สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ราคาน้ำมัน กับยุโรปและรัสเซีย โดย วีรพงษ์ รามางกูร

จากประชาชาติธุรกิจ

คอลัมน์ คนเดินตรอก

สภาพเศรษฐกิจของประเทศในกลุ่มยูโรกับรัสเซียนั้นต่างกันอย่างสิ้นเชิง แต่ในขณะที่ราคาน้ำมันและสินค้าโภคภัณฑ์ต่าง ๆ ลดลงอย่างมาก ได้ทำความเสียหายให้กับประเทศในกลุ่มยูโรและประเทศรัสเซียได้อย่างมหาศาลไม่แตกต่างกัน เพียงแต่เป็นปัญหาคนละอย่าง

การที่ราคาน้ำมันและสินค้าโภคภัณฑ์ต่าง ๆ ลดลง ทำให้อัตราเงินเฟ้อในกลุ่มประเทศยูโรลดลงเข้าใกล้ศูนย์หรืออาจจะติดลบก็ได้ สถานการณ์เช่นนี้ได้สร้างความกดดันให้กับธนาคารกลางของสหภาพยุโรปเป็นอย่างยิ่ง เพราะธนาคารกลางยุโรป ตั้งเป้าว่าระบบเศรษฐกิจจะถูกกระตุ้นให้ฟื้นตัวจากมาตรการคิวอีหรือมาตรการเพิ่มปริมาณเงิน เพื่อให้อัตราดอกเบี้ยระยะยาวลดลง เนื่องจากราคาของตราสารทางการเงินลดลง

การที่อัตราเงินเฟ้อต่ำลงเข้าใกล้ศูนย์ ทำให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์ว่าเศรษฐกิจของยุโรปกำลังเคลื่อนเข้าไปสู่ภาวะเงินฝืดเข้าไปทุกที โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศกรีซ ไอร์แลนด์ โปรตุเกส และสเปน



นักเศรษฐศาสตร์ตั้งข้อสังเกตว่า การที่อัตราเงินเฟ้อในยุโรปลดลง ไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่ธนาคารกลางยุโรป ตั้งเป้าหมายไว้ที่ 2 เปอร์เซ็นต์ต่อปี ได้ก่อให้เกิดการ "คาดหมาย" หรือ "Expectation" ว่าเศรษฐกิจของยุโรปน่าจะแย่กว่าที่คิดหรือคาดเอาไว้ ความคาดหมายดังกล่าวก็ยิ่งจะทำให้การลงทุนและการใช้จ่ายเพื่อบริโภคของครัวเรือนชะลอตัวลงไปอีก พร้อม ๆ กันนั้นอัตราดอกเบี้ยก็มีแนวโน้มจะลดลงไปอีก ถ้าหากราคาน้ำมันและสินค้าอื่นยังอ่อนตัวลงไปอีกจนอยู่ระหว่าง 60 ถึง 70 เหรียญต่อบาร์เรล อัตราเงินเฟ้อในกลุ่มยุโรปอาจจะต่ำกว่า 0.5 เปอร์เซ็นต์ก็ได้ในปีหน้านี้ ซึ่งไม่ใช่สัญญาณของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจยุโรป สิ่งที่วิตกกันก็คือ เศรษฐกิจของยุโรปอาจจะดื้อยา และอาจจะไม่ฟื้นตัวภายในระยะเวลาอันใกล้แบบเดียวกับญี่ปุ่น แต่ในระยะยาวการที่ราคาน้ำมันลดลงอย่างรวดเร็ว น่าจะมีส่วนช่วยหยุดยั้งการทรุดตัวของเศรษฐกิจไม่ให้ไหลลงต่อไปได้

ขณะที่เศรษฐกิจของกลุ่มประเทศยูโรยังไม่มีทีท่าให้เห็นว่าจะฟื้นตัวในเวลาอันใกล้นี้ เศรษฐกิจของรัสเซียกลับมีทีท่าว่าจะทรุดตัวลง จากการที่ราคาน้ำมันลดลงต่ำสุดในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา และเนื่องจากรัสเซียเป็นประเทศที่ส่งออกพลังงาน ไม่ว่าจะเป็นน้ำมันดิบ ก๊าซธรรมชาติ และถ่านหิน ข่าวการลดลงของราคาน้ำมันและราคาพลังงาน รวมทั้งการประกาศคว่ำบาตรของกลุ่มประเทศยุโรปในเขตยูโร อันสืบเนื่องมาจากการผนวกแคว้นไครเมียเข้ากับรัสเซีย และการสู้รบกันในยูเครน อันเป็นเหตุให้รัสเซียต้องเสียค่าใช้จ่ายมหาศาล รวมทั้งเกิดความแตกตื่นเงินไหลออกเป็นจำนวนมาก ทำให้ค่าเงินรูเบิลลดค่าลงกว่าร้อยละ 40 เมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐ เมื่อค่าเงินรูเบิลตกลงอย่างรวดเร็วอย่างนี้ เงินก็ยิ่งไหลออก ค่าเงินรูเบิลก็อาจจะร่วงต่อ

