สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

เล่าเรื่องในหลวง ขวัญแก้ว วัชโรทัย รองเลขาฯพระราชวัง

จากประชาชาติธุรกิจ

หากต้องการพูดคุยเกี่ยวกับพระราชกรณียกิจของ "พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช" เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 87 พรรษา 5 ธันวาคม 2557 "ประชาชาติธุรกิจ" เชื่อว่าคงไม่มีใครถ่ายทอดเรื่องราวได้ดีไปกว่า 2 พี่น้องตระกูล "วัชโรทัย" อย่าง "แก้วขวัญ" และ "ขวัญแก้ว" อีกแล้ว

เนื่องจากราชเลขาทั้ง 2 ท่าน ต่างถวายงานรับใช้ใกล้ชิดพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมายาวนาน นับตั้งแต่ขึ้นครองราชย์จวบจนกระทั่งขวบปีนี้

ทว่าด้วยความที่ทั้ง 2 ท่านมีภารกิจสนองพระราชดำริของในหลวงมากมาย ไม่อาจปรากฏตัวนั่งลงสนทนาอย่างพร้อมเพรียงกัน ทำให้ "ประชาชาติธุรกิจ" มีโอกาสพูดคุยกับ "ขวัญแก้ว วัชโรทัย" ผู้น้อง ที่ปัจจุบันดำรงตำแหน่ง "รองเลขาธิการพระราชวัง ฝ่ายกิจกรรมพิเศษ" เพียงคนเดียวเท่านั้น

แต่ในทางกลับกันของการได้พูดคุยกับขวัญแก้วก็ถือเป็นจังหวะเวลาที่ดี เพราะ "มูลนิธิการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียมในพระบรมราชูปถัมภ์" ซึ่งรองเลขาธิการพระราชวังท่านนี้เป็นหัวหอกหลักมาตั้งแต่ต้น กำลังนับถอยหลังเดินทางก้าวเข้าสู่ปีที่ 20 ของการดำเนินงานกระจายความรู้สู่ท้องถิ่นทุรกันดาร ตามพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอย่างพอดิบพอดี ทำให้มีประเด็นใหญ่ให้แลกเปลี่ยนกันพอสมควร

ขวัญแก้ว ที่วันนี้มีตำแหน่งเป็นทั้งรองเลขาธิการพระราชวังฯ, นายกมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ในพระบรมราชูปถัมภ์, ประธานกรรมการบริหารมูลนิธิการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียมในพระบรมราชูปถัมภ์ รวมทั้งประธานกรรมการบริหารและผู้จัดการโรงเรียนวังไกลกังวล เล่าย้อนถึงช่วงเวลาเริ่มต้นเข้ามาทำงานรับใช้ข้างกายในหลวงอย่างคร่าว ๆ ว่า



"ผมทำงานอยู่กับพระเจ้าอยู่หัวมาตั้งแต่อายุ 17 จนถึงบัดนี้ โดยหน้าที่ของผมคือการถ่ายภาพถวายพระเจ้าอยู่หัว ทำให้มีโอกาสได้ติดตามท่านไปทุกหนทุกแห่ง ก่อนจะมีโอกาสได้ติดตามท่านไปยังประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เพื่อทรงศึกษาเพิ่มเติมหลังขึ้นครองราชย์ได้ไม่นาน ซึ่งผมได้รับพระมหากรุณาธิคุณเป็นนักเรียนในพระบรมราชูปถัมภ์ ให้เรียนต่อทางด้านวิชาการบริหารโรงแรมจากโรงเรียนสอนวิชาการโรงแรม ในเมืองโลซาน"

