สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

สื่อนอกเปิดโปง ทักษิณ ไม่ได้ถูกชนชั้นนำรังแกอย่างที่กล่าวอ้าง

โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ 18 มีนาคม 2553 03:26 น.
ทักษิณ พยายามยั่วยุให้เกิดความรู้สึกแบ่งแยกทางชนชั้น แต่สื่อมวลชนต่างชาติกลับไม่มองเช่นนั้น

       เอเจนซี/เอเอฟพี/ASTVผู้จัดการรายวัน - “สื่อนอก” รายงานการประท้วงของ “เสื้อแดง” โดยชี้ว่าจำนวนคนเข้าร่วมลดลงอย่างฮวบฮาบ และน่าจะหมดน้ำยาโดยเร็ววัน “ชาร์ลส์ คายส์” นักมานุษยวิทยาอเมริกัน ที่ศึกษาเรื่องเมืองไทยมากกว่า 50 ปี เปิดโปง “ทักษิณ” ว่า ไม่ได้เป็นสัญลักษณ์ของคนที่ถูกรังแกจากชนชั้นนำอย่างที่พยายามกล่าวอ้าง
       
       สื่อมวลชนต่างประเทศซึ่งเฝ้าติดตามการชุมนุมประท้วงของกลุ่ม “เสื้อแดง” เมื่อวานนี้ (17)ขณะที่รายงานความเคลื่อนไหวของกลุ่มนี้ทั้งการไปเทเลือดที่บ้านพักนายก รัฐมนตรี และการประท้วงที่สถานเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ แต่ก็บอกด้วยว่า จำนวนคนที่เข้าร่วมได้ลดน้อยลงมากจากช่วงวันอาทิตย์ที่มีจำนวนกว่า 1 แสนคน
       
       สำนักข่าวเบอร์นามาของมาเลเซีย อ้างหน่วยงานเจ้าหน้าที่ ระบุว่า เวลานี้เหลือราว 25,000 คน ขณะที่สำนักงานบลูมเบิร์ก อ้างอิงประมาณการของตำรวจที่บอกว่าเหลือ 10,000 คน เช่นเดียวกับสำนักข่าวเอเอฟพี ซึ่งรายงานในช่วงบ่ายโมง โดยอ้างตำรวจเช่นกันว่า มีอยู่ 10,000 คน ก่อนที่รายงานข่าวของเอเอฟพี ซึ่งอัปเดตเมื่อตอน 2 ทุ่ม จะปรับตัวเลขด้วยการระบุว่า ตำรวจกล่าวว่ามีอยู่ 38,000 คน
       
       สื่อหลายสำนักยังรายงานเรื่องที่การชุมนุมคราวนี้ ไม่ได้กระทบตลาดการเงิน สำนักข่าวรอยเตอร์ ชี้ว่า ดัชนีตลาดหุ้นไทยสามารถไต่ขั้นทำสถิติสูงสุดในรอบ 19 เดือนเมื่อวานนี้ และอ้างความเห็นของ นายจักรกฤษณ์ เจริญเมธาชัย นักวิเคราะห์แห่งบริษัทหลักทรัพย์โกลเบล็กซ์ ที่กล่าวว่า เหตุการณ์ทางการเมืองคราวนี้ไม่ได้ส่งผลทางลบมากมายเหมือนที่คาดหมายกัน และเงินต่างประเทศน่าจะยังไหลเข้ามาซื้อสินทรัพย์ไทยต่อไป หากการประท้วงไม่ได้จบลงด้วยความรุนแรง
       
       ทางด้านหนังสือพิมพ์โตรอนโตสตาร์ ของแคนาดา ได้หยิบยกความเห็นของ นายชาร์ลส์ คายส์ ศาสตราจารย์เกียรติคุณทางมานุษยวิทยาและเอเชียศึกษา แห่งมหาวิทยาลัยวอชิงตัน ซึ่งให้ความเห็นเรื่องการประท้วงด้วยการเทเลือด ว่า “ถือเป็นฉากการแสดงทางการเมืองที่น่าพิศวงดี และก็มีความสำคัญในแง่อารมณ์ความรู้สึกอยู่ลึกๆ”
       