เมื่อค่าเงินรูเบิลทรุดลงอย่างแรงเช่นนี้ ก็ทำให้เกิดภาวะเงินเฟ้อ ในขณะที่ประเทศในเขตยูโรกำลังวิตกและกลัวภาวะเงินฝืดหรือ "Deflation" รัสเซียกลับมีอัตราเงินเฟ้อสูงถึงร้อยละ 9 ต่อปี

ประธานาธิบดีปูติน ประกาศเลื่อนแผนการลงทุนขนาดใหญ่หลายโครงการ เช่น โครงการวางท่อส่งก๊าซไปยังยุโรปตอนใต้  โครงการรถไฟความเร็วสูงสายตะวันออก จากกลางมอสโกไปยังเมืองกาซาน

เศรษฐกิจของรัสเซียนั้นต้องพึ่งพาการส่งออกน้ำมันเป็นอย่างมาก เพราะน้ำมันมีสัดส่วนกว่าร้อยละ 60 ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมด การที่ราคาน้ำมันลดต่ำกว่า 70 เหรียญต่อบาร์เรลจึงมีผลกระทบต่อค่าเงินรูเบิลอย่างรุนแรง

ที่เคยคาดการณ์โดยกระทรวงพัฒนาการเศรษฐกิจว่าเศรษฐกิจของรัสเซียจะขยายตัวประมาณร้อยละ 2 ในปีหน้า ต้องทบทวนเพราะกลายเป็นว่าเศรษฐกิจปีหน้าจะหดตัวร้อยละ 0.8 ในขณะที่สถาบันเอกชนคาดการณ์ว่า เศรษฐกิจรัสเซียปีหน้าจะหดตัวถึงร้อยละ 2 หลายคนกำลังติดตามดูว่ารัสเซียจะดำเนินการแก้ไขปัญหาวิกฤตการณ์เศรษฐกิจและการเงินของตนอย่างไร ไม่ว่าราคาน้ำมันจะหยุดไหลลงหรือยังจะไหลลงต่อไป

นอกจากการประกาศเลื่อนการลงทุนโครงการขนาดใหญ่แล้วรัสเซียคงจะไม่สามารถใช้นโยบายเพิ่มปริมาณเงินเข้าไปในระบบอีก หากทำเช่นนั้นค่าเงินรูเบิลก็คงจะตกต่อไปอีก จึงเหลือเพียงนโยบายการคลังเท่านั้นที่จะพยุงค่าเงินรูเบิลไว้ได้ มิฉะนั้นรัสเซียก็จะมีปัญหาแบบเดียวกับกรีซ ไอร์แลนด์ โปรตุเกส และสเปน

นโยบายการคลังที่ว่าก็คือการตัดงบประมาณรายจ่ายลง ลดการขาดทุนโดยปิดหน่วยงานบางแห่งที่ขาดทุน ยอมให้รัฐวิสาหกิจบางแห่งที่ประสบการขาดทุนล้มหายตายจากไป ลดการจ้างงาน โครงการสวัสดิการหลายอย่าง เช่น โครงการเพิ่มอัตราการเกิด โครงการเพิ่มอายุเฉลี่ยของประชากร โครงการเพิ่มงานต่าง ๆ อาจจะประสบปัญหาจากความจำเป็นที่ต้องตัดงบประมาณลง

สถานการณ์ดังกล่าวย่อมก่อให้เกิดภาวการณ์ว่างงานเกิดขึ้นอันตรายจากการรวมกลุ่มกันประท้วง เกิดการเดินขบวนและส่งผลต่อเสถียรภาพของรัฐบาลประธานาธิบดีปูตินเป็นอย่างมาก

