สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

บทเรียนของ Digital Economy กับกรณี Uber Taxi

บทเรียนของ Digital Economy กับกรณี Uber Taxi

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์




ปรากฏการณ์รถแท็กซี่ Uber ที่ดราม่าอยู่ในโลกออนไลน์มาตลอดหลายเดือนเป็นอันต้องสิ้นสุด

ด้วยคำสั่งจากกรมขนส่งทางบกที่ระบุให้บริการแท็กซี่ ซึ่งปฏิบัติการด้วยแอพพลิเคชั่นทันสมัยกลายเป็นสิ่งที่ผิดกฎหมาย โดยอ้างตามพระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ. 2522 ฐานใช้รถยนต์ผิดประเภทจากที่จดทะเบียนไว้โดยระบุความผิดไปยังคนขับผู้ให้บริการซึ่งไม่มีใบขับขี่สาธารณะและไม่เข้าสู่ระบบทะเบียนของศูนย์ประวัติผู้ขับขี่รถสาธารณะ ซ้ำยังสะท้อนความห่วงใยที่มีต่อประชาชนผู้ใช้บริการในประเด็นของการชำระค่าโดยสารที่ผ่านบัตรเครดิตว่า อาจส่งผลต่อความปลอดภัยของธุรกรรมผู้ใช้บริการ

คำสั่งข้างต้นจากหน่วยงานรัฐนับเป็นประกาศิตที่บริษัทผู้ให้บริการอย่าง Uber ต้องปฏิบัติตาม อย่างไรก็ตาม ได้มีแถลงการณ์จาก Uber ให้ชวนคิดในแง่ของการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อสร้างการแบ่งปันทรัพยากรเศรษฐกิจ หรือ “Sharing Economy” ซึ่งนับเป็นหัวใจของการขับเคลื่อนสังคมที่น่าอยู่ ตามอุดมคติของการอยู่ร่วมกันแบบเกื้อกูล

Uber เป็นแอพพลิเคชั่นให้บริการและอำนวยความสะดวกการใช้รถแท็กซี่โดยสารสาธารณะที่ปัจจุบันปฏิบัติการอยู่ตามเมืองใหญ่ทั่วโลกกว่า 250 เมือง กว่า 40 ประเทศทั่วโลก ทั้งนี้ แอพพลิเคชั่นได้รับการพัฒนาขึ้นที่เมืองซานฟรานซิสโก ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อปี 2009 โดยได้รับทุนสนับสนุนตั้งต้นจาก “Benchmark” ซึ่งเป็นกลุ่มทุนที่ให้การสนับสนุนการก่อตั้งกิจการออนไลน์ที่สำคัญของโลก ไม่ว่าจะเป็น Twitter และ Instagram โดยภายหลังในปี 2010 Uber ยังได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มทุนใหญ่อื่น ๆ อีกกว่า 32 ล้านดอลลาร์ จากบริษัทการเงินระดับโลกอย่าง Goldman Sachs บริษัทเงินทุนด้านเทคโนโลยีอย่าง Menlo Ventures รวมถึง Jeff Benzos ผู้ก่อตั้งและผู้บริหารเว็บไซต์ Amazon.com โดยมีเป้าหมายในการสร้างแอพพลิเคชั่นที่อำนวยความสะดวกให้กับผู้ใช้บริการแท็กซี่บนฐานของเศรษฐกิจดิจิทัล

อย่างไรก็ตาม เมื่อ Uberได้ขยายตัวให้บริการตามเมืองใหญ่ทั่วโลกนำมาสู่ปรากฏการณ์ของการประท้วงจากบรรดาแท็กซี่เจ้าถิ่นได้เกิดขึ้นเป็นระลอก ไม่ว่าจะเป็นที่ลอนดอน ปารีส เบอร์ลิน รวมถึงหลายเมืองในอินเดีย ซึ่งส่งผลให้ภาครัฐต้องทำการทบทวนตัวบทกฎหมายเพื่อพิจารณาการให้บริการเดินรถสาธารณะใหม่บนฐานคิดที่รัฐเองก็ดูจะตั้งหลักแทบไม่ทัน เพราะสิ่งที่รัฐต้องทำคือ การชั่งน้ำหนักระหว่างผลประโยชน์ของกลุ่มผู้ให้บริการรายเก่ากับความพึงพอใจของผู้รับบริการ ที่ดูเหมือนจะพออกพอใจกับทางเลือกใหม่ที่ Uber กำลังนำเสนอ

การเข้ามาของเทคโนโลยีที่แทรกซึมในวิถีชีวิตของผู้คนยุคปัจจุบันเป็นสิ่งที่เลี่ยงไม่ได้ในยุค 3G เมื่อผู้บริโภคมีสมาร์ทโฟนติดตามตัวไปทุกที่ทุกเวลา ซึ่งส่งผลให้อำนาจการต่อรองตกไปอยู่ในมือของผู้บริโภคอย่างแท้จริง และนี่คือปรากฏการณ์เศรษฐกิจดิจิทัลของจริงที่รัฐในหลายๆ ประเทศก็ยังคงตื่นตระหนกกับการบายพาสการบังคับบัญชาของภาครัฐด้วยเทคโนโลยีไอที

