สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ไม่ปิดกั้นต่างด้าวลงทุน (1)

ไม่ปิดกั้นต่างด้าวลงทุน (1)

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์




เมื่อไม่นานมานี้มีบทความลงในหนังสือพิมพ์ไทยรัฐเมื่อ 20 พ.ย. 2557 แสดงความเห็นว่ากระทรวงพาณิชย์

ไม่ได้ปิดกั้นการลงทุนของต่างชาติ ซึ่งเป็นผลมาจากการเสนอข่าวก่อนหน้าว่าตัวแทนของนักธุรกิจต่างชาติทั้งสหรัฐ ยุโรปและญี่ปุ่น “ตบเท้าเข้าพบคนของรัฐบาลไทย” เพื่อลอบบี้ไม่ให้แก้ไขพ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ.2542

ทั้งนี้ บทความกล่าวต่อไปถึงการเสนอแก้ไขกฎหมายดังกล่าวโดยกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ (ซึ่งมีหน้าที่ดูแลกฎหมายฉบับนี้) ว่ามีเป้าหมายหลักคือ “เพื่อส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศเพื่อลดขึ้นตอนการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวในไทยเพื่ออำนวยความสะดวกทางการค้าและการลงทุนและไม่เกิดผลกระทบต่อผู้ประกอบธุรกิจรายเดิมหรือผู้ที่ลงทุนในไทยอยู่ก่อนแล้ว” นอกจากนั้นกรมฯ ก็ยังรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและภาคธุรกิจ หากเป็นเช่นนั้นจริงผมก็ยังมองไม่เห็นว่าทำไมคนต่างชาติที่ทำธุรกิจในไทยจึงคัดค้านการปรับปรุงกฎหมายตามแนวทางดังกล่าว เพราะดูเสมือนว่าจะเป็นประโยชน์และไม่มีโทษกับชาวต่างชาติที่ประกอบธุรกิจในประเทศไทยแต่ประการใด

แต่รายงานข่าวในช่วง 12-15 พ.ย.นั้นกลับพบว่านักธุรกิจต่างชาติมีความกังวลอย่างมาก ซึ่งเรื่องนี้แม้ว่าเวลาจะผ่านมา 3 สัปดาห์แล้ว แต่ผมเห็นว่าเป็นเรื่องสำคัญต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยและอาจจะยังมีความพยายามที่จะแก้ไขพ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวต่อไปอีกจึงขอนำเสนอข้อมูลทั้งสองด้านมาให้อ่านกันในตอนนี้และตอนหน้า

ความกังวลของต่างชาติโดยเฉพาะญี่ปุ่นนั้นทำให้นาย Saito ซึ่งมีตำแหน่งเป็นรองหัวหน้าคณะทูตของญี่ปุ่น (รองจากเอกอัครราชทูตฯ) ให้สัมภาษณ์กับหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ว่าการแก้พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวพ.ศ. 2542 นั้นจะส่งผลกระทบอย่างรุนแรงกับการลงทุนของญี่ปุ่นในไทย โดยกล่าวว่าหากมีการแก้กฎหมายก็จะทำให้การลงทุนร่วมหลายบริษัทต้องตกมาเป็นกรรมสิทธิ์ของคนไทย ซึ่งจะทำให้นักธุรกิจญี่ปุ่นจะต้องตัดสินใจยอมรับการเปลี่ยนความเป็นเจ้าของธุรกิจดังกล่าวหรือจะต้องถอนตัวออกจากการประกอบธุรกิจในประเทศไทย ทั้งนี้นาย Saito แสดงความเห็นว่าในขั้นแรกธุรกิจญี่ปุ่นที่มีอยู่ในไทยในขณะนี้ ส่วนใหญ่อาจตัดสินใจทำธุรกิจต่อไป แต่จะเป็นข้อจำกัดการลงทุนใหม่จากประเทศญี่ปุ่น

ทั้งนี้ นาย Saito ประเมินว่าประมาณ 45% ของบริษัทร่วมลงทุนญี่ปุ่นในไทยซึ่งมีทั้งหมดกว่า 5,000 บริษัทน่าจะได้รับผลกระทบจากการเสนอแก้ไขพ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว กล่าวคือจะกระทบบริษัทญี่ปุ่นกว่า 2,200 บริษัทนั่นเอง แต่ที่สำคัญคือญี่ปุ่นเป็นนักลงทุนต่างชาติลำดับแรกของไทย โดยมีสัดส่วนการลงทุนกว่า 50% ของการลงทุนทั้งหมดจากต่างประเทศ ทั้งนี้ นาย Saito สรุปว่า การเปลี่ยนแปลงกฎหมายอย่างกะทันหันจะทำให้บริษัทญี่ปุ่นหมดความเชื่อถือรัฐบาลไทยและจะกระทบกับบรรยากาศของการทำธุรกิจในประเทศไทย

