สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

เมื่อเศรษฐกิจโลก อาจเข้าสู่ภาวะ ฟุบยาว

เมื่อเศรษฐกิจโลก อาจเข้าสู่ภาวะ 'ฟุบยาว'

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์




ระยะนี้ผมเขียนเรื่องเศรษฐกิจโลกบ่อย เพราะเศรษฐกิจโลกเริ่มออกอาการว่าอาจจะฟุบยาว คือ ขยายตัวต่ำต่อเนื่อง

ถึงแม้เศรษฐกิจสหรัฐจะฟื้นตัว ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะปัญหาที่เศรษฐกิจโลกมีตั้งแต่เกิดวิกฤติปี 2008 ปัจจุบันยังไม่สามารถแก้ได้ ถึงแม้จะมีการอัดฉีดสภาพคล่องโดยธนาคารกลางประเทศต่างๆ มากมาย และปัญหาสำคัญมากปัญหาหนึ่งก็คือ ระดับหนี้ที่สูงทั้งในสหรัฐและยุโรป ซึ่งได้เป็นข้อจำกัดต่อการสร้างอำนาจซื้อและการขยายตัวของเศรษฐกิจ และถ้าปัญหาหนี้ยังแก้ไม่ได้ เศรษฐกิจโลกก็อาจฟุบยาวคือไม่ขยายตัวมาก นี่คือประเด็นที่จะเขียนวันนี้

ใครที่ติดตามข้อเขียนของผมเรื่องวิกฤติเศรษฐกิจคงจำได้ว่า วิกฤติเศรษฐกิจโดยพื้นฐานแล้วมาจากการก่อหนี้ที่มากเกินไป และเมื่อตลาดการเงินขาดความเชื่อมั่นในความสามารถของประเทศที่จะชำระหนี้ ปัญหาก็เกิดขึ้น ไม่ว่าหนี้นั้นจะเป็นหนี้ภาครัฐ หนี้รัฐวิสาหกิจ บริษัทเอกชน หรือครัวเรือน และในทุกประเทศที่มีการก่อหนี้มาก เศรษฐกิจก็จะใช้จ่ายเกินตัว นำไปสู่การขาดดุลบัญชีเดินสะพัดในระดับที่สูงต่อเนื่อง จนกระทบความเชื่อมั่นของนักลงทุนในเรื่องความสามารถในการชำระหนี้ของเศรษฐกิจ และปะทุขึ้นเป็นวิกฤติในที่สุด นำมาสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยรุนแรง ส่วนการฟื้นตัวจะใช้เวลามากหรือน้อยจะขึ้นอยู่ความสามารถด้านนโยบายที่จะแก้ไขปัญหาเป็นสำคัญ

การปรับตัวหลังวิกฤติปี 2008 ของประเทศประสบวิกฤติเศรษฐกิจ ได้นำไปสู่การตัดทอนการใช้จ่าย การประหยัด และการลดลงของการขาดดุลบัญชีเดินสะพัด ล่าสุด งานวิจัยของกองทุนการเงินระหว่างประเทศที่เผยแพร่ในเดือนตุลาคมชี้ว่า การปรับตัวดังกล่าวได้ทำให้ระดับการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดของประเทศสำคัญๆ เช่น สหรัฐ ลดลง แต่ระดับหนี้ของประเทศยังไม่ลด ตรงกันข้าม เอกสารงานวิจัยของศูนย์ศึกษาสถาบันธนาคารและการเงินระหว่างประเทศ (International Center for Banking and Monetary Studies) ที่ออกเผยแพร่พร้อมๆ กัน ชี้ว่า

นอกจากหนี้ของประเทศอุตสาหกรรมหลักยังไม่ลดแล้ว หนี้ของประเทศตลาดเกิดใหม่กลับเพิ่มสูงขึ้นอีก จากนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศตลาดเกิดใหม่หลังวิกฤติปี 2008 ขับเคลื่อนโดย การลงทุนของภาครัฐ และการไหลเข้าของเงินทุนต่างประเทศ ที่ทำให้สินเชื่อในประเทศขยายตัวมาก นำไปสู่การก่อหนี้และการเติบโตของการใช้จ่าย ประมาณว่าความเป็นหนี้ของประเทศตลาดเกิดใหม่หลังปี 2009 เพิ่มขึ้นร้อยละ 36 และประเทศที่หนี้เพิ่มมากประเทศหนึ่งก็คือ จีน ที่อัตราส่วนหนี้ต่อรายได้ประชาชาติเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 158 ปี 2009 เป็นร้อยละ 227 ปี 2013 โดยเพิ่มขึ้นทั้งหนี้ครัวเรือน หนี้ภาคธุรกิจ และหนี้ภาครัฐ

พลวัตนี้ชี้ว่า ความเป็นหนี้และการขยายตัวของเศรษฐกิจ จะเคลื่อนไหวในทิศทางเดียวแสดงการ Tradeoff ว่าการเติบโตของเศรษฐกิจจะมีต้นทุนอยู่การก่อหนี้ ตรงกันข้าม ถ้าจะลดหนี้ ต้นทุนของการลดหนี้ก็จะต้องมาจากเศรษฐกิจที่ต้องชะลอ เพราะประเทศต้องประหยัด เพื่อหารายได้มาลดหนี้ ในลักษณะนี้ ภาระหนี้สูงจึงเป็นข้อจำกัดมากต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจ

