สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ภาษีเงินได้นิติบุคคลครึ่งรอบระยะเวลาบัญชี

ภาษีเงินได้นิติบุคคลครึ่งรอบระยะเวลาบัญชี (1)

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
โดย : สุเทพ พงษ์พิทักษ์



ขอนำประเด็นการเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลครึ่งรอบระยะเวลาบัญชี

สำหรับบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่มีรอบระยะเวลาบัญชีเริ่มในวันที่ 1 มกราคม 2557 มาปุจฉา - วิสัชนา ดังนี้

ปุจฉา การยื่นรายการภาษีเงินได้นิติบุคคลครึ่งรอบระยะเวลาบัญชี ภ.ง.ด.51 สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีที่เริ่มในวันที่ 1 มกราคม 2557 มีหลักเกณฑ์อย่างไร

วิสัชนา การยื่นรายการภาษีเงินได้นิติบุคคลครึ่งรอบระยะเวลาบัญชี ภ.ง.ด.51 สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีที่เริ่มในวันที่ 1 มกราคม 2557 ทั้งนี้ ตามมาตรา 67 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร มีหลักเกณฑ์ดังนี้

1. สำหรับบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่มีหน้าที่ยื่นแบบ ภ.ง.ด.51 ได้แก่ บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนที่มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้นิติบุคคลจากฐานกำไรสุทธิ ประกอบด้วยบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย หรือที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศและประกอบกิจการในประเทศไทย โดยกิจการที่กระทำนั้นมิใช่กิจการขนส่งระหว่างประเทศ รวมทั้งกิจการร่วมค้า

2. กิจการดังกล่าวต้องมีรอบระยะเวลาบัญชีปกติครบ 12 เดือน ซึ่งหากวันเริ่มรอบระยะเวลาบัญชี คือ วันที่ 1 มกราคม 2557 เมื่อได้ดำเนินกิจการมาจนถึงสิ้นเดือนมิถุนายน 2556 และตั้งใจจะดำเนินกิจการต่อไปจนตลอดรอบระยะเวลาบัญชี ก็ย่อมมีหน้าที่ต้องยื่นแบบ ภ.ง.ด.51

3. กำหนดเวลาในการยื่นแบบ ภ.ง.ด.51 เพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลครึ่งรอบระยะเวลาบัญชี คือ ภายในสองเดือน นับแต่วันสุดท้ายของรอบระยะเวลาหกเดือนนับแต่วันแรกของรอบระยะเวลาบัญชี ได้แก่ ภายในกำหนดเวลานับแต่วันที่ 1 กรกฎาคม ถึงวันที่ 31 สิงหาคม 2557

แต่เนื่องจากวันที่ 31 สิงหาคม 2556 ตรงกับวันอาทิตย์ อันเป็นวันหยุดราชการ ดังนั้นกำหนดเวลาวันสุดท้ายของการยื่นแบบ ภ.ง.ด.51 ในปีนี้จึงต้องเลื่อนออกไปเป็นวันเปิดทำการวันแรก คือ วันที่ 1 กันยายน 2556 ทั้งนี้ ตามบทบัญญัติมาตรา 193/8 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ กล่าวคือ กรณีกำหนดเวลาในการยื่นแบบแสดงรายการภาษี แบบแสดงรายการหักภาษีและนำเงินภาษีส่งหรือแบบนำส่งภาษีวันสุดท้ายตรงกับวันหยุดทำการของทางราชการ ให้นับวันที่เริ่มทำการใหม่ต่อจากวันที่หยุดทำการนั้นเป็นวันสุดท้ายของระยะเวลา

4. สำหรับบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่มีรอบระยะเวลาบัญชีแรก และรอบระยะเวลาบัญชีสุดท้ายที่กำหนดเวลาน้อยกว่า 12 เดือน อาทิ กิจการที่เริ่มตั้งขึ้นใหม่ในปี 2556 หรือกิจการที่มีความประสงค์จะเลิกกิจการภายในปี 2556 นี้ ก็เป็นอันไม่ต้องยื่นแบบ ภ.ง.ด.51 แต่อย่างใด

