สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

กรณีศึกษา-ซอยร่วมฤดี-เมื่อชาวบ้านไม่เอาตึกสูง

จาก โพสต์ทูเดย์

โดย....อินทรชัย พาณิชกุล 

สิ้นคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดที่ให้ชาวบ้าน 24 รายในชุมชนซอยร่วมฤดี ชนะคดีที่เป็นโจทย์ยื่นฟ้องผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครและสำนักงานเขตปทุมวัน ฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ หลังออกหนังสือรับรองความกว้างของถนนในซอยร่วมฤดีเกินความเป็นจริง จนทำให้บริษัท ลาภประทาน จำกัด และบริษัท ทับทิมทร จำกัด ผู้ประกอบการโรงแรมดิ เอทัส กรุงเทพ ดำเนินก่อสร้างอาคารใหญ่พิเศษเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด และไม่ยื่นคำขอใบอนุญาต พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 เมื่อวันที่ 2 ธ.ค.ที่ผ่านมา

รอยยิ้มแห่งความปลาบปลื้มยินดีก็พลันปรากฎขึ้น

เป็นความโล่งอกโล่งใจ หลังการต่อสู้อันยืดเยื้อยาวนานกว่า 6 ปีเต็มของชาวบ้านตัวเล็กๆที่ออกมาต่อต้านการสร้างตึกสูงในซอยแคบๆกลางเมืองหลวง

มหากาพย์ซอยร่วมฤดี

ซอยร่วมฤดี เขตปทุมวัน เป็นซอยเก่าแก่มีชื่อเสียงที่ตั้งอยู่ใจกลางกรุงเทพมหานคร

ถือได้ว่าเป็นย่านเศรษฐกิจสำคัญ ไม่ว่าจะโรงแรมระดับ 6 ดาว บริษัทชั้นนำ ห้างสรรพสินค้า ร้านอาหารชื่อดัง รวมถึงแหล่งที่อยู่อาศัยของคนมีฐานะดี ทั้งคอนโดมิเนียม อพาร์ทเมนต์หรู และบ้านเรือนที่อยู่กันมาช้านานตั้งแต่รุ่นบรรพบุรุษ

ทั้งหมดรวมกันอยู่ในซอยเล็กๆอย่างราบรื่นไร้ปัญหา

จนกระทั่งปี 2551 ประชาชนส่วนหนึ่งที่อาศัยอยู่ในซอยร่วมฤดี ได้เข้าร้องเรียนต่อมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคให้ยื่นฟ้องผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และผู้อำนวยการเขตปทุมวัน ฐานใช้อำนาจหรือออกคำสั่งทางปกครองผิดพ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 โดยออกเอกสารรับรองความกว้างของถนนซอยร่วมฤดีเกินกว่าความเป็นจริง และปล่อยให้บริษัทเอกชนคือบริษัท ลาภประทาน จำกัด และบริษัท ทับทิมทร จำกัด ก่อสร้างโรงแรมดิเอทัส กรุงเทพ อาคารสูง 24 ชั้น ซึ่งเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด

ก่อให้เกิดผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมทั้งเสียงดังหนวกหู ฝุ่งละออง การจราจรติดขัด  ทั้งยังสร้างความรู้สึกไม่ปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของชาวบ้านในละแวกนี้เป็นอย่างยิ่ง

ประเด็นสำคัญอยู่ตรงที่กฎหมายกฎกระทรวง ฉบับที่ 33 ตามพ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 ระบุไว้ว่า ซอยที่มีความกว้างไม่เกิน 10 เมตรตลอดแนวไปจนถึงถนนสาธารณะ ไม่สามารถก่อสร้างอาคารที่มีความสูงเกิน 8 ชั้น หรือเกินกว่า 23 เมตรได้

สอดคล้องกับผลการรังวัดถนนภายในซอยร่วมฤดี 8 จุด โดยกรมที่ดิน เมื่อปี 2553 พบว่า ถนนตลอดทั้งแนวมีความยาว 9.146 เมตร 9.207 เมตร 9.949 เมตร 9.434 เมตร 9.492 เมตร 9.150 เมตร 9.658 เมตร และ 9.283 เมตร ตามลำดับ

สรุปง่ายๆ ถนนในซอยร่วมฤดีมีความกว้างไม่ถึง 10 เมตรแน่นอน

คำถามตามมาคือ แล้วทางกรุงเทพมหานคร และสำนักงานเขตปทุมวัน เซ็นอนุมัติให้ดำเนินการก่อสร้างได้อย่างไร

“สมัย 30 ปีก่อน โรงแรมอิมพีเรียลไฟไหม้จนมีคนตาย สาเหตุมาจากรถดับเพลิงคันใหญ่เข้ามาไม่ได้ เพราะซอยคับแคบ การช่วยเหลือผู้ประสบภัย ลำเลียงผู้ป่วยผู้ป่วยเป็นไปอย่างทุลักทุเล ไม่มีใครอยากให้เกิดภาพแบบนี้ขึ้นอีกแล้ว”