หลังจากตามเสด็จฯไปยังสวิตเซอร์แลนด์แล้ว ขวัญแก้วจึงได้เข้ารับราชการที่สำนักพระราชวังเต็มตัวในปี 2493 ก่อนจะรับหน้าที่เป็นหัวหน้าสถานีวิทยุ "อ.ส.พระราชวัง" ทำหน้าที่แจ้งเหตุสำคัญ เช่น การเกิดโรคโปลิโอระบาดในปี 2495, อหิวาตกโรคในปี 2501 และวาตภัยที่แหลมตะลุมพุกในปี 2505 อันเป็นต้นกำเนิดของมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ในพระบรมราชูปถัมภ์ ในเวลาต่อมา

"คนส่วนใหญ่ในปัจจุบันมักจะจดจำผมได้ในตำแหน่งรองเลขาธิการพระราชวัง และอาจรวมถึงเป็นประธานมูลนิธิการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียมเท่านั้น แต่ไม่ค่อยมีใครทราบว่าผมเป็นหนึ่งในช่างภาพส่วนพระองค์ ซึ่งเป็นทีมเดียวกันกับอาณัติ บุนนาค"

รองเลขาธิการสำนักพระราชวังกล่าวถึงจุดเริ่มต้นของมูลนิธิการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียมฯว่า พระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำริถึงโครงการนี้ หลังจากมีการทูลขอชื่อพระราชทานดาวเทียมดวงแรกของเมืองไทยอย่าง "ไทยคม" ประกอบกับการศึกษาของเมืองไทยยังมีเรื่องการขาดแคลนครู ทำให้ไม่สามารถกระจายความรู้ได้อย่างทั่วถึงและยังไม่ถูกแก้ไข พระเจ้าอยู่หัวจึงทรงมีพระราชดำริให้ก่อตั้งมูลนิธิการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียมในอีก 2 ปีถัดมา (2538)

การดำเนินงานของมูลนิธิการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียมนั้น เป็นการถ่ายทอดการสอนในโรงเรียนวังไกลกังวลผ่านดาวเทียมไปทั่วประเทศในช่อง DLTV เพื่อแก้ปัญหาให้กับโรงเรียนขนาดเล็ก หรืออยู่ในถิ่นทุรกันดารที่ขาดแคลนครู ช่วยให้เด็กสามารถเรียนหนังสือได้อย่างทั่วถึงและเท่าเทียมกัน

"การสอนของมูลนิธิการศึกษาทางไกลฯ ไม่ได้ให้ประโยชน์กับเด็กนักเรียนเท่านั้น แต่ยังส่งผลดีให้กับคนทั่วไปที่ใฝ่การเรียนรู้เปิดโทรทัศน์ช่องของเรามาดูด้วย ยกตัวอย่างการสอนภาษาที่มี 5 ภาษา คืออังกฤษ, ฝรั่งเศส, เยอรมัน, ญี่ปุ่น และจีน ที่มีคนขับรถสามล้อเครื่องในภูเก็ตเล่าให้ฟังว่า เข้ามาเรียนภาษาญี่ปุ่น เพราะต้องการนำไปสื่อสารกับนักเที่ยวญี่ปุ่นที่เริ่มมีมากขึ้น ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ดีและคุ้มค่ามากกับการเกิดการทำงานตรงนี้ของมูลนิธิ"

ขวัญแก้วกล่าวว่า เพื่อให้องค์ความรู้และการศึกษากระจายไปอย่างทั่วถึง พระเจ้าอยู่หัวทรงแนะนำให้ขยายช่วงเวลาออกอากาศ จากเดิมที่เริ่ม 7 โมงเช้าจนถึง 4 ทุ่ม ให้เปลี่ยนเป็นออกอากาศตลอดทั้ง 24 ชั่วโมง เป็นการรองรับกับกลุ่มคนที่ไม่สะดวกรับชมในช่วงเวลากลางวัน