ดังนั้น สิ่งที่เกิดขึ้นหลังปี 2008 ก็คือ หนี้ของประเทศตลาดเกิดใหม่เพิ่มสูงขึ้น จากการกระตุ้นเศรษฐกิจ การสร้างหนี้ใหม่เหล่านี้ได้ประโยชน์จากเงินทุนไหลเข้าที่ถูกกระตุ้นโดยการอัดฉีดสภาพคล่องของธนาคารกลางสหรัฐ นำไปสู่การเติบโตของสินเชื่อและการใช้จ่ายในประเทศ ในลักษณะนี้จึงชัดเจนว่าเงินทุนระหว่างประเทศที่ไหลเข้าออก เป็นกลไกสำคัญที่ทำให้ประเทศก่อหนี้ได้มากขึ้น และอาจนำไปสู่การเกิดวิกฤติ เช่น เงินทุนต่างประเทศที่ไหลเข้าเอเชีย ก็ทำให้เกิดวิกฤติเศรษฐกิจปี 1997 ที่รัสเซียปี 1998 และวิกฤติในสหรัฐปี 2007-2008 ล่าสุด หลังปี 2008 เงินทุนก็ไหลเข้าเอเชีย พร้อมความเป็นหนี้และการขยายตัวของเศรษฐกิจ เช่น จีน ที่ประเทศเติบโตจากการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานที่ขยายตัวมาก จนเกิดกำลังการผลิตส่วนเกิน

จุดที่น่าห่วงขณะนี้ก็คือ เศรษฐกิจประเทศตลาดเกิดใหม่เริ่มชะลอ เพราะเริ่มระมัดระวังการก่อหนี้ที่ได้เพิ่มสูงขึ้น ขณะที่เศรษฐกิจประเทศอุตสาหกรรมหลักส่วนใหญ่ยกเว้นสหรัฐก็ยังไม่ฟื้นตัว ภาวะเช่นนี้ทำให้เศรษฐกิจโลกมีความเสี่ยงที่จะเกิดสภาวะการขยายตัวที่ต่ำต่อเนื่องในระยะข้างหน้า หรือปัญหา Secular Stagnation คือ อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจต่ำ แม้จะมีการอัดฉีดสภาพคล่องโดยธนาคารกลางมากต่อเนื่อง อีกนัยหนึ่งก็คือ แม้จะมีการอัดฉีดสภาพคล่องมากเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจก็ยังต่ำ และจุดที่มีความเสี่ยงมากที่สุดที่จะเกิดปัญหานี้ ก็คือยุโรป ที่เศรษฐกิจถดถอย อัตราเงินเฟ้อต่ำมาก (น้อยกว่า 1 เปอร์เซ็นต์) และอัตราการว่างงานสูงเฉลี่ยร้อยละ 11.5 ประมาณว่า ยุโรปมีคนวัยทำงานที่ไม่มีงานทำขณะนี้กว่า 45 ล้านคน เมื่อไม่มีงานทำก็ไม่มีรายได้ ไม่มีกำลังซื้อ ถึงแม้ธนาคารกลางจะอัดฉีดสภาพคล่องมาก ดังนั้น ปัญหาสำคัญขณะนี้ ก็คือ การขาดกำลังซื้อ (Lack of demand) ที่เป็นปัญหาสำคัญจากระดับหนี้ที่สูง ซึ่งถ้าแก้ไม่ได้ ก็อาจทำให้เศรษฐกิจโลกขยายตัวต่ำหรือฟุบยาว แล้วเราจะแก้ไขปัญหานี้อย่างไร

ทางออกหนึ่งที่เป็นไปได้ แต่คงทำยากถ้ามองจากประเด็นการเมือง ก็คือ การปรับโครงสร้างหนี้ เพื่อให้หนี้ของประเทศที่มีหนี้สูง ลดมาในระดับที่สอดคล้องกับความสามารถของประเทศที่จะชำระหนี้ ซึ่งเป็นวิธีการแก้ไขปัญหาปรกติของลูกหนี้ที่มีปัญหาชำระหนี้ แต่ในระดับประเทศ ประเทศเจ้าหนี้และนักลงทุนที่เป็นเจ้าหนี้คงต้องยินยอมที่จะลดหนี้ ซึ่งคงไม่ง่าย และเป็นไปได้ยากในแง่การเมืองที่ประเทศจะยอมเสียหน้าให้ลดหนี้

อีกทาง ก็คือ การปฏิรูปเศรษฐกิจ ร่วมกับการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานโดยภาครัฐ เพื่อให้เกิดการมีงานทำ การสร้างรายได้ สร้างความพร้อมและแรงจูงใจให้ภาคเอกชนกลับมาลงทุน ซึ่งโมเมนตั้มการลงทุนของภาคเอกชนจะสำคัญต่อการสร้างให้เศรษฐกิจมีการขยายตัว แต่จะทำได้มากหรือน้อยตามแนวทางนี้จะขึ้นอยู่กับระดับหนี้ที่แต่ละประเทศมีเป็นสำคัญ รวมถึงความพร้อมของฝ่ายการเมืองที่จะปฏิรูปเศรษฐกิจ เพราะการปฏิรูปมักจะนำมาสู่การชะลอตัวของเศรษฐกิจในระยะสั้นซึ่งจะเจ็บปวด แต่เศรษฐกิจจะมีพื้นฐานที่เข้มแข็งขึ้นที่จะสนับสนุนการขยายตัวของกิจกรรมภาคเอกชนและเศรษฐกิจในระยะยาว

ที่นำมาเสนอทั้งหมดนี้ ก็เพื่อชี้ว่า เศรษฐกิจโลกขณะนี้มีความเสี่ยงที่จะเข้าสู่สภาวะอัตราการขยายตัวที่ต่ำต่อเนื่องจากนี้ไป ซึ่งจะเป็นโจทย์เศรษฐกิจที่ยากสำหรับทุกประเทศที่ทางออกต้องอาศัยความร่วมมือระหว่างประเทศ ที่ต้องร่วมกันแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : เศรษฐกิจโลก อาจเข้าสู่ภาวะ ฟุบยาว

view