สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

เปิดรายละเอียดขึ้นเงินเดือนขรก.-จนท.รัฐทั้งระบบ

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์

การประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) เห็นชอบตามที่สำนักงานข้าราชการพลเรือน(ก.พ.)เสนอ มีรายละเอียดดังนี้

เพื่อให้การปรับบัญชีเงินเดือนของข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของรัฐชั้นผู้น้อยมีผลในทางปฏิบัติโดยเร็วตามมติ คณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 18 พ.ย.2557 ที่ให้การปรับบัญชีเงินเดือนมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค.2557 จึงควรนำเสนอคณะรัฐมนตรีเป็นเรื่องเร่งด่วน

สาระสำคัญ ข้อเท็จจริงและ ข้อกฎหมาย

การปรับบัญชีเงินเดือนของข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของรัฐ ประกอบด้วย สาระสำคัญ3 ประการ

1. การปรับบัญชีเงินเดือนและการแก้ไข กฎหมาย ขยายเพดานเงินเดือนชั้นสูงของทุกระดับ หรือทุกอันดับ ของข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของรัฐทุกประเภทเพิ่มขึ้น 3 ขั้น สำหรับ บัญชีเงินเดือนแบบขั้นหรือ ประมาณร้อยละ 10 สำหรับบัญชีเงินเดือนแบบช่วง รวมทั้งปรับปรุงบัญชีเงินเดือนข้าราชการให้สอดคล้องกับการดำรงตำแหน่ง

ในส่วนของข้าราชการพลเรือนสามัญ ปรับปรุงบทบัญญัติเกี่ยวกับการได้รับเงินเดือนโดยแก้ไขชื่อระดับใน บัญชีเงินเดือนเพื่อให้ข้าราชการได้รับเงินเดือนในระดับที่สูงกว่าหรือต่ำกว่าระดับตำแหน่งที่ดำรงได้ รวมทั้งปรับปรุงบทบัญญัติเพื่อให้ ก.พ. กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการเยียวยาให้ข้าราชการได้รับเงินเดือน และ/ หรือเงินประจำตำแหน่งได้ ข้าราชการทหาร ทหารกองประจำการ และนักเรียนในสังกัดกระทรวงกลาโหม ปรับปรุงจำนวนขั้นเงินเดือนของบางระดับ(ป.3และน.1-น.3) ให้สอดคล้องกับระดับชั้นยศ และข้าราชการตำรวจ ปรับปรุงจำนวนขั้นเงินเดือนของบางระดับ(ป.3และส.1-ส.3) ให้สอดคล้องกับระดับชั้นยศ และข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ปรับเงินเดือนขั้นสูงของอันดับครูผู้ช่วยมากกว่า 10% เพื่อให้สอดคล้องกับอัตราเงินเดือนแรกบรรจุของคุณวุฒิปริญญาเอก ทั้งนี้โดยการแก้ไขบัญชีเงินเดือนแนบท้ายพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการประเภทต่างๆ และให้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค.2557

2. การปรับบัญชีเงินเดือนข้าราชการให้ข้าราชการได้รับ การปรับเงินเดือนเพิ่ม 1 ขั้น สำหรับระบบเงินเดือนแบบขั้น หรือ 4% ของอัตราเงินเดือน สำหรับระบบเงินเดือนแบบช่วง ณ วันที่ บัญชีเงินเดือนข้าราชการมีผลใช้บังคับ ในกรณีที่การปรับอัตราเงินเดือนดังกล่าว ทำให้อัตราใดมีเศษไม่ถึงสิบบาทให้ปัดเป็นสิบบาท โดยปรับเงินเดือนให้ข้าราชการ ดังต่อไปนี้

(1) ข้าราชการพลเรือนสามัญ ผู้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการซึ่งรับเงินเดือน ระดับปฏิบัติการและระดับชำนาญการ และผู้ดำรงตำแหน่งประเภททั่วไป ซึ่งรับเงินเดือนระดับปฏิบัติงานและระดับชำนาญ

งาน

(2) ข้าราชการทหาร ทหารกองประจำการ และนักเรียนในสังกัดกระทรวงกลาโหม ซึ่งรับเงินเดือนตั้งแต่ระดับ น.3 ลงมา

(3)ข้าราชการตำรวจ ซึ่งรับเงินเดือนตั้งแต่ระดับ ส.3 ลงมา

(4)ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ซึ่งรับเงินเดือนตั้งแต่ระดับ คศ.2 ลงมา

