สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

การสนับสนุนวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม

การสนับสนุนวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์




หลังจากสัปดาห์ที่แล้วที่เขียนถึงกองทุนร่วมลงทุนมีผู้สอบถามและหารือประเด็นเกี่ยวกับกฎเกณฑ์และความช่วยเหลือต่างๆ

ที่วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ SME ต้องการมาหลายท่าน

ดิฉันเห็นว่าการแสดงความคิดเห็นไว้ในคอลัมน์นี้น่าจะเป็นประโยชน์ จึงขอนำมาแบ่งปันช่วยกันคิดค่ะ

หากต้องการให้วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมเป็นกลไกหนึ่งในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในระยะต่อไป มีประเด็นที่อยากนำเสนอให้ผู้เกี่ยวข้องพิจารณาดังนี้

ประการแรก แก้ไขนิยามของ วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมก่อน นิยามนี้ใช้มากว่าสิบปี คือใช้มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2545 และเมื่อมีการระบุถึงจำนวนเงิน ค่าของเงินก็ลดลงเรื่อยๆ ขนาดของกิจการที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจก็ต้องมีขนาดพอสมควร

วิสาหกิจขนาดย่อม ตามนิยามในพระราชบัญญัติส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม คือวิสาหกิจ หรือกิจการการผลิต หรือ การบริการ ที่มีมูลค่าสินทรัพย์ถาวรไม่เกิน 50 ล้านบาท มีการจ้างงานไม่เกิน 50 คนหรือหากเป็นกิจการค้าส่ง ต้องมีการจ้างงานไม่เกิน 25 คน

หากเป็นกิจการค้าปลีก ขนาดจะเล็กลงมาอีกค่ะ คือ มีมูลค่าสินทรัพย์ถาวรไม่เกิน 30 ล้านบาทและการจ้างงานไม่เกิน 15 คน

สำหรับ วิสาหกิจขนาดกลาง นั้น ตามนิยามกำหนดไว้ให้มีสินทรัพย์ถาวร เกิน 50 ล้านบาท แต่ไม่เกิน 200 ล้านบาท หากเป็นกิจการผลิตและบริการ และหากเป็นกิจการค้าส่ง ต้องมีการจ้างงาน 26 คนขึ้นไป แต่ไม่เกิน 50 คน และสินทรัพย์ถาวร ไม่เกิน 100 ล้านบาท

สำหรับกิจการค้าปลีกขนาดกลางนั้น ต้องจ้างงาน 16-30 คน และมีสินทรัพย์ถาวรไม่เกิน 60 ล้านบาท

ถามว่านิยามมีความหมายอะไรไหม จริงๆ แล้วก็ไม่มีความหมายอะไร เพราะเวลาเราทำธุรกิจ เราไม่ได้คำนึงถึงว่าเราจะต้องมีขนาดไม่เกินเท่านี้เท่านั้น หากเราต้องโต เพราะมีโอกาสเข้ามา เราก็ต้องหาแหล่งเงินทุนเพิ่ม ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มทุน หรือกู้ยืม แต่ประเด็นอยู่ที่การให้สิทธิประโยชน์ หรือการส่งเสริมค่ะ รัฐจะใช้นิยามในการกำหนดสิทธิประโยชน์ หรือการส่งเสริม ทุกครั้ง

ดังนั้น หากกิจการใดไม่เข้าอยู่ในนิยาม ก็จะไม่มีสิทธิได้รับการส่งเสริมหรือเรียกร้องสิทธิประโยชน์ได้ การตั้งนิยามเรื่องขนาดจึงควรมีมิติของเวลาเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย และควรจะปรับปรุงเป็นระยะๆ ให้เข้ากับสถานการณ์ เช่นเดียวกับค่าปรับต่างๆ หากเรากำหนดเอาไว้ในกฎหมาย หากต้องการแก้ไขจะใช้เวลา และอาจจะทำให้ค่าปรับนั้นๆ ดูเป็นเงินจำนวนเล็กน้อยจนคนไม่กลัวที่จะต้องถูกปรับ เป็นต้น

เป็นไปได้ไหมว่า เรามีเพียงกรอบกว้างๆสำหรับนิยามของ SME และให้มีการปรับนิยามที่เป็นตัวเลขได้เมื่อเวลาเปลี่ยนไป เพราะสินทรัพย์ถาวรอาจไม่เป็นปัจจัยที่จำเป็นของธุรกิจดิจิทัลบางอย่าง เนื่องจากใช้การดำเนินการในลักษณะจ้างผู้อื่นทำ หรือ Outsourcing ในขณะที่อุตสาหกรรมการผลิตต้องใช้สินทรัพย์ถาวรที่มีมูลค่าสูง

ประการที่สอง คือเรื่องการเตรียมทรัพยากรมนุษย์สำหรับการเป็นผู้ประกอบการ เดี๋ยวนี้ฝรั่งเขาถือว่าการให้คนเรียนรู้เรื่องการประกอบธุรกิจเป็นเรื่องสำคัญ ไม่ว่าเขาจะเป็นผู้ประกอบการ ข้าราชการ ลูกจ้าง หรือพนักงานในองค์กรใดก็ตาม การเรียนรู้และเข้าใจธุรกิจ จะช่วยให้เห็นภาพรวมของการทำธุรกิจ รับทราบกลไกและบทบาทของหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง

การแสวงหาผลกำไรในธุรกิจไม่ใช่เรื่องเลวร้ายอย่างที่บางคนมอง ตรงกันข้าม ธุรกิจทำให้เกิดการจ้างงาน ทำให้คนมีงานทำ ครอบครัวมีรายได้ คุณภาพชีวิตดีขึ้นกว่าการไม่มีงานทำ และแน่นอนว่ายิ่งธุรกิจมีความมั่นคง ชีวิตของพนักงานและผู้เกี่ยวข้องก็ควรจะยิ่งดีขึ้น

