สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

วิธีแก้ปัญหาคอร์รัปชัน

วิธีแก้ปัญหาคอร์รัปชัน

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์




วิธีแก้คอร์รัปชันอยู่ที่การรู้จักสร้างระบบใหม่แยกออกจากระบบเก่าที่เน่าเฟะ

เคยแอบได้ยินคนพูดว่าวัฒนธรรมคอร์รัปชันของไทยนี่อาจจะรับอิมพอร์ตมาจากเมืองจีนเป็นไปได้ว่า นอกจากจะนำเอาวัฒนธรรมความขยันขันแข็งมาแล้วชาวจีนโพ้นทะเลยังเอาวัฒนธรรม “ค่าน้ำชา” “ให้ซอง” “จ่ายใต้โต๊ะ” “สินน้ำใจ” “ส่วย” ฯลฯ มาจากจีนตั้งแต่ครั้งกระโน้นด้วย วันนี้ผมจะเล่าเกร็ดประวัติศาสตร์จีนเกี่ยวกับเรื่องการคอร์รัปชัน และมาดูกันว่านักคิดชาวจีนมองปัญหาคอร์รัปชันอย่างไร

ก่อนจะย้อนอดีตไปเล่าเรื่องคอร์รัปชันสมัยโบราณ ขอคั่นเวลามาอัปเดตข่าวใหญ่สะเทือนการเมืองจีนเมื่อสัปดาห์ที่แล้วกันสักหน่อยนั่นก็คือข่าวการล้างบาง “โจวหย่งคัง” อดีตกรรมการประจำ Politburo ซึ่งเป็นคณะกรรมการบริหารสูงสุดของพรรคคอมมิวนิสต์จีนข้อหาที่ถูกตั้งก็ล้วนคลาสสิก (เหมือนๆ กับผู้นำระดับสูงที่เคยถูกกำจัดก่อนหน้านี้) มีตั้งแต่การรับสินบน รับส่วย กำหนดนโยบายเพื่อเอื้อประโยชน์ให้พวกตัว เปิดเผยข้อมูลลับระดับสูงกับพรรคพวก ไปจนถึงการมีเมียน้อย (ซึ่งผิดวินัยพรรค)

ทางการจีนประโคมข่าวว่าเป็นตัวอย่างของการเอาจริงเอาจังกับการปราบคอร์รัปชัน ไม่ว่าจะใหญ่คับฟ้าแค่ไหน ถ้าผิดก็จะถูกลงโทษไม่มียกเว้นแต่ความจริงแล้วการกำจัดโจวหย่งคังแสดงถึงความไร้ประสิทธิภาพของจีนในการปราบคอร์รัปชันเสียมากกว่าเพราะข้อเท็จจริงก็คือกลไกปกติไม่สามารถตรวจสอบและจัดการกับผู้มีอำนาจในระดับเขาได้ครั้งนี้โจวหย่งคังถูกกำจัดเพียงเพราะเขาพลาดท่าในเกมการเมืองจนถูกผู้มีอำนาจสูงกว่าสั่งให้ล้างบางข้อคิดสำหรับนักการเมืองจีนจึงไม่ใช่ว่ามีแผลไม่ได้ แต่คือทุกคนมีแผล และแผลก็พร้อมที่จะถูกเปิด คุณอาจเปลี่ยนจากพระเอกกลายเป็นผู้ร้ายในค่ำคืนเดียว หากตัวคุณไปทำพลาดเหยียบเท้าหัวโจกเข้า

คอร์รัปชันในจีนปัจจุบันนี่รุนแรงถึงระดับที่“ถ้าไม่ปราบโกง ชาติก็จะหมดตัว แต่ถ้าปราบโกง พรรคก็จะหมดคน”จริงๆ แล้ว คำพูดที่แพร่หลายดังกล่าวเคยเป็นคำพูดที่เจียงไคเช็ก อดีตผู้นำพรรคก๊กมินตั๋ง กล่าวก่อนที่จะแพ้สงครามกลางเมืองแก่เหมาเจ๋อตงและหนีไปเกาะไต้หวัน ยิ่งไปกว่านั้น คำพูดในลักษณะใกล้เคียงกันนี้ จักรพรรดิจูหยวนจาง ในสมัยราชวงศ์หมิง และจักรพรรดิเต้ากวงในสมัยราชวงศ์ชิงก็เคยกล่าวมาแล้ว

ในประวัติศาสตร์จีนที่ผ่านมาหลายพันปี คอร์รัปชันหรือการฉ้อราษฎร์บังหลวงมีมาตลอด วิธีการแก้ปัญหาคอร์รัปชันที่พูดกันบ่อยๆ ไม่ว่าในสมัยไหนมีอยู่สองวิธี นั่นก็คือ ส่งเสริมจริยธรรมคุณธรรม กับออกกฎระเบียบที่เข้มงวดทั้งสองวิธีฟังดูแสนดี แต่ไม่เคยใช้ได้ผลเลยในประวัติศาสตร์จีนที่ผ่านมา

