สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ปฏิรูปประเทศต้องมุ่งแก้ที่ความเหลื่อมล้ำ

ปฏิรูปประเทศต้องมุ่งแก้ที่ความเหลื่อมล้ำ

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์




ถ้าเรายังละเลยไม่แก้ไขความเหลื่อมล้ำก็จะยิ่งมาก และอาจนำประเทศไปสู่ความแตกแยกในสังคม

เมื่อวันจันทร์ที่ 24 เดือนที่แล้ว คุณอานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกัฐมนตรี ได้ให้ความเห็นในงานสัมมนาวิชาการประจำปี 2557 ของทีดีอาร์ไอ ว่าความเหลื่อมล้ำเป็นรากเหง้าของปัญหาที่ประเทศมีอยู่ขณะนี้ โดยความเหลื่อมล้ำมีทุกๆ ด้านไม่ว่าจะเป็น ฐานะ อำนาจ การต่อรอง พื้นที่ (ในสังคม) โอกาส และสิทธิ ซึ่งทั้งหมดนำไปสู่ความแตกต่างในชีวิตความเป็นอยู่ระหว่างคน “ข้างบน” และคน “ข้างล่าง” และความรู้สึกไม่เป็นธรรม ซึ่งถ้าไม่แก้ไข สังคมไทยต่อไปก็จะมีปัญหาไม่จบสิ้น

ผมเห็นด้วยกับแนวคิดนี้และขอขยายต่อว่าความรู้สึกไม่ปรองดองของคนในชาติที่พูดกัน ก็มาจากปัญหานี้ ที่คนข้างบนยังไม่เข้าใจและไม่สนใจการเรียกร้องของคนข้างล่างที่ต้องการความเป็นอยู่ โอกาส และสิทธิของการเป็นพลเมืองที่ดีขึ้น แต่ความพยายามแก้ไข หรือลดความเหลื่อมล้ำไม่เคยเกิดขึ้น ทำให้คนข้างล่างรู้สึกว่าสังคมมีความไม่เป็นธรรม เกิดความไม่พอใจ และจุดนี้ถ้าเรายังละเลยไม่แก้ไข ความเหลื่อมล้ำก็จะยิ่งมาก และอาจนำประเทศไปสู่ความแตกแยกในสังคมที่จะรุนแรงกว่าประเด็น “ปรองดอง” ขณะนี้ที่กลุ่มนักการเมืองอาชีพได้สรรสร้างขึ้นมาจากช่องว่างดังกล่าว เพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับบทบาทของตัวเองในฐานะนักการเมืองที่จะทะเลาะกันอย่างเอาเป็นเอาตายหน้าฉาก แต่หลังฉากก็จะสลับกันใช้อำนาจทางการเมืองจัดสรรผลประโยชน์ระหว่างกัน

ในทางเศรษฐศาสตร์ ความเหลื่อมล้ำของรายได้และความมั่งคั่ง จะมาจากสามปัจจัย

หนึ่ง ความแตกต่างในความมั่งคั่งของบุคคลที่มีอยู่เดิมจากการสะสมทุน และความเป็นเจ้าของปัจจัยการผลิตในอดีต สืบทอดส่งผ่านกันมาจากรุ่นสู่รุ่นจนเป็นความแตกต่างของฐานะทางครอบครัวและชาติตระกูลที่คนในประเทศเห็นอยู่และมีกฎหมายรองรับ

สอง กลไกของระบบทุนนิยมเอง ที่ทำให้ผู้ที่เป็นเจ้าของทุน เจ้าของกิจการสามารถสร้างการเติบโตของกำไรในอัตราที่สูงกว่าคนที่ทำงานรับเงินเดือนค่าจ้าง หรือคนที่ไม่มีปัจจัยการผลิตมาก จนในกรณีสุดโต่ง นำไปสู่การเติบโตของกลุ่มอภิมหาเศรษฐีรุ่นใหม่ของโลก (Plutocrats) ที่เงินซื้อได้ทุกอย่างยกเว้นความตาย มีการพูดกันมากว่าในโลกธุรกิจปัจจุบัน กำไรโตเร็วกว่าค่าจ้างเงินเดือน เป็นสิบเป็นร้อยเท่า และนับวันการเติบโตของกำไรก็จะกระจุกตัวอยู่ในจำนวนบริษัทที่น้อยลง ทำให้ความเหลื่อมล้ำระหว่างคนข้างบนกับคนระดับกลาง (มนุษย์เงินเดือน) กว้างมากขึ้น ยิ่งทำให้ความเหลื่อมล้ำระหว่างคนข้างบนกับคนข้างล่างยิ่งห่างกันแบบฟ้ากับดิน