       ศาสตราจารย์ คายส์ ซึ่งศึกษาเรื่องเมืองไทยมากว่า 50 ปี กล่าวว่า การประท้วงดูจะไม่คืบหน้าไปถึงไหน ในสภาพภูมิทัศน์ทางการเมืองอันสลับซับซ้อนน่างุนงงของประเทศไทย
       
       เขาชี้ว่า ขณะที่ ทักษิณ พูดถึงตัวเองว่า เป็นสัญลักษณ์ของคนที่ถูกรังแกจากพวกชนชั้นนำที่ไม่เคยใส่ใจกับประชาธิปไตย และความยุติธรรม ทว่า ระหว่างที่ทักษิณครองอำนาจนั้น เขากลับถูกวิจารณ์เรื่องใช้ความรุนแรงในการปราบยาเสพติด และผู้ก่อความไม่สงบ จนมีผู้เสียชีวิตกว่า 2,000 คน ขณะเดียวกัน การทำธุรกิจของครอบครัวของเขาก็ทำให้ผู้คนสงสัย และในที่สุดก็ถูกกล่าวหาว่ากระทำทุจริตคอร์รัปชัน
       
       ศาสตราจารย์ คายส์ บอกว่า การพูดว่ามีการแบ่งแยกระหว่างชนชั้นนำในเมือง และผู้คนในชนบทที่ไม่มีสิทธิ์มีเสียงนั้น ก็เป็นเรื่องที่พร่าเลือน กล่าวคือ คนจากต่างจังหวัดจำนวนมากได้เข้ามาทำงานในกรุงเทพฯ หรือไปถึงสิงคโปร์ ไต้หวัน และประเทศอาหรับ แม้พวกเขาจะถือว่าตนเองมีรากเหง้าเป็นชาวนา แต่วิถีชีวิตก็เป็นแบบชนชั้นกลางมากขึ้นเรื่อยๆ
       
       ศาสตราจารย์ คายส์ คาดว่า การประท้วงคราวนี้คงไม่อาจทำให้ทักษิณกลับคืนสู่อำนาจได้ แต่ถ้าทั้งสองฝ่ายไม่ขยายสถานการณ์ให้เกิดความรุนแรง การเผชิญหน้าระหว่างสองฝ่ายก็อาจนำไปสู่การประนีประนอมกันได้
       
       สำหรับรอยเตอร์ได้เสนอบทวิเคราะห์ที่อ้างความเห็นของนักวิชาการ ชาวตะวันตก ได้แก่ นายคริส เบเกอร์ ซึ่งเคยเขียนหนังสือพิมพ์เกี่ยวกับทักษิณไว้หลายเล่ม และ นายเฟเดริโก เฟอร์รารา ศาสตราจารย์รัฐศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ ทั้งสองมีความเห็นคล้ายกันว่า การประท้วงคราวนี้สามารถระดมคนได้เกินคาด และความมีระเบียบวินัยก็น่าประท้บใจ โดยนายเบกอร์ กล่าวด้วยว่า “ใครก็ตามที่พูดว่าการประท้วงครั้งนี้ คือ ความล้มเหลว ก็กำลังล้อตัวเองเล่นเท่านั้น”
       
       อย่างไรก็ดี รอยเตอร์ก็ได้ยกบทวิเคราะห์ในหน้าหนึ่งของหนังสือพิมพ์เดอะเนชั่น ของไทยฉบับวานนี้ (17) ที่ระบุว่า “เสื้อแดง” ขาดการประสานงานกัน และกำลังแตกแยกกันมากขึ้น โดยปัญหานี้จะยิ่งปรากฏชัดเจนเมื่อพวกเขาถอยทัพกลับบ้าน

view