกัน ดิฉันเชื่อว่า วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมหรือ SME ของไทย จะต้องแข็งแกร่งและเป็นกำลังสำคัญของเศรษฐกิจไทย เช่นเดียวกับที่เกิดขึ้นที่ประเทศญี่ปุ่นแน่นอน


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : กองทุนร่วมลงทุน

view