สาม ระบบเศรษฐกิจเองไม่มีเครื่องมือหรือกลไกทางนโยบายที่จะลดทอนความเหลื่อมล้ำนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ไม่ว่าจะเป็นมาตรการภาษี หรือการช่วยเหลืออุดหนุนโดยรัฐ รวมถึงการปฏิรูปความเป็นเจ้าของปัจจัยการผลิตโดยนโยบาย เช่น การปฏิรูปที่ดิน แต่ที่สำคัญในกรณีของไทยการใช้อำนาจที่ไม่ถูกต้องโดยผู้มีอำนาจทั้งในภาครัฐและเอกชน เช่น การทุจริตคอร์รัปชัน ได้เป็นกลไกเพิ่มเติมให้ความเหลื่อมล้ำยิ่งมีมากขึ้น เพราะคนข้างบนจะเข้าถึงอำนาจรัฐและหาประโยชน์จากอำนาจรัฐ โดยการทุจริตคอร์รัปชันได้มากกว่าคนข้างล่าง

นี่คือกลไกความเหลื่อมล้ำที่กำลังทำงานอยู่ในระบบเศรษฐกิจของประเทศขณะนี้ ไม่ว่าเราจะหลับหรือตื่น เด็กที่เกิดในครอบครัวคนข้างบนจะมีจุดเริ่มต้นที่เหนือกว่า ได้เปรียบกว่าเด็กที่เกิดในครอบครัวคนข้างล่าง และเมื่อเด็กโตขึ้นเป็นส่วนหนึ่งของระบบทุนนิยม กลไกของทุนนิยมก็จะสร้างให้คนข้างบนมีโอกาสมากกว่า ไม่ว่าจะเป็นการเข้าถึงโอกาสทางการศึกษา การรักษาพยาบาล การเข้าถึงแหล่งเงินทุน การปกป้องสิทธิของตนเองตามกฎหมาย พื้นที่ในสังคม การเข้าสู่อำนาจ ไม่ว่าจะเป็นด้านธุรกิจหรือการเมือง ทำให้ความเหลื่อมล้ำมีต่อไป และมีมากขึ้น

แล้วเราจะ “ปฏิรูป” เพื่อลดความเหลื่อมล้ำอย่างไร ผมคิดว่าทางเลือกคงมีสองทาง

ทางแรก พยายามใช้มาตรการทางนโยบาย ให้การทำงานของกลไกเศรษฐกิจของระบบทุนนิยม ให้ผลที่เบ้ไปในทางที่จะสร้างความเหลื่อมล้ำให้น้อยลง เช่น การใช้มาตรการภาษี เช่น ภาษีมรดก ภาษีที่ดิน หรือการอุดหนุนให้เปล่าทางการเงินที่มีความเฉพาะเจาะจงเฉพาะกลุ่ม อย่างที่รัฐบาลปัจจุบันพยายามทำ

แต่จากประสบการณ์ของเศรษฐกิจทั่วโลก มาตรการเหล่านี้ไม่สามารถแก้ความเหลื่อมล้ำได้ถาวรจริงจัง เพราะกลไกของระบบเศรษฐกิจที่เบ้อยู่นั้นยิ่งใหญ่มาก และจะทำให้ผลของความพยายามของมาตรการเหล่านี้ถูกกลืนหายไปกับการเติบโตของเศรษฐกิจ ตัวอย่างง่ายๆ ก็คือ เราสามารถใช้มาตรการภาษีเอาเงินออกจากกระเป๋าคนข้างบนให้คนข้างล่างได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย ณ จุดหนึ่งของเวลา เช่น การใช้ภาษีมรดก และการอุดหนุนให้เปล่า แต่เมื่อคนข้างล่างนำเงินที่ได้รับมาไปใช้ กลไกเศรษฐกิจที่มีอยู่ก็จะสร้างรายได้ให้กับคนข้างบนต่อ ขณะที่คนข้างล่างเมื่อใช้เงินไปแล้วก็จะไม่มีอะไรเหมือนเดิม ความเหลื่อมล้ำยังมีอยู่