(5) ข้าราชการพลเรือน ในสถาบันอุดมศึกษา ผู้ดำรงตำแหน่งวิชาการ ซึ่งรับเงินเดือนตำแหน่งอาจารย์ และ ผู้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาชีพเฉพาะหรือเชี่ยวชาญเฉพาะซึ่งรับเงินเดือนระดับปฏิบัติการและระดับชำนาญการ ผู้ดำรงตำแหน่งประเภททั่วไป ซึ่งรับเงินเดือนระดับปฏิบัติงานและระดับชำนาญงาน

(6) ข้าราชการรัฐสภาสามัญ ผู้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการ ซึ่งรับเงินเดือนระดับปฏิบัติการและระดับชำนาญการ และผู้ดำรงตำแหน่งประเภททั่วไป ซึ่งรับเงินเดือนระดับปฏิบัติงานและระดับชำนาญงาน

3. การได้รับเงินเดือน กรณีข้าราชการได้รับเงินเดือนขั้นสูง ให้ข้าราชการผู้ได้รับเงินเดือนขั้นสูง (เงินเดือนตัน)และได้รับค่าตอบแทนพิเศษตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการเบิกจ่ายค่าตอบแทนพิเศษของข้าราชการและลูกจ้างประจำ ผู้ได้รับเงินเดือนหรือค่าจ้างขั้นสูงหรือใกล้เคียง ค่าจ้างขั้นสูงของอันดับหรือตำแหน่ง พ.ศ.2550และที่แก้ไขเพิ่มเติม นำค่าตอบแทนพิเศษตามผลการประเมินในรอบการประเมินผลการ ปฏิบัติราชการตั้งแต่ 1 เม.ย.2557 ถึงวันที่ 30 ก.ย.2557 มารวมเป็นเงินเดือนตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค.2557 ในกรณีที่อัตราค่าแทนพิเศษดังกล่าวรวมกับเงินเดือน มีเศษไม่ถึงสิบบาทให้ปัดเป็นสิบบาท

งบประมาณรายจ่ายและแหล่งที่มา

ค่าใช้จ่าย ในการปรับบัญชีเงินเดือนของข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของรัฐจำนวนประมาณ 22,900ล้านบาท จะครอบคลุมข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของรัฐ ประเภทต่างๆ ประมาณ 1.98 ล้านคน

ประกอบด้วย ข้าราชการพลเรือนสามัญ ข้าราชการทหาร ทหารกองประจำการ และนักเรียนในสังกัดกระทรวงกลาโหม ข้าราชการตำรวจ ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ข้าราชการพลเรือน ในสถาบันอุดมศึกษา ข้าราชการรัฐสภาสามัญ พนักงานราชการ ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ในองค์กรอิสระ

องค์กรอื่นๆ ตามรัฐธรรมนูญ ได้แก่ สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน สำนักงาน ป.ป.ช. สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ สำนักงานศาลยุติธรรม สำนักงานศาลปกครองและ สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ

สำนักงบประมาณ ได้จัดเตรียมงบประมาณดังกล่าวเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินการแล้วตามพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2557

..................................................................

ปรับเงินเพิ่มค่าครองชีพ

ก่อนหน้านี้ รัฐบาลได้ปรับเงินเพิ่มการครองชีพชั่วคราว ให้พนักงานราชการที่ได้รับการจ้างวุฒิการศึกษาระดับต่ำกว่าปริญญาตรี ที่มีค่าตอบแทนไม่ถึง 13,285 บาท ให้ได้รับเงินเพิ่มการครองชีพชั่วคราวเดือนละ 2,000 บาท แต่เมื่อรวมกับค่าตอบแทนแล้ว ต้องไม่เกินเดือนละ 13,285 บาท และกรณีที่รวมกันแล้ว ค่าตอบแทนไม่ถึง 10,000 บาท ให้ได้รับเงินเพิ่มการครองชีพชั่วคราว เพิ่มขึ้นจากค่าตอบแทนอีกจนถึงเดือนละ 10,000 บาท

พนักงานราชการที่จะได้รับเงินเพิ่มดังกล่าว จำนวน 35,500 คน โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 1 ต.ค. 2557


