สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

จับตา7ปัจจัยสำคัญ กำหนดทิศทางศก.ไทยปี58

จับตา7ปัจจัยสำคัญ กำหนดทิศทางศก.ไทยปี58

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์




สวัสดีครับท่านผู้อ่านทุกท่าน กลับมาเจอกันอีกครั้งในเดือนสุดท้ายของปี

ครั้งนี้ผมถือโอกาสเขียนถึงแนวโน้มเศรษฐกิจปีหน้าที่ทาง TISCO ประเมินไว้นะครับ ก่อนอื่นขอสรุปคร่าวๆ กับสิ่งที่เกิดขึ้นในปี 2014 ก่อนนะครับ

แน่นอนว่าในปี 2014 ที่กำลังจะจบลงมีปัจจัยและเหตุการณ์ในแง่ลบที่เกิดขึ้นมากมาย ?เศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งแรกของปี 2014 ซบเซาจากปัญหาทางการเมือง และผลนโยบายจำนำข้าว นโยบายรถคันแรก ที่แม้ตัวนโยบายจะจบลงไปแล้วแต่ผลกระทบที่ตามมาไม่ได้จบลงไปด้วย โดยผลกระทบเหล่านี้ยังมีผลต่อเนื่องในช่วงครึ่งหลังของปีด้วย ซึ่งโดยรวมแม้ช่วงครึ่งหลังเศรษฐกิจไทยจะเริ่มประคองตัวได้ แต่การฟื้นตัวยังเป็นไปแบบค่อนข้างช้า

ทั้งนี้เรามองว่าเศรษฐกิจในไตรมาส 4/2014 น่าจะเห็นการบริโภค และการลงทุนของเอกชนที่เพิ่มขึ้น แต่ไม่น่าจะเพียงพอที่จะทำให้เศรษฐกิจทั้งปีขยายตัวได้เกิน 1% (TISCO ESU คาดว่า เศรษฐกิจปี 2014 จะขยายตัวได้เพียง 0.7%)

สำหรับปี 2015 เรามองว่าจะมี 7 ปัจจัยสำคัญที่จะเป็นตัวกำหนดทิศทางเศรษฐกิจไทย

1. แรงถ่วงจากนโยบายรถคันแรกซึ่งทำให้ยอดขายรถยนต์ในประเทศหดลงค่อนข้างแรงในปีนี้น่าจะมีผลกระทบต่อไปในปีหน้า

2. การบริโภคน่าจะฟื้นตัวได้บ้างจากกลุ่มรายได้ปานกลางและรายได้สูง เนื่องจากรายได้ของคนกลุ่มนี้ได้รับผลกระทบน้อยกว่ากลุ่มรายได้น้อย. และมีการก่อหนี้เมื่อเทียบกับรายได้น้อยกว่าด้วย

3. การส่งออกไทยน่าจะโตได้แต่คงเป็นการโตแบบค่อยเป็นค่อยไป. เนื่องจากคู่ค้าหลักบางประเทศชะลอตัวลง (จีน และ อาเซียน) รวมถึงสินค้าส่งออกหลักบางประเภทเริ่มไม่เป็นที่ต้องการของตลาดโลก

4. การท่องเที่ยวฟื้นตัวได้แต่ด้วยกฎอัยการศึกการฟื้นตัวอาจเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป รวมถึงนักท่องเที่ยวกลุ่มหลักอย่างรัสเซียมีปัญหาเศรษฐกิจในประเทศค่อนข้างหนัก

5. การเลือกตั้งอาจถูกเลื่อนออกไป

6. ด้วยราคาน้ำมันโลกที่ลดลงอย่างมาก เงินเฟ้อน่าจะอยู่ในระดับต่ำ และด้วยเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวค่อนข้างช้าและหนี้สินครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง เรามองว่าดอกเบี้ยนโยบายน่าจะคงอยู่ที่ระดับ 2% จนถึงปลายปี 2015

7. โครงการโครงสร้างพื้นฐานที่น่าจะเริ่มก่อสร้างได้ก่อนน่าจะเป็นโครงการส่วนต่อขยายจากโครงการเดิม เช่น รถไฟฟ้าและรถใต้ดิน

โดยรวมเรามองว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในปีหน้ามีแน่ๆครับ เศรษฐกิจน่าจะโตได้ประมาณ 4.5% แต่การฟื้นตัวจะไม่ได้เกิดในทุกส่วนของภาคเศรษฐกิจ ผมขอลงรายละเอียดดังนี้นะครับ

การบริโภคขยายตัวดีขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มผู้ที่รายได้ระดับกลางและสูง การบริโภคของภาคครัวเรือนโดยเฉพาะกลุ่มที่มีรายได้ระดับกลาง และสูงน่าจะฟื้นตัวได้ก่อน หนุนโดยค่าจ้าง และความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่ปรับดีขึ้นต่อเนื่อง อย่างไรก็ดี การบริโภคในภาพรวมยังคงได้รับแรงกดดันจากรายได้ภาคเกษตรที่ตกต่ำ หลังราคาข้าวและยางพาราชะลอตัวต่อเนื่อง และมีข้อจำกัดทางการใช้จ่ายจากหนี้ภาคครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูงโดยเฉพาะกลุ่มผู้มีรายได้น้อย

การลงทุนมีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป;อุตสาหกรรมยานยนต์ยังคงมีผลกระทบจากโครงการรถคันแรก โดยปัจจัยการปรับโครงสร้างภาษีสรรพสารมิตรรถยนต์น่าจะมีผลต่อการตัดสินใจซื้อรถยนต์ในปี 2015 ค่อนข้างมาก

ผลกระทบจากมาตรการรถคันแรก ส่งผลให้การลงทุนหดตัวต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมา และน่าจะยังส่งผลกระทบต่อไปในปีหน้า เราจึงเชื่อว่าการลงทุนในปีหน้าจะมีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป อีกประเด็นที่น่าสนใจเกี่ยวกับอุตสาหกรรม ภาครัฐมีแผนปฏิรูปโครงสร้างภาษีรถยนต์ใหม่ในช่วงต้นปี 2016 (เปลี่ยนจากเก็บตามขนาดกระบอกสูบมาเป็นเก็บตามการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์) ซึ่งจะทำให้รถยนต์นั่งขนาดใหญ่และรถกระบะมีราคาแพงขึ้น เรามองว่าการปรับราคาขึ้นดังกล่าวอาจนำมาสู่อุปสงค์ล่วงหน้าในรถยนต์ขนาดใหญ่เหล่านั้นในช่วงครึ่งหลังของปี 2015(ก่อนแผนใหม่นี้จะมีผลบังคับใช้ ปี 2016)

ด้านการลงทุนของภาครัฐ เรามองว่าจะได้เห็นการดำเนินงานที่ชัดเจนมากขึ้น โดยเฉพาะโครงการส่วนต่อขยายของรถไฟฟ้ามหานคร และรถไฟฟ้าบีทีเอส

การส่งออกมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกนำโดยสหรัฐ การส่งออกของไทยในปีหน้าจะได้รับปัจจัยบวกจาก อุปสงค์ภายนอกประเทศที่เพิ่มขึ้น หลังเศรษฐกิจสหรัฐ กลับมาแข็งแกร่งหนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก อีกทั้งมีแรงหนุนจากเงินบาทที่อ่อนค่าขึ้น ตามความคาดหวังว่า ธนาคารกลางสหรัฐ จะประกาศขึ้นดอกเบี้ยในช่วงครึ่งหลังของปีหน้า

อย่างไรก็ดีอัตราการเติบโตจะไม่สูงเหมือนเช่นในอดีต เนื่องจาก บางสินค้าการส่งออกเผชิญปัญหาโครงสร้างการผลิต อาทิ ฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ (ตลาดโลกตอบสนองต่อสินค้าลดลง) และรถยนต์ขนาดกลาง (ส่งออกไปยังอินโดนีเซียลดลงเนื่องจากอินโดนีเซียสามารถผลิตในประเทศเพิ่มขึ้น) ด้านการนำเข้าน่าจะฟื้นตัว ตามแนวโน้มการลงทุนที่ดีขึ้น ส่วนภาคท่องเที่ยวมีแนวโน้มดีขึ้นจากความไม่แน่นอนทางการเมืองที่ลดลง แต่ยังคงมีปัจจัยเสี่ยงจากกฎอัยการศึก และเศรษฐกิจรัสเซียที่ชะลอตัว


เศรษฐกิจที่ฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป และเงินเฟ้อที่ลดลง น่าจะทำให้ กนง. ยังคงดอกเบี้ยในระดับต่ำที่ 2% ตลอดทั้งปี 2015 เศรษฐกิจที่ฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป กอปรกับอัตราเงินเฟ้อที่ชะลอลง เราคาดว่า กนง. น่าจะคงอัตราดอกเบี้ยที่ 2% ตลอดทั้งปี 2015 และแม้ว่าอัตราดอกเบี้ยในสหรัฐ มีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นในปีหน้า อาจเพิ่มแรงกดดันต่ออัตราดอกเบี้ยของไทย แต่เรามองว่าด้วยภาวะชะลอตัวของสินเชื่อ และหนี้ภาคครัวเรือนที่เร่งตัวขึ้น การขึ้นดอกเบี้ยเร็วเกินไป อาจทำให้ภาคครัวเรือนได้รับผลกระทบได้ ดังนั้นการปรับขึ้นดอกเบี้ยน่าจะถูกเลื่อนออกไป


สำหรับปัจจัยเสี่ยงเรามองว่าเศรษฐกิจไทย ยังคงต้องเผชิญกับปัจจัยเสี่ยง ดังนี้ 1) การส่งออกที่ฟื้นตัวช้า อาจกดดันการลงทุนของภาคเอกชนให้ชะลอตัว และฉุดอุปสงค์ภายในประเทศ 2) ความไม่แน่นอนทางการเมืองอาจสูงขึ้นหากมีการเลื่อนการเลือกตั้งออกไป และ 3) ความเสี่ยงทางด้านกฎหมาย จากการปรับกฎระเบียบใหม่ เช่น การปรับโครงสร้างพลังงาน อัตราภาษี VAT การเลื่อนปรับโครงสร้างภาษีรถยนต์ และการประมูลโครงการ 4G


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : จับตา7ปัจจัยสำคัญ กำหนดทิศทาง ศก.ไทยปี58

view