เอาคนดีมาปกครองบ้านเมืองแล้วทุกอย่างจะดี ประวัติศาสตร์จีนพิสูจน์แล้วว่าไม่จริง ในรัชสมัยพระจักรพรรดิว่านลี่ในราชวงศ์หมิง เคยตั้งนักจริยธรรมชั้นเยี่ยมมาเป็นนายกฯ ปรากฏว่าการคอร์รัปชันในทุกระดับกลับยังคงรุนแรงจนนำไปสู่การล่มสลายของราชวงศ์หมิงในที่สุด ส่วนที่ว่าออกกฎเข้มงวดแล้วคนจะเลิกโกง ก็ไม่เคยใช้ได้ผลจริงในรัชสมัยพระจักรพรรดิจูหยวนจาง ผู้สถาปนาราชวงศ์หมิง พระองค์ประกาศเป็นกฎหมายว่าใครลักเงินหลวงต้องรับโทษประหารไม่มีข้อยกเว้น สุดท้ายกลับทรงผิดหวังถึงขนาดมีพระราชปรารภก่อนสวรรคตว่า ถึงจะประหารขุนนางให้หมดทั้งเมือง ก็คงไม่ช่วยดัดนิสัยการโกงของคนจีน

จริงๆ แล้ว ปัญหารากฐานของการคอร์รัปชันในประวัติศาสตร์จีน ไม่ใช่เพียงแค่ปัญหาคนดีคนเลวหรือปัญหาว่ากฎหมายไม่รุนแรงพอ แต่เป็นปัญหาที่การรับเงิน “นอกระบบ” กลายเป็นธรรมเนียมปฏิบัติที่ขุนนางทุกคนยอมรับร่วมกัน จนคนดีถ้าไม่หนีไปอยู่วัดก็จำต้องรับ “ซอง” และตัวกฎหมายก็บังคับใช้จริงไม่ได้

ช่วงที่ผ่านมามีหนังสือโบราณของจีนเล่มหนึ่งกลายมาเป็นหนังสือพิมพ์ใหม่ขายดี ชื่อ“บันทึกสิ่งที่พบเห็นในราชสำนักเต้ากวงและเสียนเฟิง”ซึ่งเป็นหนังสือที่จางจี๋ซิน ขุนนางจีนคนหนึ่งในสมัยจักรพรรดิเต้ากวงและจักรพรรดิเสียนเฟิงแห่งราชวงศ์ชิง ได้เขียนบันทึกระบบส่วยและความเน่าเฟะของระบบราชการจีนในสมัยนั้นจางจี๋ซินเป็นขุนนางที่ดูแลคลังข้าวทั้งหมดในมณฑลส่านซี ตำแหน่งนี้ถือเป็นตำแหน่งที่มีเงินนอกระบบไหลเวียนเข้ากระเป๋าจำนวนมาก แต่ตัวเขาเองก็ต้องใช้เงินนอกระบบแบ่งปันเป็น“ส่วย”ให้กับขุนนางในระดับที่สูงกว่าก่อนจะเดินทางไปรับตำแหน่ง เขาต้องให้“ซอง”คารวะขุนนางผู้ใหญ่ทั้งหมดภายในปักกิ่ง จนต้องเที่ยวกู้เงินมาเพื่อใช้จ่ายในการนี้พอเดินทางไปถึงตัวท้องที่ที่รับตำแหน่ง ก็ต้องส่ง “ซอง” ให้ทหารทุกกรมกองในท้องที่ รวมถึงข้าราชการท้องที่ซึ่งขึ้นกับผู้ว่ามณฑล โดย “ซอง” ทั้งหมดที่ส่งให้ขุนนางในทุกระดับทุกกรมกองมีธรรมเนียมปฏิบัติชัดเจนว่าต้องใส่ “ซอง” เท่าไรมากไปน้อยไปก็ไม่ได้นอกจากนั้น ยังมีธรรมเนียมปฏิบัติชัดเจนว่าเลี้ยงโต๊ะจีนขุนนางระดับไหนต้องเลี้ยงอะไร นอกจาก “ราคา” ของตำแหน่งตัวเองที่จะต้องจ่ายแล้ว หนังสือเล่มนี้ยังได้บันทึก “ราคา” ของตำแหน่งอื่นๆ ในระบบราชการในสมัยนั้นไว้อย่างละเอียด

