สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ขอบเขตของคอร์รัปชัน

ขอบเขตของคอร์รัปชัน

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์




ปัจจุบัน “คนใฝ่ดี” ในประเทศไทยกำลังนิยมเรื่อง “ปราบคอร์รัปชัน” น่าจะเริ่มตื่นตัวมาจากผลของการจัดอันดับประเทศ

ที่มีคอร์รัปชันมากที่สุดเมื่อหลายปีก่อน ซึ่งไทยได้รับการจัดอยู่ในลำดับท้ายๆ ของประเทศที่คอร์รัปชันน้อย และอยู่ในลำดับต้นๆ ของประเทศที่มีคอร์รัปชันมาก จากนั้นคนไทยจึงเกิดการตื่นตัวขนานใหญ่ เหมือนนอนฝันร้ายแล้วสะดุ้งตื่นขึ้นมาแล้วหาทางกำจัดฝันร้ายเป็นพัลวัน

เริ่มตั้งแต่รัฐบาลของนายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ รับไม้ต่อโดยรัฐบาลของนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตร ทั้งสองรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งประกาศเอาจริงเอาจังถึงขั้น “ทำสงคราม” กับคอร์รัปชัน มาจนถึงรัฐบาลนายกรัฐมนตรีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่มาจากการแต่งตั้งของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ก็สานต่อนโยบายปราบคอร์รัปชัน โดยมีคนไทยเป็นจำนวนมากขานรับนโยบายปราบคอร์รัปชัน จนกลายเป็นกระแสนิยมเรื่องการปราบคอร์รัปชันซึ่งถือว่าคอร์รัปชันเป็นสิ่งเลวร้ายทำลายประเทศ จึงอาจเรียกได้ว่า ผู้นิยมการปราบคอร์รัปชันทั้งหลายเป็น “ผู้ใฝ่ดี” ก็ได้

ในบรรดาผู้ใฝ่ดีทั้งหลาย ประกอบไปด้วยคนหลายอาชีพ หลายสถานะ หลายหน้าที่ ในภาคประชาชน ภาคธุรกิจ และภาคราชการ ประสานงานกันอย่างกว้างขวาง ดูเหมือนจะเป็นความหวังได้ว่า โอกาสที่ ฝ่าย “คนใฝ่ดี” จะชนะในสงครามคอร์รัปชันนั้นมีอยู่ แต่ผู้เขียนก็ยังสงสัยว่า “การคอร์รัปชัน” นั้นเป็นอย่างไรกันแน่ มีขอบเขตแค่ไหนเพียงใด อย่างไรจึงเรียกว่าคอร์รัปชัน อย่างไรจึงไม่เรียกว่าคอร์รัปชัน หากมีการจำกัดความ หาขอบเขตได้ชัดเจน ก็จะทำให้สามารถปราบคอร์รัปชันได้ดียิ่งขึ้น หากไม่ชัดเจนก็คงจะทำสงครามกันต่อไปอย่างยืดเยื้อแน่ๆ

คนทั่วไปน่าจะเข้าใจว่า การคอร์รัปชันคือการฉ้อราษฎร์บังหลวง การฉ้อราษฎร์บังหลวงก็คือ การแสวงหาประโยชน์อันไม่พึงมีไม่พึงได้โดยผิดกำหมาย ผิดศีลธรรม สร้างความเสียหายแก่ประเทศชาติและราษฎร การเข้าใจในคำจำกัดความเช่นนี้ ทำให้มุ่งไปที่การปฏิบัติงานของข้าราชการหรือหน่วยงานของราชการในรูปแบบอื่นๆ เช่น รัฐวิสาหกิจ เป็นต้น และการคอร์รัปชันที่เข้าใจกันดีก็คือ การรับสินบนในรูปแบบและโดยวิธีการต่างๆ ของข้าราชการและพนักงานของรัฐนั่นเอง

แต่แท้ที่จริงแล้ว การคอร์รัปชันมีเพียงเท่านั้นจริงหรือ ผู้เขียนคิดว่าไม่น่าจะแค่เพียงเท่านั้น การคอร์รัปชันมีมากกว่านั้นแน่ นั่นคือ สิ่งใดที่ไม่สมควรได้ ไม่สมควรทำ แต่ได้และทำ ย่อมเป็นการคอร์รัปชันด้วย จะขอยกมาพิจารณาสัก 5 ประการ