5. อย่างไรก็ตาม สำหรับบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลใดที่ได้รับอนุมัติจากอธิบดีกรมสรรพากรให้เปลี่ยนแปลงวันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชี หากเป็นผลให้รอบระยะเวลาบัญชีดังกล่าวมีกำหนดเวลาเกินกว่า 6 เดือน บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลแห่งนั้น ก็ยังคงมีหน้าที่ยื่นแบบ ภ.ง.ด.51 และเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลครึ่งรอบระยะเวลาบัญชีด้วยเช่นกัน

6. การเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลครึ่งรอบระยะเวลาบัญชี โดยทั่วไปให้เสียจากกึ่งหนึ่งของประมาณการกำไรสุทธิที่ได้จากกิจการหรือเนื่องจากกิจการที่กระทำหรือจะได้กระทำในรอบระยะเวลาบัญชี เว้นแต่บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ สถาบันการเงิน และบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่สามารถคำนวณกำไรสุทธิในรอบระยะเวลา 6 เดือนแรกได้ ก็ให้เสียภาษีจากกำไรที่เกิดขึ้นจริงในรอบระยะเวลาดังกล่าว ซึ่งได้นำรายละเอียดมากล่าวในโอกาสต่อไป

พบกันใหม่สัปดาห์หน้าครับ


ภาษีเงินได้นิติบุคคลครึ่งรอบระยะเวลาบัญชี (2)

ขอนำประเด็นการเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลครึ่งรอบระยะเวลาบัญชี

สำหรับบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่มีรอบระยะเวลาบัญชีเริ่มในวันที่ 1 ม.ค.2557 มาปุจฉา – วิสัชนา ต่อจากสัปดาห์ก่อนดังนี้

ปุจฉา มีข้อกำหนดเกี่ยวกับรอบระยะเวลาบัญชีที่ไม่ต้องยื่นแบบ ภ.ง.ด.51 หรือไม่ อย่างไร

วิสัชนา โดยทั่วไปหากบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้นิติบุคคลจากฐานกำไรสุทธิ หากมีรอบระยะเวลาปกติ 12 เดือน ไม่ว่าจะเป็นรอบระยะเวลาแรกของการดำเนินกิจการ รอบระยะเวลาปกติ รวมทั้งรอบระยะเวลาสุดท้าย ก็ให้มีหน้าที่ยื่นแบบ ภ.ง.ด.51 ภายใน 2 เดือนนับแต่วันสุดท้ายของรอบระยะเวลา 6 เดือน นับแต่วันแรกของรอบระยะเวลาบัญชี

อย่างไรก็ตาม สำหรับบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่มีรอบระยะเวลาบัญชีแรกหรือรอบระยะเวลาบัญชีสุดท้าย ไม่ถึง 12 เดือน นั้น ตามบทบัญญัติมาตรา 67 ทวิ วรรคท้าย แห่งประมวลรัษฎากร ได้กำหนดให้ไม่ต้องยื่นแบบแสดงรายการ ภ.ง.ด.51

อนึ่ง สำหรับบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ได้รับอนุมัติจากอธิบดีกรมสรรพากรให้เปลี่ยน แปลงวันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชี แม้รอบระยะเวลาบัญชีดังกล่าวจะมีกำหนดเวลาน้อยกว่า 12 เดือน แต่หากรอบระยะเวลาบัญชีเช่นว่านั้น มีกำหนดเวลาเกินกว่า 6 เดือน บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้นก็ยังคงมีหน้าที่ต้องยื่นแบบ ภ.ง.ด.51 เพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลครึ่งรอบระยะเวลาบัญชี ตามมาตรา 67 ทวิ วรรคแรก แห่งประมวลรัษฎากร เช่นเดียวกับกรณีที่มีรอบระยะเวลาบัญชีครบ 12 เดือนตามปกติ