ข้อสำคัญคือ การสร้างนักธุรกิจที่มีจริยธรรม เข้าใจและยอมที่จะแบ่งปันผลตอบแทนในกับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องอย่างยุติธรรม ลูกค้าได้รับความพึงพอใจในสินค้าหรือบริการ พนักงานได้รับผลตอบแทนที่เป็นธรรม คู่ค้าไม่ถูกกดขี่ ชุมชนไม่ได้รับผลกระทบในทางลบจากธุรกิจ และสภาพแวดล้อมไม่ถูกทำลาย ในขณะที่ผู้ถือหุ้นก็พึงพอใจต่อผลตอบแทนที่ได้รับจากเงินลงทุน

ในมุมนี้ ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องต้องรู้บทบาท สิทธิ และหน้าที่ของตัวเอง และเคารพในบทบาทและหน้าที่ของผู้อื่น ส่วนใหญ่ที่มีปัญหาเกิดขึ้น มักจะเกิดจากการมองเฉพาะบทบาทและสิทธิของตนเอง โดยลืมหน้าที่ไป ยกตัวอย่างการประท้วงของนักบินของสายการบินแห่งหนึ่งในยุโรปเมื่อไตรมาสที่สามของปีนี้ หากพนักงานมองเห็นถึงความเสียหายที่จะเกิดขึ้นจากการประท้วงหยุดงาน นักบินจะไม่ประท้วงแน่นอน เพราะความเสียหายเหล่านี้ ยิ่งทำให้บริษัทไม่มีเงินจะจ่ายเป็นผลตอบแทนให้ตามที่เรียกร้อง และบริษัทเสียชื่อเสียง ผู้โดยสารเข็ดหลาบ หนีไปใช้บริการของสายการบินอื่น ในกรณีแย่ที่สุด ก็อาจจะขาดทุนถึงกับต้องปิดการดำเนินการ และพนักงานทั้งบริษัทต้องไปหางานใหม่ทำ อย่างที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วในหลายๆ ประเทศ

ประการที่สาม การมองยุทธศาสตร์ในภาพกว้างขึ้นSME ของเราส่วนใหญ่จะดำเนินธุรกิจในส่วนของตัวเอง ดิฉันเห็นว่า การมีที่ปรึกษาช่วยดูว่า ควรควบรวมกิจการที่มีลักษณะคล้ายกัน หรือมีความต่อเนื่องกัน หรือไม่ เพื่อทำให้กิจการมีความแข็งแกร่ง ทั้งทางด้านทุน ทรัพยากรบุคคล และมีความได้เปรียบในการแข่งขันมากขึ้น โดยเฉพาะในบริบทที่เราสามารถขยายไปยังตลาด AEC ได้ ที่ดิฉันเคยเสนอไว้หลายปีแล้วในเรื่องของ การร่วมแรงร่วมใจ หรือ Collaborative Effort

ในโลกที่มีการแข่งขันเข้มข้น การมีขนาดใหญ่นิดหน่อยจะช่วยได้ค่ะ ต่างคนต่างทำอาจสูญเสียทรัพยากรและพลังในการดำเนินการมากเกินไป รวมกันให้มีขนาดใหญ่ขึ้น แล้วช่วยกันทำอาจจะดีกว่า

ประการสุดท้าย แหล่งทุนสนับสนุน เรื่องเงินเป็นเรื่องสำคัญในการดำเนินธุรกิจ ไม่ว่าธุรกิจจะอยู่ในขั้นตอนใดของวงจร ตั้งแต่ เริ่มต้น เติบโต ขยาย อาจจะต้องการน้อยหน่อยในช่วงที่ธุรกิจอยู่ตัวแล้ว แต่ SME คือกิจการที่อยู่ในสามช่วงแรกทั้งนั้น เพราะเมื่อขยายและอยู่ตัวแล้ว ขนาดก็จะใหญ่ขึ้น อาจจะเกินกว่าที่จะเป็น SME

รัฐต้องสนับสนุน และช่วยก่อให้เกิดสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเกิด การเติบโต และการขยายกิจการของ SME ค่ะ การสนับสนุนเงินทุนในการวิจัย เงินทุนในการก่อตั้งกิจการ เช่น สนับสนุนผ่านกองทุนร่วมลงทุนหรือ Venture Capital ที่ดิฉันเขียนถึงไปเมื่อสัปดาห์ก่อน และสนับสนุนการเข้าถึงแหล่งสินเชื่อ โดยการมีหน่วยงานช่วยค้ำประกันสินเชื่อแก่ SME เช่น บสย. (บรรษัทสินเชื่อเพื่อธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม)

สำหรับเงินทุนในการขยายกิจการเพื่อเติบโตนั้น เชื่อว่ามีทั้งบุคคลและสถาบันซึ่งสนใจที่จะลงทุนเพื่อสนับสนุนกิจการจำนวนหนึ่ง โดยเฉพาะกิจการที่มีวัตถุประสงค์ที่จะดูแลสังคมและสิ่งแวดล้อมด้วย ในรูปของ Private Equity หากรัฐจะสนับสนุน SME ให้เป็นกิจการเพื่อสังคมหรือ Social Enterprise ด้วย น่าจะระดมหาทุนมา สนับสนุนกิจการได้ไม่ยาก ยิ่งถ้าให้มีแต้มต่อหักภาษีได้เช่นเดียวกับกองทุนรวมหุ้นระยะยาวหรือ LTFก็จะเป็นสิ่งที่วิเศษมากเลยค่ะ


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : การสนับสนุน วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม

view