นพ.สงคราม ทรัพย์เจริญ แพทย์ประจำพระองค์ สำนักพระราชวัง ผู้เป็นโจทย์ยื่นฟ้องร่วมชาวบ้านที่อยู่อาศัยในซอยร่วมฤดีรวม 24 คน จึงตัดสินใจยื่นฟ้องต่อศาลปกครองกลาง เมื่อวันที่ 23 ก.ย.2553 และศาลพิพากษาให้ชนะคดี

ต่อมา สุรเชษฐ์ วรวงศ์วสุ ผู้บริหารโรงแรมดิ เอทัส กรุงเทพ และเซอร์วิสอพาร์ทเมนต์ ดิ เอทัส เรสสิเดนท์ ได้ยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุด โดยอ้างว่าทางเขตปทุมวันได้ออกหนังสือรับรองว่าซอยมีเขตถนนกว้างเกิน 10 เมตรตลอดแนว จึงเริ่มลงมือก่อสร้างโครงการด้วยเงินลงทุนกว่า 3 พันล้านบาท

อย่างไรก็ตาม หลังการต่อสู้ยืดเยื้อยาวนานกว่า 6 ปีเต็ม ศาลปกครองกลางสูงสุดก็ได้พิพากษาให้ชาวบ้านในชุมชนซอยร่วมฤดีชนะคดี พร้อมมีคำสั่งให้กทม.และสำนักงานเขตปทุมวันดำเนินการรื้อถอนอาคารเจ้าปัญหาภายใน 60 วัน

ชัยชนะของชาวบ้าน

กฤษฎา กิตติพันธ์เลิศ ผู้จัดการอาคารทีเอซี ที่อาศัยอยู่ภายในซอยร่วมฤดีมานานกว่า 15 ปี บอกว่า รู้สึกพึงพอใจในคำพิพากษาที่ให้ความเป็นธรรมแก่ชาวบ้าน

“ผมไม่ได้สะใจอะไร เพราะเราไม่ได้เป็นศัตรูอาฆาตแค้นกัน ไม่มีใครอยากเห็นเขาต้องรื้อตึก หรือถูกทุบทำลายทิ้ง มูลเหตุอยู่ตรงที่ถ้าเขายอมรับฟังความเห็นของคนในชุมชนตั้งแต่แรก ตรวจสอบความกว้างของเขตถนน มีการขออนุญาตก่อสร้างอย่างเรียบร้อยถูกต้อง ความเสียหายคงไม่บานปลายขนาดนี้ ซอยร่วมฤดีเป็นถนนสองเลนสวนทางกัน ที่ผ่านมา มีปัญหาจราจรติดขัดเป็นประจำ ไม่เฉพาะที่ดิ เอทัส แต่เพราะละแวกนี้มีโรงแรมเยอะ ไหนจะงานแต่งงาน งานเลี้ยงใหญ่ แต่ถึงแม้จะมีตึกที่มีความสูงเกิน 8 ชั้น เช่น โรงแรมโนโวเทลและคอนโดมิเนียม ดิ แอทธินี เรสสิเดนซ์ แต่แปลงที่ดินด้านหนึ่งที่ใช้เป็นทางเข้าออกอยู่ติดถนนสาธารณะ นั่นคือ ถนนวิทยุ ซึ่งมีความกว้างเกิน 10 เมตร ก็ถือว่าถูกต้องตามกฎหมาย”

ระหว่างการก่อสร้าง ชาวบ้านได้ร้องเรียนไปยังสำนักงานเขตปทุมวัน แต่ก็ไม่มีเสียงตอบรับใดๆ

สุชาติ ศุภสวัสดิกุล ผู้อยู่อาศัยในซอยร่วมฤดี หนึ่งในโจทย์ร่วมฟ้อง เผยว่า รู้สึกโล่งใจที่ประเทศไทยยังมีศาลยุติธรรมเป็นที่พึ่งสุดท้ายของประชาชน

“เราไม่ได้ฟ้องทางโรงแรม แต่เราฟ้องทางกทม.และเขตปทุมวัน ในฐานะผู้อนุญาตให้ดำเนินการก่อสร้าง จริงๆน่าสงสารเขาด้วยซ้ำไป ลงทุนไปเป็นพันล้าน ทั้งที่รู้ว่าสร้างไม่ได้ แต่เขาอ้างว่าก็กทม.เซ็นอนุมัติ เขาก็ต้องสร้าง ผมว่าคนที่เซ็นอนุมัติควรจะต้องรับผิดชอบมากกว่า ทั้งที่รู้แก่ใจว่าก่อสร้างไม่ได้แต่ยังเซ็นให้  ต้องชดใช้ความผิดมาจ่ายค่าปรับ ถ้าไม่มีก็ติดคุกให้มันเด็ดขาดไปเลย ไม่งั้นข้าราชการไม่มีวันเข็ดหลาบหรอก”