หลังจาก DLTV ออกอากาศไปสักระยะหนึ่งแล้ว รองเลขาธิการพระราชวังฯท่านนี้กล่าวเพิ่มเติมว่า พระเจ้าอยู่หัวได้รับสั่งถึงปัญหาของการเรียนผ่านทางไกลขณะนั้นว่า ครูผู้สอนพูดเร็วเกินไป เพราะต้องไม่ลืมว่า คนที่ได้ดูนั้นมีตั้งแต่เหนือสุด, ใต้สุด, ตะวันออก, ตะวันตก ซึ่งมีความแตกต่างกันทางด้านสำเนียง ทำให้บางคนฟังไม่ทัน ท่านจึงได้รับสั่งแนะนำให้เริ่มจากการจัดทำคู่มือครูผู้สอนให้เหมือนกันทั้งหมด ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความห่วงใยประชาชนเป็นอย่างมาก

"นอกจากเรื่องการศึกษาของคนภายในประเทศแล้ว ท่านยังเป็นห่วงคนไทยในปัจจุบันเป็นอย่างยิ่ง เพราะตอนนี้ดูเหมือนว่าคนทั้งประเทศจะเต็มไปด้วยความเครียด เพราะช่วงที่ผ่านมามีปัญหาหลายอย่างเข้ามาต่อเนื่องกันนานหลายปี"

ทว่าการทำงานตามพระราชดำริของในหลวงก็ไม่ใช่เรื่องง่ายอย่างคิด ขวัญแก้วอธิบายว่า งานแต่ละชิ้นนั้นต้องทำให้คนทั่วไปเข้าใจเป้าหมายก่อน เพราะไม่ใช่แค่หยิบโครงการขึ้นมาแล้วบอกว่า

"นี่เป็นงานของพระเจ้าอยู่หัว" แล้วทุกอย่างจะจบ แต่จำเป็นต้องเอาเหตุและผลมากางชี้แจงประกอบ เพื่อให้ภาครัฐและประชาชนมีความเข้าใจตรงกัน รวมทั้งแลกเปลี่ยนความคิดเห็นจนได้จุดที่ลงตัวกับทุกฝ่าย

"ไม่มีใครที่ชอบถูกสั่งถูกป้อนให้ทำอย่างนั้นอย่างนี้เพียงฝ่ายเดียวอยู่แล้ว ดังนั้น การทำงานที่เกิดผลลัพธ์ที่ดีสุดคือทำให้เขาเข้าใจ และเห็นพ้องไปกับงานแต่ละอย่างในทิศทางเดียวกัน ซึ่งตรงนี้เป็นจุดที่สำคัญมากในการทรงงานของพระเจ้าอยู่หัว" ขวัญแก้วอธิบายถึงแนวคิดการทำงานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เป็นการปิดท้ายบทสนทนา


-----------------

เพลง ของ พ่อ

ในแต่ละปีเมื่อถึงวันพ่อแห่งชาติ หรือวันคล้ายวันพระบรมราชสมภพของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จะมีบริษัท องค์กร ภาครัฐจัดทำบทเพลงเทิดพระเกียรติขึ้นมารวม ๆ กันแล้วเป็นปีละหลายเพลง หลาย ๆ เพลงได้ยินอยู่ปีเดียวแล้วหายไป แต่หลาย ๆ เพลงผ่านมานานหลายปีก็ยังดังก้องอยู่ในหัวคนไทยมาจนถึงทุกวันนี้ มาดูกันว่าเพลงเทิดพระเกียรติระดับตำนานที่เรายังจำและยังร้องกันได้จนทุกวันนี้ใช่เพลงเดียวกันหรือเปล่า...