แต่ในช่วงท้ายที่สุดของราชวงศ์ชิง ภายใต้ความเน่าเฟะดังกล่าว กลับมีตัวอย่างพิเศษเกิดขึ้น นั่นก็คือเมื่อพระนางซูสีไทเฮาแพ้สงคราม และต้องชดใช้เงินค่าปฏิกรรมสงครามต่ออังกฤษจำนวนมาก พระนางได้ยกตำแหน่งอธิบดีกรมศุลกากร ซึ่งรับผิดชอบการจัดเก็บภาษีนำเข้าและส่งออกสินค้าในเมืองท่าของจีนให้ชาวอังกฤษเป็นผู้ดูแล โดยเงินที่เก็บได้ส่วนหนึ่งให้ส่งให้อังกฤษเป็นค่าปฏิกรรมสงคราม อีกส่วนหนึ่งส่งกลับให้ราชสำนักจีนปรากฏว่าภายหลังจากที่เปลี่ยนเป็นชาวอังกฤษดูแล ราชสำนักจีนสามารถจัดเก็บรายได้ภาษีศุลกากรได้เพิ่มขึ้นถึงหกเท่าตัวเป็นเวลาต่อเนื่องกว่าห้าสิบปีประสิทธิภาพการจัดเก็บภาษีสูง ไม่มีการโกงกิน ทำให้นักประวัติศาสตร์จีนบางท่านอดสงสัยไม่ได้ว่า นี่เพราะวัฒนธรรมจีนเป็นวัฒนธรรมคอร์รัปชันฝังราก ส่วนอังกฤษเป็นวัฒนธรรมใสสะอาดใช่หรือไม่

หลัวเจิ้นหยู่ นักคิดและนักพูดชื่อดังชาวจีน ไม่คิดว่านี่เป็นเรื่องของวัฒนธรรมแต่เป็นเรื่องของการรู้จักสร้างระบบใหม่แยกออกจากระบบเก่าที่เน่าเฟะมากกว่าสาเหตุหลักที่กรมศุลกากรในสมัยที่คนอังกฤษดูแลเก็บภาษีได้มีประสิทธิภาพ เป็นเพราะกรมศุลกากรในตอนนั้นกลายเป็นหน่วยงานเอกเทศแยกจากระบบราชการจีนที่การส่งส่วยนอกระบบกลายเป็นธรรมเนียมปฏิบัติไปแล้วทั้งนี้เป็นเรื่องยากมากที่คนที่อยู่ในระบบที่เน่าเฟะไปแล้วจะไม่ถูกระบบกลืนทางรอดอย่างเดียวก็คือ ต้องค่อยๆ สร้างระบบพิเศษแยกออกมาดังที่เกิดขึ้น (โดยไม่ตั้งใจ) ในกรณีนี้แนวคิดดังกล่าวเป็นพื้นฐานของข้อเสนอของนักปฏิรูปที่ผลักดันการแปรรูปรัฐวิสาหกิจในจีนตลอดจนการปรับโครงสร้างหรือออกนอกระบบของหน่วยงานราชการบางหน่วยงานจนปัจจุบันแม้เกิดปัญหาว่าในช่วงการแปรรูปจะมีการทุจริตมหาศาล แต่ความเห็นส่วนใหญ่ของนักปฏิรูปก็คือ ต้องแก้ไขที่วิธีการแปรรูป ไม่ใช่ไปเลิกล้มความคิดและความแน่วแน่ในการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ

อีกสาเหตุหนึ่งที่ในตอนนั้นคนอังกฤษสามารถจัดเก็บภาษีได้อย่างมีประสิทธิภาพ ก็เพราะข้อมูลการนำเข้าและส่งออกเป็นที่รู้กันดีในหมู่คนอังกฤษ ตกแต่งตัวเลขลำบาก เพราะการส่งออกและนำเข้าสินค้าส่วนใหญ่ก็มาจากพ่อค้าอังกฤษด้วยกันเอง ไม่เหมือนสมัยที่ขุนนางจีนดูแล ซึ่งไม่มีใครรู้ว่าตัวเลขนำเข้าส่งออกจริงๆ เป็นเท่าไร ทำให้ขุนนางจีนสามารถตกแต่งตัวเลขลักเงินเข้ากระเป๋าตัวได้วิธีการปราบคอร์รัปชันที่สำคัญอีกวิธีหนึ่ง ก็คือหาทางทำข้อมูลให้โปร่งใสที่สุดไม่ใช่เป็นระบบปิดที่ไม่มีใครรู้ว่ามีรายได้แท้จริงเท่าไร ใช้จ่ายเงินอย่างไร

การปราบคอร์รัปชันให้ได้ผล จึงไม่ใช่ด้วยการจับปลาตัวใหญ่ด้วยวิธีไม่ปกติแล้วประโคมข่าว ไม่ใช่ด้วยการสร้างกระแสจริยธรรมสร้างภาพคนดี ไม่ใช่ด้วยการออกกฎที่เข้มงวด (แต่บังคับใช้ไม่ได้) การปราบคอร์รัปชันให้ได้ผลจำเป็นต้องเข้าใจปัญหาคอร์รัปชันให้ลึกซึ้งยิ่งกว่านั้น

ทั้งหมดที่พูดมาเป็นเรื่องของเมืองจีน ส่วนคำถามว่าเหมือนหรือไม่เหมือนคอร์รัปชัน (และวิธีการปราบคอร์รัปชันที่นิยม) ในประเทศไทย ขอฝากท่านผู้อ่านตรึกตรองดู


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : วิธีแก้ปัญหาคอร์รัปชัน

view