ปุจฉา ในปัจจุบันได้กำหนดวิธีการเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลครึ่งรอบระยะเวลาบัญชี ตามแบบ ภ.ง.ด.51 เป็นกี่วิธี อะไรบ้าง

วิสัชนา ในช่วงระยะเริ่มแรกของการบังคับใช้กฎหมายมาตรา 67 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร ตั้งแต่รอบระยะเวลาบัญชีปี 2523 จนถึงรอบระยะเวลาบัญชีที่เริ่มก่อนวันที่ 26 พ.ย.2534 เป็นต้นมา นั้น กำหนดให้มีการเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลครึ่งรอบระยะเวลาบัญชีจากประมาณการกำไรสุทธิหรือขาดทุนสุทธิ ที่ได้จากกิจการหรือเนื่องจากกิจการที่ได้กระทำและจะได้กระทำในรอบระยะเวลาบัญชี เพียงกรณีเดียว ทั้งนี้ ไม่ว่าบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลประเภทใด ซึ่งในปัจจุบันการเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลครึ่งรอบระยะเวลาบัญชี ในกรณีนี้ กำหนดไว้แต่เฉพาะบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลทั่วไป ที่ไม่ใช่บริษัทจดทะเบียน ธนาคารพาณิชย์ บริษัทเงินทุน หลักทรัพย์ หรือเครดิตฟองซิเอร์ และบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่จัดให้มีผู้สอบทานงบการเงินสำหรับรอบระยะเวลา 6 เดือนแรกของรอบระยะเวลาบัญชี

นับตั้งแต่รอบระยะเวลาบัญชีที่เริ่มในหรือหลังวันที่ 26 พ.ย.2534 เป็นต้นมา ได้กำหนดให้บริษัทจดทะเบียน ธนาคารพาณิชย์ บริษัทเงินทุน หลักทรัพย์ หรือเครดิตฟองซิเอร์ และบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่จัดให้มีผู้สอบทานงบการเงินสำหรับรอบระยะเวลา 6 เดือนแรกของรอบระยะเวลาบัญชี ซึ่งมีความสามารถที่คำนวณกำไรสุทธิสำหรับรอบระยะเวลา 6 เดือนแรกของรอบระยะเวลาบัญชีได้ ได้ร้องขอให้มีการเสียภาษีภาษีเงินได้นิติบุคคลจากกำไรสุทธิหรือขาดทุนสุทธิที่กระทำได้ในช่วงระยะเวลา 6 เดือนดังกล่าว จึงได้มีการกำหนดให้เสียภาษีเงินได้นิติบุคคลจากกำไรสุทธิที่เกิดขึ้นจริง เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาการประมาณการกำไรสุทธิที่อาจจะขาดไปเกินกว่า 25% ของกำไรสุทธิจริง

พบกันใหม่สัปดาห์หน้าครับ


ปัญหาภาษีเงินได้นิติบุคคลครึ่งรอบระยะเวลาบัญชี

ขอนำประเด็นปัญหาการเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลครึ่งรอบระยะเวลาบัญชี

สำหรับบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่มีรอบระยะเวลาบัญชีเริ่มในวันที่ 1 มกราคม 2557 มาปุจฉา - วิสัชนา ดังนี้

ปุจฉา กรณีบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลได้ยื่นรายการตามแบบ ภ.ง.ด.51 โดยการประมาณการกำไรสุทธิตามมาตรา 67 ทวิ (1) แห่งประมวลรัษฎากร ได้ยื่นแบบ ภ.ง.ด.51 จำนวนสองฉบับ ฉบับแรกยื่นภายในกำหนดเวลาและฉบับที่สองยื่นเกินกำหนดเวลา จะมีแนวทางในการคำนวณเงินเพิ่มตามมาตรา 67 ตรี แห่งประมวลรัษฎากร อย่างไร