"ต้นไม้ของพ่อ" เพลงนี้ไม่ใช่เพลงวันพ่อ แต่เป็นเพลงที่สร้างสรรค์ขึ้นเพื่อร่วมเฉลิมพระเกียรติที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงครองราชสมบัติครบ 50 ปี เมื่อ พ.ศ. 2539 แต่งคำร้องโดยนิติพงษ์ ห่อนาค นักแต่งเพลงมือทองของเมืองไทย โดยมีอภิไชย เย็นพูนสุข แต่งทำนองและเรียบเรียงดนตรี และได้ซุป′ตาร์เบิร์ด ธงไชย เป็นผู้ขับร้อง

เนื้อเพลงว่าด้วยความระลึกซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ทรงทำเพื่อคนไทย จนเกิดเป็นแรงผลักดันให้ตั้งใจจะดำเนินรอยตามพระราชดำริ

"พ่อใช้เหงื่อแทนน้ำรดลงไป เพื่อให้ผลิดอกใบออกผล ให้เราทุก ๆ คนเติบโตอย่างร่มเย็นในบ้านเรา" ได้ยินแค่นี้ก็น้ำตาร่วงกันทั้งแผ่นดินแล้ว

ตามมาด้วยเพลง "ของขวัญจากก้อนดิน" อีกหนึ่งเพลงที่ยังได้ยินบ่อย ๆ และเรียกน้ำตากันต่อเนื่องมาถึงปัจจุบัน เป็นเพลงเฉลิมพระเกียรติในโอกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ 6 รอบ หรือ 72 พรรษา เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2542 แต่งคำร้องโดยนิติพงษ์ ห่อนาค ขับร้องโดย เบิร์ด ธงไชย อีกเช่นกัน

เพลงนี้ได้รับแรงบันดาลใจมาจากพระนาม "ภูมิพล" ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งแปลว่า "พลังแห่งแผ่นดิน" ผู้แต่งพูดถึงมุมที่ว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเป็นศูนย์รวมจิตใจของคนไทยทุกหมู่เหล่า แล้วจูงใจให้คนไทยสามัคคี เพื่อถวายเป็นของขวัญแด่พระองค์ท่าน ดังเนื้อเพลงที่ว่า

"เราก็รู้ พ่อต้องเหนื่อยสักเพียงไหน ต้องลำบากใจกาย ไม่เคยสิ้น เพราะพ่อรู้ พ่อคือพลังแห่งแผ่นดิน ให้เราพออยู่พอกินกันต่อไป หากจะหาของขวัญให้พ่อสักกล่อง เราทั้งผองจะพร้อมกันได้ไหม บวกกันเป็นดินเดียว ให้พ่อได้สุขใจ ไม่ต้องเหนื่อยเกินไปอย่างที่เป็นมา"

"King of Kings" เพลงนี้ก็ไม่ใช่เพลงวันพ่อ แต่เป็นเพลงพิเศษในอัลบั้ม H.M.Blues ซึ่งเป็นอัลบั้มพิเศษที่นำเพลงพระราชนิพนธ์มาถ่ายทอดใหม่ เพื่อเทิดพระเกียรติที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงครองราชสมบัติครบ 60 ปี เมื่อ พ.ศ. 2549 ที่ควบคุมการผลิตโดยพงศ์พรหม สนิทวงศ์ ณ อยุธยา เจ้าของฉายาพ่อมดแห่งวงการดนตรีเมืองไทย พงศ์พรหมแต่งทำนองและเรียบเรียง โดยมีสุรักษ์ สุขเสวีเขียนคำร้อง และได้นักร้องชื่อดังถึง 24 คนมาขับร้องร่วมกัน ออกมาเป็นเพลงที่ไพเราะและยิ่งใหญ่ ทั้งในพาร์ตเนื้อร้องที่พูดถึงความยิ่งใหญ่ของพระเจ้าอยู่หัวที่ทรงปกครองแผ่นดินด้วยทศพิธราชธรรม จนได้รับการเทิดทูนเหนือราชาทั้งปวง ส่วนในพาร์ตดนตรีนั้นก็ยิ่งใหญ่ในสุ้มเสียงแบบเวิลด์มิวสิก ไม่เสียยี่ห้อพงศ์พรหม สนิทวงศ์ ณ อยุธยา


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : เล่าเรื่องในหลวง ขวัญแก้ว วัชโรทัย รองเลขาฯพระราชวัง

view