บทเรียนที่ควรศึกษา

คดีนี้จะเป็นตัวอย่างแก่สังคมให้ชาวบ้านช่วยกันสอดส่องดูแลพื้นที่ในละแวกบ้านว่ามีอะไรผิดปกติหรือไม่ แล้วดำเนินการร้องเรียน เพื่อให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องระมัดระวังในการปฏิบัติหน้าที่ให้มากขึ้น

“ผมเชื่อว่ายังมีปัญหาแบบนี้อีกเยอะเป็นร้อยๆแห่ง ไม่เฉพาะอาคารสูง คอนโดมิเนียมที่สร้างผิดกฎหมาย แต่พวกบ้านเรือนที่มีการต่อเติมโดยไม่ได้รับอนุญาตที่แอบซ่อนตามตรอกตามซอยต่างๆ แต่ไม่มีใครไปร้องเรียน ที่สำคัญเจ้าหน้าที่บางคนก็รู้เห็นเป็นใจ”สุชาติ แสดงความมั่นใจ

เฉลิมพงษ์ กลับดี หัวหน้าศูนย์ทนายความอาสา มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า ขั้นตอนจากนี้ ทางกทม.และสำนักงานเขตปทุมวัน จะต้องใช้อำนาจหน้าที่ตามมาตรา 42 แห่ง พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 ที่จะสั่งให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองอาคารดำเนินการรื้อถอนอาคารนั้นทั้งหมดหรือบางส่วนได้ภายในระยะเวลาที่กำหนด ไม่น้อยกว่า 60 วัน

"หากไม่มีการรื้อถอนตามคำสั่ง สำนักงานเขตฯ มีอำนาจขอให้ศาลมีคำสั่งจับกุมและกักขังบุคคลซึ่งไม่ปฏิบัติตามคำสั่งได้ และดำเนินการหรือจัดให้มีการรื้อถอนอาคารดังกล่าวได้เอง โดยที่เจ้าของหรือผู้ครอบครองอาคาร ผู้รับผิดชอบงานออกแบบอาคาร ผู้รับผิดชอบงานออกแบบและคำนวณอาคาร ผู้ควบคุมงาน และผู้ดำเนินการ จะต้องร่วมกันเสียค่าใช้จ่ายในการรื้อถอนทั้งหมด"เฉลิมพงษ์ระบุ

ขณะที่ สิทธิชัย ท้วมสกนธ์  ผู้อำนวยการสำนักงานเขตปทุมวัน เผยว่า  ทางสำนักงานเขตปทุมวันจะต้องรอให้ศาลฯ ส่งคำพิพากษาอย่างเป็นทางการมาให้ทางกทม.ก่อนจะจัดส่งมายังเขตอีกทอดหนึ่งก่อน เพื่อดูว่าจะให้เขตดำเนินการอย่างไรบ้าง

“ตามกฎหมายแล้ว หากเขตสั่งให้รื้อถอน เจ้าของอาคารก็จะต้องทำการรื้อถอนอาคารให้เหลือความสูงได้เพียง 23 เมตร หรือความสูงตึก 7-8 ชั้น เท่านั้น ส่วนของการรื้อถอนอาคารตามที่ศาลสั่งนั้น ขณะนี้ยังไม่สามารถกำหนดได้ว่าเจ้าของอาคารจะทำการรื้อถอนเมื่อใด   เนื่องจากเจ้าของอาคารสามารถอุทธรณ์คำสั่งรื้อถอนอาคารของเขตได้ รวมทั้งอาจจะฟ้องร้องเขตหรือ กทม.กรณีการออกใบอนุญาตก่อสร้างได้อีก ส่งผลให้การรื้อถอนอาจต้องยืดเยื้อออกไป”

ข้อสงสัยที่ว่าจะมีการตั้งคณะกรรมการสอบสวนเจ้าหน้าที่ที่อนุญาตให้มีการก่อสร้างในครั้งนั้นหรือไม่ สัญญา ชีนิมิตร ปลัดกรุงเทพมหานคร (กทม.) บอกว่า ต้องขอดูรายงานจากสำนักงานเขตปทุมวันว่ากระบวนการการอนุญาตเป็นอย่างไร ก่อนจะหารือกับสำนักงานกฎหมายและคดี ว่าควรดำเนินการต่อไปอย่างไร

แม้คดีความดูท่าว่าจะยืดเยื้อไม่จบลงง่ายๆ แต่ผลการตัดสินของศาลปกครองสูงสุดที่ให้ชาวบ้านชนะในครั้งนี้ น่าจะสร้างบรรทัดฐานแก่สังคมได้อย่างมีนัยสำคัญ


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : กรณีศึกษา ซอยร่วมฤดี ชาวบ้าน ไม่เอาตึกสูง

view