วิสัชนา การคำนวณเงินเพิ่มตามมาตรา 67 ตรี วรรคหนึ่ง แห่งประมวลรัษฎากร ได้กำหนดไว้ว่า กรณีแสดงประมาณการกำไรสุทธิขาดไปเกินร้อยละ 25 ของกำไรสุทธิ ซึ่งได้จากกิจการหรือเนื่องจากกิจการที่กระทำในรอบระยะเวลาบัญชี โดยไม่มีเหตุอันสมควร บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้นต้องเสียเงินเพิ่มอีกร้อยละ 20 ของจำนวนเงินภาษีที่ต้องชำระตามมาตรา 67 ทวิ (1) แห่งประมวลรัษฎากร หรือของกึ่งหนึ่งของจำนวนเงินภาษีที่ต้องเสียในรอบระยะเวลาบัญชีนั้น หรือของภาษีที่ชำระขาด แล้วแต่กรณี

ดังนั้น กรณีที่จะต้องเสียเงินเพิ่มอีกร้อยละ 20 ดังกล่าวนั้น จะต้องพิจารณาเปรียบเทียบการยื่นรายการประมาณการกำไรสุทธิตามแบบ ภ.ง.ด.51 กับกำไรสุทธิจากกิจการหรือเนื่องจากกิจการที่กระทำในรอบระยะเวลาบัญชี ที่ต้องยื่นรายการตามแบบ ภ.ง.ด.50 แต่เมื่อมีการยื่นแบบ ภ.ง.ด.51 สองฉบับ โดยฉบับแรกยื่นภายในกำหนดเวลา และฉบับที่สองยื่นเกินกำหนดเวลา การเปรียบเทียบดังกล่าวต้องนำแบบ ภ.ง.ด.51 ทั้งสองฉบับมาพิจารณาด้วย ทั้งนี้ การยื่นแบบ ภ.ง.ด.51 เพิ่มเติมเป็นครั้งที่สองเป็นสิทธิที่ผู้เสียภาษีจะกระทำได้ ซึ่งไม่มีข้อกำหนดต้องห้ามไว้ในประมวลรัษฎากร โดยการยื่นแบบ ภ.ง.ด.51 เพิ่มเติมเกินกำหนดเวลาถือว่าผู้เสียภาษีไม่ยื่นรายการและชำระภาษีตามมาตรา 67 ทวิ (1) แห่งประมวลรัษฎากร จึงต้องรับผิดเสียเงินเพิ่มอีกร้อยละ 20 ของภาษีที่ต้องชำระเพิ่มเติมนั้น ตามมาตรา 67 ตรี แห่งประมวลรัษฎากร

ปุจฉา กรณีผู้เสียภาษียื่นแบบ ภ.ง.ด.51 ฉบับที่สองเกินกำหนดเวลา และเมื่อนำมารวมพิจารณาเปรียบเทียบกับแบบ ภ.ง.ด.50 แล้ว ปรากฏว่าประมาณการกำไรสุทธิขาดไปไม่เกินร้อยละ 25 นั้น ถือว่าผู้เสียภาษีไม่ยื่นรายการและชำระภาษีตามมาตรา 67 ทวิ (1) แห่งประมวลรัษฎากร จึงต้องรับผิดเสียเงินเพิ่มอีกร้อยละ 20 ของภาษีที่ต้องชำระเพิ่มเติมตามที่ยื่นแบบ ภ.ง.ด.51 ฉบับที่สอง ตามมาตรา 67 ตรี แห่งประมวลรัษฎากร ถูกต้องหรือไม่

วิสัชนา กรณีดังกล่าวถูกต้องแล้ว

ปุจฉา กรณีผู้เสียภาษียื่นแบบ ภ.ง.ด.51 ฉบับที่สองเกินกำหนดเวลาและเมื่อนำมารวมพิจารณาเปรียบเทียบกับแบบ ภ.ง.ด.50 แล้ว ปรากฏว่าประมาณการกำไรสุทธิยังขาดไปเกินร้อยละ 25 นั้น ผู้เสียภาษีต้องรับผิดเสียเงินเพิ่มอีกร้อยละ 20 ของภาษีที่ต้องชำระเพิ่มเติมตามที่ยื่นแบบ ภ.ง.ด.51 ฉบับที่สอง หรือไม่อย่างไร