ในขณะเดียวกัน สภาหอการค้าต่างชาติในไทยกล่าวว่าการเปลี่ยนแปลงแก้ไขพ.ร.บ.ธุรกิจคนต่างด้าวจะส่งสัญญาณว่าประเทศไทยไม่ให้ความสำคัญกับการต้อนรับการลงทุนจากต่างประเทศ ทั้งนี้ สภาหอการค้าต่างชาติแถลงว่า จะไม่ให้การสนับสนุนใดๆ กับข้อเสนอแก้ไขพ.ร.บ.ธุรกิจคนต่างด้าวที่จะส่งผลในการจำกัดสิทธิและผลประโยชน์ของนักธุรกิจต่างด้าว ซึ่งมองได้ว่าเป็นการเสนอแก้กฎหมายให้กีดกัน (protectionist) การลงทุนมากขึ้น และจะทำให้ไทยสวนกระแสการเปิดเสรีของกลุ่มประเทศอาเซียนโดยรวม พร้อมกันนั้น สมาคมนักธุรกิจยุโรปก็แสดงความกังวลว่าการเสนอแก้ไขพ.ร.บ.ธุรกิจคนต่างด้าวจะส่งสัญญาณในเชิงลบ (wrong message negative signal) พร้อมยังแสดงความแปลกใจว่าทำไมฝ่ายไทยจึงไม่ขอปรึกษาหารือกับประเทศที่จะได้รับผลกระทบในกรอบขององค์กรการค้าโลกหรือ WTO ก่อนที่จะมานำเสนอดังที่ปรากฏอยู่ในขณะนี้

จะเห็นได้ว่านักธุรกิจต่างชาติในประเทศไทยแสดงความกังวลอย่างออกหน้าออกตาและใช้คำที่ค่อนข้างจะรุนแรงมาก รวมทั้งมีการออกมาให้สัมภาษณ์ของเจ้าหน้าที่การทูตด้วย ที่น่าสังเกตอีกประการหนึ่งคือการแก้ไขปรับปรุงพ.ร.บ.ธุรกิจต่างด้าวนั้นได้เคยดำเนินการเช่นเดียวกันนี้มาแล้วครั้งหนึ่งในต้นปี 2007 หลังการปฏิวัติรัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน 2006 โดยคณะรัฐมนตรีสมัยนั้นได้อนุมัติการแก้ไขพ.ร.บ.ธุรกิจคนต่างด้าวเมื่อ 9 มกราคม 2008 ตามข้อเสนอของกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งสภาหอการค้าต่างประเทศที่มีสมาชิกรวมทั้งสิ้น 28 ประเทศก็แสดงท่าทีคัดค้านอย่างชัดเจน โดยได้มีการเรียกนักข่าวมารับฟังแถลงการณ์อย่างละเอียดและมีเจ้าหน้าที่การทูตจากประเทศสหรัฐ ญี่ปุ่น จีน แคนาดาและออสเตรเลียมาร่วมแถลงการณ์และ/หรือเป็นพยานในครั้งนั้นอีกด้วย โดยประธานหอการค้าต่างประเทศในสมัยนั้นก็แสดงความผิดหวังอย่างมากกับรัฐบาลไทย ซึ่งเขามองว่าจะส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อการลงทุนของต่างประเทศในไทย

เรื่องนี้กลายเป็นเรื่องใหญ่ต่อไปอีกหลายเดือนโดยรัฐบาลไทยได้พยายามปรับปรุงแก้ไขสาระบางประการแต่นักธุรกิจต่างชาติก็ยังไม่เห็นด้วย จนในที่สุดรัฐบาลไทยก็เลิกล้มการแก้ไขพ.ร.บ.ธุรกิจคนต่างด้าวไปในที่สุด

มาถึงวันนี้บทความในไทยรัฐกล่าวถึงการที่กรมพัฒนาธุรกิจการค้าได้ดำเนินการรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนแล้ว 3 ครั้งและสรุปว่าส่วนใหญ่เห็นตรงกันที่จะแก้ไขคำนิยามของ “คนต่างด้าว” เพราะเป็นจุดอ่อนสำคัญที่ทำให้เกิด “ตัวแทนอำพราง” ในลักษณะ “นอมินี” หรือการที่คนไทยถือหุ้นแทนคนต่างด้าวเพื่อให้คนต่างด้าวสามารถทำธุรกิจต้องห้ามในไทยหรือธุรกิจที่คนต่างด้าวต้องขออนุญาตดำเนินธุรกิจในไทยโดยไม่ต้องขออนุญาตและสรุปว่า เสมือนเป็นการปล้นชาติปล้นสมบัติของคนไทยไปเข้ากระเป๋าคนต่างชาติ โดยมีคนไทยสมรู้ร่วมคิดด้วย

เมื่อมีการกล่าวอ้างเช่นนี้ก็ควรศึกษาให้เข้าใจอย่างถ่องแท้ว่าเท็จจริงเพียงใดและหากเป็นการปกป้องสมบัติของคนไทยจริง ทำไมการแก้ไขพ.ร.บ.ธุรกิจคนต่างด้าวจึงไม่ประสบความสำเร็จตั้งแต่ปี 2007 ซึ่งผมขอนำเสนอข้อมูลรายละเอียดของเรื่องนี้ในครั้งหน้าครับ


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ไม่ปิดกั้น ต่างด้าวลงทุน

view