สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ไม่ปิดกั้นต่างด้าวลงทุน (2)

ไม่ปิดกั้นต่างด้าวลงทุน (2)

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์




ครั้งที่แล้วผมเขียนถึงการที่นักธุรกิจต่างชาติที่มีกิจการในไทยออกมาคัดค้านข้อเสนอของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า

ที่ต้องการจะปรับปรุงแก้ไขพ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวพ.ศ. 2542 ทั้งนี้ จากข้อสรุปของกรมฯ นั้น ต้องการแก้ไขคำนิยามของ “คนต่างด้าว” เพราะเป็นจุดอ่อน ทำให้คนต่างด้าวสามารถทำธุรกิจต้องห้ามในไทยหรือธุรกิจที่คนต่างด้าวต้องขออนุญาตดำเนินธุรกิจในไทยโดยไม่ต้องขออนุญาต ทั้งนี้ ทางการไทยยืนยันว่าจะดำเนินการให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์สากลและมีวัตถุประสงค์ที่จะส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศมิใช่ปิดกั้น ตลอดจนจะป้องกันไม่ให้กระทบต่อธุรกิจของต่างชาติที่ดำเนินการอยู่ในขณะนี้

ทั้งนี้ ในวันที่ 27 พ.ย. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ได้เปิดเผยภายหลังการชี้แจงสถานทูตและหอการค้าประเทศต่างๆ ถึงการปรับปรุงแก้ไขพ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวว่าได้ชี้แจงให้นักลงทุนต่างชาติทราบว่ากระทรวงพาณิชย์ยังไม่ได้ผลสรุปใดๆ แต่เปิดรับฟังความคิดและจะสรุปข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะภายในเดือนธ.ค.นี้ จากนั้นจึงจะนำเข้าสู่การพิจารณาของครม. หากครม.อนุมัติจึงจะเสนอให้สนช.พิจารณาต่อไป ทั้งนี้ รมว.พาณิชย์ย้ำว่า การแก้ไขพ.ร.บ.ตั้งอยู่บนเงื่อนไข 3 ประการ คือต้องเป็นการส่งเสริมการลงทุน ลดขั้นตอนที่ยุ่งยากและอำนวยความสะดวกให้มากขึ้น

มาถึงตรงนี้ผู้อ่านที่มิได้ต้องตามเรื่องนี้มาก่อนก็อาจแปลกใจว่าหากฝ่ายไทยต้องการจะเปิดเสรีและส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศ โดยยืนอยู่บนหลักเกณฑ์สากลและเงื่อนไข 3 ข้อข้างต้นแล้ว ทำไมนักธุรกิจต่างชาติจึงคัดค้านการแก้ไขดังกล่าว คำตอบคือวิวัฒนาการของการบังคับใช้กฎหมายที่จำกัดการลงทุนของต่างชาตินั้น ทำให้ต่างชาติเข้าใจว่ารัฐบาลไทยต้องการส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศ แม้ในธุรกิจที่ได้ประกาศห้ามไว้ตามกฎหมาย ก็มีวิธีเลี่ยงทำให้ลงทุนเป็นเจ้าของได้ เพราะรัฐบาลไทยเลือกที่จะบังคับใช้กฎหมายดังกล่าวในลักษณะที่เอื้ออำนวยต่อให้ต่างชาติเข้ามาลงทุนถือหุ้นส่วนใหญ่และมีอำนาจเต็มในการบริหารจัดการธุรกิจดังกล่าวมาเป็นเวลาหลายสิบปีแล้ว