ขึ้นเงินเดือนราชการ4-10%

รัฐบาลทุ่ม 2.29 หมื่นล้านบาท ขึ้นเงินเดือนข้าราชการ-พนักงานราชการ 1.98 ล้านคน 4-10% มีผลย้อนหลัง 1ธ.ค. 2557

พร้อมอนุมัติแพ็คเกจด้านการคลัง จัดตั้งนาโนไฟแนนซ์ ลดภาษีเงินได้เอสเอ็มอี ลดภาษีนำเข้าเครื่องจักร-วัตถุดิบเหลือ 0% และพันธบัตรแสนล้าน จำหน่ายประชาชนทั่วไปต้นปีหน้า

การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วานนี้ (9 ธ.ค.) อนุมัติปรับขึ้นเงินเดือนข้าราชการทั้งระบบ 1.98 ล้านคน โดยมีผลย้อนหลังตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค. 2557 หลังจากที่ก่อนหน้านี้ได้อนุมัติเพิ่มค่าครองชีพให้กับข้าราชการชั้นผู้น้อยไปแล้ว

น.พ.ยงยุทธ มัยลาภ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ครม.มติเห็นชอบตามที่สำนักงานคณะกรรมการพลเรือน (ก.พ.) เสนอให้ปรับเพิ่มเงินเดือนข้าราชการและเจ้าหน้าที่รัฐทั้งระบบจำนวน 1.98 ล้านคน โดยใช้งบประมาณปี 2558 ทั้งสิ้น 22,900 ล้านบาท โดยจะส่งให้คณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจร่างกฎหมายก่อนเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และจะมีผลย้อนหลังให้ตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค. 2557

การปรับขึ้นเงินเดือนข้าราชการในครั้งนี้ เป็นการปรับเพิ่มเงินเดือนข้าราชการทั้งระบบครอบคลุมข้าราชการพลเรือนสามัญ ข้าราชการทหาร ทหารกองประจำการ และนักเรียนในสังกัดกระทรวงกลาโหม ข้าราชการตำรวจ ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ข้าราชการรัฐสภาสามัญ และข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา

ประกอบด้วยสาระสำคัญ 3 ประการ คือ 1. การปรับบัญชีเงินเดือนและการแก้ไขกฎหมาย ขยายเพดานเงินเดือนขั้นสูงของทุกระดับหรือทุกอันดับ ของข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของรัฐทุกประเภทเพิ่มขึ้น 3 ขั้น สำหรับบัญชีเงินเดือนแบบขั้น หรือ ประมาณ 10%

สำหรับบัญชีเงินเดือนแบบช่วง รวมทั้งปรับปรุงบัญชีเงินเดือนข้าราชการให้สอดคล้องกับการดำรงตำแหน่ง โดยในส่วนของข้าราชการพลเรือนสามัญ ปรับปรุงบทบัญญัติเกี่ยวกับการได้รับเงินเดือนโดยแก้ไขชื่อระดับในบัญชีเงินเดือนเพื่อให้ข้าราชการได้รับเงินเดือนในระดับสูงกว่าหรือต่ำกว่าระดับตำแหน่งที่ดำรงได้ รวมทั้งปรับปรุงบทบัญญัติเพื่อให้ ก.พ. กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการเยียวยาให้ข้าราชการได้รับเงินเดือนและหรือเงินประจำตำแหน่งได้

ขณะที่ข้าราชการทหาร ทหารกองประจำการ และนักเรียนในสังกัดกระทรวงกลาโหม ปรับปรุงจำนวนขั้นเงินเดือนของบางระดับ (ป.3 และ น.1 - น.3) ให้สอดคล้องกับระดับชั้นยศ ข้าราชการตำรวจปรับปรุงจำนวนขั้นเงินเดือนของบางระดับ (ป3. และ ส.1 -ส3) ให้สอดคล้องกับระดับชั้นยศ และข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ปรับเงินเดือนขั้นสูงของอันดับครูผู้ช่วยมากกว่า 10% เพื่อให้สอดคล้องกับอัตราเงินเดือนแรกบรรจุของคุณวุฒิปริญญาเอก ทั้งนี้ โดยการแก้ไขบัญชีเงินเดือนแนบท้ายพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการประเภทต่าง ๆ และให้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค. 2557