วิสัชนา กรณีผู้เสียภาษีต้องรับผิดเสียเงินเพิ่มอีกร้อยละ 20 ของภาษีที่ต้องชำระเพิ่มเติมตามที่ยื่นแบบ ภ.ง.ด.51 ฉบับที่สอง และต้องเสียเงินเพิ่มอีกร้อยละ 20 ของภาษีที่ชำระขาดไปจากที่ได้นำแบบ ภ.ง.ด.51 ทั้งสองฉบับมาพิจารณาเปรียบเทียบกับแบบ ภ.ง.ด.50 แล้วปรากฏว่าประมาณการกำไรสุทธิยังขาดไปเกินร้อยละ 25 ของกำไรสุทธิซึ่งได้จากกิจการหรือเนื่องจากกิจการ (เลขที่หนังสือ กค 0706(กม.10)/126 วันที่ 29 มกราคม 2546)

พบกันใหม่สัปดาห์หน้าครับ


ปัญหาภาษีเงินได้นิติบุคคลครึ่งรอบระยะเวลาบัญชี (2)

ขอนำประเด็นปัญหาการเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลครึ่งรอบระยะเวลาบัญชี

สำหรับบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลมาปุจฉา - วิสัชนา ดังนี้

ปุจฉา การพิจารณา “เหตุอันควร” ว่ายื่นแบบ ภ.ง.ด.51 ไว้ไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของภาษีเงินได้นิติบุคคลที่ได้ยื่นแบบแสดงรายการเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลในรอบระยะเวลาบัญชีที่แล้ว กรณีบริษัทฯ มีภาษีหัก ณ ที่จ่าย คำว่า "ภาษีเงินได้นิติบุคคลที่ได้ยื่นแบบแสดงรายการเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลไว้" หมายถึง ภาษีที่คำนวณได้ หรือภาษีที่ชำระเพิ่มเติม (ภาษีหลังหักภาษีที่ถูกหัก ณ ที่จ่าย) ค่ะ

วิสัชนา คำว่า "ภาษีเงินได้นิติบุคคลที่ได้ยื่นแบบแสดงรายการเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลไว้" หมายถึง ภาษีเงินได้นิติบุคคลที่คำนวณได้จากฐานกึ่งหนึ่งของประมาณการกำไรสุทธิที่ได้จากกิจการหรือเนื่องจากกิจการที่ได้กระทำและจะได้กระทำในรอบระยะเวลาบัญชี ก่อนคำนวณหักภาษีเงินได้นิติบุคคลหัก ณ ที่จ่าย และเครดิตภาษีกรณีต่างๆ

ปุจฉา ในปี 2555 บริษัทฯ ยื่นประมาณการ ภ.ง.ด.51 ขาดไปเกินร้อยละ 25 คือ 25.74 พอเข้ามาดูรายละเอียดแล้วปรากฏว่า ในปี 2555 บริษัทฯ ได้รับเงินช่วยเหลือค่าปรับปรุง ระบบไฟฟ้า จากบริษัทผู้แทนจำหน่าย เนื่องจากบริษัทฯ ได้รับความเสียหายจากพายุ ในเดือน เม.ย. 2555 ทำให้เสาไฟหัก หม้อแปลงระเบิด ซึ่งทางบริษัทฯ ได้รับความช่วยเหลือ มาในวันที่ 6 พ.ย. 2555 ซึ่งทางบริษัทฯ เอง ไม่ทราบว่าจะได้หรือ พอได้รับเลยทำให้กำไรของทางบริษัทเพิ่มขึ้นมีผลทำให้ประมาณการขาดไปเกินร้อยละ 25 ซึ่งถ้าทางบริษัทฯ ไม่ได้รับ จะทำให้ประมาณการขาดไปแค่ 16.68% อยากทราบว่า เหตุการณ์เช่นนี้เราจะหยิบยกเอาเป็นเหตุอันสมควรได้หรือไม่ค่ะและถ้าได้เราจะดำเนินการอย่างไร