ประเทศไทยออกกฎหมายควบคุมการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวเป็นครั้งแรกโดยประกาศคณะปฏิวัติ (ปว.) 281 พ.ศ.2514 (ค.ศ.1972) ซึ่งกฎหมายดังกล่าว จำกัดการทำธุรกิจของคนต่างด้าวอย่างเข้มงวด กำหนดประเภทธุรกิจที่สงวนเอาไว้ให้กับคนไทยในภาคผนวก 1 เช่น การทำนา ช่างตัดผมและการเป็นเจ้าของ (ที่ดิน) อีกส่วนหนึ่งในภาคผนวก 2 คือธุรกิจที่ห้ามต่างชาติเช่นกัน แต่โดยมีเหตุผลว่าเป็นธุรกิจที่มีความสำคัญต่อความมั่นคงของชาติ เช่น การขนส่งภายในประเทศและการทำเหมืองแร่ นอกจากนั้นก็ยังมีธุรกิจที่ห้ามต่างชาติในภาคผนวก 3 เพราะคนไทยยังไม่สามารถแข่งขันได้ แต่อาจยกเลิกและเปิดให้ต่างชาติเข้ามาดำเนินการได้ในอนาคต เช่น ภาคเกษตรบางประเภท การก่อสร้าง โรงแรมและการท่องเที่ยวและการเป็นนายหน้าขายหุ้น แต่เวลาผ่านไปหลายสิบปีก็ไม่เคยมีการตัดธุรกิจใดออกจากบัญชีดังกล่าว เพื่อเปิดให้ต่างชาติเข้ามาแข่งขันแต่อย่างใด เว้นแต่การออกกฎหมายของอุตสาหกรรมบางประเภทโดยเฉพาะที่มีบทบัญญัติเกี่ยวกับการลงทุนของต่างชาติมาบังคับใช้แทนปว.281 เช่น พ.ร.บ.โทรคมนาคม

แต่ในทางปฏิบัตินั้นรัฐบาลไทยเชื้อเชิญและส่งเสริมให้ต่างชาติเข้ามาลงทุนเพิ่มขึ้นและเมื่อเวลาผ่านไปก็มีการจัดโครงสร้างผู้ถือหุ้นให้เป็นไปตามตัวบทกฎหมายคือให้คนไทยถือหุ้นเกินครึ่งหนึ่ง แต่ในทางปฏิบัตินั้นต่างชาติเป็นผู้ลงทุนเกือบทั้งหมดและมีอำนาจบริหารเต็ม ในขณะที่ผู้ถือหุ้นคนไทยมักจะถือหุ้นบุริมสิทธิที่ไม่มีอำนาจออกเสียงและได้รับผลตอบแทนตายตัว (คล้ายกับดอกเบี้ย) โดยไม่ยึดโยงกับผลประกอบการของบริษัท แม้ว่าปว. 281 จะมีการกำหนดโทษผู้ที่ “ถือหุ้นแทน” ต่างชาติเพื่อเลี่ยงข้อบังคับของกฎหมาย แต่ก็ไม่ได้มีการกำหนดคำนิยามให้ชัดเจนว่าการกระทำประการใดจึงจะเข้าข่ายของการถือหุ้นแทนหรือการเป็นนอมินี

ต่อมาในปี 1992 มีกรณีบริษัท ABB Distribution ซึ่งเป็นบริษัท “ไทย” โดยมีคนไทย 8 คนถือหุ้น 51% และหุ้นส่วนที่เป็นชาวสวิสถือหุ้น 49% แต่ผู้ถือหุ้นไทยนั้นถือ หุ้นบุริมสิทธิที่ไม่สามารถลงคะแนนเสียงและฝ่ายสวิสมีอำนาจเต็มในการบริหาร ซึ่งเจ้าหน้าที่กระทรวงพาณิชย์มีความเห็นแตกต่างกันเป็น 2 ฝ่ายคือฝ่ายหนึ่งมองว่าหากพิจารณาในละเอียดรวมถึงการตรวจสอบแหล่งที่มาของเงินทุนแล้วก็จะสรุปได้ว่าบริษัท ABB เป็นบริษัทต่างชาติ แต่อีกฝ่ายหนึ่งมองว่าเป็นบริษัทไทยตามสัดส่วนของการถือหุ้น