สถานการณ์ที่ปล่อยให้ราคาน้ำมันลงของสหรัฐอเมริกากับซาอุดีอาระเบียครั้งนี้ทำให้นึกถึงการที่สหรัฐอเมริกา โดยประธานาธิบดีเรแกน ทำการประชาสัมพันธ์ว่าจะพัฒนาอาวุธทางอวกาศ ทำให้ประธานาธิบดีกอร์บาชอฟ แห่งรัสเซียต้องทำตาม การแข่งขันกันสร้างแสนยานุภาพทางอวกาศที่เรียกกันว่า "Star War" ทำให้สหรัฐอเมริกาและรัสเซียต้องทุ่มงบประมาณมหาศาล เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการพัฒนาอาวุธทางอวกาศ ทั้งประธานาธิบดีเรแกนและกอร์บาชอฟ ต่างทุ่มงบประมาณมหาศาลเพื่อการแข่งขันในสงครามอวกาศ เศรษฐกิจของสหรัฐและสหภาพโซเวียตย่ำแย่ ขาดดุลมหาศาล ค่าเงินดอลลาร์ลดลงอย่างรวดเร็วเมื่อเทียบกับเงินมาร์กเยอรมันและเงินตราสกุลอื่น ๆ แต่ในที่สุดเศรษฐกิจของสหภาพโซเวียตล้มละลายก่อน และในที่สุดก็เป็นจุดเริ่มต้นของการล่มสลายของสหภาพโซเวียต และค่ายคอมมิวนิสต์ในที่สุด

มีหลายคนตั้งข้อสังเกตว่า ซาอุดีอาระเบียกับสหรัฐอาจจะร่วมมือกันถล่มราคาน้ำมันลง ขณะที่สหรัฐนั้นสามารถผลิตน้ำมันและก๊าซธรรมชาติเพียงพอในการใช้ในประเทศ และกำลังพัฒนาอุตสาหกรรมเคมีขนาดใหญ่จากการได้เปรียบ ที่มีพลังงานราคาถูก สหรัฐอเมริกาคงอยู่ในฐานะที่ไม่เดือดร้อนอะไรมาก

แต่ขณะเดียวกันการที่ที่ประชุมประเทศผู้ส่งออกน้ำมันหรือกลุ่มโอเปกนำโดยซาอุดีอาระเบียลงมติปฏิเสธข้อเสนอของเวเนซุเอลา ที่ให้ประเทศในกลุ่มโอเปกลดการส่งออกน้ำมันดิบลง อันเป็นเหตุให้ราคาน้ำมันร่วงลงต่ำกว่าบาร์เรลละ 70 เหรียญสหรัฐ และมีแนวโน้มจะลดลงไปอีก

ซาอุดีอาระเบียประกาศว่า แม้ราคาน้ำมันดิบจะลดลงไปถึงบาร์เรลละ 60 ดอลลาร์ ซาอุดีอาระเบียก็ยังอยู่ได้ แต่ประเทศที่อาจจะเดือดร้อนมากคงจะเป็นประเทศอิหร่าน ซึ่งเป็นคู่แข่งของซาอุดีอาระเบียในตะวันออกกลาง

หากราคาน้ำมันดิบยังคงลดลงต่อไป และอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าบาร์เรลละ 70 ดอลลาร์เป็นเวลานาน คงจะเกิดความกดดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการเมืองระหว่างประเทศอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ อำนาจต่อรองของประเทศที่ส่งออกน้ำมันคงจะน้อยลง

จีนซึ่งเป็นประเทศนำเข้าพลังงานและสินค้าโภคภัณฑ์เพื่อเป็นวัตถุดิบจีนจึงน่าจะได้ประโยชน์จากการลดลงของราคาพลังงาน เศรษฐกิจของจีนที่เริ่มชะลอตัวน่าจะได้อานิสงส์จากการลดราคาของน้ำมันเป็นอย่างมาก อาจจะไม่น้อยกว่าผลประโยชน์จากการค้นพบเทคโนโลยีในการผลิตน้ำมันและก๊าซธรรมชาติจากชั้นหินดานของสหรัฐอเมริกาฐานะของจีนจึงน่าจะดีขึ้น

การเมืองที่อ่าวเปอร์เซียก็น่าจะเปลี่ยนไป สหรัฐอเมริกาคงจะลดความสำคัญของตะวันออกกลางลง และคงเกี่ยงให้จีนเข้ามามีบทบาทในการรักษาเสถียรภาพในบริเวณนี้ ภาวะเศรษฐกิจของโลกที่ถดถอย ราคาน้ำมัน ราคาสินค้าเกษตร ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ลดลง น่าจะทำให้ความสัมพันธ์ของประเทศต่าง ๆ เปลี่ยนไปอย่างมาก แต่จะเปลี่ยนไปอย่างไร มีผลต่อบ้านเราขนาดไหน ต้องดูกันต่อไป

โลกเราก็เป็นอย่างนี้ไม่มีอะไรแน่


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ราคาน้ำมัน ยุโรป รัสเซีย วีรพงษ์ รามางกูร

view