วิสัชนา การที่ทางบริษัทฯ ได้รับความช่วยเหลือค่าปรับปรุง ระบบไฟฟ้า จากบริษัทผู้แทนจำหน่าย มาในวันที่ 6 พ.ย. 2555 ซึ่งบริษัทฯ ไม่ทราบมาก่อนว่าจะได้หรือไม่ เมื่อนำจำนวนเงินช่วยเหลือมาหักออกจากจำนวนกำไรสุทธิแล้ว เป็นผลทำให้ประมาณการขาดไปเพียงร้อยละ 16.68 กรณีเช่นนี้ ถือได้ว่าเป็นกรณีที่ประมาณการขาดไปเกินกว่าร้อยละ 25 ของกำไรสุทธิประจำรอบระยะเวลาบัญชี โดยมีเหตุอันสมควรตามมาตรา 67 ตรี แห่งประมวลรัษฎากร

ปุจฉา กรณียื่น ภ.ง.ด.50 ปี 2555 บริษัทฯ มีการใช้สิทธิขาดทุนสะสม ส่งผลให้มีกำไรสุทธิที่ต้องเสียภาษี 100,000 บาท คูณ 20 % ภาษีคือ 20,000 บาท หากปี 2556 บริษัทฯ ประมาณการกำไรขาดทุนขาดไปเกิน 25% บริษัทฯ ต้องพิจารณาเหตุอันควร ข้อที่ว่าต้องยื่นภาษีตาม ภ.ง.ด.51 ปี 2556 มากกว่ากึ่งหนึ่งของภาษีที่ยื่น ภ.ง.ด.50 ปี 2555 ขอสอบถามว่าในการเปรียบเทียบดังกล่าว จะยึดจำนวนภาษีกึ่งหนึ่งของ ภ.ง.ด.50 ปี 2555 ด้วยภาษีที่คำนวณหลังหักขาดทุนสะสม 20,000 บาท หรือภาษีที่คำนวณจากยอดกำไรก่อนหักขาดทุนสะสม

วิสัชนา ในการพิจารณาเปรียบเทียบว่า บริษัทฯ ประมาณการกำไรขาดทุนขาดไปเกิน 25% หรือไม่นั้น ให้ใช้จำนวนภาษีกึ่งหนึ่งของ ภ.ง.ด.50 ปี 2555 ด้วยภาษีที่คำนวณหลังหักขาดทุนสะสม คือ จำนวน 20,000 บาท ซึ่งกึ่งจำนวนคือ 10,000 บาท

พบกันใหม่สัปดาห์หน้าครับ


ภาษีเงินได้นิติบุคคลครึ่งปีวันสุดท้าย

ขอนำประเด็นการเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลครึ่งรอบระยะเวลาบัญชี ของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล

สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีวันที่ 1 ม.ค.2557 สิ้นสุดวันที่ 31 ธ.ค.2557 มาปุจฉา - วิสัชนา ดังนี้

ปุจฉา ในปีนี้กำหนดวันสุดท้ายของกำหนดเวลาการยื่นแบบ ภ.ง.ด.51 มีการเลื่อนเวลาออกไปหรือไม่ อย่างไร

วิสัชนา เพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลครึ่งรอบระยะเวลาบัญชี กรณีบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ซึ่งมีรอบระยะเวลาบัญชีตรงกับปีปฏิทิน คือ เริ่มวันแรกในวันที่ 1 ม.ค. และสิ้นสุดวันที่ 31 ธ.ค.2557 ที่มีข้อกำหนดให้ต้องยื่นแบบแสดงรายการดังกล่าว ภายใน 2 เดือนนับแต่วันสุดท้ายของกำหนดเวลา 6 เดือนนับแต่วันแรกของรอบระยะเวลาบัญชี ซึ่งตรงกับวันอาทิตย์ที่ 31 ส.ค.2557 อันเป็นวันหยุดราชการนั้น ตามหลักกฎหมายได้ผ่อนปรนเลื่อนกำหนดเวลาสิ้นสุดออกไปเป็นวันเปิดทำการถัดไป ซึ่งได้แก่ วันจันทร์ที่ 1 ก.ย.2557