ระบบเงินเดือนแบบขั้นเพิ่ม4%

2. การปรับเงินเดือนข้าราชการ ให้ข้าราชการได้รับการปรับเงินเดือนเพิ่ม 1 ขั้น สำหรับระบบเงินเดือนแบบขั้น หรือ 4% ของอัตราเงินเดือน สำหรับระบบเงินเดือนแบบช่วง ณ วันที่บัญชีเงินเดือนข้าราชการมีผลใช้บังคับ ในกรณีที่การปรับอัตราเงินเดือนดังกล่าวทำให้อัตราใดมีเศษไม่ถึง 10 บาทให้ปัดเป็น 10 บาท

ทั้งนี้ ปรับเงินเดือนให้ข้าราชการ 6 ประเภท ดังนี้ 1.ข้าราชการพลเรือนสามัญ ผู้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการซึ่งรับเงินเดือน ระดับปฏิบัติการและระดับชำนาญการ และผู้ดำรงตำแหน่งประเภททั่วไปซึ่งรับเงินเดือนระดับปฏิบัติงานและระดับชำนาญงาน 2.ข้าราชการทหาร ทหารกองประจำการ และนักเรียนในสังกัดกระทรวงกลาโหม ซึ่งรับเงินเดือนตั้งแต่ระดับ น.3 ลงมา 3.ข้าราชการตำรวจ ซึ่งรับเงินเดือนตั้งแต่ระดับ ส.3 ลงมา 4.ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ซึ่งรับเงินเดือนตั้งแต่อันดับ คศ.2 ลงมา.

5.ข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา ผู้ดำรงตำแหน่งวิชาการซึ่งรับเงินเดือนตำแหน่งอาจารย์ และผู้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาชีพเฉพาะหรือเชี่ยวชาญเฉพาะซึ่งรับเงินเดือนระดับปฏิบัติการและระดับชำนาญการ ผู้ดำรงตำแหน่งประเภททั่วไปซึ่งรับเงินเดือนระดับปฏิบัติงานและระดับชำนาญงาน และ 6.ข้าราชการรัฐสภาสามัญ ผู้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการซึ่งรับเงินเดือน ระดับปฏิบัติการและระดับชำนาญการ และผู้ดำรงตำแหน่งประเภททั่วไปซึ่งรับเงินเดือนระดับปฏิบัติงานและระดับชำนาญงาน

เงินเดือนตันนำค่าตอบแทนพิเศษมารวมได้

3.การได้รับเงินเดือนกรณีข้าราชการได้รับเงินเดือนถึงขั้นสูง หรือเงินเดือนตัน และได้รับค่าตอบแทนพิเศษตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการเบิกจ่ายค่าตอบแทนพิเศษของข้าราชการและลูกจ้างประจำผู้ได้รับเงินเดือนหรือค่าจ้างถึงขั้นสูงหรือใกล้ถึงขั้นสูงของอันดับหรือตำแหน่ง ปี 2550 และที่แก้ไขเพิ่มเติม นำค่าตอบแทนพิเศษตามผลการประเมินในรอบการประเมินผลการปฏิบัติราชการตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. 2557 ถึง วันที่ 30 ก.ย. 2557 มารวมเป็นเงินเดือนตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค. 2557

ทั้งนี้การปรับเงินเดือนข้าราชการและเจ้าหน้าที่รัฐ จะครอบคลุมข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของรัฐประเภทต่าง ๆ รวมประมาณ 1.98 ล้านคน ประกอบด้วย ข้าราชการพลเรือนสามัญ ข้าราชการทหาร ทหารกองประจำการ และนักเรียนในสังกัดกระทรวงกลาโหม ข้าราชการตำรวจ ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา ข้าราชการรัฐสภาสามัญ พนักงานราชการ ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ในองค์กรอิสระและองค์กรอื่นตามรัฐธรรมนูญ ได้แก่ สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน สำนักงาน ป.ป.ช. สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ สำนักงานศาลยุติธรรม สำนักงานศาลปกครอง และสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ

สำนักงบประมาณได้จัดเตรียมงบประมาณเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินการแล้ว ในวงเงิน 22,900 ล้านบาท