ต่อมาเรื่องนี้จึงถูกส่งไปให้กฤษฎีกาตีความซึ่งก็ได้ตีความว่าบริษัท ABB เป็นบริษัทต่างชาติตามเจตนารมณ์ของปว.281 รัฐบาลไทยจึงได้ดำเนินการแก้ปว.281 ให้พิจารณาสัญชาติของบริษัทโดยดูจากสัดส่วนของการถือหุ้น ข้อมูลและบทวิเคราะห์ดังกล่าวข้างต้นนี้มาจาก บทวิจัยของดร.เดือนเด่น นิคมบริรักษ์ ในสัมมนาของ TDRI ในเดือนส.ค. 2006 ซึ่งเป็นช่วงก่อนการปฏิวัติเดือนก.ย. 2006 และมีการนำเอาเรื่องของการขายบริษัทชิน คอร์ปให้กับกองทุนเทมาเซ็กของสิงคโปร์มาเป็นประเด็นทางการเมือง โดยการร้องขอให้กระทรวงพาณิชย์สอบสวนว่าบริษัทชินคอร์ปเป็นบริษัทต่างชาติหรือไม่ เพราะมีข้อสงสัยว่าคนไทยที่ถือหุ้นข้างมากในบริษัทนั้นเป็นนอมินีของต่างชาติ ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นจริงก็จะเป็นการกระทำความผิด ซึ่งจะเป็นผลให้ต้องปิดบริษัทและคนไทยที่เป็นนอมินีตลอดจนผู้บริหารต่างประเทศที่เกี่ยวข้องจะต้องถูกปรับและจำคุกได้

ดังนั้น จึงมองได้ว่าความพยายามที่จะแก้ไขและปรับปรุงพ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวในปี 2007 นั้นส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการสอบสวนบริษัทชินคอร์ปเพราะหากตีความว่าบริษัทดังกล่าวเป็นบริษัทต่างชาติ โดยการตีความว่าคนไทยเป็นนอมินีก็อาจส่งผลให้บริษัทอื่นๆ อีกหลายพันบริษัทที่เป็นสัญญาติไทยโดยอาศัยโครงสร้างการถือหุ้นและการบริหารในลักษณะเดียวกันจะต้องถูกแปลงสถานะเป็นบริษัทต่างชาติโดยทันที ซึ่งย่อมจะส่งผลกระทบอย่างรุนแรงในการดำเนินธุรกิจของบริษัทต่างๆ และต่อการลงทุนจากต่างประเทศ ทั้งนี้ นักธุรกิจต่างชาติตลอดจนสถานทูตต่างๆ แสดงจุดยืนชัดเจนว่าไม่เห็นด้วยกับความพยายามแก้ไขกฎหมายดังกล่าว และแม้ว่าร่างแก้ไขพ.ร.บ.การทำธุรกิจของคนต่างด้าวจะได้รับความเห็นชอบจากครม.ในเดือนเม.ย. 2007 แต่เรื่องนี้ก็เงียบไปและไม่ปรากฏว่ามีการแก้ไขกฎหมายดังกล่าว จนกระทั่งมีการนำเรื่องนี้ขึ้นมาพิจารณาอีกครั้งตามที่เป็นข่าวอยู่ในขณะนี้

เพื่อให้ได้รับข้อมูลที่ครบถ้วนเกี่ยวกับการควบคุมการลงทุนจากต่างประเทศ ผมต้องของเล่าเพิ่มเติมด้วยว่าปว.281 ที่ได้รับการแก้ไขในปี 1992 (ให้พิจารณาความเป็น “ไทย” หรือ “ต่างชาติ” โดยพิจารณาเพียงสัดส่วนการถือหุ้น) นั้นต่อมาได้ถูกแปลงมาเป็นพ.ร.บ.การประกอบธุรกิจคนต่างด้าวในปี 1999 (พ.ศ. 2542) ซึ่งเป็นกฎหมายที่บังคับใช้อยู่ในขณะนี้ ซึ่งหากกลับไปดูตัวเลขการลงทุนจะเห็นได้ว่ามูลค่าการลงทุนจากต่างประเทศไหลเข้าประเทศไทยเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมากจากประมาณ 250,000 ล้านบาทต่อปีในปี 1998-1999 มาเป็น 350,000 ล้านบาทต่อปีในปี 1999-2005 ซึ่งผมเชื่อว่าส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการแก้ไขปว.281 ให้เป็นกฎหมายโดยยืนยันหลักการเดิมและการที่รัฐบาลไทยเองก็ต้องการส่งเสริมให้ต่างชาติเข้ามาลงทุนและเพิ่มทุนในบริษัทไทยหลังจากความเสียหายที่เกิดขึ้นจากวิกฤติเศรษฐกิจเมื่อปี 1997-1998


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ไม่ปิดกั้น ต่างด้าว ลงทุน

view