ดังนั้น สำหรับทั้งกรณีบริษัทจดทะเบียน ธนาคารพาณิชย์ บริษัทเงินทุน บริษัทหลักทรัพย์ บริษัทเครดิตฟองซิเอร์ รวมทั้งบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ได้รับอนุมัติจากอธิบดีกรมสรรพากรให้มีผู้สอบทานงบการเงิน ที่มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้นิติบุคคลจากกำไรสุทธิที่เกิดขึ้นจริงในรอบระยะเวลา 6 เดือนแรก และบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลอื่น รวมทั้งกิจการร่วมค้าที่มีหน้าที่ต้องเสียภาษีภาษีเงินได้นิติบุคคลครึ่งรอบระยะเวลาบัญชีจากกึ่งหนึ่งของประมาณการกำไรสุทธิของทั้งรอบระยะเวลาบัญชี และใช้สิทธิยื่นแบบ ภ.ง.ด.51 ผ่านระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ตทางเว็บไซต์ของกรมสรรพากร http://www.rd.go.th ก็จะได้รับสิทธิขยายกำหนดเวลาการยื่นแบบแสดงรายการออกไปจากเดิมอีก 8 วัน ตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังประกาศกำหนด เป็นภายในวันอังคารที่ 9 ก.ย.2557

ปุจฉา การยื่นแบบ ภ.ง.ด.51 ล่าช้าเมื่อพ้นกำหนดเวลาตามที่กฎหมายกำหนด มีโทษฑัณฑ์ทางภาษีอากรในประการใดบ้าง

วิสัชนา การยื่นแบบ ภ.ง.ด.51 ล่าช้าต้องระวางโทษปรับทางอาญา โดยหากยื่นแบบล่าช้าไม่เกิน 7 วันต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 1,000 บาท แต่ถ้าพ้น 7 วัน ต้องระวางโทษปรับเต็มจำนวน 2,000 บาท

กรณีที่มีเงินภาษีเงินได้นิติบุคคลครึ่งรอบระยะเวลาบัญชีที่ต้องชำระพร้อมกับภ.ง.ด.51 ด้วย กิจการยังต้องเสียเงินเพิ่มตามกฎหมาย เพราะเหตุชำระล่าช้าดังนี้ ฟ

กรณีชำระภายใน 2 วัน ให้เสียเงินเพิ่มในอัตรา 0.1% ของเงินภาษีที่ต้องเสีย

กรณีชำระเกินกว่า 2 วันแต่ไม่เกิน 7 วัน ให้เสียเงินเพิ่มในอัตรา 0.5% ของเงินภาษีที่ต้องเสีย

กรณีชำระเกินกว่า 7 วัน ให้เสียเงินเพิ่มในอัตรา 1.5% ต่อเดือนหรือเศษของเดือนของเงินภาษี จนกว่าเงินเพิ่มจะเต็มครบ 20% ของเงินภาษีที่ต้องเสียตามกฎหมาย ได้แก่ พ้นกำหนดเวลาการยื่นไปเกินว่า 13 เดือน

ในการคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคลประจำรอบระยะเวลาบัญชี บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลจะนำค่าปรับและเงินเพิ่มดังกล่าว ไปถือเป็นรายจ่ายทางภาษีอากรไม่ได้ เนื่องจากเป็นรายจ่ายต้องห้ามตามมาตรา 65 ตรี (6) แห่งประมวลรัษฎากร

พบกันใหม่สัปดาห์หน้าครับ


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ภาษีเงินได้นิติบุคคลครึ่งรอบระยะเวลาบัญชี

view