เพิ่มค่าตอบแทนพนักงานราชการ4%

นอกจากนี้ที่ประชุมครม.ยังเห็นชอบให้ปรับค่าตอบแทนพนักงานราชการ โดยให้พนักงานราชการกลุ่มงานบริการ กลุ่มงานเทคนิคทั่วไป กลุ่มงานบริหารทั่วไป และกลุ่มงานวิชาชีพเฉพาะ ได้รับค่าตอบแทนเพิ่ม 4% โดยให้มีผลใช้บังคับ 1 ธ.ค.2557 โดยเทียบเคียงกับข้าราชการประเภทวิชาการระดับตำแหน่งไม่เกินระดับชำนาญการ ประมาณการพนักงานราชการที่จะได้รับค่าตอบแทนเพิ่ม จำนวน 126,200 คน และปรับเพดานบัญชีค่าตอบแทนขั้นสูง กลุ่มงานบริการ กลุ่มงานเทคนิคทั่วไป กลุ่มงานบริหารทั่วไป และกลุ่มงานวิชาชีพเฉพาะ อีก 4% เพื่อให้สอดคล้องกับการปรับค่าตอบแทนของพนักงานราชการ เช่นเดียวกับการปรับบัญชีค่าตอบแทนของพนักงานราชการทุกครั้งที่ผ่านมา

ทั้งนี้ ให้มีผลใช้บังคับวันเดียวกับการปรับเพิ่มเพดานเงินเดือนขั้นสูงของข้าราชการพลเรือนสามัญ

ไฟเขียว4มาตรการคลัง

นายสมหมาย ภาษี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่าครม.เห็นชอบมาตรการเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการแข่งขันและช่วยเหลือประชาชนจำนวน 4 มาตรการ ได้แก่ 1.มาตรการจัดตั้งสินเชื่อนาโนไฟแนนซ์ เพื่อเป็นนโยบายที่ช่วยเหลือประชาชนที่มีรายได้น้อยหรือขาดสภาพคล่องในการประกอบอาชีพซึ่งมักมีปัญหาในการต้องไปกู้ยืมสินเชื่อนอกระบบที่คิดอัตราดอกเบี้ยสูง 10 - 20% ต่อเดือน แต่มาตรการนาโนไฟแนนซ์จะปล่อยกู้รายละไม่เกิน 100,000 บาท และคิดอัตราดอกเบี้ยไม่เกิน 3% ต่อเดือนหรือไม่เกิน 36% ต่อปี

ทั้งนี้ กระทรวงการคลังจะให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในการออกประกาศและหลักเกณฑ์ในการจัดตั้งนาโนไฟแนนซ์และเปิดให้ขึ้นทะเบียนภายในเดือน ธ.ค.ซึ่งเบื้องต้นจะเปิดกว้างให้ผู้ที่จะปล่อยกู้ทั้งนิติบุคคลทั้งที่เป็นสถาบันการเงินและไม่ได้เป็นสถาบันการเงินซึ่งมีทุนจดทะเบียนชำระแล้วไม่ต่ำกว่า 50 ล้าน คาดว่าจะสามารถเริ่มปล่อยกู้ได้ภายในเดือน ก.พ.2558

คาดเอสเอ็มอีได้ประโยชน์2.8หมื่นราย

2.มาตรการปรับลดภาษีสำหรับผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) โดยให้ปรับลดอัตราภาษีนิติบุคคลสำหรับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่มีรายได้จากการขายสินค้าและบริการไม่เกิน 30 ล้านบาทต่อปี และมีกำไรระหว่าง 1 - 3 ล้านบาทต่อปีให้เสียภาษีนิติบุคคลลดลงจากเดิม 20% เหลือ 15% ส่วนเอสเอ็มอีที่ได้กำไรจากการดำเนินกิจการเกินปีละ 3 ล้านบาทให้เสียภาษีในอัตรา 20% เหมือนเดิม

คาดว่าจะมีผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่ได้ประโยชน์จากมาตรการนี้ 2.8 หมื่นราย โดยมาตรการนี้จะส่งผลให้รัฐสูญเสียรายได้ประมาณ 1,900 ล้านบาท แต่จะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจและสภาพคล่องของผู้ประกอบการเอสเอ็มอีในภาพรวมและส่งผลให้สามารถเก็บภาษีได้เพิ่มขึ้นในอนาคตและคาดว่าจะช่วยกระตุ้นการลงทุนในประเทศเพิ่มอีก 700 ล้านบาท