หลักการบริหารรัฐกิจยุคใหม่ที่ นอกจากรัฐจะต้องเล่นบทบาทในการปกป้องทรัพย์สินและชีวิตความเป็นอยู่ของพลเมืองแล้ว รัฐยังต้องกำกับดูแลการบริการโดยส่งเสริมให้กลไกตลาดทำงาน เพื่อสร้างทางเลือกและการบริการที่มีประสิทธิภาพให้กับผู้บริโภคภายใต้มาตรฐานการบริการที่รัฐตั้งไว้ ทั้งนี้หากรัฐเห็นวี่แววการทำงานของกลไกตลาดที่ล้มเหลว ไม่ว่าจะเป็นการครอบงำตลาดของกลุ่มทุนบางกลุ่ม การบริการที่ไม่เพียงพอ มาตรฐานการบริการที่ตกต่ำ รวมไปถึงทางเลือกของผู้บริโภคที่ถูกจำกัดแล้ว ภาครัฐเองต้องเล่นบทบาทเข้าไปแทรกแซงเพื่อทำให้กลไกตลาดสมบูรณ์และสร้างการแข่งขัน อันจะช่วยยกระดับมาตรฐานการบริการให้กับประชาชน

อย่างไรก็ตาม กรณีคำสั่งของรัฐไทยที่ลงดาบยุติการบริการของ Uberโดยการอ้างถึงสวัสดิภาพของผู้รับบริการดูเหมือนจะเป็นตลกร้ายของการที่ภาครัฐพยายามจะหยุดยั้งการทำงานของกลไกตลาด พร้อมกับดึงมาตรฐานการบริการรถแท็กซี่ให้ต่ำเตี้ยเรี่ยดินไร้ทั้งประสิทธิภาพการบริการและสวัสดิภาพการเดินทางดังเช่นบริการของแท็กซี่ที่มีอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งจากการที่รัฐไทยพยายามอ้างผลประโยชน์ของประชาชนผู้ใช้บริการมากกว่าการอ้างการสูญเสียผลประโยชน์ของผู้ประกอบการเดินรถรายเดิมๆ ได้กลายเป็นประเด็นที่ในโลกออนไลน์พากันเสียดสีถึงความย้อนแย้งในบริการที่ไม่ได้มาตรฐานตามเกณฑ์ที่ผู้บริโภคคาดหวังแต่กลับได้รับการการันตีโดยรัฐไทยทั้งนี้หากศึกษาจะพบว่าในหลายๆ ประเทศที่พัฒนาแล้ว การขับแท็กซี่คือ วิชาชีพหนึ่งที่ต้องมีกระบวนการทดสอบความรู้ ศักยภาพทางร่างกาย และมาตรฐานทางวิชาชีพ ดังเช่นคนขับแท็กซี่ในลอนดอนที่ต้องมีความรู้เกี่ยวกับถนนและเส้นทางเดินรถ รวมถึงทางลัดในพื้นที่ของกรุงลอนดอนอย่างเชี่ยวชาญจนสามารถประกอบวิชาชีพนี้ได้ซึ่งการปิดถนนประท้วง Uber ของคนขับแท็กซี่ในลอนดอนร่วมหมื่นชีวิตดูจะเป็นความชอบธรรมที่กลุ่มคนขับแท็กซี่พยายามสร้างมาตรฐานการบริการที่ดีร่วมกัน

อย่างไรก็ตาม กรณีของ Uber เป็นเพียงปรากฏการณ์นำร่องของเศรษฐกิจดิจิทัลของจริง ที่ผู้รับบริการขานรับและกำลังลดทอนอำนาจการต่อรองกลุ่มผู้ประกอบการดั้งเดิมที่อาจถูกแทนที่ด้วยความสะดวกสบายของแอพพลิเคชั่นบนสมาร์ทโฟน เพราะล่าสุดมลรัฐแคลิฟอร์เนียได้ผ่านกฎหมาย “Rid-sharing” อนุญาตให้คนขับรถบ้านให้บริการขับรถส่งคน ผ่านการใช้แอพพิลเคชั่นที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น Lyft, Sidecar, Instatcab, หรือ Flywheel ภายใต้แนวคิดที่รัฐเชื่อมั่นในทางเลือกของผู้บริโภคและการดูแลกันเองของผู้คนในสังคม

ดังนั้น ประเด็นการหยุดเดินรถของ Uber จึงเป็นเพียงกรณีศึกษาเบื้องต้นที่สะท้อนความรู้จริงและความจริงใจของรัฐไทยที่มีต่อแนวคิดเศรษฐกิจดิจิทัล ซึ่งกำลังโหมประโคมข่าวกันอยู่ขณะนี้ว่า ในท้ายที่สุดรัฐไทยจะมีความพร้อมกับแนวคิดดังกล่าวมากน้อยเพียงใด หรือมันจะเป็นเพียงคำสวยหรูที่ห้อยท้ายอยู่ปลายนโยบายเพียงเพื่อใช้อนุมัติเงินงบประมาณตามครรลองวิถีที่ทำกันอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน โดยทิ้งให้ประชาชนยังคงติดอยู่ในมาตรฐานการบริการที่ไร้ทางเลือกแบบตามแบบฉบับรัฐจัดให้


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : บทเรียน Digital Economy  Uber Taxi

view