1. การใช้ของหลวงและคนของหลวงในกิจกรรมส่วนตัว บรรดาข้าราชการระดับสูงน่าจะทำเรื่องนี้มากที่สุด เป็นต้นว่าการใช้ยานพาหนะหลวง เช่น รถยนต์ ไปทำกิจกรรมส่วนตัว และใช้คนของหลวงคือข้าราชการที่เป็นผู้ใต้บังคับบัญชาไปทำกิจกรรมส่วนตัว โดยเฉพาะข้าราชการสายทหารและตำรวจระดับนายพลที่ยศสูงตำแหน่งใหญ่ทั้งหลาย หากทำสิ่งเหล่านี้ย่อมถือว่าเป็นการใช้ของหลวงเพื่อประโยชน์ส่วนตน ไม่เป็นสิ่งที่ควรทำควรได้ ดังนั้น หากทำไปก็ย่อมเข้าข่ายฉ้อราษฎร์บังหลวง หรือคอร์รัปชันเช่นกัน

2. การใช้สิทธิ์ในเรื่องที่อยู่นอกเหนือหน้าที่ เป็นต้นว่า การเบิกค่าใช้จ่าย เช่น ค่าที่พัก ค่าเดินทาง ค่าอาหาร ตามสิทธิ์แต่ในกิจกรรมที่ไม่เกี่ยวกับงานราชการ พักผ่อนท่องเที่ยวส่วนตัวและครอบครัว หรือ เกี่ยวข้องกับธุรกิจส่วนตัว เป็นต้น นี่ย่อมเข้าข่ายคอร์รัปชันเช่นกัน

3. การใช้เวลาทำงานไปทำเรื่องส่วนตัว เช่น ไปตีกอล์ฟ เจรจาธุรกิจ หรืออะไรก็ตามที่ไม่เกี่ยวกับงานในหน้าที่ ย่อมทำให้เกิดความเสียหายแก่ราชการ ซึ่งก็คือเสียหายแก่ประเทศชาติ เพราะคนทำงานให้ไม่เต็มที่แต่ราชการต้องจ่ายค่าจ้าง เงินเดือน สิทธิต่างๆ เต็มที่ แบบนี้เรียกว่าราชการขาดทุนอย่างแน่นอน ราชการขาดทุนก็คือประเทศชาติและราษฎรขาดทุนนั่นเอง

4. การใช้อุปกรณ์เครื่องไม้เครื่องมือในสำนักงานเพื่อประโยชน์ของตน ข้อนี้เกิดขึ้นได้กับบุคลากรทุกระดับ ไม่ว่าจะเล็กน้อยเพียงใดก็ถือว่าราชการเสียประโยชน์ทั้งสิ้น

5. มาสายไปก่อน นั่นคือ มาทำงานสายและกลับก่อนเวลาเลิกงาน โดยไม่มีเหตุอันจำเป็นหรือเหตุอันสมควร ย่อมทำให้ราชการสูญเสียประโยชน์ เพราะคนทำงานไม่สามารถทำงานอย่างเต็มที่เต็มเวลาได้ แต่ต้องจ่ายค่าจ้างและสวัสดิการทั้งหลายเต็มตามจำนวน นี่ย่อมเข้าข่ายคอร์รัปชันได้เช่นกัน

ทั้ง 5 ข้อนี้ ไม่ได้จำกัดไว้เฉพาะภาคราชการหรือเกี่ยวข้องกับราชการเท่านั้น ภาคธุรกิจ ภาคสังคมก็เช่นกัน หากใครก็ตามปฏิบัติตนดังที่กล่าวมาทั้ง 5 ข้อนี้ ไม่ว่าจะอยู่ในภาคส่วนใดก็ย่อมเป็นการกระทำที่ฉ้อราษฎร์บังหลวง ได้ทั้งสิ้น

ขอฝากไว้ให้คิดนะครับ ว่าขอบเขตการคอร์รัปชันนั้นไม่ใช่เพียงแต่การทุจริตต่อหน้าที่ด้วยการรับสินบาทคาดสินบนเท่านั้น การกระทำตามที่ได้ยกมาทั้ง 5 ข้อข้างบนก็เข้าข่ายคอร์รัปชันเช่นกัน เพราะทำให้ราชการหรือประเทศชาติหรือประชาชนเสียประโยชน์ ผู้ที่ได้ประโยชน์ก็ได้ไปอย่างไม่ถูกต้อง ในกรณีของเอกชนก็ทำให้องค์กรเสียประโยชน์ หากเสียมากอาจทำให้องค์กรล่มจมได้ อย่าทำเป็นเล่นไป

ที่สำคัญ ผิดทั้งกฎหมายและผิดทั้งศีลธรรมด้วย โปรดช่วยกันตรองดู โดยเฉพาะ “คนใฝ่ดี” ที่นิยม “ปราบคอร์รัปชัน” ทั้งหลาย ท่านปราบคอร์รัปชันในตัวของท่านเองหรือยัง


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ขอบเขตของคอร์รัปชัน

view