ลดภาษีนำเข้าเครื่องจักร-วัตถุดิบกว่าพันรายการ

3.มาตรการการปรับปรุงโครงสร้างอัตราภาษีศุลกากรเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต โดยครม.เห็นชอบตามที่กระทรวงการคลังเสนอใน 2 ส่วนโดยในส่วนแรกเสนอให้มีการยกเว้นอากรขาเข้ากลุ่มสินค้าวัตถุดิบ ปัจจัยการผลิตที่ไม่มีผลิตในประเทศ เครื่องจักร เครื่องมือ และวัสดุอุปกรณ์ที่เป็นส่วนประกอบของเครื่องจักร เครื่องมือที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการผลิต จำนวน 1,274 รายการ เช่นก๊าซธรรมชาติ สังกะสี เนื้อสัตว์ที่ทำเป็นเพลเลต ไม้สน เครื่องจักรกังหันใบพัด ฯลฯ จากปัจจุบันที่มีการเก็บภาษีขาเข้าสินค้าในกลุ่มนี้อยู่ในอัตรา 1- 10%

นอกจากนี้ การปรับลดอัตราอากรขาเข้าสินค้าอีก 258 รายการที่เคยมีการเก็บอากรขาเข้าอยู่ที่ 20% และ 30% เหลือ 10% เพื่อลดภาระต้นทุนให้กับผู้ประกอบการที่ใช้สินค้าในกลุ่มเครื่องมือ เครื่องจักร และวัสดุอุปกรณ์ที่เป็นส่วนประกอบของเครื่องจักรที่เกี่ยวข้องกับกระบวนผลิตและเป็นปัจจัยการผลิต

ทั้งนี้กระทรวงการคลังประเมินว่ามาตรการปรับปรุงโครงสร้างอัตราภาษีศุลกากรใน 2 ส่วนนี้จะส่งผลกระทบทำให้รัฐสูญเสียรายได้ปีละ 6,100 ล้านบาท อย่างไรก็ตามกระทรวงการคลังรายงาน ครม.ว่ามาตรการนี้จะช่วยให้ผู้ประกอบการไทยเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตได้เพิ่มขึ้น ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในภาพรวมที่จะปรับตัวดีขึ้นเพิ่มรายได้และภาษีที่รัฐจะจัดเก็บได้ในอนาคต

ออกพันธบัตรแสนล้านขายต้นปีหน้า

4.ครม.อนุมัติให้มีการออกพันธบัตรออมทรัพย์ (Saving Bond) วงเงิน 1 แสนล้านบาท แบ่งเป็น 2 ส่วนคือ 1.พันธบัตรเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณปี 2558 วงเงิน 5 หมื่นล้านบาท อายุไถ่ถอนพันธบัตร 10 ปีและ 2.พันธบัตรธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เพื่อใช้หนี้โครงการรับจำนำข้าววงเงิน 5 หมื่นล้านบาท อายุไถ่ถอนพันธบัตร 5 ปี โดยพันธบัตรทั้ง 2 ประเภทจะเริ่มเปิดขายในวันที่ 12 - 16 ม.ค.2558 โดยจำกัดวงเงินในการซื้อไม่เกิน 2 ล้านบาทต่อราย โดยหากยังจำหน่ายไม่หมดในระยะเวลาดังกล่าวจะเปิดขายโดยไม่จำกัดวงเงินในการซื้อ

“การออกพันธบัตรเป็นมาตรการที่เราต้องการให้ประชาชนออมเงินและดึงเงินจากคนรวยมาใช้หนี้ ซึ่งสาเหตุที่ออกมา 1 แสนล้านบาทเนื่องจากดูขนาดของตลาดแล้วสามารถรับได้ ส่วนจะมีการออกพันธบัตรมาใช้หนี้จำนำข้าวเพิ่มเติมหรือไม่ต้องดูความเหมาะสมและสถานการณ์ในปีต่อไปว่าขายข้าวหรือไม่ ซึ่งการออมเงินด้วยพันธบัตรรัฐบาลผลตอบแทนก็น่าจะใกล้เคียงกับ 4% ส่วนมาตรการอื่นๆ อีก 2 มาตรการที่จะออกมา ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรีขอไปดูรายละเอียดก่อน และคาดว่าจะเสนอให้กับครม.พิจารณาครั้งหน้าโดยมาตรการทั้งหมดเป็นมาตรการในระยะสั้นและระยะยาวที่กระทรวงการคลังมีแผนอยู่แล้วไม่ใช้เป็นของขวัญปีใหม่แต่อย่างใด” นายสมหมายกล่าว


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : เปิดรายละเอียด ขึ้นเงินเดือนขรก. จนท.รัฐ ทั้งระบบ

view