ส่วนทางที่สอง ใช้วิธีคิดใหม่ที่ยอมรับความเบ้ของกลไกเศรษฐกิจ แต่พยายามทำให้คนข้างล่างสามารถเข้ามามีส่วนร่วมในกลไกเศรษฐกิจได้มากขึ้นในฐานะเจ้าของปัจจัยการผลิต โดยพัฒนาเศรษฐกิจให้เป็นระบบที่เปิดกว้างให้คนทุกระดับสามารถมีส่วนร่วมได้ (Inclusive) และมีโอกาสทางเศรษฐกิจเท่าเทียมกันมากขึ้น (ถ้าคุณให้โอกาสผมเท่ากับลูกชายคุณ ผมอาจจะรวยกว่าลูกชายคุณก็ได้ เช่น กรณีนายแจ็ค หม่า เจ้าของบริษัทอาลีบาบาจากจีน) ไม่ว่าจะเป็นโอกาสทางการศึกษา การเข้าถึงทรัพยากรการเงิน เช่น สินเชื่อจากสถาบันการเงิน เพื่อสร้างฐานะ สร้างธุรกิจของตัวเอง โอกาสของการมีงานที่ดีทำ โอกาสที่จะได้รับการปกป้องคุ้มครองสิทธิตามกฎหมายในฐานะพลเมืองและปกป้องทรัพย์สินที่ตนเองหามาได้ เมื่อโอกาสเหล่านี้เปิด คนข้างล่างก็สามารถพัฒนาชีวิต พัฒนาความเป็นเจ้าของธุรกิจ (Entrepreneurship) และความเป็นอยู่ของตัวเองให้ดีขึ้น ทำให้การเปลี่ยนแปลงที่ดีในด้านอื่นๆ ของสังคมจะเกิดขึ้นตามมา รวมถึงการใช้พลังตามสิทธิของประชาชนคานอำนาจการใช้อำนาจที่ไม่ถูกต้องของนักการเมืองที่ไม่ดี นำไปสู่ความเข้มแข็งของสังคม และระบบประชาธิปไตย

ถ้าจะเปรียบคนข้างล่าง เป็นดอกไม้ ขณะนี้ก็เหมือนดอกไม้ที่กระจายอยู่ทั่วประเทศแต่อับเฉา ไม่เติบโต ขาดน้ำ ขาดแสงแดด ไม่มีการรดน้ำพรวนดิน การเปิดโอกาสให้คนข้างล่างเข้าถึงโอกาสต่างๆ ทางเศรษฐกิจก็เหมือนการรดน้ำ พรวนดิน และให้แสงแดด ทำให้ดอกไม้ที่อับเฉากลับมามีชีวิตชีวา เบ่งบานได้ทั้งประเทศ นี่คือ พลังทางเศรษฐกิจของประเทศที่ซ่อนอยู่ขณะนี้ ที่ไม่ได้ถูกนำมาใช้ เพราะความเหลื่อมล้ำไม่ได้ถูกแก้ไข

ทางเลือกที่สองนี้ จึงน่าจะเป็นทางออกที่ต้องทำควบคู่กับทางเลือกที่หนึ่ง และเป็นการแก้ไขที่ไม่ใช้ทรัพยากรมาก เพียงแต่ต้องเปลี่ยนวิธีคิด หรือตรรกะความคิด (Mindset) ให้นำไปสู่การใช้อำนาจทางการเมือง และอำนาจบริหาร มุ่งเปิดโอกาสทางเศรษฐกิจให้กับคนทั้งประเทศ ฟังดูแล้วง่ายแต่กลับยากเพราะตรรกะความคิด ของคนข้างบนและตัวแทนคนข้างบนที่เข้ามาคุมอำนาจทางการเมือง ไม่ว่าโดยการเลือกตั้งหรือรัฐประหารไม่เคยเปลี่ยน มองการเรียกร้องแก้ไขความเหลื่อมล้ำว่าเป็นศัตรู (Threat) ต่อความมั่นคงของประเทศ และความมั่งคั่งของคนข้างบน ผลก็คือปิดโอกาสไม่ให้พลังทางเศรษฐกิจของประเทศเติบโต

ตรงกันข้ามการปฏิรูปที่มุ่งเปิดโอกาสให้พลังเศรษฐกิจที่ซ่อนเร้นอยู่เติบโต จะทำให้ดอกไม้บานสะพรั่งขึ้นพร้อมกันทั้งประเทศ ดูสวยงามทั้งประเทศ จะสร้างชัยชนะแบบวินวินให้กับคนข้างล่างและคนข้างบน เมื่อเศรษฐกิจของประเทศเติบโตเต็มศักยภาพโดยพลังทางเศรษฐกิจ และการมีส่วนร่วมของคนไทยทุกคน และการเติบโตนี้จะปลดล็อกเงื่อนไขที่จะสร้างความแตกแยกให้กับสังคมไทยอย่างถาวร


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ปฏิรูปประเทศ ต้องมุ่ง แก้ที่ความเหลื่อมล้ำ

view