สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

รายจ่ายค่าเลี้ยงรับรองปีใหม่

รายจ่ายค่าเลี้ยงรับรองปีใหม่ (1)

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์




ในช่วงวันขึ้นปีใหม่ 2558 ในหลายๆ กิจการอาจมีการจัดเลี้ยงปีใหม่ให้แก่พนักงาน

หรือมีการมอบของขวัญของชำร่วยให้แก่ลูกค้าหรือผู้มีพระคุณ ซึ่งอาจมีประเด็นทางภาษีอากรที่เกี่ยวข้อง จึงขอนำมาเป็นประเด็นปุจฉา – วิสัชนา ดังนี้ครับ

ปุจฉา บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลสามารถเลี้ยงรับรองลูกจ้างพนักงานของตนเองได้หรือไม่อย่างไร

วิสัชนา กรณีบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลผู้เป็นนายจ้างไม่สามารถนำรายจ่ายค่าเลี้ยงรับรองพนักงานลูกจ้างของตนเองโดยตรง มาถือรวมเป็นรายจ่ายค่ารับรองในการคำนวณกำไรสุทธิทางภาษีอากรได้ เพราะต้องห้ามตามมาตรา 65 ตรี (4) แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับกฎกระทรวง ฉบับที่ 143 (พ.ศ. 2522) ทั้งนี้ เว้นแต่ลูกจ้างจะมีส่วนร่วมในการรับรองบุคคลภายนอก และไม่อาจนำภาษีซื้อสำหรับค่ารับรองดังกล่าว มาใช้เป็นเครดิตหักออกจากภาษีขายในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มได้

ปุจฉา กรณีที่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลจัดงานเลี้ยงปีใหม่ให้พนักงาน ไม่ว่าจะจัดในบริษัทหรือบางครั้งไปจัดนอกสำนักงาน เช่น โรงแรม หรือสโมสร เป็นต้น โดยจัดเป็นสวัสดิการแก่พนักงาน ลูกจ้าง ซึ่งระบุไว้ในระเบียบว่าด้วยสวัสดิการพนักงาน จะถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิ และภาษีซื้อที่เกิดขึ้นจะนำไปถือเป็นเครดิตหักออกจากภาษีขายในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มได้หรือไม่

วิสัชนา ในกรณีที่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลได้กำหนดกิจกรรมดังกล่าวไว้เป็นสวัสดิการแก่พนักงานลูกจ้าง โดยต้องจัดการให้เป็นประจำ ก็ให้ถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิได้ และมีสิทธินำภาษีซื้อที่เกิดขึ้นดังกล่าวมาใช้เป็นเครดิตหักออกจากภาษีขายในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มได้ เพราะเป็นรายจ่ายที่เกี่ยวเนื่องโดยตรงกับการประกอบกิจการ

ปุจฉา กรณีบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลแจกกระเช้าของขวัญให้แก่ลูกค้าที่ซื้อสินค้าเป็นประจำ โดยแจกทุกปี เป็นปกติประเพณีทางการค้า จะนำรายจ่ายดังกล่าวมาถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลได้หรือไม่อย่างไร

วิสัชนา กรณีให้ของขวัญดังกล่าว ถือเป็นรายจ่ายอันมีลักษณะเป็นการส่วนตัว หรือรายจ่ายให้โดยเสน่หา ตามมาตรา 65 ตรี (3) แห่งประมวลรัษฎากร และไม่อาจนำภาษีซื้อมาใช้เป็นเครดิตหักออกจากภาษีขายในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มได้ โดยภาษีซื้อดังกล่าวก็ถือเป็นรายจ่ายต้องห้ามด้วย แต่หากเป็นรายจ่ายในการส่งเสริมการขายที่ได้กำหนดไว้เป็นการแน่นอน โดยถือเป็นรางวัลที่ให้แก่ลูกค้าของตนเพื่อการส่งเสริมการขาย ซึ่งบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลต้องกำหนดระเบียบหรือแนวทางปฏิบัติที่แน่ชัดพร้อมที่จะให้เจ้าหน้าที่ทำการตรวจสอบได้ ก็ให้ถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิได้ และให้นำภาษีซื้อมาใช้เป็นเครดิตหักออกจากภาษีขายในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มได้ เพราะเป็นรายจ่ายที่เกี่ยวเนื่องโดยตรงกับการประกอบกิจการ แต่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลต้องเสียภาษีขายจากมูลค่ากระเช้าที่เป็นรางวัลส่งเสริมการขายดังกล่าว และหากมูลค่าของรางวัลดังกล่าวมีจำนวนถึง 1,000 บาท บริษัทต้องคำนวณหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายในอัตรา 3% ของมูลค่ากระเช้าของขวัญ ในกรณีที่มอบแก่ลูกค้าที่เป็นผู้ซื้อสินค้าดังกล่าวไปขายต่อ

พบกันใหม่สัปดาห์หน้าครับ


รายจ่ายค่าเลี้ยงรับรองปีใหม่ (2)


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : รายจ่ายค่าเลี้ยงรับรองปีใหม่

view